สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มองสื่อเทศ ย้อนดูสื่อไทย การรายงานข่าวคนดังเสียชีวิต

จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

"มองสื่อเทศ ย้อนดูสื่อไทย" การรายงานข่าวคนดังเสียชีวิต

ภาพกองทัพนักข่าวนับร้อยรุมถ่ายภาพการเคลื่อนศพพระเอกหนุ่ม ปอ-ทฤษฎี สหวงษ์ จากโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อนำขึ้นรถเดินทางไปประกอบพิธีที่บ้านเกิดจ.บุรีรัมย์ กำลังเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดในโลกโซเชียล

เสียงก่นด่าอย่างรุนแรงตามมาว่า ไม่ต่างอะไรจากฝูงแร้งทึ้ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมารายงานข่าวการเสียชีวิตของคนดังของสื่อมวลชนไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ไล่ตั้งแต่การแต่งกายไม่สุภาพไปร่วมพิธีศพ การซูมถ่ายภาพใบหน้าญาติผู้เสียชีวิตระยะใกล้จนเห็นน้ำตาไหลริน เพื่อขับเน้นอารมณ์โศกเศร้าสะเทือนใจ คำถามบางคำถามในเวลาที่ไม่สมควร เช่น รู้สึกอย่างไร รวมถึงแก่งแย่งกันเบียดแทรกเข้าไปสัมภาษณ์และถ่ายภาพโดยไม่สนใจใคร

ทั้งหมดนำไปสู่การประณามว่าไร้มารยาท ไร้จรรณยาบรรณ อันสะท้อนถึงวิกฤตในแวดวงสื่อมวลชนไทย

สื่อต่างประเทศมืออาชีพจะให้เกียรติผู้เสียชีวิต

ปิโยรส หลักคำ บรรณาธิการนิตยสารมิวสิคเอ็กซ์   กล่าวว่า เท่าที่เห็น รายงานข่าวการเสียชีวิตของคนดังในต่างประเทศ มี 2 แบบ ประกอบด้วย 1.สื่อมวลชนยักษ์ใหญ่ชั้นนำ มีหลักการ มีมาตรฐานการรายงานข่าวที่เคร่งครัดต่อจรรณยาบรรณและให้เกียรติต่อผู้เสียชีวิต เช่น ไม่ตีพิมพ์ภาพศพ ไม่ขุดคุ้ยข่าวฉาวมาเล่นเพื่อซ้ำเติม 2.สื่อเล็กๆประเภทปาปาราซซี่ ยังคงเน้นขายเรื่องอื้อฉาว นำเสนอเนื้อหาและภาพที่ไม่เหมาะสม ทั้งตอนมีชีวิตและเสียชีวิต

"ต้องยอมรับว่า มีทั้งสื่อที่ดีและสื่อที่ไม่ดี สื่อที่เป็นทางการจริงๆ จะนำเสนอภาพที่ให้เกียรติผู้ตาย เล่นข่าวแบบพอเหมาะพอควร เช่น ข่าวการเสียชีวิตจะยึดตามแถลงการณ์อย่างเป็นทางการของตัวแทนศิลปิน  แถลงการณ์ออกมา สื่อชั้นนำที่เป็นมืออาชีพและยึดหลักจรรยาบรรณจะให้ความเคารพและยึดถือถ้อยแถลงการณ์นั้น การนำเสนอข่าวก็จะนำเสนอประวัติส่วนตัว โดยเฉพาะผลงานของผู้เสียชีวิต เพื่อเป็นการยกย่องในคุณงามความดี การนำเสนอภาพก็จะพยายามไม่ให้กระทบกระเทือนความรู้สึกของครอบครัวเช่น เล่นภาพแฟนคลับจุดเทียน หรือนำดอกไม้มาวางไว้อาลัยแทน

แตกต่างจากปาปาราซซี่ พวกนี้เล่นกันแรง ทั้งตอนมีชีวิตหรือตอนที่เสียชีวิตไปแล้ว ไม่สนใจอะไรทั้งนั้น สมัยมีชีวิตอยู่ก็แอบลักลอบถ่ายภาพด้วยการซูมเข้าไปถึงในบ้าน รุกล้ำความเป็นส่วนตัว ตอนตายก็ยังขุดเรื่องฉาวมาพูด

บรรณาธิการนิตยสารดนตรีรายนี้ ยังบอกว่า ย้อนกลับมาดูสื่อมวลชนไทย พบว่า ไม่ว่าจะสื่อใหญ่หรือสื่อเล็ก ก็มักจะนำเสนอข่าวทั้งข่าวแง่บวกและข่าวแง่ลบเหมือนกันหมด จะมากหรือน้อยอีกเรื่องหนึ่ง

"สิ่งที่น่ากังวลสำหรับผมคือ สื่อเมืองไทยต่างฝ่ายต่างแข่งกันพาดหัว โปรยชื่อเรื่องด้วยการใช้คำหวือหวา เพราะเชื่อว่ายิ่งแรงยิ่งฉาว ยิ่งขายได้ พอสองสามเล่มใช้คำแรง เล่มอื่นก็เอาด้วย เพราะเดี๋ยวสู้เขาไม่ได้ สุดท้ายกลายเป็นทุกสื่อทำตามกันหมด จริงๆมันมีวิธีที่ไม่จำเป็นต้องใช้คำแรงๆ ก็สามารถทำให้คนสนใจได้ เพียงแต่นักข่าวอาจต้องเสียเวลามากขึ้น ใช้เวลากลั่นกรองมากขึ้น ทำงานหนักเพิ่มขึ้น แม้ไม่รวดเร็ว แต่คุณภาพที่ดีก็จะช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือขององค์กรคุณได้"

การนำเสนอข่าวการเสียชีวิตของ ไมเคิล แจ็คสัน ของเว็บไซต์ เดอะ เทเลกราฟ

นักข่าวถูกสปอยล์จนเคยตัว 

ดีเจซี้ด-นรเศรษฐ หมัดคง นักวิจารณ์ดนตรีและอดีตบรรณาธิการนิตยสาร Generation Terrorist มองว่า นาทีนี้นักข่าวต่าง "หิวกระหาย" ทำทุกอย่างเพื่อที่จะให้ได้ข่าวมาโดยไม่สนใจอะไรทั้งนั้น

"ตอนนี้ทุกคนหิวกระหายข่าว พากันรุมทึ้งเพื่อให้ได้ข่าวมา ถึงขนาดที่ผ่านมาบางสำนักเต้าข่าวขึ้นมาเอง เพื่อให้เป็นกระแส ตรงนี้ไร้จรรยาบรรณอย่างสิ้นเชิง ผมคิดว่าคนที่ผิดที่สุดคือ สมาคมนักข่าว ถึงเวลาก็ชอบออกมาตำหนิว่ารัฐบาลละเมิดสิทธิเสรีภาพ แต่ไม่เคยมองดูตัวเองว่าไร้มารยาท ไร้จรรยาบรรณแค่ไหน ยิ่งกรณีข่าวการเสียชีวิตของคุณปอ ทฤษฎี ยิ่งสะท้อนให้เห็นได้เลยว่านักข่าวรุ่นใหม่ๆไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจรรยาบรรณคืออะไร ไม่รู้ว่าการให้เกียรติคืออะไร ช่างภาพเองก็ไม่รู้ว่าต้องถ่ายภาพเชิงสัญลักษณ์ยังไง คิดแต่จะพุ่งเข้าไปเอาข่าวด้วยความหิวกระหาย

ยกตัวอย่างกรณีข่าวการเสียชีวิตของ เคิร์ต โคเบน  สื่อบ้านเขาแค่ถ่ายแค่ช่วงเท้าโผล่ออกมา วิตนีย์ ฮิวสตัน ก็ถ่ายแค่ตอนนำร่างขึ้่นรถพยาบาล หรือเดวิด โบวี ก็ไม่ปรากฎภาพศพเลยแม้แต่น้อย ภาพหน้าโรงพยาบาลยังไม่มีให้เห็น มันเป็นสิทธิส่วนบุคคลของเขาด้วยว่าจะอนุญาตให้ถ่ายภาพได้หรือไม่ แต่บ้านเรามันผิดไปทั้งระบบ ตั้งแต่โรงพยาบาล ตำรวจ เจ้าหน้าที่ทุกคน ไม่มีมาตรการปกป้องสิทธิส่วนบุคคลของผู้เสียชีวิตเลย ทั้งที่เลือกได้ว่าจะเคลื่อนศพโดยไม่อนุญาตให้ใครเห็นหรือไม่ เมืองนอกเวลามีเหตุ เขาสั่งให้กั้นเส้นเหลืองเลย ห้ามใครเข้าออกนอกพื้นที่ กันไม่ให้ใครเข้าไปทำลายหลักฐานด้วย

บ้านเราสปอยล์นักข่าวจนเคยตัว แค่ชูบัตรก็คนก็เกรงใจ นักข่าวเลยคิดว่าตัวเองมีอภิสิทธิ์ ผมอยากให้นักข่าวย้อนกลับไปดูว่า ถ้าศพนั้นเป็นญาติ เป็นคนในครอบครัวจะทำยังไง เราไม่รู้สึกเจ็บปวดหรอก ถ้าเราไม่ตกเป็นเหยื่อเสียเอง"

ภาพข่าวการเสียชีวิตของ เคิร์ต โคเบน ที่ปรากฏในสื่อต่างประเทศ

 

ภาพข่าวแฟนเพลงวางดอกไม้ไว้อาลัย หลังการเสียชีวิตของ เดวิด โบวี / สำนักข่าวเอเอฟพี

ใช้โอกาสนี้ปฏิรูปโดยด่วน

ในฐานะนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มองว่า รายงานข่าวการเสียชีวิตของศิลปินดารา ต้องเข้าใจว่าถึงแม้เขาเหล่านั้นจะเป็นบุคคลสาธารณะ แต่ก็ควรจะให้พื้นที่ส่วนตัวแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตให้ได้ใช้เวลาในการแสดงความเสียใจและรำลึกถึง ฉะนั้นการเข้าไปทำข่าว หรือตั้งคำถามไปสัมภาษณ์ จึงมีความละเอียดอ่อน และต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่กระทั่งการแต่งตัวไปร่วมพิธีศพก็ต้องให้ความสำคัญ และให้เกียรติครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วย

"การนำเสนอข่าวการเสียชีวิตไม่ใช่แค่จ่อไมค์ใส่ปาก แล้วถามว่า 'รู้สึกอย่างไร' คำถามนี้ไม่จำเป็นต้องถามด้วยซ้ำ เพราะทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเป็นอย่างไรเมื่อคนรักเสียชีวิต นอกจากจะแสดงความไม่เคารพต่อญาติผู้เสียชีวิตแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นว่านักข่าวคนนั้นไม่ทำการบ้านด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้การรายงานข่าวการเสียชีวิตของคนดังมักถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด โดยเฉพาะนักข่าวสายบันเทิง ยกตัวอย่างวันนี้ประชาชนเห็นแล้วรู้สึกแย่มากๆคือ ตอนที่เคลื่อนศพไปประกอบพิธี มีทั้งเบียด แทรก ทลายแผงกั้นจนพระและครอบครัวผู้เสียชีวิตกระเด็นเลย มันไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้น ช่างภาพสามารถถ่ายมุมอื่นที่ฉายให้เห็นภาพรวมของบรรยากาศทั้งหมดได้

ส่วนหนึ่งจะโทษช่างภาพ หรือนักข่าวอย่างเดียวไม่ได้ ต้องโทษผู้บริหารสถานี บรรณาธิการ หัวหน้าข่าวด้วยว่า ต้องกำชับ ทำความเข้าใจกับนักข่าวและช่างภาพถึงความเหมาะสมของการรายงานข่าวว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ 

นอกจากนี้ การรายงานข่าวก็ควรจะให้เกียรติผู้ตาย ตั้งแต่การเลือกรูปขึ้นข่าว ควรเลือกภาพที่ดูดีที่สุด ไม่ใช่เอาภาพศพ ภาพน่าสะเทือนใจขึ้น ควรเป็นภาพที่ทำให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตรู้สึกดี ควรนำเสนอประวัติ ผลงาน เพื่อยกย่องผู้เสียชีวิต แทนที่จะขุดคุ้ยข่าวฉาวมาพูด ซึ่งผู้ตายไม่สามารถลุกขึ้นมาตอบโต้อะไรได้

นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนรายนี้ เรียกร้องให้สมาคมวิชาชีพสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หยิบกรณีนี้ขึ้นมาประชุมหารือกันอย่างจริงจังเสียที โดยกำหนดหลักปฏิบัติที่ชัดเจนเลยว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ เพื่อเป็นหนังสือคู่มือการรายงานข่าวที่เป็นบรรทัดฐานแก่นักข่าวและช่างภาพ ทั้งยังสามารถนำไปสอนให้แก่นักศึกษารุ่นหลังได้อีกด้วย

ภาพจากทวิตเตอร์ @DoMeMyKa, ทีมภาพโพสต์, เอเอฟพี, telegraph.co.uk, media.vocativ.com


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มองสื่อเทศ ย้อนดูสื่อไทย การรายงานข่าว คนดัง เสียชีวิต

view