สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี บริหาร ครอบครัวสิงห์ สไตล์ ประนีประนอม

จากประชาชาติธุรกิจ

นอกจากความเป็นคนดังที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดในกองเงินกองทองของตระกูล "ภิรมย์ภักดี" เป็น "สิงห์รุ่นที่ 3" เป็นลูกชายคนโตของ "จำนงค์ ภิรมย์ภักดี" เป็นหลานปู่ของ "พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร)" เป็นที่รู้จักในแวดวงสังคมมาตลอด เมื่อ 3 ปีที่แล้ว "จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี"เป็นข่าวใหญ่ครึกโครมในฐานะพ่อของ "ตั๊น-จิตภัสร์" ทำให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นอีกมาก



ปัจจุบันในตำแหน่งกรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด จุตินันท์คือเบอร์ 2 ของอาณาจักรสิงห์ที่ออกสื่อในฐานะนักธุรกิจบ้าง ไม่บ่อย ตามสไตล์สิงห์ที่เน้นซุ่ม ไม่เป็นข่าวพร่ำเพรื่อ (แม้แต่ในเว็บไซต์บริษัทยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลโครงสร้างบริหาร)

อีกด้านหนึ่งชื่อของจุตินันท์ปรากฏในสื่อมากกว่าในฐานะผู้มีตำแหน่งในวงการกีฬา เขาเข้าไปนั่งเก้าอี้ต่าง ๆ ในแวดวงกีฬามากมายหลายสมาคม หลายตำแหน่ง ซึ่งความชอบส่วนตัวนั้นเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่เขาเข้าไปในวงการกีฬา แต่อีกส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความเชื่อมโยงทางธุรกิจที่สิงห์เข้าไปสนับสนุนกีฬาต่าง ๆ และทำสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งมากมาย

"ผมเคยแข่งขันยิงปืน ตอนนี้ใช้เวลาว่างในการพัฒนาการใช้อาวุธปืน และที่สำคัญคือให้เวลาตัวเองในการดูแลสุขภาพ เข้ายิมทุกวัน" ผู้บริหารสิงห์เล่าถึงกิจกรรมที่ทำเวลาว่าง ซึ่งถ้าจะพูดให้ถูกคือกิจกรรมที่เขาให้ความสำคัญและจัดสรรเวลาให้อย่างสม่ำเสมอ

ด้วยความชอบเล่นกีฬาและมีวินัยในการดูแลสุขภาพนี่เอง ทำให้คุณพ่อลูก 3 ที่อีก 1 ปีจะอายุครบ 60 มีรูปร่างหน้าตาประหนึ่งว่าเพิ่งอายุ 40 กว่า เห็นยืนข้างลูกชายก็ชวนให้คิดว่าเป็นพี่น้องกัน ไม่รู้ว่าสาว ๆ จะกรี๊ดพ่อหรือกรี๊ดลูกมากกว่า

"โดยส่วนตัวเล่นกีฬาเกือบทุกอย่างจริง ๆ แล้วสมัยเรียนที่อเมริกา ผมเล่นกีฬาที่เป็นทีมเยอะ อเมริกันฟุตบอล ฮอกกี้น้ำแข็ง สควอช คาราเต้ พอกลับมาไทยก็มาเป็นโค้ชคาราเต้อยู่ 2 สมัย ตอนนี้เป็นประธานกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทยปีที่ 6 แล้ว ก่อนหน้านั้นก็อยู่ในตำแหน่งอื่น ๆ เป็นกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เป็นกรรมการกองทุนพัฒนากีฬา ทุ่มเทเกี่ยวกับกีฬามาตลอด ปีที่แล้วเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติก็เป็นรองประธานกรรมการปฏิรูปกีฬา คลุกคลีกับกีฬามาตลอด ส่วนบริษัทบุญรอดนั้นสนับสนุนกีฬามาอย่างต่อเนื่อง 50-60 ปีแล้ว ก่อนคำว่าซีเอสอาร์จะเกิดขึ้น" จุตินันท์บอกถึงความเชื่อมโยงระหว่างตัวเขากับกีฬา

- การเล่นกีฬาเป็นทีมได้เรียนรู้อะไรมาใช้ในการทำงานหรือชีวิตทั่วไปบ้างไหม


ได้เรียนรู้มาปรับใช้มาก ผมคิดว่าได้เรื่องการทำงานเป็นทีม แต่สำคัญที่สุดที่ได้จากกีฬา ผมคิดว่าคือวินัย นักกีฬาทุกระดับที่ประสบความสำเร็จ วินัยต้องมาเป็นอย่างแรก ไม่มีใครเกิดมามีแค่พรสวรรค์แล้วสามารถได้เหรียญทอง ไม่ว่าจะเป็นไมเคิล เฟลป์ส หรือ ยูเซน โบลต์ อาจจะมีพรสวรรค์บ้าง แต่ทุกคนได้เหรียญมาจากวินัย การไม่ท้อแท้ การมุมานะในการฝึกซ้อมแข่งขัน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตนเอง ซึ่งของพวกนี้เอามาใช้กับชีวิตปกติของเราได้ เรื่องการทำงานก็ต้องมีวินัย มีการทำงานเป็นทีม ผมไม่รู้จักบริษัทไหนที่ประสบความสำเร็จสูงโดยที่มีคนเก่งอยู่คนเดียว ทั้งทีมต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่มีใครสามารถทำได้คนเดียว ผมคิดว่ามันเหมือนกัน กีฬากับชีวิตทั่ว ๆ ไป

- แบ่งเวลางานกับเวลาส่วนตัวอย่างไร


ย้อนกลับมาที่การทำงานเป็นทีม ในหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือพยายามสร้างทีม เพราะผมไม่คิดว่าผมจะอยู่ค้ำฟ้า สมมุติทุกอย่างพึ่งผม แล้วผมไม่อยู่วันหนึ่ง มันไม่แย่เหรอก็เลยเป็นประเด็นนี้ ผมให้ความสำคัญกับทีมเวิร์ก ผมมีทีมรองรับ มันแบ่งเบาภาระ

- ทีมที่จะร่วมงานด้วย ต้องสร้างขึ้นมาเองหรือรับมาจากทีมอื่นก็ได้


ผมว่ามันเหมือนกีฬาเหมือนกันครับ คนที่เข้ามาต้องมีศักยภาพประมาณหนึ่ง มีความรู้มีพื้นฐาน ที่สำคัญคือมีวินัย อยากเรียนรู้อยากพัฒนาให้ตัวเองดีขึ้น พอเข้ามาเราก็มาเพิ่มให้ความรู้เขา และสร้างความเป็นทีมมากขึ้น

- สิงห์เป็นองค์กรที่เปิดรับคนนอกครอบครัวแค่ไหน สำหรับตำแหน่งบริหาร


ก็มีครับ ในระดับกรรมการก็มีคนนอก ผู้บริหารระดับสูงก็เป็นคนนอกส่วนหนึ่ง คือธุรกิจมันขยายใหญ่มาก เรารู้ว่าครอบครัวเราไม่สามารถมีลูกหลานมาดูแลได้ครบถ้วน เราก็เห็นความสำคัญในการพยายามพัฒนาให้ลูกหลานเป็นมืออาชีพ แต่ในเวลาเดียวกันก็ดึงมืออาชีพเข้ามาด้วย

- เตรียมการส่งต่อธุรกิจให้เจเนอเรชั่นต่อไปอย่างไรบ้าง


ตอนนี้รุ่น 4 เข้ามาเป็นผู้บริหาร เป็นกรรมการเยอะแยะ เรามีการพัฒนาลูกหลานของเรา สิ่งที่คิดว่าสำคัญที่สุดก็คือการฝากให้ลูกหลานเข้าใจถึงนโยบายของพระยาภิรมย์ภักดีซึ่งสืบทอดกันมา เรื่องการให้คืนสังคม เน้นการบริหารอย่างโปร่งใส ทำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ก็มีหลัก ๆ สามอย่างแค่นี้ นอกจากนั้นในการบริหาร สไตล์ เทคนิค การเปลี่ยนแปลงด้านการตลาด มันก็เปลี่ยนไปตามตลาด แต่ Core Values (ค่านิยมองค์กร) ก็คือเราต้องคืนสู่สังคม และคุณภาพสำคัญที่สุด

- ย้อนไปสมัยที่เข้ามาทำงานใหม่ ๆ สิ่งที่ได้รับการปลูกฝังหรือกำชับมากที่สุดจากคนรุ่นก่อนคืออะไร


คุณพ่อ คุณลุง สอนเรื่องเราต้องดูแลสเตกโฮลเดอร์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า คู่ค้าทั้งหลาย เราต้องให้ความสำคัญกับเขา อย่างที่บอกมันเหมือนทีม ไม่ใช่ว่าบริษัทเราเก่งอยู่คนเดียว ถ้าคู่ค้าเราไม่เก่ง ซัพพลายเออร์เราไม่เก่งเท่าเรา ก็กระเทือนเรา ลูกค้าเราไม่เก่งเท่าเรา ก็กระเทือนเรา พนักงานไม่เก่งเท่าเรา ก็กระเทือน ฉะนั้นมันต้องไปด้วยกัน ผลประโยชน์ทั้งหลาย และการพัฒนาสเตกโฮลเดอร์ต้องไปในทิศทางเดียวกัน เหมือนกีฬา

- ในเส้นทางการทำงาน ตำแหน่งโตขึ้น ความรับผิดชอบมากขึ้นและยากขึ้น เรียนรู้พัฒนาตัวเองอย่างไร


ผู้ใหญ่เห็นความรับผิดชอบ เราก็ต้องพัฒนาปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอด การศึกษาเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด ก็ต้องหาความรู้เพิ่มเติมมาตลอด ขยายไปเรื่อย ๆ ทั้งเรียนรู้จากภายนอกและปฏิบัติเองด้วย ส่วนหนึ่งผมคิดว่าที่สำคัญในสังคมไทยก็คือเรื่องคนที่รู้จัก ถ้าเราคบหรือรู้จักคนเก่งคนที่มีความรู้ หรือมีอะไรไม่เหมือนเรา เราก็เรียนรู้จากเขาได้ ก็เป็นอะไรที่ดี อย่างผมไปเรียนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) 1 ปี ก็ได้เรียนรู้เยอะ ทั้งภาครัฐและเอกชน คือเราโตมาจากภาคเอกชน แต่พอไปเข้าใจในวิธีคิด กรอบความคิดของภาครัฐ ก็เป็นความรู้ที่เราเอามาดัดแปลงพัฒนาในการทำงานได้

- มีที่ปรึกษาหรือครูคนพิเศษไหม


ผมยกให้ทุกคนเป็นครูครับ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน เป็นคนทำงานด้วย เราเรียนรู้ได้ตลอด เรียนรู้จากผู้ใหญ่นี่แน่นอน แต่เด็กกว่าบางทีเราก็เรียนรู้จากเขา เราเองคนเดียวมันทำอะไรไม่ได้หมด ข้อมูลที่เข้ามาที่ผ่านกลั่นกรองมาจากสายอื่นก็มาช่วยเรา

- ตอนนี้ลูก 3 คน ไม่มีใครเข้ามาทำงานที่บริษัท


ครับไม่ได้กะว่าจะให้เขาเข้ามา ลูกสาวคนโตทำงานทางการเมือง ลูกสาวคนรองก็ทำงานอยู่ต่างประเทศ ลูกชายคนเล็กเป็นทหารอยู่ ตามใจเขาเลย

- ผู้ใหญ่เจน 1 เจน 2 ซีเรียสไหมว่าลูกหลานต้องเข้ามาทำงานที่บริษัท


ซีเรียสครับ คุณพ่อผมนี่ซีเรียส ผมกับคุณพ่อเคยทะเลาะกันเพราะว่าตอนที่ผมเรียนจบแล้วผมเลือกจะทำงานธนาคารที่อเมริกาก่อน ผมมีความคิดจริง ๆ ว่าไม่อยากกลับมาทำงานที่นี่เพราะผมไปเรียนนอกตั้งแต่เด็ก อายุ 13 เรียกว่าช่วงที่โตมาได้รับกระแสความเป็นอเมริกันเยอะ เรียนจบผมรู้สึกว่าผมชอบสังคมอเมริกามากกว่า ในตอนนั้นก็มีความคิดไม่อยากกลับมา ทะเลาะกับพ่ออยู่เป็นปี แต่สุดท้ายคุณพ่อก็ให้เหตุผลว่าท่านอายุมากแล้ว อยากจะเริ่มเที่ยว เริ่มใช้ชีวิตให้มีความสุขหลังจากทำงานมานาน สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับมา ความกดดันมีครับสมัยนั้น

- เป็นองค์กรใหญ่ แต่มีความเป็นครอบครัว เวลามีปัญหามีความเห็นขัดแย้งในการทำงาน ทำยังไงไม่ให้มีปัญหากันส่วนตัว


นี่คือปัญหาหลักในเหตุผลที่ผมบอกว่าไม่อยากกลับมาทำงาน ความรู้สึกส่วนตัวตอนนั้นคือรู้ว่าในการทำงานมี Conflict แน่นอน ต้องมีความเห็นที่ไม่ตรงกัน กลัวว่าการทำงานกับคุณพ่อและครอบครัว ถ้าเกิดว่ามี Conflict แล้วจะกระทบเรื่องส่วนตัว แต่พอกลับมาทำแล้วก็สามารถบริหารได้ดี ระหว่างผมกับพ่อนะ ส่วนกับทางครอบครัวสายอื่นก็มีการประนีประนอม ผมคิดว่าสุดท้ายทุกคนมองถึงภาพใหญ่ ภาพใหญ่ในที่นี้ไม่ใช่แค่ความเจริญรุ่งเรืองขององค์กร แต่เป็นภาพที่ว่าท่านพระยาภิรมย์ภักดี คุณปู่ผม ก่อตั้งบริษัทมา พวกเราคงไม่อยากเห็นอะไรไม่ดีเกิดขึ้น

คือทุกคนมุ่งเน้นจะนำพาองค์กรนี้ นำพาภาพรวมไปข้างหน้า

- หลักในการบริหารส่วนตัวคือ


นี่แหละครับ ทำยังไงจะดูแลสเตกโฮลเดอร์ให้มีส่วนร่วมในส่วนได้ส่วนเสียด้วยกัน ผมคิดว่าสำคัญที่สุด


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี บริหารครอบครัวสิงห์ สไตล์ประนีประนอม

view