สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กวดวิชาปรับตัวสู้เศรษฐกิจ

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

พยายามนั่งอ่านข้อมูลโรงเรียนกวด วิชาหลายแห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดค่อนข้างเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ ในปี 2559 น่าจะเป็นปีที่โรงเรียนกวดวิชาเหนื่อยที่สุด

ทั้งในเรื่องการดำเนินธุรกิจ

ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ20

จำนวนประชากรระหว่างอายุ 15-19 ปี จำนวนลดลงจาก 4,523,000 คนในปี 2558 ไปอยู่ที่ 4,207,000 คนในปี 2563 รวมถึงมูลค่าตลาดรวมของโรงเรียนกวดวิชาที่เคยอยู่ที่ 8,000 กว่าล้านบาท/ปี เติบโตในอัตราเฉลี่ย 5-6 เปอร์เซ็นต์/ปี กำลังเข้าสู่สภาวะถดถอย

จนเป็นเหตุให้โรงเรียนกวดวิชาหลายแห่งต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

เพราะไม่เช่นนั้นอาจทำให้ธุรกิจเกิดการชะงักงันได้

ข้อมูลที่ผมอ่านโรงเรียนกวดวิชาบางแห่งเลือกจะไม่ขยายสาขาก่อนอันดับแรก ต่อจากนั้น จึงมีการร่วมมือกันเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับโรงเรียนกวดวิชาอื่น ๆ ที่มีจุดแข็งในวิชาต่าง ๆ ยิ่งเฉพาะถ้าโรงเรียนกวดวิชาแห่งนั้นมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศได้ยิ่งดี

เพราะไม่เพียงจะเป็นทูอินวันในการเรียนการสอน

ยังจะทำให้นักเรียนและผู้ปกครองตัดสินใจได้ง่าย เพราะนอกจากจะได้เรียนวิชาคณิตศาสตร์จากโรงเรียนกวดวิชาแห่งหนึ่ง ยังจะได้เรียนวิชาฟิสิกส์, เคมี, ภาษาอังกฤษจากโรงเรียนกวดวิชาอีกแห่งหนึ่งด้วย

ในราคาส่วนลดจากราคาปกติทั่วไป

เป็นใครจะไม่สนใจละครับ

นอกจากนั้นความสนใจของนักเรียนที่จะเรียนกวดวิชาออนไลน์ที่บ้านก็มีจำนวนมากขึ้นด้วย ตรงนี้เป็นเทรนด์อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนกวดวิชาจำเป็นต้องปรับตัวสู้ เพราะนอกจากจะไม่มีต้นทุนเรื่องของสถานที่ น้ำ ไฟ บุคลากรต่าง ๆ แล้ว

ยังเสมือนเป็นการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ด้วย เพราะไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปเรียน แถมยังเลือกเรียนเวลาไหน ที่ไหนก็ได้ด้วย ที่สำคัญ หากไม่เข้าใจก็สามารถรีเพลย์กลับมาฟังซ้ำอีกรอบ

กล่าวกันว่า แนวโน้มการทำธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาออนไลน์จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกับสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ เพราะปัจจุบันมีโรงเรียนกวดวิชาที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายประมาณ 2,400 กว่าแห่งทั่วประเทศ

กรมสรรพากรเคยประมาณการว่าถ้าสามารถจัดเก็บภาษีอย่างถูกต้องในอัตราร้อยละ20 น่าจะมีเม็ดเงินเข้าคลังประมาณ 1,200 ล้านบาท/ปี

ถามว่าเยอะไหม ?

ไม่เท่าไหร่

แต่กระนั้น ก็มีคำถามตามมาว่าแล้วจะทำอย่างไรกับโรงเรียนกวดวิชาเถื่อน หรือที่ไม่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงติวเตอร์ที่รวมกลุ่มกันสอนตามบ้าน คอนโดมิเนียม หอพัก และตามสถานที่ต่าง ๆ อีกจำนวนมาก

คำตอบคือยากครับ

ทำอะไรไม่ได้

ยกเว้นเสียแต่ว่าธุรกิจของเขาเติบโตขึ้น จะต้องมีรูปบัญชีในการแบ่งผลประโยชน์ชัดเจน เขาเหล่านั้นจึงอาจจะมาจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งแนวโน้มในปี 2559-2560 เชื่อว่าน่าจะมีปริมาณไม่มากนัก

แต่กระนั้น เมื่อหันมาวิเคราะห์ถึงเหตุ และผลของการปรับตัวโรงเรียนกวดวิชาครั้งนี้ มูลเหตุหลัก ๆ น่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจเป็นหลัก เพราะต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่าระบบการเรียนการสอนตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชนไม่ตอบสนองผู้เรียน

ไม่ตอบสนองต่อการสอบเข้ามหา′ลัยของรัฐ

จึงทำให้เด็กต้องไปหาโรงเรียนกวดวิชา,ติวเตอร์, รุ่นพี่ จนทำให้เงินในกระเป๋าผู้ปกครองค่อย ๆ แฟบลง แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะผู้ปกครองยังอยากให้ลูกหลานของตัวเองสอบติดมหา′ลัยของรัฐ เขาจึงต้องกล้ำกลืนฝืนทน หาเงินมาให้ลูกหลานของตัวเองเรียนในที่สุด

แม้ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้

จากเดิมอาจเรียนหลายที่หลายแห่ง และหลายคนด้วยกัน ก็ค่อย ๆ ลดจำนวนลง ตรงนี้อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รายได้ไม่เข้ากระเป๋าโรงเรียนกวดวิชาดั่งเดิม

แต่สำหรับประเด็นเรื่องประชากรระหว่าง 15-19 ปีมีจำนวนลดลง ผมไม่สามารถตอบได้ แต่ถ้าดูข้อมูลที่นำเสนอในเบื้องต้นอาจมีความเป็นไปได้ เพราะปัจจุบันคนแต่งงานช้า จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีลูกช้าตามไปด้วย

เมื่อมีลูกช้า โอกาสที่เด็กเหล่านี้จะเติบโต กระทั่งเข้าสู่ช่วงมัธยมปลาย จึงน่าจะเป็นช่องว่างที่ถ่างขยาย จนกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กเหล่านี้หายไปจากตลาดโรงเรียนกวดวิชา

กระทั่งเป็นข้อมูลที่ทำให้โรงเรียนกวดวิชาจำเป็นต้องปรับตัวสู้

แต่กระนั้นถ้ามองตามความเป็นจริง คงต้องหันกลับมามองต้นตอระบบการศึกษาของไทยที่ไม่สามารถสอนนักเรียนของตัวเองจนเกิดผลสัมฤทธิ์เพื่อสอบเข้ามหา′ลัยของรัฐได้

ผมไม่รู้เป็นเพราะอะไร

ทำไมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯกี่คนๆ ถึงไม่จัดการเรื่องนี้เสียที ?

ก็เลยปล่อยให้เงินกว่า 8,000 ล้านบาทลอยนวลเข้ากระเป๋าโรงเรียนกวดวิชามาเสียตั้งนาน

อนิจจาระบบการศึกษาไทยจริง ๆ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กวดวิชา ปรับตัวสู้เศรษฐกิจ

view