สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โต้คลื่น เมกะเทรนด์ ทรานส์ฟอร์มเออีซี

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ โดย วิไล อักขระสมชีพ

มีเรื่องเล่าดี ๆ ที่เป็นควันหลงของงานประชุมอาเซียน ซัมมิท ในหัวข้อ "Turning Vision into Reality for Dynamic ASEAN Community" เมื่อวันที่ 5-8 กันยายน 2559 ที่ผ่านมา โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นประธานการจัดงาน จึงได้จัดขึ้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งประเทศไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้

ขณะที่สปอตไลต์จับจ้องไปที่ผู้นำระดับโลกที่มาเข้าร่วมงานอย่าง นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีของสหรัฐ นายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และมีผู้นำบางประเทศที่ดังจนโลกตกใจ คือ นายโรดริโก ดูเตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กับวาทะรุนแรงต่อกรกับนายบารัก โอบามา ในระหว่างการจัดงานประชุมอาเซียน ซัมมิท

อาเซียน ซัมมิทในครั้งนี้ถือเป็นการประชุมครั้งแรกหลังจากที่มีการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economics Community หรือ AEC) เป็นปีแรก ซึ่งถือเป็นตลาดเศรษฐกิจที่ใหญ่อีกตลาดของโลกภายใต้จำนวนประชากรกว่า 600 ล้านคน ซึ่งผู้นำแต่ละประเทศทั้งในและนอกอาเซียน ต่างเห็นโอกาสในการขยายบทบาทการค้าระหว่างประเทศเข้ามาในเศรษฐกิจเออีซีนี้กันทั้งนั้น

รองศาสตราจารย์ดร.เสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้เล่าถ่ายทอดประเด็นสำคัญที่พูดถึงในการประชุมให้แก่ผู้สื่อข่าวที่เข้า ร่วมอบรมในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง(พศส.) เมื่อเร็ว ๆ นี้ดังนี้ว่า โดยภาพรวมในปีนี้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอาเซียน 10 ประเทศจะเติบโตได้ 4.9% และปีหน้าจะเติบโตต่อเนื่อง 5.3% และถ้ารวมเศรษฐกิจของอาเซียนบวกอินเดียและจีนเข้าด้วยกันจะเห็นการเติบโตปี 2559-2560 ได้ถึง 6.4% และ 6.3% ตามลำดับ และถ้าดูเจาะลึกลงไปเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ CLMV พบว่ามีการเติบโตที่แรง ผู้นำระดับโลกจึงต้องพาเหรดเข้ามาร่วมงานประชุมครั้งนี้ เพราะขุมทรัพย์ทางการค้าการลงทุนที่จะขยายตัวได้อีกมาก ในขณะที่เศรษฐกิจของฝั่งตะวันตกยังไม่สดใสและโอกาสการขยายตัวอยู่ระดับต่ำ

ในการประชุมอาเซียน ซัมมิทนี้จะมีการประชุมย่อยอีกหลายเวที ซึ่งหนึ่งในเวทีที่สำคัญ คือ เวที ASEAN BUSINESS & INVESTMENT SUMMIT ซึ่งกำหนดหัวข้อหลักเรื่อง "Global Megatrends and their Impact on the AEC" ซึ่งจะรวมพลผู้นำธุรกิจระดับบริษัทข้ามชาติและผู้นำธุรกิจในแต่ละประเทศ ซึ่งฝั่งไทยจะมีตัวแทนภาคธุรกิจที่เข้าร่วม เช่น นายอิสระ ว่องกุศลกิจประธานหอการค้าไทย เป็นต้น แต่ละในเวทีนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น "อาเบะ" ได้ขึ้นกล่าวกับนักธุรกิจถึงใจความสำคัญว่า

"ประเทศญี่ปุ่นมีความมุ่งมั่นที่จะให้ความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในอาเซียน เพื่อจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา เทคโนโลยีการผลิต และด้านสังคม..." เขายังพยายามบอกอีกว่า การที่ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศเหล่านี้ เงินลงทุน (FDI) ต้องการจะทรานส์ฟอร์มเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้ ญี่ปุ่น ไม่ได้หวงเทคโนโลยีเลย ญี่ปุ่นต้องการจะบอกว่า ไม่ได้เข้ามาเพื่อเอาประโยชน์จากประเทศนั้นอย่างเดียว แต่ประโยชน์จะต้องเกิดร่วมกัน

ประเด็นสำคัญที่พูดในเวทีนี้หัวข้อ "Global Megatrends and their Impact on the AEC" คือเมกะเทรนด์จะเข้ามา "ทรานส์ฟอร์ม" ให้อนาคตของโลกเปลี่ยนไปและมีผลกระทบต่อธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ครอบครัว รวมไปถึงไลฟ์สไตล์แต่ละคน แม้ว่าเราไม่ต้องการจะยุ่งด้วย แต่สุดท้ายก็หลีกเลี่ยงไม่ได้กับกระแสเมกะเทรนด์นี้ซึ่งประกอบด้วย

1.การขยายของตัวเมือง (Urbanization) ทุกวันนี้เมืองต่าง ๆ บนโลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก เวลานั่งเครื่องบินมองลงมาจากเครื่องบินจะเห็นเดือย (Spiky) ทิ่มแทงขึ้นมาเยอะมาก เมืองใหญ่เกิดขึ้นกว่า 476 เมือง เรียกว่าเพิ่มขึ้นถึง 579% ที่เต็มไปด้วยตึกสูง คอนโดมิเนียม คอมเพล็กซ์ต่าง ๆ ต่อไปคนจะมีพื้นที่ใช้สอยไม่กว้างแล้ว

2.เทรนด์ใหม่ที่คนจะพูดถึงมากขึ้นคือ สมาร์ท นิวกรีน (Smart is the New Green) ทุกวันนี้จะมีแต่คำว่า "สมาร์ท" พ่วงสินค้าเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย อาทิ สมาร์ทเทคโนโลยี สมาร์ทซิตี้ สมาร์ทบิวดิ้ง สมาร์ทอินฟราสตรักเจอร์ แม้แต่พาสเตอร์ปิดแผลก็ยังมี Smart Bandages

3.โซเชียลเทรนด์
ทุกวันนี้เทรนด์ใหม่ ๆ สำคัญเกิดขึ้น เช่น GEN Y, She Economy ซึ่งโลกนี้ต้องแคร์ผู้หญิงเพราะมีบทบาทมากขึ้น ทั้งด้านการเป็นผู้นำ การเป็นผู้ที่มีความยืดหยุ่นในไลฟ์สไตล์ มีความต้องการการบริโภคสินค้ามากมาย หรือแม้แต่ Halal Economy ก็เข้ามาเป็นโซเชียลเทรนด์ที่สำคัญของโลก เป็นต้น

4.เทรนด์เทคโนโลยี ที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคค่อนข้างมาก มีการพูดถึง Big Data เยอะมากในเวทีประชุมนี้ เช่น ใครค้นหาข้อมูลอะไรบ้างในกูเกิล หรือใครโทรศัพท์มือถือเข้าหาใครจำนวนกี่ครั้ง เรียกว่าจะถูกติดตามพฤติกรรมการใช้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต และมีการนำข้อมูลเหล่านี้มาแยกแยะ จัดส่งไปยังบริษัทผลิตสินค้าหมด ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็จะใช้ประโยชน์ทางธุรกิจได้

5.Bricks&Clicks เมื่อก่อนการค้าขายสินค้าจะต้องมีร้าน หรือ ตึกใหญ่ แต่พอผ่านปี 2543 เป็นต้นมา จะเห็นช่องทางออนไลน์เข้ามาซื้อขายสินค้ามากขึ้น แต่ทุกวันนี้จะเห็นการผสมกันระหว่างมีร้านค้าก็จะเล็ก ๆ แล้วไปอยู่บนหน้าจอผ่านช่องทางออนไลน์แทน เรียกว่า "Virtual Store" เพียงแค่คลิกเท่านั้น ไม่ต้องมีการสร้างตึกใหญ่เป็นร้านค้าแล้ว ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ที่เข้ามาถึงทุกคนแล้ว และหลายคนก็เริ่มซื้อผ่านช่องทางนี้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ

6.Innovative to Zero (ศูนย์) เทรนด์ศูนย์ มีการพูดกันมากขึ้นว่าทำอย่างไรจะผลิตสินค้าออกมาให้เกิดผลกระทบเป็นศูนย์ ที่เห็นเช่น สินค้าที่ผลิตออกมาต้องเป็นซีโร่แคลอรี่ ซีโร่คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น ซึ่งหมายถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆในการผลิตสินค้าแนวใหม่เหล่านี้

7.Mobility จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมผู้ใช้สินค้า ขอยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐจะมีการเลือกเช่ารถ-ยี่ห้อเป็นรายครั้ง สามารถเลือกเช่ารถที่จอดอยู่ใกล้ที่พัก และไปจอดคืนในจุดที่ใกล้สถานที่เป้าหมายเดินทาง ทำให้เด็กจบใหม่ไม่จำเป็นต้องซื้อรถแล้ว เช่าขับเปลี่ยนรุ่นไปได้เรื่อย ๆ เพียงแค่มีมือถือและลงทะเบียนเป็นสมาชิก เมื่อเช่ารถจะสามารถสตาร์ตรถขับออกไปได้ โดยจ่ายค่าเช่าเพียงชั่วโมงละ 10 เหรียญสหรัฐ เป็นต้น

8.เทรนด์สุขภาพ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกโฟกัสในปี 2559 นี้เป็นต้นไป และมีโอกาสที่อาจจะเห็นหมอบางด้านตกงานได้ เพราะสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาทำการตรวจหาโรค ซึ่งจะมีความแม่นยำในการคาดการณ์ความเสี่ยงจะเป็นโรค เช่น การนำยีนไปตรวจแล้วพบว่ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งหากตัดออกก่อนก็จะลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งได้

9.Future of Infrastructure เทรนด์การลงทุนสาธารณูปโภคใหญ่ ๆ ของทุกประเทศที่จะเกิดขึ้นอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านขนส่ง เส้นทางถนนต่าง ๆ ที่เชื่อมระหว่างประเทศ น้ำ โทรคมนาคม พลังงาน ฯลฯ ซึ่งในอนาคตจะเห็นการลงทุนที่เชื่อมต่อกันอีกมาก

10.โมเดลการทำธุรกิจใหม่ ๆ ยิ่งเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ก็จะยิ่งทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องปรับตัวในการขยายธุรกิจให้กว้างออกไปเพื่อความอยู่รอด ซึ่งสินค้าและบริการก็ต้องเกาะกระแสเมกะเทรนด์ไปด้วย จะต้องมีหลาย ๆ เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปรับเปลี่ยน

และ 11.พลังของโซเชียลมีเดียที่จะทำให้เข้าถึงกลุ่มคนจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว จากข้อมูลสถิติระบุว่า สื่อวิทยุจะใช้เวลา 38 ปีในการเข้าถึงคน 50 ล้านคน ถ้าเป็นทีวีใช้เวลา 13 ปี อินเทอร์เน็ตใช้เวลา 4 ปี ขณะที่เฟซบุ๊กใช้เวลา 2 ปี และคาดว่าในระยะข้างหน้านี้จะเข้าถึง 500 ล้านคนได้

และทั้งหมดนี้คือเมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศมหาอำนาจ และกำลังแผ่ขยายเข้ามาในอาเซียน ซึ่งยากที่จะต้านกระแสนี้ได้


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : โต้คลื่น เมกะเทรนด์ ทรานส์ฟอร์มเออีซี

view