สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พระอัจฉริยภาพในหลวง พระบารมีคลี่คลายการเมือง 70 ปี

จากประชาชาติธุรกิจ

กว่า 8 ทศวรรษที่การเมืองไทยเปลี่ยนแปลงมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาชน ทว่า หลายครั้งประชาธิปไตยไทยกลับล้มลุกคลุกคลาน เกิดวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองหลายครั้ง

กว่า 70 ปีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์ และบ่อยครั้งที่พระองค์เสด็จช่วยคลี่คลายสถานการณ์การเมืองตลอดเส้นทางประชาธิปไตย ทรงมีพระอัจฉริยภาพแก้ปัญหาทางการเมืองที่สำคัญ ๆ อย่างน้อย 3 เหตุการณ์ คือ เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และวิกฤตเลือกตั้ง 2 เม.ย.เมื่อปี 2549 นอกจากนี้ ยังมิรวมถึงพระราชดำรัสของพระองค์ที่เตือนสติคนไทย นักการเมือง ให้ปรองดอง ก่อนบ้านเมืองล่มจม

14 ตุลา น.ศ.พึ่งบารมีในหลวง

ก่อนเหตุการณ์นองเลือด 14 ตุลาฯในคืนวันที่ 13 ตุลาคม 2516 กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา พร้อมด้วยผู้นำฝ่ายรัฐบาล ได้เข้าเฝ้าฯ และทรงมีพระบรมราโชวาทและพระราชประสงค์ให้ทั้งสองฝ่ายยุติความขัดแย้ง

ทว่า เหตุการณ์หลังจากทุกฝ่ายเข้าเฝ้าฯ ในเช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516 สถานการณ์ข้างนอกวังสวนจิตรลดาเกิดการปะทะกันระหว่างขบวนนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหาร ลุกลามบานปลายจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

นักศึกษาและประชาชนบางส่วนได้ขอพึ่งพระบารมีเข้าไปหลบอยู่ในวังสวนจิตรลดา พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะลงมาทอดพระเนตรตามการบันทึกของ "พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร" อดีตนายตำรวจราชสำนักประจำ ในหนังสือ "เหตุเกิดในกรุงรัตนโกสินทร์"

"การเสด็จพระราชดำเนินทำให้บรรยากาศในขณะนั้นคลายความตึงเครียดลงเป็นอันมาก แม้ว่าจะมีคนที่ยังระงับความเคียดแค้นยังไม่ได้ก็ตาม บางคนกราบบังคมทูลเหตุการณ์ทั้ง ๆ ที่น้ำตาอาบหน้า"

จอมพลถนอมและพวกจะลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว แต่สถานการณ์รุนแรงยังไม่คลี่คลาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัส ณ หอพระสมุด สวนจิตรลดา ในค่ำคืนวิปโยคทางวิทยุโทรทัศน์ ว่า

"วันนี้เป็นวันมหาวิปโยคที่น่าเศร้าสลดอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดระยะเวลา 6-7 วันที่ผ่านมาได้มีการเรียกร้องและเจรจากัน จนกระทั่งนักศึกษาและรัฐบาลทำข้อตกลงกันได้ แต่แล้วมีการขว้างระเบิดขวดและยิงแก๊สน้ำตาขึ้น ทำให้เกิดการปะทะกัน และมีคนได้รับบาดเจ็บหลายคน ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั้งพระนครถึงขั้นจลาจล และยังไม่สิ้นสุดมีคนไทยด้วยกันต้องเสียชีวิตนับร้อย ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนจงระงับเหตุแห่งความรุนแรงด้วยการตั้งสติยับยั้ง เพื่อให้ชาติบ้านเมืองคืนสู่สภาพปกติเร็วที่สุด

ตั้ง "สัญญา ธรรมศักดิ์"

ฟื้นฟูประชาธิปไตย


"อนึ่ง เพื่อขจัดเหตุร้ายนั้นจอมพลถนอม กิตติขจร ได้ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อค่ำวันนี้ ข้าพเจ้าจึงแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุน เพื่อให้คณะรัฐบาลใหม่สามารถบริหารงานแผ่นดินได้โดยมีประสิทธิภาพเต็มเปี่ยม และแก้ไขสถานการณ์ให้คืนสู่สภาพเรียบร้อยได้โดยเร็ว ยังความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรืองให้บังเกิดแก่ประเทศและประชาชนชาวไทยโดยทั่วกัน"

บันทึกของ "พล.ต.อ.วสิษฐ" ระบุว่า "ที่สะเทือนหัวใจของเราที่สุดนั้นคือ สีพระพักตร์ของพระองค์ ระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระราชดำรัสทางวิทยุโทรทัศน์ในค่ำวันนั้น เป็นครั้งแรกในชีวิตเหมือนกันที่ผมเห็นพระพักตร์เช่นนั้น-สีหน้าพ่อที่เห็นลูกกำลังฆ่ากัน"

หลังจากเหตุการณ์วิปโยค 14 ตุลา รัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์ ตั้งสมัชชาแห่งชาติ สนามม้าขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คือรัฐธรรมนูญ 2517 ซึ่งถูกยกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุดฉบับหนึ่ง

ถอดชนวนกบฏเมษาฮาวาย

นอกจากพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในการแก้ปัญหาทางการเมือง ไม่ให้เหตุการณ์เสียเลือดเสียเนื้อต้องลุกลามบานปลายแล้ว ด้วยพระราชกระแสและพระราชดำรัสต่าง ๆ ทำให้สามารถตั้งสติและใช้ปัญญาที่ได้รับพระราชทานเพื่อการแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี ปราศจากการสูญเสียทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน

จากการเปิดเผยของ "พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์" ผ่านหนังสือ บันทึกความทรงจำ "เรื่องการสื่อสารของในหลวง" หัวข้อ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับกิจการโทรศัพท์" ในเหตุการณ์ "วันกบฏเมษาฮาวาย" ตอนหนึ่งว่า "ในวันที่เกิดเหตุ ผมยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข...ขณะที่ผมกำลังเตรียมตัวออกไปทำบุญในโอกาสวันครบรอบวันเกิด เมื่อผมได้เปิดวิทยุรับฟังประกาศแถลงการณ์ และคำสั่งของคณะปฏิวัติที่ได้ถูกถ่ายทอดผ่านสถานีวิทยุโทรทัศน์และสถานีวิทยุกระจายเสียงทุกแห่งแล้ว ก็หลงเชื่อเข้าใจเช่นเดียวกับประชาชนคนอื่น ๆ เช่นกัน"

"บังเอิญในตอนเย็นวันนั้น เมื่อผมได้เข้าไปในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เพื่อเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพรวันเกิดที่ได้เคยถือปฏิบัติมาโดยตลอด จึงได้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จฯแปรพระราชฐานไปประทับยังกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีแล้ว การตัดสินพระทัยในครั้งนั้นทำให้ผมเชื่อว่าการปฏิวัติในครั้งนี้ไม่สำเร็จราบรื่นตามที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจเสียแล้ว จึงได้ตกลงใจยอมเสี่ยงต่อตำแหน่งหน้าที่เดินทางไปยังจังหวัดนครราชสีมาเพื่อถวายตนเป็นราชพลีในเช้ามืดของวันที่ 2 เมษายนทันที"

หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพรวันเกิดให้แก่ผมแล้ว ได้ทรงสอบถามเหตุผลในการตัดสินใจและวิธีการเดินทางของผม กับได้มีพระราชกระแสวิจารณ์การอ่านประกาศแถลงการณ์ของผมว่า "อ่านได้ชัดเจนดี แต่เร็วไปหน่อย"

ระงับเหตุเผชิญหน้า

"ในคืนวันนั้นเอง ขณะที่ผม พล.ต. (ยศในขณะนั้น) อาทิตย์ กำลังเอก รองแม่ทัพภาคที่ 2 และนายพิศาล มูลศาสตรสาทร ผู้ประกาศแถลงการณ์ของฝ่ายรัฐบาลตอบโต้คณะปฏิวัติ ในฐานะที่เป็นนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรร่วมรุ่นที่ 22 ด้วยกัน ได้ร่วมสนทนาหารือหาวิธีการแก้ไขปัญหาการวางแผนปฏิบัติการดังกล่าว พล.ต.อาทิตย์ได้ขอให้ผมหาทางปิดปากของคณะปฏิวัติที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงต่าง ๆ ให้ได้ เพื่อช่วยให้ประชาชนและกองกำลังทหารปฏิวัติทราบข้อเท็จจริง จะได้หูตาสว่างและไม่กระทำการต่อสู้ขัดขวางเมื่อฝ่ายรัฐบาลได้เคลื่อนกองกำลังไปถึง คำขอของ พล.ต.อาทิตย์ดังกล่าวได้รับการตอบรับจากผมด้วยความยินดีและเต็มใจ เพราะได้พิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงแต่อย่างใด ทั้งผมก็มีประสบการณ์ในเรื่อง Electronic Warfares อยู่แล้ว"

"เมื่อกองกำลังทหารของฝ่ายรัฐบาลได้เคลื่อนย้ายกำลังจากจังหวัดนครราชสีมามาทางอากาศมาถึงกรุงเทพมหานครในเช้าตรู่วันที่ 4 เมษายน จึงสามารถเข้ายึดกรุงเทพมหานครคืนได้โดยไม่มีการปะทะถึงขั้นนองเลือดล้มตาย เป็นอันว่าการปฏิวัติของ พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา กับคณะได้ประสบความล้มเหลวพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง"

คลี่คลายเหตุพฤษภาทมิฬ

วิกฤตการณ์พฤษภาทมิฬ-ต่อต้าน "นายกรัฐมนตรีนอกสภา" - "พล.อ.สุจินดา คราประยูร" หลังรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนเกิดเหตุการณ์เผชิญหน้า-บาดเจ็บล้มตายระหว่างรัฐบาลกับประชาชนในเดือนพฤษภาคม 2535

ด้วยพระบารมี-พระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรีในขณะนั้น และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี นำ พล.อ.สุจินดา และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำต่อต้าน พล.อ.สุจินดาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในวันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2535 เวลา 21.30 น. เพื่อรับกระแสพระราชดำรัสตอนหนึ่ง ว่า

"คงไม่เป็นที่แปลกใจทำไมถึงเชิญให้ท่านมาพบกันอย่างนี้ เพราะว่าทุกคนก็ทราบว่าเหตุการณ์มีความยุ่งเหยิงอย่างไร และก็จะทำให้ประเทศชาติล่มจมไปได้ แต่ที่จะแปลกใจก็อาจจะมีว่าทำไมเชิญ พล.อ.สุจินดา และ พล.ต.จำลอง เพราะว่าอาจจะมีผู้ที่เป็นตัวแสดง ตัวละคร มากกว่านี้ แต่ที่เชิญมาเพราะว่าตั้งแต่แรกที่มีเหตุการณ์ สองท่านเผชิญหน้า กว้างขวางออกไป ถึงได้เชิญท่านสองท่านมา"

"การเผชิญหน้าตอนแรก ก็จะเห็นจุดประสงค์ของทั้งสองฝ่ายได้อย่างชัดเจนพอสมควร แต่ต่อมาภายหลัง 10 กว่าวัน ก็เห็นแล้วว่าการเผชิญหน้านั้นเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมาก จนกระทั่งผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม ก็จะเสียทั้งนั้น เพราะว่าทำให้มีความเสียหายในทางชีวิตเลือดเนื้อของคนจำนวนมากพอสมควร แล้วก็มีความเสียหายทางวัตถุ ซึ่งเป็นของส่วนราชการและส่วนบุคคล เป็นมูลค่ามากมาย"

ให้สุจินดา-จำลอง หาทางออก

"ปัญหาวันนี้ไม่ใช่ปัญหาของการบัญญัติหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาทุกวันนี้ คือ ความปลอดภัย และขวัญของประชาชน ซึ่งเดี๋ยวนี้ประชาชนทั่วไปทุกแห่งทุกหน มีความหวาดระแวงว่าจะเกิดอันตราย มีความหวาดระแวงว่าประเทศชาติจะล่มจม โดยที่จะแก้ไขลำบาก ตามข่าวที่ได้ทราบมาจากต่างประเทศ เพราะเหตุว่าในขณะนี้ทั้งลูกชายทั้งลูกสาวก็อยู่ต่างประเทศ ทั้งสองก็ทราบดี แล้วก็ได้พยายามที่จะแจ้งกับคนที่อยู่ในประเทศเหล่านั้น ว่าประเทศไทยนี้จะยังแก้ไขสถานการณ์ได้ แต่ว่ารู้สึกว่าจะเป็นความคิดที่เป็นความคิดแบบหวังสูงไปหน่อย ถ้าหากว่าเราไม่ทำให้สถานการณ์อย่าง 3 วันที่ผ่านมานี้สิ้นสุดไปได้ ฉะนั้น ก็ขอให้ท่านโดยเฉพาะสองท่าน พล.อ.สุจินดา และ พล.ต.จำลอง ช่วยกันคิด คือหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าเป็นประเทศของเรา ไม่ใช่ประเทศของหนึ่งคนสองคน เป็นประเทศของทุกคน ต้องเข้าหากัน ไม่เผชิญหน้ากัน แก้ปัญหา เพราะว่าอันตรายมีอยู่เวลาคนเราเกิดความบ้าเลือด ปฏิบัติการรุนแรงต่อกัน มันลืมตัว ลงท้ายก็ไม่รู้ว่าตีกันเพราะอะไร แล้วก็จะแก้ปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าจะต้องเอาชนะ แล้วก็ใครจะชนะ ไม่มีทางชนะ อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้ แล้วก็ที่แพ้ที่สุดคือประเทศชาติ ประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศ ไม่ใช่ประชาชนเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถ้าสมมุติว่ากรุงเทพมหานครเสียหาย ประเทศก็เสียหายไปทั้งหมด แล้วก็จะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะ เวลาอยู่บนกองสิ่งปรักหักพัง"

หลังจากนั้น สถานการณ์ก็สงบลงไม่กี่วัน พล.อ.สุจินดากราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

พระราชดำรัส "พระราชอำนาจ"

ในปี 2548 ทรงมีพระบรมราโชวาท เกี่ยวกับ "พระราชอำนาจ" ของพระมหากษัตริย์ โดยใช้คำว่า "The King can do no wrong" เป็นข้ออธิบายบริบททางการเมืองในวโรกาสให้คณะบุคคล เข้าเฝ้าฯถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2548 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ใจความตอนหนึ่งว่า

"มีคนที่พูดว่าข้าพเจ้าไม่ดี คือพระเจ้าอยู่หัวไม่ดี ทำอะไรผิด แต่เขาต้องแสดงออกมาว่า พระเจ้าอยู่หัวไม่ผิด ผิดไม่ได้ ซึ่งเป็นตามความจริงในระบอบประชาธิปไตย ในระบอบรัฐธรรมนูญ ที่มีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข พระเจ้าอยู่หัวผิดไม่ได้ เขาพูดอย่างนั้น The King can do no wrong"

"ความจริง The King can do no wrong นี้ เป็นการดูถูก The King อย่างมาก เพราะว่า The King ทำไมจะ do wrong ไม่ได้ เพราะว่าแสดงให้เห็นว่า เขาถือว่า The King ไม่ใช่คน แต่ว่า The King ทำ wrong ได้ แต่ข้อสำคัญที่สุด ข้าพเจ้าเป็น The King แล้วก็เขาบอกว่า do no wrong does no wrong เราก็เห็นด้วยกับเขา เพราะว่าการทำอะไรกับคนเราถือว่าต้องมีสติ หมายความว่ารู้ว่ากำลังทำอะไร รู้กำลังคิดอะไร แล้วไม่ปล่อยให้มันผิดออกมา"

"เมื่อก่อนนี้ก่อนที่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก่อนที่จะเป็น King ก็เสียใจหลายครั้ง แต่ตอนที่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แล้วเป็น King แบบไทย ๆ นี่ ซึ่งฝรั่งเขาบอกว่าเป็น The King เข้าใจว่าน้อยครั้ง ที่จะได้ทำผิด เพราะว่าระวังถ้าไม่ระวังป่านนี้ก็คงตายแล้ว มันต้องระวัง ถ้าไม่ระวังก็ตาย ถึงบอกได้ว่า ทำไมการที่บอกว่า The King can do no wrong เพราะต้อง do no wrong ถ้าทำ wrong ตาย"

ชี้ทางออกเลือกตั้ง 2 เม.ย.49

วิกฤตการเมืองสีเสื้อช่วง 1 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นช่วงที่มีการกล่าวถึงสถาบันสูงสุดของสังคมไทยมากที่สุด เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2549 เกิดการชุมนุมประท้วง-ขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ (ยศในขณะนั้น) ชินวัตร จนรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และมีการประกาศให้เลือกตั้ง 2 เมษายน 2549

ห้วงเวลาที่สืบเนื่องมาจากการชุมนุมของเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรของสนธิ ลิ้มทองกุล ตั้งแต่ปี 2548 พาสถานการณ์การเมืองเขม็งเกลียวตึงเครียด มีกระแสเรียกร้องนายกฯพระราชทานดังทั่วกระดานการเมือง โดยอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญ มาตรา 7

หลังการเลือกตั้ง 2 เมษายน แม้พรรคไทยรักไทยจะชนะเลือกตั้ง แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดวิกฤต เพราะคู่แข่งทางการเมืองอย่างพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงพรรคชาติไทย ประกาศบอยคอตการเลือกตั้ง ทำให้พรรคไทยรักไทยต้องลงแข่งกับพรรคเล็กพรรคน้อย บางเขตเลือกตั้งมีผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักไทยลงพรรคเดียว แต่เมื่อนับคะแนนไม่สามารถชนะเสียงโหวตโน 20 เปอร์เซ็นต์ ทำให้หลายเขตเลือกตั้งต้องเลือกตั้งซ่อมหลายครั้ง

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสในโอกาสที่ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เข้าเฝ้าฯถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล เมื่อวันอังคารที่ 25 เมษายน 2549 ว่า

"ในปัจจุบันนี้มีปัญหาด้านกฎหมายที่สำคัญมาก คือ ถ้าไม่ได้ปฏิบัติตามที่ท่านได้ปฏิญาณว่าจะทำให้ประเทศชาติปกครองได้โดยประชาธิปไตย คือเวลานี้มีการเลือกตั้งเพื่อให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตยนั่นเอง แต่ถ้าไม่มีสภาที่ครบถ้วน ก็ไม่ใช่การปกครองแบบประชาธิปไตย ฉะนั้น ก็ขอให้ไปปรึกษากัน เดี๋ยวนี้มีศาลหลายอย่างอันนับไม่ถูก ก็เมื่อมีก็ต้องให้ไปดำเนินการด้วยดี ดังนั้น ก็ขอให้ไปปรึกษากับศาลอื่น ๆ ด้วย จะทำให้บ้านเมืองปกครองแบบประชาธิปไตยได้ อย่าไปคอยที่จะให้ขอนายกฯพระราชทาน เพราะขอนายกฯพระราชทานไม่ได้เป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย"

"แล้วก็อีกข้อหนึ่ง การที่จะบอกว่ามีการยุบสภาและต้องเลือกตั้งภายใน 30 วัน ถูกต้องหรือไม่ ไม่พูดเลย ไม่พูดกันเลย ถ้าไม่ถูกก็จะต้องแก้ไข แต่ก็อาจจะให้การเลือกตั้งนี้เป็นโมฆะหรือเป็นอะไร ซึ่งท่านจะมีสิทธิ์ที่จะบอกว่า อะไรที่ควร ที่ไม่ควร ไม่ได้บอกว่ารัฐบาลไม่ดี แต่ว่าเท่าที่ฟังดู มันเป็นไปไม่ได้ คือ การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย เลือกตั้งพรรคเดียวคนเดียว ไม่ใช่ทั่วไป แต่ในแห่งหนึ่งมีคนที่สมัครเลือกตั้งคนเดียว มันเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องของประชาธิปไตย เมื่อไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านก็พูดกันเองว่าท่านต้องดูเกี่ยวข้องกับเรื่องของการปกครองให้ดี ตรงนี้ขอฝาก อย่างดีที่สุดถ้าเกิดท่านจะทำได้ ท่านลาออก ท่านเองไม่ใช่รัฐบาลลาออก ท่านเองต้องลาออก ถ้าทำไม่ได้ รับหน้าที่ไม่ได้ ตะกี้ปฏิญาณไปดูดี ๆ จะเป็นการไม่ได้ทำตามที่ปฏิญาณ"

ตรัส "ข้าพเจ้าไม่เคยทำเกินหน้าที่"

"เดี๋ยวนี้ยุ่งเพราะถ้าไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีทางจะปกครองแบบประชาธิปไตย ของเรามีศาลหลายชนิดมากมาย แล้วมีสภาหลายแบบ และก็ทุกแบบที่จะต้องเข้ากัน ปรองดองกัน และคิดทางที่จะแก้ไขได้ นี่พูดเรื่องนี้ค่อนข้างจะประหลาดหน่อยที่ขอร้องอย่างนี้ แล้วก็ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเขาก็บอกว่าต้องทำมาตรา 7 ซึ่งขอยืนยันว่า มาตรา 7 นั้นไม่ได้หมายถึงให้มอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ... ไม่ใช่ มาตรา 7 นั้นพูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกว่าให้พระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย"

"เพราะถ้าถึงรัฐบาลของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ตอนนั้นไม่มีการทำเกินอำนาจของพระมหากษัตริย์ ตอนนั้นมีสภา มีประธานสภา รองประธานสภามีอยู่ ทำหน้าที่ แล้วมีนายกฯที่สนองพระบรมราชโองการได้ตามรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ตอนนั้นไม่ใช่นายกฯพระราชทาน นายกฯพระราชทานหมายความว่า ตั้งนายกฯโดยไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเลย ตอนนั้นมีกฎเกณฑ์เมื่อครั้งอาจารย์สัญญาได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ เป็นนายกฯที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือ รองประธานสภานิติบัญญัติ ดังนั้น ไปทบทวนประวัติศาสตร์หน่อย"

หลังจากนั้น ในวันที่ 28 เมษายน 2549 ศาลฎีกา ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุมร่วมกันเพื่อแก้วิกฤตทางการเมืองตามพระราชดำรัสของในหลวง แต่แล้วเมื่อสถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรง ลากยาวมาถึงปลายปี จนกระทั่ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน นำกำลังเข้ายึดอำนาจรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เมื่อ 19 กันยายน 2549

แนะให้ประชาชนปรองดอง

กระทั่งในวันที่ 4 ธันวาคม 2550 เวลา 16.20 น. พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคล เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2550 ตอนหนึ่ง ว่า

"ที่อากาศร้อน ก็เพราะว่า อากาศ มันเจอความร้อนของพระอาทิตย์ ซึ่งเมืองไทยก็เคราะห์ดีอยู่เหมือนกันว่า อากาศร้อนไม่ได้เย็น"

"แต่ว่าพูดว่าเดือดร้อน เราก็พูดถึงว่าเมืองไทย บ่นว่า เดือด ที่จริงไม่ได้เดือด แต่คนนะเดือด คนมันทำเดือด ทำให้คนเดือดร้อน แล้วเวลาเดือดร้อนนี่ มันไม่สบาย น้ำเดือดถึงจะมีประโยชน์ ต้มไข่ได้ แต่ว่าถ้าเดือดเฉย ๆ ไม่มีประโยชน์ สิ้นเปลืองเปล่า ๆ แล้วก็เมื่อคนทำให้เดือดร้อน แล้วก็บ่น บ่นว่า ประเทศลุกเป็นไฟ ก็ต้องระวังไม่ให้ลุกเป็นไฟ เพราะว่าจะทำให้ล่มจม ล่มจมอย่างนี้ ที่ต่างประเทศเขาบอกว่าเมืองไทยจะล่มจะจม ความจริงยังไม่ล่ม และเราไม่จม แต่ถ้าไม่ระวังก็จะล่ม จม ฉะนั้น ก็จะต้องระมัดระวัง หรือทุกวันนี้ไม่ปรองดองกัน เมื่อไม่ปรองดอง ไม่ปรองดอง ก็มีรู ก็จะล่ม ล่ม จมลงไป"

ตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ พระบารมีในหลวงคลี่คลายวิกฤตการเมือง ให้ประชาธิปไตยผ่านพ้นอุปสรรคนับครั้งไม่ถ้วน



สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พระอัจฉริยภาพในหลวง พระบารมีคลี่คลายการเมือง 70 ปี

view