สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พระราชปณิธาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา หลักการทรงงานโครงการพระราชดำริ 4,596 แห่ง

จากประชาชาติธุรกิจ

พระราชปณิธานอันแรงกล้าของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 5 พฤษภาคม 2493 ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" อันเป็นปฐมบรมราชโองการ

นับตั้งแต่นั้นมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจตลอดการครองราชย์กว่า 7 ทศวรรษ ผ่านโครงการตามแนวพระราชดำริจำนวนมาก อาทิ โครงการตามพระราชประสงค์ โครงการหลวง โครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

โดยพระราชดำริอันเป็นหัวใจของการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อต่อสู้กับความยากจนและส่งเสริมให้ประชาชนอยู่ดีกินดีคือ"พออยู่พอกิน สามารถช่วยตัวเองได้"

ประชาชาติธุรกิจ สนทนากับ ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระราชกรณียกิจและพระจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะตามเสด็จตลอดชีวิตข้าราชการตั้งแต่สำนักงาน กปร.ยังเป็นกองงานในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในชื่อ "กองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจ" จนถึงบั้นปลายชีวิตการรับราชการในตำแหน่งเลขาธิการ กปร.คนที่ 4 กว่า 20 ปี



กษัตริย์ผู้สู้รบกับความยากจน

"ปานเทพ"รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนอกจากประทับอยู่ในหัวใจปวงชนชาวไทย ยังขจรขจายไปยังต่างแดน ดั่งสารของ "วลาดิเมียร์ ปูติน" ประธานาธิบดีรัสเซีย ใจความว่า "มหาราชผู้ยิ่งใหญ่ ที่ไม่เคยสู้รบกับใคร แต่สามารถทำให้ผู้คนยกย่องสรรเสริญได้ ทั่วโลกยอมแพ้ได้ มีคนเดียว คือ King Bhumibol" สะท้อนให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของพระองค์ท่าน ที่ทำให้กับประชาชน พระองค์ท่านไม่เคยไปสู้รบกับใคร สู้รบเรื่องเดียว คือ สู้รบกับความยากจน

"พระองค์ท่านเป็นทั้งพระเจ้าแผ่นดินและพ่อของแผ่นดิน ในฐานะพระเจ้าแผ่นดินทรงปกครองประเทศตามหลักทศพิธราชธรรม โดยได้พระราชทานปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ซึ่งพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจและพระจริยวัตรได้ตามที่พระราชทานปฐมบรมราชโองการมาโดยตลอด"

"นอกจากนั้นในฐานะพ่อของแผ่นดินพระองค์ท่านทรงช่วยเหลือประชาชนช่วยเหลือประเทศชาติเวลามีภัยต่างๆ เช่น ความไม่สงบเรียบร้อย ประเทศประสบปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม ปัญหาภัยธรรมชาติต่าง ๆ พระองค์ท่านจะเสด็จลงมาช่วยเหลือเพื่อบรรเทาภัยต่าง ๆ จนบรรเทาลงไปหมดสิ้นอย่างอัศจรรย์"

ขณะเดียวกันพระองค์ท่านทรงช่วยเหลือในเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะประชาชนผู้ยากไร้และอาศัยอยู่ในชนบทในถิ่นทุรกันดารทั่วทุกภูมิภาคอันทำให้เกิดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปัจจุบันมีโครงการกว่า 4,596 โครงการแล้ว ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านการเกษตร เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำ ด้านสาธารณสุข โครงการด้านคมนาคม และอื่น ๆ เป็นจำนวนมาก



ยกฐานะ กปร.ขึ้นตรงนายกฯ

อดีตเลขาธิการ กปร.คนที่ 4 ย้อนจุดประสงค์ของการก่อตั้งสำนักงาน กปร.ว่า ก่อตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์ประสานงานตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งขณะนั้นไม่มีหน่วยงานสนองพระราชดำริโดยตรง รัฐบาลสมัยนั้นเมื่อปี 2524 คือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระอสงค์ ขณะเป็นนายกรัฐมนตรี เห็นว่าควรจะมีหน่วยงานเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโดยตรง จึงได้ตั้งหน่วยงาน กปร.ขึ้นมา

อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกหน่วยงานนี้ยังไม่ได้ชื่อ สำนักงาน กปร. แต่เป็นกองงานหนึ่งในสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรียกว่า กองวางแผนเตรียมพร้อมด้านเศรษฐกิจ มี "ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล" เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นผู้อำนวยการกองในขณะนั้น โดยแรกเริ่มกองวางแผนฯทำงานเฉพาะงานด้านความมั่นคง ดังนั้นต่อไปนี้จึงต้องทำงานในด้านการพัฒนาตามแนวพระราชดำริควบคู่กันไปด้วย

เมื่อโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากจึงยกฐานะจากกองวางแผนฯขึ้นเป็นสำนักงานกปร. อยู่ในสภาพัฒน์มาระยะหนึ่ง จนถึงปี 2545 ได้แยกตัวออกมาเป็นหน่วยงานเฉพาะระดับกรม มี ดร.สุเมธ เป็นเลขาธิการ กปร.คนแรก ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนายกฯจะสั่งการโดยตรงผ่านหน่วยงานพลเรือนและเหล่าทัพเพื่อสนองพระราชดำริอย่างรวดเร็วและทันต่อความเดือดร้อนของประชาชนโดยจัดสรรงบประมาณผ่านงบฯกลางเพื่อความคล่องตัวในการสนองโครงการพระราชดำริตลอดทั้งปี

"ตอนนั้นมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายแต่ไม่มีหน่วยงานรวบรวมและถ่ายทอดพระราชดำริต่อรัฐบาลในสมัยนั้นจึงเห็นว่าถึงเวลาสมควรแล้วที่ต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบโดยเฉพาะ รัฐบาล พล.อ.เปรม จึงตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมา มีภารกิจรับผิดชอบประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโดยเฉพาะ"



"ช่วงแรกคิดกันว่าจะเอาหน่วยงานไหนดีแต่ถ้าเป็นเรื่องการพัฒนาก็ต้องมองไปที่สภาพัฒน์แล้วจะเอากองไหนดีล่ะก็มีอยู่กองหนึ่ง คือ กองวางแผนเตรียมพร้อมฯ ซึ่งทำงานอยู่เดิมในด้านความมั่นคง เช่น ปัญหาเรื่องผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ซึ่งเป็นกองงานเสริมจากการแก้ปัญหาตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 66/23 เพื่อแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์ ของรัฐบาล พล.อ.เปรม เพราะจะแก้ไขปัญหาโดยการปราบปรามอย่างเดียวก็ไม่ได้ แต่ต้องมีการพัฒนาเข้าไปด้วย ซึ่งพื้นที่ความมั่นคงกับพื้นที่ตามแนวพระราชดำริก็จะทับซ้อนกัน เพราะฉะนั้นจึงได้ใช้กองงานนี้รองรับการทำงาน"


สำนักงาน กปร. จึงเป็นหน่วยงานประสานงานกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานพลเรือนและหน่วยงานทหาร แม้แต่ภาคเอกชนและต่างประเทศเพื่อสนองงานตามพระราชดำริ รวมถึงถ่ายทอดแนวทางพระราชดำริให้กับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้สามารถทำงานได้ โดยมีหน้าที่ตามเสด็จเวลาลงไปช่วยเหลือราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ และบันทึกพระราชดำริโดยละเอียดเพื่อถ่ายทอดพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและถวายรายงานความคืบหน้าโครงการให้ทรงทราบโดยตลอด

ศาสตร์"เข้าใจเข้าถึงพัฒนา"

"ประทับใจหลักการทรงงานของพระองค์ท่านเวลาเสด็จไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยมีหลักการทรงงานแบบ "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา" กล่าวคือเวลาพระองค์ท่านจะพระราชทานความช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ พระองค์จะทรงศึกษาเพื่อให้เข้าใจว่าจะให้ความช่วยเหลือในเรื่องอะไรได้บ้างและความเดือดร้อนของประชาชนเป็นอย่างไรและเมื่อได้ข้อมูลแล้วพระองค์ท่านทรงใช้วิธีเข้าถึงโดยการเสด็จไปยังพื้นที่นั้นเพื่อพบกับประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน"

"พระองค์ท่านทรงสอบถามถึงความเดือดร้อนของประชาชนเพื่อตรวจสอบข้อมูลที่มีอยู่แล้วเพื่อให้เข้าใจถึงสภาพปัญหาและสอบถามถึงภูมิศาสตร์ในพื้นที่นั้นว่าเป็นอย่างไรเช่นเรื่องน้ำเรื่องดิน โดยในขั้นตอนนี้ทรงใช้เวลานานอยู่พอสมควร เพื่อตรวจสอบจากปากของประชาชนเองเพื่อเป็นข้อมูลในการให้ความช่วยเหลือ"

สำหรับศาสตร์ของการพัฒนาตามแนวพระราชดำริในพื้นที่ที่เสด็จฯไปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีข้อมูลของพระองค์เองเช่นเรื่องน้ำจะได้ข้อมูลจากกรมชลประทาน เรื่องอากาศได้จากกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อนำมาศึกษาและเข้าไปช่วยเหลือประชาชน ผ่านการถวายฎีกาของประชาชนและจากการถวายรายงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเสด็จฯไปเพื่อรับทราบข้อมูลในพื้นที่ให้เกิดความรอบด้าน เข้าถึงพื้นที่นั้น เพราะประชาชนในพื้นที่จะสามารถให้ข้อมูลได้ถูกต้องมากที่สุด มากกว่าราชการ เพราะประชาชนเป็นเจ้าของพื้นที่ ถ้าประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ได้รับการอนุญาตจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของก็จะไม่สำเร็จ

"พระองค์ตรัสว่า โครงการจะสำเร็จได้ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมและรักษาโครงการนั้นไว้ เพื่อไม่ให้จุดประสงค์ผิดไปจากเดิม คือ การทำโครงการให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน"

"นอกจากนั้น พระองค์ท่านยังต้องให้ความเข้าใจกับประชาชนว่าจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ประชาชนต้องมีส่วนร่วมอะไรบ้าง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำ โดยการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หรือฝายทดน้ำก็ดี ต้องมีประชาชนในพื้นที่ก่อสร้าง เสียพื้นที่ตรงนั้นไป แต่ประชาชนส่วนรวมก็จะได้ประโยชน์ แต่ทั้งประชาชนที่เสียประโยชน์และได้ประโยชน์ก็ต้องแบ่งปันความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เกื้อกูลกัน"



"พระองค์ท่านทรงมีรับสั่งกับประชาชนในพื้นที่ว่าหลังจากมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำแล้ว พื้นที่ตรงนั้นเมื่อได้รับประโยชน์ เกิดความอุดมสมบูรณ์ขึ้น ที่ดินอาจจะราคาสูงขึ้น ก็อย่าไปขายที่ดินนั้น ขอให้เก็บที่ดินไว้เพื่อทำการเพาะปลูกในการทำประโยชน์ให้กับตัวเองและครอบครัว ประชาชนก็จะเข้าใจและมีส่วนร่วมในการดูแลแหล่งน้ำนั้น ๆ หลังจากนั้นพระองค์ท่านก็จะพระราชทานแนวพระราชดำริกับหน่วยงานที่ตามเสด็จไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาให้สอดคล้องกับภูมิสังคมภูมิประเทศและตามสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนจริงๆ"

ทุ่มเทพระวรกาย พระอัจฉริยภาพ

"พระองค์ท่านทรงขับรถพระที่นั่งเอง และประทับในพื้นที่เพื่อพบปะกับประชาชนอย่างไม่ถือพระองค์เลย เมื่อถึงเวลาเสด็จไปถึง ประชาชนก็ไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้สวมใส่เสื้อผ้าด้วยซ้ำไป ซึ่งการเสด็จแต่ละครั้ง ประชาชนก็จะไม่ทราบ เพราะพระองค์ท่านต้องการทราบปัญหาที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่"

"พระองค์จะศึกษาพื้นที่ที่จะเข้าไปอย่างมากเพราะพื้นที่ที่เข้าไปเป็นพื้นที่ทุรกันดารโดยนำแผนที่เข้าไปวิทยุสื่อสารเข้าไปด้วยพระองค์เอง บางทีก็หลงทาง ถนนก็เป็นหลุมเป็นบ่อ โยกคลอนทั้งคนทั้งรถ พระองค์ทรงมีพระอารมณ์ขันว่า ถนนที่มาเนี่ยเรียกว่าถนนดิสโก้ เพื่อปลอบใจและสร้างขวัญและกำลังใจข้าราชการที่ร่วมเสด็จไปด้วย ซึ่งเป็นความประทับใจอย่างมาก"

"พระองค์ท่านยังมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้ตามเสด็จไป มีคราวหนึ่งมีข้าราชการที่ร่วมเสด็จคนหนึ่งถูกแมลงมีพิษกัด เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็นจึงทรงขอยาแพทย์เพื่อทายาให้กับข้าราชการคนนั้นด้วยพระองค์เอง ยังความปลาบปลื้มใจให้กับคนทั่วไปที่ตามเสด็จ โดยเฉพาะคนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณปลาบปลื้มใจเป็นอย่างมาก"

"ตลอดการครองราชย์ 70 ปี ทรงทุ่มเทพระวรกายและสติปัญญาเพื่อช่วยเหลือประชาชน เพราะพื้นที่ที่เสด็จฯไปเป็นพื้นที่ไม่ได้สะดวกสบายเลย"

เปิดแหล่งเรียนรู้ทฤษฎีใหม่

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังให้ความสำคัญกับความรู้สมัยใหม่ที่เหมาะสมแก่เกษตรกรนำไปปฏิบัติเองได้เพื่อเป็นแหล่งความรู้ด้านการเกษตรโดยการตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเพื่อโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 6 ศูนย์ กระจายอยู่ในภาคต่าง ๆ ทั้ง 4 ภาค

"ในการพระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่องทฤษฎีต่าง ๆ เช่น ศูนย์ศึกษาฯ หรือโครงการทฤษฎีใหม่ พระองค์ท่านจะทำการทดลองก่อนเพื่อให้เห็นจริงว่าถูกต้อง เหมาะสมแล้ว พระองค์ท่านจึงจะเผยแพร่ออกไป เช่น โครงการทดลองปลูกพืชและเลี้ยงปลาในสระว่ายน้ำภายในพระราชวังสวนจิตรลดา และการทดลองทฤษฎีใหม่ครั้งแรกเกิดที่วัดมงคลชัยพัฒนา ตำบลห้วยบง จังหวัดสระบุรี ในการทดลองทฤษฎีเกษตรผสมผสาน"

4,596 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กปร.ได้นำมาต่อยอด โดยโครงการที่สำเร็จแล้วก็จะรักษาไว้ และการศึกษาและทดลองโครงการใหม่ ภายในศูนย์ศึกษาฯทั้ง 6 ศูนย์ เพื่อขยายโครงการไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ รอบศูนย์ศึกษาฯ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวาง ให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้เข้ามาเรียนรู้ พระองค์ท่านเคยตรัสว่า ให้เป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต

ผสานรอยต่อรัฐ-ราษฎร

"โครงการพระราชดำริเป็นโครงการของพระองค์ท่านในการทรงงานเพื่อเสริมกับงานของรัฐบาลเช่นการตั้งมูลนิธิชัยพัฒนาเพราะเวลารัฐบาลจะทำโครงการต่าง ๆ จะมีกฎระเบียบมากมาย เช่น การซื้อที่ดินก็จะมีขั้นตอนมากมาย แต่มูลนิธิชัยพัฒนาจะใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดซื้อที่ดินและดำเนินการโครงการต่าง ๆ ไปอย่างรวดเร็ว แต่ประสานงานสอดคล้องกับรัฐบาลด้วยเพื่อลดช่องว่างระหว่างรัฐบาลและราษฎร เป็นข้อต่อเข้าไปช่วยเหลือช่วยงานรัฐบาล โดยรัฐบาลทำหน้าที่สนองงานพระราชดำริ"

"สิ่งที่ได้จากพระองค์ท่าน คือ การยึดหลักทศพิธราชธรรม สามารถนำมาใช้สำหรับผู้บริหารระดับสูงด้วย โดยเฉพาะสมัยเป็นประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้นำหลัก อาชวะ คือ มีความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่ประจักษ์ และหลัก อวิโรธนะ คือ ทำงานด้วยความถูกต้อง เที่ยงธรรม"


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : พระราชปณิธาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา หลักการทรงงาน โครงการพระราชดำริ 4 596 แห่ง

view