สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พายุดิจิทัลทำตลาดแรงงานเปลี่ยน คาดอาชีพปัจจุบันหาย 65%

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

จากข้อมูลเมื่อเดือน ส.ค. 2558 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ว่างงานมากถึง 3.8 แสนคน จากผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งอัตราผู้ว่างงานเป็นแต่ละประเภทตามระดับการศึกษาเป็นตัวเลขสะสมตามลำดับ คือ ระดับอุดมศึกษาหรือจบจากมหาวิทยาลัย 1.57 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.6 หมื่นคน

ขณะที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เคยออกมาระบุตัวเลขประมาณการจำนวนนักศึกษาเข้าใหม่ ระดับปริญญาตรี ระหว่างปี 2550-2559 คาดว่าจะมีปีละ 5 แสนคน และในช่วงเดียวกันมีบัณฑิตระดับปริญญาตรีจบใหม่ปีละประมาณ 3-4 แสนกว่าคน จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา ระดับปริญญาตรีมีผู้สำเร็จการศึกษาประมาณ 1.5 แสนคน ปริญญาโท 2.2 หมื่นคน และปริญญาเอก 244 คน

ตัวเลขคาดการณ์แรงงานในปี 2555-2559 ระบุว่า มีความต้องการแรงงานระดับอุดมศึกษาประมาณ 1.45 แสนคน/ปี โดยนักศึกษาที่กำลังจะพ้นรั้วมหาวิทยาลัยออกมา ไม่สามารถที่จะเลี่ยงการแข่งขันในตลาดแรงงาน ที่หากพ่ายแพ้ก็ต้องก้มหน้ารับสภาพตกงานไปได้

ไกรยศ ภัทราวาส ผู้เชี่ยวชาญนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่า ทิศทางการเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานโลก ชัดเจนว่าทุกประเทศกำลังเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนและระบบเศรษฐกิจ เพื่อรองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

การปฏิวัติดังกล่าวเกิดจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 5 ด้านที่จะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางตลาดแรงงานในอนาคตปัญญาประดิษฐ์ พันธุวิศวกรรม นาโนเทคโนโลยี การพิมพ์สามมิติ และไบโอเทคโนโลยี ส่งผลต่อการผลิตและการจ้างงานในอัตราเร่งที่น่ากังวลอย่างมาก โดยคาดการณ์ว่า อาชีพที่มีอยู่ในปัจจุบันจะหายไปถึง 65%

ไกรยศ กล่าวว่า รายงานของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานในรอบทศวรรษที่ผ่านมา โดยสัมภาษณ์นายจ้างที่มีลูกจ้างรวม 13.5 ล้านคน พบว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบใหม่จะมีทั้งคุณและโทษต่อตลาดแรงงาน เพราะนอกจากจะสร้างโอกาสการทำงานและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังเปลี่ยนวิธีทำงานและทำลายตำแหน่งงานจำนวนมาก

“ที่เห็นชัดที่สุด คือ บริษัทมหาชนขนาดใหญ่ที่สุด 500 อันดับแรกของสหรัฐอเมริกามากกว่าครึ่งหายไปจากการจัดอันดับภายในทศวรรษเดียว เนื่องจากกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีใหม่แทนที่มนุษย์ ทำให้เลิกจ้างงาน รวมทั้งผู้ประกอบการที่ปรับตัวไม่ทัน ต้องปิดกิจการลงเป็นจำนวนมาก” ไกรยศ กล่าว

ส่วนสาขาที่มีโอกาสตกงานสูง รวมถึงอัตราจ้างงานจะถดถอยลงในอีก 4 ปีข้างหน้า คือ พนักงานออฟฟิศและแอดมิน เนื่องจากการทดแทนของเทคโนโลยี รวมถึงงานภาคการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม โดยเทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามาทดแทนภาคการก่อสร้าง งานขุดเจาะ เนื่องจากเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพมากกว่า

ขณะเดียวกัน สาขาที่มีอนาคตสดใส คือ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และนักวิเคราะห์ข้อมูล เนื่องจากการเติบโตของเมืองขนาดใหญ่อย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องมีการคิดคำนวณรองรับ

นอกจากนี้ ตลาดแรงงานของผู้ที่เรียนจบอุดมศึกษาในอนาคตยังมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาการว่างงานชั่วคราวที่เกิดขึ้นจากความต่างกันระหว่าง “การผลิตบัณฑิตของระบบการศึกษา” และ “ความต้องการของตลาดแรงงาน”

ไกรยศ กล่าวว่า หลายสถาบันไม่กล้าปิดสาขาที่เรียนไปแล้วไม่มีงานทำ ขณะที่บางสาขาที่ตอบโจทย์อนาคตกลับไม่มีบุคลากรสอน ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ เด็กจบปริญญาตรีมีอัตราว่างงานมากที่สุด และจำนวนมากต้องยอมทำงานที่มีเงินเดือนต่ำกว่าวุฒิการศึกษา

หากปรับตัวไม่ได้ ผลกระทบที่ตามมา ก็เช่น แม้รัฐบาลจะเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ อัตราเก็บภาษีที่ดึงดูด แต่ก็ไม่มีใครกล้ามาลงทุน เพราะไม่มีแรงงานตามที่ต้องการ และสามารถหาตลาดแรงงานที่ตอบโจทย์กว่า เพราะมาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย มีแผนแม่บทผลิตกำลังคนที่ปรับตัวรองรับอนาคตมาแล้วนับสิบปี

วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า บุคลากรที่ตลาดแรงงานยุคใหม่ต้องการ นอกเหนือจากความรู้ ต้องมีคุณสมบัติด้านทักษะการแก้ไขปัญหาซับซ้อน การคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ การจัดการบุคคล การทำงานร่วมกัน ความฉลาดทางอารมณ์ รู้จักประเมินและการตัดสินใจ มีใจรักบริการ การเจรจาต่อรอง และความยืดหยุ่นทางความคิด ที่ไม่สามารถสอนได้ ต้องกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้จากกิจกรรมที่นักศึกษาทำร่วมกัน

“มหาวิทยาลัยหลายแห่งยังถ่ายทอดทักษะที่กล่าวมาด้วยวิธีการสอนอยู่ ยังไม่สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ การสอนแบบเดิมๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการสอนให้นำไปสู่การปฏิบัติแบบแอ็กทีฟเลิร์นนิ่ง เด็กที่จบมาจึงตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานยุคใหม่ไม่ได้” วรากรณ์ กล่าว


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พายุดิจิทัล ตลาดแรงงานเปลี่ยน คาด อาชีพปัจจุบัน หาย 65%

view