สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มรดกทางปัญญาด้านการพัฒนาสังคมที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่ชาวไทย

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

มรดกทางปัญญาด้านการพัฒนาสังคมที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่ชาวไทย

        ปัญญาพลวัตร
       โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
       
       พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นนักปราชญ์ ซึ่งทรงสร้างปรัชญา หลักการ แนวคิด และทฤษฎีด้านการพัฒนาประเทศ ที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ องค์ความรู้ที่พระองค์ทรงสร้างสรรค์มาจากการใช้ปัญญาเชิงปฏิบัติซึ่งบูรณาการเชื่อมโยงทั้งความรู้เชิงประจักษ์ หลักการทางวิชาการ และคุณค่าเชิงคุณธรรมอย่างกลมกลืน มรดกทางปัญญาด้านการพัฒนาสังคมที่พระองค์พระราชทานแก่ชาวไทยจึงเป็นสิ่งทรงคุณค่าอย่างมิอาจประมาณได้ และเป็นสิ่งที่คนไทยควรศึกษาให้เข้าใจและนำไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
       
       โดยทั่วไปการทำงานพัฒนาสังคมจำเป็นต้องมีการกำหนดเป้าประสงค์ของการพัฒนา สำหรับเป้าประสงค์การพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชคือ การสร้างความผาสุกแก่ปวงชนชาวไทย ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น พึ่งตนเองได้ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี และมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
       
       เพื่อให้การพัฒนาสังคมมีรากฐานที่มั่นคงพระองค์ได้สร้างสรรค์ปรัชญาขึ้นมาเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่รู้จักกันในนาม “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นั่นเอง กล่าวได้ว่าหากผู้คนในสังคมมีความเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและนำไปใช้เป็นแนวทางชี้นำการดำเนินชีวิต ย่อมทำให้บุคคลเหล่านั้นประสบความสุขและความสำเร็จในการดำรงชีพ สิ่งนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า ในการพัฒนานั้นพระองค์ทรงเน้น “การพัฒนาคน” เป็นศูนย์กลางนั่นเอง
       
       กล่าวคือหากบุคคลใดก็ตามที่ยึดหลักการดำเนินชีวิตโดยเดินทางสายกลาง ไตร่ตรองด้วยเหตุด้วยผลว่าสิ่งใดคือความพอประมาณหรือพอดีสำหรับตนเองโดยตั้งเป้าหมายและดำเนินการไม่มากหรือน้อยเกินไป ย่อมไม่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น พร้อมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการประเมินสถานการณ์และความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และเตรียมตัวให้พร้อมอย่างมีสติเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่างๆที่อาจเกิดขึ้น บุคคลเหล่านั้นก็ย่อมสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคง
       
       แนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันและพัฒนาความคิดให้เปี่ยมด้วยความมีเหตุผลนั้นย่อมจักต้องอาศัยเงื่อนไขความรู้จากวิชาการสาขาต่างๆอย่างรอบด้าน และมีความรอบคอบในการนำความรู้มาเชื่อมโยงเพื่อประกอบการวางแผนและมีความระมัดระวังในการปฏิบัติ
       
        ยิ่งกว่านั้นพระองค์ยังพระราชทานแนวทางในการสร้างความรู้ ให้แก่ชาวไทยไว้อย่างชัดเจน โดยในการสร้างความรู้นั้นควรเริ่มจาก การพิจารณาความเป็นจริงของสถานการณ์เป็นที่ตั้ง ศึกษารวบรวมข้อมูลจากสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ศึกษาสนทนาไต่ถามจากผู้รู้ จากนั้นนำมาพิจารณาร่วมกับความรู้เดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว เพื่อสังเคราะห์บูรณาการโดยไม่ยึดติดกับสาขาวิชา เพราะว่าปัญหาต่างๆมีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับวิชาการหลากหลายสาขา จึงจำเป็นต้องใช้ความรอบด้านและรอบคอบในการสร้างหลักการหรือแนวทางในการแก้ปัญหาให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบท ก่อนที่จะนำไปประยุกต์สู่การปฏิบัติ
       
       วิธีการสร้างความรู้ที่สำคัญอีกประการที่ในหลวงทรงใช้คือ การศึกษาแบบทดลอง ก่อนที่พระองค์จะสรุปเป็นแนวคิดหรือทฤษฎีที่นำไปสอนและเผยแพร่แก่ประชาชน พระองค์จะดำเนินการทดลองทำก่อนจนกระทั่งมีความมั่นใจว่า แนวทางเหล่านั้นมีประสิทธิผลและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ในกระบวนการสร้างความรู้โดยการทดลองและสรุปบทเรียนอย่างต่อเนื่อง ย่อมนำไปสู่ความสำเร็จในปั้นปลาย และที่สำคัญก็คือกระบวนการทดลองเป็นการฝึกฝนการใช้เหตุผลอย่างมีสติ และมีวิจารณญาณ ดังนั้นผู้ที่ผ่านการเรียนรู้ในลักษณะเช่นนี้ย่อมจะสามารถสร้างความรู้ที่มีรากฐานจากความเป็นจริงและสามารถนำไปใช้งานได้เช่นนี้แล้วย่อมสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้อย่างมั่นคง
       
       การสร้างความรู้ก็ดี การทำงานพัฒนาก็ดี ล้วนเป็นเรื่องที่ยากและต้องใช้เวลายาวนาน ผู้ที่จะทำงานเช่นนี้ได้ ย่อมต้องมีคุณสมบัติด้านความอดทนและมีความเพียร พร้อมทั้งต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต หาไม่แล้วความรู้ที่ได้มาย่อมไม่ใช่ความรู้ที่ถูกต้อง ในการพัฒนาก็เช่นเดียวกันหากไร้ความซื่อสัตย์สุจริตเสียแล้วผู้คนก็ไม่เชื่อถือและไม่ยอมรับ จึงย่อมไม่สามารถทำงานพัฒนาให้ประสบความสำเร็จได้
       
       กล่าวได้ว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงพระราชทานให้เป็นมรดกแก่สังคมไทยนั้นเป็น “ปัญญาเชิงปฏิบัติ” อย่างแท้จริง ด้วยเป็นปรัชญาที่มีแนวทางการปฏิบัติเชิงคุณธรรมและจริยธรรมกำกับ มากกว่าเป็นเพียงความรู้ในเชิงทฤษฎี ดังนั้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นองค์ความรู้ที่มีความลุ่มลึกกอปรด้วยภูมิปัญญา คุณค่าเชิงคุณธรรม และการกระทำที่เป็นจริง อย่างกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน
       
       นอกจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ในเรื่องการพัฒนาประเทศ พระองค์ทรงพระราชทานหลักการสำคัญในการพัฒนาไว้อีกหลายประการ ซึ่งผมสรุปตามความเข้าใจได้อย่างน้อยเก้าประการ ดังนี้
       
       ประการแรก เป้าหมายการพัฒนาคือการยึดหลักผลประโยชน์ของปวงชน เน้นการพัฒนาคนและการพัฒนาที่ยั่งยืน
       
        ประการที่สอง การพัฒนาควรดำเนินการแบบบูรณาการโดยอาศัยความ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” การเข้าใจคือการเข้าใจวัฒนธรรม ปัญหา และความต้องการของประชาชนกลุ่มเป้าหมายและเข้าใจสภาพบริบทพื้นที่ทางภูมิศาสตร์สังคมด้วย เข้าถึงคือการเข้าไปอยู่ในจิตใจของประชาชน ร่วมรับรู้ทุกข์สุขของชาวบ้าน พร้อมที่จะช่วยเหลือชาวบ้านในทุกพื้นที่ที่มีปัญหา และพัฒนาคือการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีกินดีโดยพึ่งตนเองได้
       
       ประการที่สาม การพัฒนาต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของประชาชน โดยต้องคำนึงถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นก่อนจะดำเนินการพัฒนาเรื่องใดก็ต้องสอบถามชาวบ้านกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจนเสียก่อนว่ามีความต้องการหรือไม่
       
       ประการที่สี่ การพัฒนาต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามลำดับ โดยการสร้างพื้นฐานเรื่องความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนเป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด ควบคู่กับความต้องตามหลักวิชาการ เมื่อพื้นฐานมั่นคงแล้วจึงดำเนินการพัฒนาเสริมสร้างความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจในระดับสูงต่อไป
       
       ประการที่ห้า การพัฒนาต้องพัฒนาทั้งคนและพื้นที่ โดยคำนึงถึงบริบทภูมิสังคม และความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในการนี้จะต้องวิเคราะห์สภาพพื้นที่โดยละเอียดเพื่อจะได้กำหนดแนวทางและวิธีการพัฒนาให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ ประการที่หก การพัฒนาประเทศนั้นต้องอาศัยข้อมูลที่ถูกต้องเป็นหลัก เพื่อให้เข้าใจสภาพความเป็นจริงและปัญหาได้อย่างถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน และต้องใช้สหสาขาวิชาต่างๆบูรณาการกันเพื่อจะได้แก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบรอบด้าน
       
       ประการที่เจ็ด การทำงานพัฒนานั้นไม่สามารถทำให้สำเร็จโดยลำพัง จำเป็นต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย ดังนั้นความพึงพอใจของผู้ร่วมงานและการรู้รักสามัคคีของทุกฝ่ายจึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญต่อความสำเร็จของงาน
       
       ประการที่แปด “การระเบิดจากข้างใน” โดยการพัฒนานั้นจะต้องทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความตระหนักรู้ถึงปัญหา มีสติปัญญาในการวิเคราะห์ และแสดงความรู้สึกอย่างอย่างกระตือรือร้นและมีชีวิตชีวา ต่อการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาด้วยตัวเองซึ่งจะทำให้เกิดความเข้มแข็งขึ้นมา และประการที่เก้า นักพัฒนาจำเป็นต้องมีคุณสมบัติหลักคือ มีความอดทน เชื่อมั่นในคุณความดี มีจิตใจเมตตากรุณา มีความรอบรู้ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีและยอมรับนับถือผู้อื่น
       
       มรดกทางปัญญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงพระราชประทานให้แก่สังคมไทยนั้นเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่ายิ่งนักและเป็นรากฐานที่มั่นคงให้แก่สังคมไทยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนในอนาคต ผมคิดว่าหากผู้คนในสังคมไทยดำเนินการปรัชญา แนวคิด ทฤษฎี และแนวทางปฏิบัติด้านต่างๆที่พระองค์ได้ทรงทำเป็นแบบอย่างเอาไว้แล้ว ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านปัญญาความรู้ ด้านวุฒิภาวะทางสติอารมณ์ ด้านความสัมพันธ์ทางสังคมที่ช่วยเกื้อกูลกันฉันท์พี่น้อง ซึ่งจะนำไปสู่ความผาสุกของปวงชนชาวไทยดังพระราชประสงค์
       
        (หมายเหตุ สำหรับการเขียนบทความชิ้นนี้ผมใช้ข้อมูลจากหนังสือ “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา เพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา”ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2554 เป็นหลัก)


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มรดกทางปัญญา ด้านการพัฒนาสังคม ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่ชาวไทย

view