สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไทยเสี่ยงสูงภัยไซเบอร์ แนะตั้งหน่วยงานกลางแก้

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวธุรกิจตลาด

ไทยเสี่ยงสูงภัยไซเบอร์ แนะตั้งหน่วยงานกลางแก้

จากการสำรวจโดยหน่วยอาชญากรรมดิจิทัลของไมโครซอฟท์ ระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 25 ประเทศ ที่มีอัตราเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์สูงที่สุดในโลก ซึ่งจากการประเมินพบว่า ในทวีปเอเชียมีจำนวนกว่า 5 ล้านไอพีแอดเดรส ที่ถูกเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ซึ่งซอฟต์แวร์อาจไม่ปลอดภัย และผลการศึกษายังพบว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคเป้าหมายในการโจมตีทางอาชญากรรมทางไซเบอร์มากที่สุด

ทั้งนี้ ล่าสุดในการสัมมนาหัวข้อ “Microsoft Thailand Cyber Trust Experience” จัดโดย บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ในงานประชุมประจำปีด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 2015 (Cyber Defense Initiative Conference 2015) ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค

คีชาว์ฟ ดาห์คาด ผู้อำนวยการด้านการคุ้มครองสินทรัพย์ทางปัญญาและหน่วยอาชญากรรมดิจิทัล ระดับภูมิภาคเอเชีย ไมโครซอฟท์ เอเชีย กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต ดังนั้นการสร้างความไว้วางใจและความปลอดภัยในโลกดิจิทัลจึงมีความสำคัญขึ้นอย่างมาก เพื่อรับประกันว่าบุคคลและองค์กรจะสามารถใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัย เนื่องจากประเทศไทยมีการติดต่อสื่อสารผ่านอุปกรณ์และระบบสารสนเทศมากขึ้น จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกอาชญากรด้านไซเบอร์หาผลประโยชน์จากการโจรกรรมข้อมูลด้านต่างๆ เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์ได้ก่อตั้งหน่วยธุรกิจ ดิจิทัล ไครม์ ยูนิต (ดีซียู) เพื่อรับผิดชอบด้านความปลอดภัยระบบให้ลูกค้าและลดความเสี่ยงด้านการโจรกรรม รวมถึงการป้องกันข้อบกพร่องที่จะเกิดขึ้นกับพฤติกรรมการใช้งานบนอินเทอร์เน็ตของลูกค้า โดยเน้นด้านความเป็นส่วนตัวของลูกค้าสูงสุด

“หน่วยงานดังกล่าวมีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา และศูนย์ประจำภูมิภาค 5 แห่งทั่วโลก ซึ่งในภูมิภาคเอเชียมีศูนย์ประจำภูมิภาคอยู่ที่สิงคโปร์ ซึ่งดีซียูจะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานด้านสืบสวนตำรวจสากลและหน่วยงาน อาทิ ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) เพื่อให้มีข้อมูลในการปกป้องประเทศมากขึ้น” ดาห์คาด กล่าว

ปริญญา หอมเอนก ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท เอซิส โปรเพสชั่นนัล เซ็นเตอร์ ในฐานะอุปนายกสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ (TISA) กล่าวว่า แนวโน้มภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2559 ที่สำคัญอันดับแรก คือ การโจมตีของแฮ็กเกอร์เริ่มยกระดับเป็นอุตสาหกรรม มีการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อโจมตีในระดับชาติ ซึ่งเป็นระดับความรุนแรงที่สุดในขณะนี้ ทั้งยังเป็นยุคที่เกิดภัยคุกคามแบบที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้

จากข้อมูลพบว่า 96% ของอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน เป็นข้อมูลที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยเครื่องมือค้นหาทั่วไป เช่น ดาร์กเว็บ หรืออินเทอร์เน็ตในมุมมืดซึ่งเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ราว 7.9 เซตตะไบต์ ซึ่งส่วนที่เข้าถึงนั้นมีเพียง 4% เท่านั้น ดังนั้นจึงเป็นช่องโหว่ที่จะถูกโจมตีหรือสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็นหรือไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเป็นอะไร

นอกจากนี้ ยังมองว่าจะเริ่มเกิดช่องโหว่ที่มาจากผู้ให้บริการมากขึ้น และการถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวที่แลกมากับการใช้บริการฟรีต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ต้องให้ความสนใจกับนโยบายต่อท้าย (ไพรวาซี โพลิซี) ก่อนตัดสินใจใช้แอพพลิเคชั่นหรือบริการต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต

สำหรับสถานการณ์ของภัยคุกคามปัจจุบันมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศหรือผู้เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องเริ่มวางระบบหรือมีมาตรการที่ชัดเจนขึ้น เพื่อให้ระบบมีความสามารถที่จะดำเนินต่อได้เมื่อถูกโจมตี

ขณะเดียวกัน ต้องเร่งพัฒนาบุคลากร เพราะปัจจุบันไทยยังขาดผู้ที่มีความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามที่เข้ามาในรูปแบบต่างๆ รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องประเมินความเสี่ยง หรือจำลองเหตุการณ์เมื่อถูกโจมตี เพื่อให้สามารถรับมือกับภัยที่อาจเกิดขึ้น ที่ไม่ต่างอะไรกับการต้องซ้อมหนีไฟ เพื่อที่จะได้รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้างเมื่อถูกโจมตีระบบ

ปริญญา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดเจ้าภาพในการบริหารจัดการอย่างจริงจัง ดังนั้นควรต้องมีการตั้งหน่วยงานกลางที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งจะต้องไม่สามารถถูกแทรกแซงทางการเมืองได้ด้วย พร้อมกันนั้น จะต้องมียุทธศาสตร์ระดับชาติในการกำหนดแผนเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์อย่างจริงจัง


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ไทยเสี่ยงสูง ภัยไซเบอร์ ตั้งหน่วยงานกลางแก้

view