สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กกร.หนุนเข้าTPP TDRI ชี้กระทบยา ลามถึงวัคซีนเซรุ่ม

จากประชาชาติธุรกิจ

กร.ซาวเสียงสมาชิกส่วนใหญ่หนุนรัฐบาลเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ แปซิฟิก (TPP) ขณะที่ TDRI ชี้ชัดกระทบยาเกิดสิทธิบัตรไม่มีวันตาย ลามไปถึงชีววัตถุ "เซรุ่ม-วัคซีน" โดนด้วย

ความตกลงหุ้นส่วน ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement หรือ TPP) กลายเป็นประเด็นร้อนแรง

ในช่วงที่การส่งออกของประเทศไทยติดลบมาถึง 3 ปีติดต่อกัน ส่งผลให้ TPP กลายเป็นความหวังใหม่ของการส่งออกสินค้าไทย เนื่องจากประเทศที่เข้าร่วมข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดฉบับนี้มี ถึง 22 ประเทศ สินค้าและบริการร้อยละ 98 จะถูกลดภาษีเป็น 0 ทำให้ประชาชนกว่า 800 ล้านคนในภูมิภาคเข้าถึงสินค้าและบริการ แต่จนกระทั่งบัดนี้รัฐบาลไทยเองก็ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะเข้าร่วมความตกลง ฉบับนี้หรือไม่

ส.อ.ท.หนุนไทยเข้าร่วม TPP

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ความคิดเห็นของกลุ่มอุตสาหกรรม 40 กลุ่มใน ส.อ.ท.ปรากฏกว่า 80-90% หรือจำนวน 23 กลุ่ม "สนับสนุนให้รัฐบาลเข้าร่วมการเจรจา TPP"

ขณะที่อีก 12 กลุ่มยังไม่มีความคิดเห็น แต่มี 5 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วม TPP ดังนั้น กกร.ยังต้องใช้เวลาศึกษาข้อดี-ข้อเสียอีกระยะ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจาก ข้อตกลง TPP และเสียเปรียบ อาทิ กลุ่มปศุสัตว์, สินค้าเกษตร, ยา โดยอาจใช้เงินกองทุนเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ยังมีอยู่มาเป็นอีกกลไกหนึ่งในแนวทางช่วยเหลือแต่จะเป็นรูปแบบใดนั้นยังไม่ชัดเจน

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่สนับสนุนให้เข้าร่วมข้อตกลง TPP อาทิ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี, สิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม, เครื่องสำอาง, เหล็ก, ผู้ผลิตไฟฟ้า/พลังงานทดแทน (ยกเว้นเชื้อเพลิงชีวภาพเหลว), อัญมณี/เครื่องประดับ เป็นต้น บางกลุ่มอุตสาหกรรมมีข้อเสนอต่อการเจรจาและมีความกังวล ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปมีข้อกังวลต่อการเข้าร่วมอนุสัญญาต่าง ๆ (อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) อุตสาหกรรมหล่อโลหะกังวลเรื่องการคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ ได้เสนอให้มีการเจรจาลดภาษีสินค้าและเกณฑ์แหล่งกำเนิดสินค้าตามข้อเสนอของ อุตสาหกรรม ได้แก่ สินค้าทูน่าและน้ำตาล

ส่วนกลุ่มที่ไม่สนับสนุนข้อ ตกลง TPP ได้แก่ พลังงานทดแทนเชื้อเพลิงชีวภาพเหลว, อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ, เครื่องจักรกล/โลหะการ, แกรนิต/หินอ่อน และอาหาร เนื่องจากอุตสาหกรรมบางประเภทไทยมีปริมาณการผลิตที่น้อยกว่าประเทศสมาชิก TPP มาก บางตัวไม่รวมอยู่ในรายการสินค้า รวมถึงไม่มีศักยภาพในการแข่งขัน ขาดเงินทุนในการพัฒนาสินค้าเพื่อการส่งออก ทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขัน โดยเฉพาะไก่และสุกร มีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐจะผลักดันสินค้าปศุสัตว์ราคาถูกเข้ามาขายแข่งกับไทย ได้

ส่วนสมาคมตัวแทนขนส่งสินค้างทางอากาศไทยมีความเห็นว่า หากประเทศไทยไม่เข้าร่วม TPP จะเกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ส่งผลให้การส่งสินค้าทาง Air Freight ลดลง เช่นเดียวกับกลุ่มอุตสาหกรรมปลาป่น-น้ำมันถั่วเหลืองที่ไทยจะเสียเปรียบ เรื่องวัตถุดิบเพราะนำเข้าจากทวีปอเมริกาเหนือและบราซิล รวมถึงธุรกิจโรงแรมธุรกิจประกันชีวิตที่มีประสบการณ์การออกไปลงทุนต่าง ประเทศน้อย "ความไม่พร้อมเรื่องมาตรฐานและต้นทุนคืออุปสรรค"

เจรจาสิทธิบัตรลามยาถึงชีววัตถุ

ดร.จักรกฤษณ์ ควรพจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงสิ่งที่น่าเป็นห่วง 1 ในหลาย ๆ ข้อบทที่ปรากฏอยู่ในความตกลง TPP ก็คือ การให้ความคุ้มครองเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาส่วนใหญ่ "เกินกว่า" ความตกลงในองค์การการค้าโลก (TRIPs Plus) ฉะนั้นหากประเทศไทยจะร่วม TPP อาจต้องปรับแก้กฎหมายสิทธิบัตร มาตรา 9 (1) ซึ่งกำหนดไม่ให้จดสิทธิบัตรสารสกัดจากพืชและสัตว์

แต่ที่สำคัญที่ สุดก็คือ TPP กำหนดขยายความคุ้มครองข้อมูลยา "DATA Exclusivity" ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใช้จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการนำยาเข้ามาวางตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น มีกำหนดเวลาตั้งแต่ 3 ปีถึง 10 ปีตามชนิดสินค้า เช่น ให้ความคุ้มครอง 10 ปี สำหรับข้อมูลสินค้าเคมีภัณฑ์การเกษตร หรือ 5 ปีสำหรับยา หรือ 3 ปีสำหรับสูตรการรักษาใหม่หรือวิธีการรักษาใหม่ และ 8 ปีสำหรับเภสัชภัณฑ์ใหม่หรือชีววัตถุ (Biological Prod-uct)

"หากการคุ้มครองให้ TPP ครอบคลุมไปถึงเรื่องของชีววัตถุ ผมว่าน่าห่วงมาก เพราะขอบเขตกว้างมาก ไม่เพียงเฉพาะแต่ยาอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงเซรุ่ม-วัคซีน กลุ่มสารก่อภูมิแพ้ที่ใช้ในการรักษาหรือป้องกันโรค กลุ่มเซรุ่ม (serum) กลุ่มที่สกัดหรือแยกได้จากเลือดหรือพลาสม่า สารที่ใช้ในการพิเคราะห์โรค ซึ่งใช้โดยตรงต่อร่างกายมนุษย์ นับรวมขอบเขตกว้างและมีมูลค่ามหาศาล ประเด็นนี้จึงไม่เพียงส่งผลทำให้บริษัทยาสามัญ (ผู้ที่ผลิตเลียนแบบยาที่มีสิทธิบัตร) ไม่สามารถจดทะเบียนและวางจำหน่ายได้ แต่ยังก่อให้เกิดปัญหาการผูกขาดยา ทำให้ราคาสินค้ากลุ่มยาปรับสูงขึ้น กระทบผู้ป่วย ผู้พัฒนาและวิจัย รวมถึงรัฐบาลจะต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมากในเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ" ดร.จักรกฤษณ์กล่าว

ไม่เพียงเท่านั้น การเจรจา TPP ในข้อบทนี้จะทำให้เกิดปัญหา การจดสิทธิบัตรที่ไม่วันตาย (Evergreening Partent) มากขึ้น เช่น การนำสารที่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีกับการรักษาไปผสมและนำมาจดสิทธิบัตรเป็นยา ตัวใหม่ ซึ่งไม่ได้ให้ผลดีกับการรักษา เพื่อขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรต่อไปอีก 20 ปี และข้อบท 18.37.3 ที่วิตกกันว่า จะมีการเลี่ยงบาลีเพื่อขอจดสิทธิบัตรคุ้มครองวิธีการรักษาใหม่ ซึ่งเดิมกฎหมายสิทธิบัตรไม่อนุญาตให้จด แต่ผู้ผลิตที่มีสิทธิบัตรจะอ้างว่า เป็น Swiss Type Claim เป็นต้น

"ที่น่าสนใจคือ TPP ย้ำไว้ใน 2 ข้อบทคือ 18.41 กับ 18.6 ให้ประเทศสมาชิก TPP สามารถออกประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร (Compulsory Licensing หรือ CL เพื่อผลิตยาราคาแพงที่ถูกคุ้มครองโดยสิทธิบัตร แต่เป็นยาจำเป็นต่อการรักษาโรคและการเข้าถึงยา) และแต่ไม่ยอมระบุว่า การประกาศใช้ CL ผลิตยาที่ติดสิทธิบัตรจะไม่ถูกนักลงทุนฟ้องรัฐบาลในประเด็นนี้ แต่ในทางปฏิบัติที่แท้จริง แม้ว่าจะประกาศใช้ CL แต่สินค้าที่มีสิทธิบัตรอาจจะเข้ามาวางตลาดไม่ได้เพราะติดปัญหาเรื่องการ คุ้มครองข้อมูลยา (Data Exclusivity) เท่ากับถึง TPP ยอมให้มีการประกาศใช้ CL ก็ไม่มีประโยชน์" ดร.จักรกฤษณ์กล่าว

บิ๊กตู่บินโรดโชว์สหรัฐ

ล่าสุดมีรายงานเข้ามาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางเข้าร่วมคณะผู้นำอาเซียนไปโรดโชว์สหรัฐระหว่างวันที่ 14-21 กุมภาพันธ์นี้ มีวาระที่จะเข้าหารือร่วมกับตัวแทนรัฐบาลสหรัฐในเรื่องเกี่ยวกับการส่งเสริม การค้าการลงทุนในภูมิภาค โดยนายกรัฐมนตรีไทยจะกล่าว General Statement เกี่ยวกับความสำเร็จในการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียนเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา และแสดงวิสัยทัศน์ทิศทางการเดินหน้าอาเซียนในระหว่างปี 2016-2025

ส่วนการหารือกับสหรัฐในแบบทวิภาคีเกี่ยวกับการเจรจาความ ตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก นั้น ได้มีกำหนดจะหารือในรอบการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงการค้าและการลง ทุนไทย-สหรัฐ (TIFA JC) ในวันที่ 20-22 เมษายน 2559 โดยฝ่ายไทยอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจากการศึกษาข้อตกลง TPP ที่เปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้ เพื่อทำความเข้าใจในประเด็นที่อาจมีข้อสงสัยก็สามารถนำไปหารือได้ในเวที TIFA แต่ยังไม่ถึงขั้นการขอเจรจาเพื่อเข้าร่วมข้อตกลงฉบับนี้ เป็นเพียงการหารือเพื่อแสดงความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับเรื่องหาข้อบทต่าง ๆ


เอฟทีเอ ว็อทช์เตือน'ประยุทธ์' อย่าเข้าร่วม'ทีพีพี'

โดย :

"เอฟทีเอ ว็อทช์" เตือน"ประยุทธ์" อย่าหลงคารมสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น เข้าร่วม"ทีพีพี" ชี้กกร.และสถาบันวิจัยบางแห่งปั่นตัวเลขเกินจริง

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ระบุว่า ตามที่จะมีการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 15-17 ก.พ.นี้ ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมประชุมด้วยนั้น เชื่อว่า ประธานาธิบดีบารัก โอบาม่า ผู้นำสหรัฐฯจะใช้เป็นโอกาสสำคัญในการโน้มน้าวให้ประเทศอาเซียนที่เหลืออีก 7 ชาติ รวมทั้งประเทศไทยให้เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) เพื่อให้บรรลุนโยบายทางการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐ คือการกลับมาปักหมุดในเอเชียและปิดล้อมจีน ขณะเดียวกันเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งแบบเบ็ดเสร็จให้กับบรรษัทข้ามชาติซึ่ง จำนวนมากมีฐานอยู่ในสหรัฐ ขณะที่ประโยชน์ที่จะตกกับประเทศไทยไม่ชัดเจน    

"หลังจากที่การเจรจา TPP จบลง ผู้นำสหรัฐฯประกาศว่า นับจากนี้ สหรัฐจะเป็นผู้กำหนดกติกาการค้าในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นการลดอำนาจของอาเซียนที่เพิ่งรวมกลุ่มกันเป็นประชาคม เศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน บรรษัทต่างชาติของสหรัฐจะมีอำนาจเหนือรัฐบาลในการแสวงหากำไรสูง สุด ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำลายระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เพราะจะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาและค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น จากการผูกขาดตลาดยา การห้ามต่อรองราคายา และจำกัดไม่ให้รัฐบาลออกนโยบายสาธารณะในการคุ้มครองผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม เพราะรัฐบาลเกรงว่าจะถูกนักลงทุนต่างชาติฟ้องร้องล้มนโยบาย-เรียกค่าเสียหาย จากงบประมาณแผ่นดินผ่านกลไกอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ไทยต้องเปิดรับสินค้าจีเอ็มโอ ต้องยอมรับการจดสิทธิบัตรพันธุ์พืช ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งเกษตรกรต้องแบกค่เมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 4-6 เท่าตัว" 

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า แม้ว่าขณะนี้มีเสียงเรียกร้องจากผู้ประกอบการในไทยจำนวนหนึ่งใน นามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) และนักลงทุนจากญี่ปุ่นให้ไทยเข้าร่วมเจรจา แต่ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ ย้ำว่า การตัดสินใจว่าจะเข้าหรือไม่เข้าร่วม TPP ประเทศไทยต้องใช้ข้อมูลความรู้และงานวิจัยอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด ไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อน 

"เท่าที่ทราบ งานศึกษาที่สถาบันปัญญาภิวัฒน์และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการ พัฒนา ทำให้กับกระทรวงพาณิชย์ ที่ว่าหากไทยเข้าร่วม TPP จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว 0.77% และหากไทยเข้าร่วม TPP และมีสมาชิกอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.06% ซึ่ง กกร.นำมาอ้างอิงให้รัฐบาลเข้าร่วมเจรจา TPP นั้น คณะกรรมการตรวจรับส่งให้กลับไปแก้ไขหลายเรื่องโดยเฉพาะความไม่สมเหตุสมผลใน หลายจุด ขณะที่ในส่วนราชการต่างๆกำลังเร่งศึกษาข้อบทและวิเคราะห์ผลกระทบ จึงอยากให้งานศึกษาต่างๆเสร็จสมบูรณ์ ผู้นำรัฐบาลด้านนโยบายเศรษฐกิจไม่ควรไปกดดันให้เร่งสรุปหาทางเยียวยา เพราะนั่นเท่ากับเป็นการตั้งธงให้ข้าราชการชงข้อมูลที่เป็นเท็จ" 

จากงานวิจัยของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชุดโครงการความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งสนับสนุนโดย สกว. ชี้ว่า แม้ประเทศไทยได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA จำนวนมาก แต่ที่ผ่านมา FTA ไม่ได้กระตุ้นการส่งออกมากนัก หากพิจารณาจากสถานการณ์การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2558 ตลาดที่ไทยลงนาม FTA ด้วยมักมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกติดลบ นอกจากนั้น อัตราการใช้ประโยชน์จาก FTA ก็ยังมีจำกัด กล่าวคือ มูลค่าการขอใช้สิทธิ FTA (ทุกๆ กรอบรวมกัน) ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของมูลค่าการส่งออกรวม (ใช้และไม่ใช้สิทธิ FTA) ตัวเลขการใช้สิทธิ FTA ทางด้านการนำเข้าก็อยู่ในระดับตํ่า เพียงไม่ถึง 1 ใน 5 ของมูลค่าการนำเข้ารวม ขณะที่การกระตุ้นให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิเพิ่มขึ้นคงทำได้ไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเพราะแต้มต่อภาษีที่จะได้จาก FTA ไม่มากพอที่จะชดเชยต้นทุนส่วนเพิ่มจากการปฏิบัติตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด และต้นทุนธุรกรรมในการขอใช้สิทธิ

"ดังนั้น เราคงต้องย้อนถามว่า การลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีเหล่านี้คุ้มค่าหรือไม่ ทั้งในแง่งบประมาณ บุคลากร และเวลาที่ใช้ไปกับการเจรจา ก่อนที่จะเร่งเดินหน้าเจรจาและลงนามต่อไป เวลานี้นับเป็นช่วงเวลาที่ดีเพราะขณะนี้ประเทศไทยขาดความพร้อมที่จะเดินหน้า เจรจา FTA ใหม่ๆ โดยเฉพาะ New Normal FTA อย่าง Trans-Pacific Partnership (TPP) ที่เรียกร้องให้ลดภาษีสินค้าจำนวนมากให้เป็นศูนย์ทันที และการเจรจาต้องครอบคลุมประเด็นอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะประเด็นที่ยังไม่ตกผลึกอย่างข้อตกลงที่เกี่ยวกับการคุ้มครอง ทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ" งานวิจัย สรุป

ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของนักลงทุนญี่ปุ่นที่ขนขบวนเข้ามาโน้มน้าวรัฐบาลเมื่อสัปดาห์ ก่อน ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ มองว่า ล้วนเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ตนเองทั้งสิ้น ไม่ใช่ผลประโยชน์ของไทย ผู้นำรัฐบาลจึงต้องใช้สติปัญญาอย่างมากในการพิจารณาแยกแยะ 

"หากนักลงทุนญี่ปุ่นจะมีการย้ายฐานการผลิตจริงดังที่สถาบันวิจัยบาง แห่งกล่าวอ้าง อุตสาหกรรมรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าคงย้ายไปนานแล้ว เพราะมีความพยายามเป็นระยะ แต่ที่ย้ายไม่ได้เพราะเครือข่ายโรงงานและห่วงโซ่อุปทานฝังรากลึกในประเทศไทย และเป็นคลัสเตอร์ที่ใหญ่มาก ดังนั้น สภาพขณะนี้จึงเป็นการช่วยกันตีปีป ‘กลัวตกขบวน’ ของภาคเอกชนในและต่างประเทศบางส่วนร่วมกับสถาบันวิจัยบางแห่งโดยไม่มีความ ชัดเจนว่าไทยจะได้ประโยชน์จริงจากการเข้า TPP ซึ่งมีข้อบทที่ซับซ้อนและปฏิบัติเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ยากมาก แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นจริงกับประชาชนทั้งประเทศหากไม่มีการพิจารณาอย่าง รอบคอบ ที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลลานนท์ เคยหลงเชื่อกับการตีปีบเช่นนี้ จนลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA เปิดทางให้นำเข้าขยะสารพิษมาทิ้งที่ประเทศไทยเต็มบ้านเต็มเมือง นี่จึงเป็นบทเรียนที่ต้องจดจำ"     

นอกจากนี้ เมื่อวันวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา องค์การหมอไร้พรมแดน (MSF) ได้ส่งจดหมายถึงผู้นำอาเซียน 10 ชาติที่จะไปร่วมการประชุมสุดยอดกับผู้นำสหรัฐ ให้ปฏิเสธการเข้าร่วมและให้สัตยาบันกับความตกลง TPP ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อระบบสาธารณสุขทั้งภูมิภาค ขณะที่ทุกรัฐบาลกำลังมุ่งหน้าเพื่อให้เกิดหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและก้าว เข้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน “หลายล้านชีวิตกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงนี้


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กกร. หนุนเข้าTPP TDRI กระทบยา ลาม วัคซีนเซรุ่ม

view