สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มิวเซียมสยามชี้วิกฤติระลอกใหม่อาจเกิดกับชนชั้นกลาง-รากหญ้า ดึงกูรูถอดบทเรียนประเทศ

มิวเซียมสยามชี้วิกฤติระลอกใหม่อาจเกิดกับชนชั้นกลาง-รากหญ้า ดึงกูรูถอดบทเรียนประเทศ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

มิวเซียมสยามชี้วิกฤติระลอกใหม่อาจเกิดกับชนชั้นกลาง-รากหญ้า ดึงกูรูถอดบทเรียนประเทศ
        มิวเซียมสยาม จัดงานเสวนา “สูตรไม่สำเร็จ เศรษฐกิจ 2540” ย้อนรอย 20 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง เผยหลักฐานความฟุ้งเฟ้อในช่วงปี 2540: ไทยแชมป์ “แบลค เลเบิล” ขายดีที่สุดในโลก พร้อมเตรียมตีแผ่เนื้อหาปลุกความคิดคนไทย “ต้มยำกุ้งวิทยา :วิชานี้อย่าเลียน!” นิทรรศการหมุนเวียนชุดใหม่ มุ่งกระตุ้นคนไทยใช้บทเรียนจากประวัติศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมั่นคง และสร้างสังคมอย่างยั่งยืน 
       
       บนพื้นฐานของความเข้าใจด้านเศรษฐกิจ พร้อมฉายภาพเหตุแห่งความล้มเหลวในอดีต เช่น ความฟุ้งเฟ้อแบบสุดขีดของสังคมไทย อันสะท้อนได้จากการบริโภคในประเทศ อาทิ สุราแบลค เลเบิล ขายดีที่สุดในโลก รถเมอซีเดส เบนซ์ขายดีเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจาก จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น รถปิคอัพขายดีเป็นอันดับ 2 ของโลก ตลอดจนนักท่องเที่ยวไทยใช้เงินในต่างประเทศต่อคน มากกว่านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาเที่ยวเมืองไทยถึง 28.67%
       
       อย่างไรก็ตาม วิกฤตต้มยำกุ้งถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่เผยให้เห็นถึงรากฐาน และลักษณะพิเศษของสังคมไทย ที่ได้รับการหยิบฉวยขึ้นมาใช้แก้ปัญหาในยามยาก อาทิ การเกิดขึ้นของอาชีพ “ฟรีแลนซ์” การทำธุรกิจเอสเอ็มอี การเปิดท้ายขายของ การกระตุ้นเศรษฐกิจไทยด้วยการท่องเที่ยว ฯลฯ ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้อาจจะเกิดวิกฤติขึ้นกับกลุ่มชนชั้นกลางถึงล่าง อันเนื่องมาจากวิถีการใช้จ่ายเงินที่เกินความจำเป็น 

มิวเซียมสยามชี้วิกฤติระลอกใหม่อาจเกิดกับชนชั้นกลาง-รากหญ้า ดึงกูรูถอดบทเรียนประเทศ
        นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า ในปี 2560 นี้ เป็นวาระครบรอบ 20 ปีที่ประเทศไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างรุนแรง หรือที่เรียกกันว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง มิวเซียมสยาม ในฐานะองค์การจัดการความรู้ขนาดใหญ่ที่มีพันธกิจในการถ่ายทอดองค์ความรู้อันหลากหลายเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ทั้งในมิติประวัติศาสตร์และประเด็นร่วมสมัยไปสู่ประชาชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และต่อเนื่องในสังคมไทย ได้จัดงานเสวนา “สูตรไม่สำเร็จ เศรษฐกิจ 2540” ขึ้น เพื่อย้อนรอยทศวรรษแห่งฟองสบู่ สู่ความล้มเหลวของภาคการเงินและสังคมไทย โดยมุ่งสร้างความเข้าใจในผลกระทบของวิกฤตดังกล่าวที่มีต่อภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนถอดบทเรียนจากอดีตมาช่วยสร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตของคนไทยอย่างมั่นคง และการพัฒนาสังคมให้เดินหน้าอย่างยั่งยืน
       
       นายราเมศ กล่าวต่อว่า จากการศึกษารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิกฤตต้มยำกุ้งของทีมวิชาการมิวเซียมสยาม พบว่าตลอดทศวรรษ 2530 ประเทศไทยดำรงอยู่ในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ (Bubble Economy) หรือภาวะที่ราคาของสินทรัพย์เพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าราคาตามความเป็นจริง และคนก็คิดว่าราคาจะเพิ่มสูงไปไม่สิ้นสุด จนเกิดการเก็งกำไรอย่างมโหฬาร ในรายงานของธนาคารโลกประจำปี 2538 ระบุว่าในรอบ 10 ปี (2528-2538) เศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตสูงที่สุดในโลก ขณะที่การบริโภคภายในประเทศก็สะท้อนความฟุ้งเฟ้อของสังคมไทยแบบสุดขีด อาทิ สุราแบลค เลเบิล ขายดีที่สุดในโลก รถเมอซีเดส เบนซ์ขายดีเป็นอันดับ 4 ของโลกรองจาก จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น รถปิคอัพขายดีเป็นอันดับ 2 ของโลก นักท่องเที่ยวไทยใช้เงินในต่างประเทศต่อคน มากกว่านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมาเที่ยวเมืองไทยถึง 28.67% 

มิวเซียมสยามชี้วิกฤติระลอกใหม่อาจเกิดกับชนชั้นกลาง-รากหญ้า ดึงกูรูถอดบทเรียนประเทศ
        อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจอันซับซ้อนหลายประการ เช่น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ปัญหาหนี้ต่างประเทศ การลงทุนเกินตัว ความไม่เชื่อมั่นอย่างรุนแรงต่อสถาบันการเงินในประเทศ นำไปสู่การโจมตีค่าเงินบาท จนในที่สุดรัฐบาลต้องตัดสินใจประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เมื่อเงินบาทอ่อนค่าจาก 25 บาท เป็น 56 บาท ส่งผลให้หนี้ต่างประเทศประมาณ 2 ล้านล้านบาทเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว กลุ่มทุนธนาคารไทยต้องล่มสลาย สถาบันการเงิน 58 แห่งถูกปิด คนตกงานมากกว่า 1 ล้านคน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในสภาวะการผลิตล้นเกิน แรงงานต่างด้าวถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายมาแย่งงานในประเทศ และที่ร้ายแรงที่สุดคือปัญหาสังคม การฆ่าตัวตาย การตายของทารก การขาดสารอาหาร และเด็กที่ถูกทอดทิ้งพุ่งสูงขึ้น รวมถึงปัญหายาเสพติดที่มียาบ้าเพิ่มขึ้นถึงสี่ร้อยล้านเม็ดภายใน 1 ปี ผู้ต้องหาเพิ่มขึ้น เท่าตัวภายในสองปีหลังวิฤต และสามในสี่เกี่ยวพันกับยาเสพติด
       
       แม้ประเทศจะตกอยู่ใต้เงาแห่งความสิ้นหวัง แต่ก็ยังมีคนไทยจำนวนหนึ่งดิ้นรนหาทางออกด้วยตนเอง จนเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดท้ายขายของ การทำธุรกิจเอสเอ็มอี การประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ ขณะที่ธุรกิจส่งออกเมื่อผ่านการปรับโครงสร้างก็อาศัยสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อนเปิดตลาดการค้าได้มาก เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวก็ได้อานิสงส์ค่าเงินบาท และนโยบายรัฐบาล Amazing Thailand รวมทั้งนโยบายคิดใหม่ทำใหม่ ของพรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งขึ้นมาหลังวิกฤตได้กลายเป็นแนวทางหลักของการเมืองไทยหลังจากนั้น และที่ขาดไม่ได้คือ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดในการพัฒนาประเทศ จนนำไปสู่การบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 9 เพราะฉะนั้นวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่เผยให้เห็นถึงรากฐาน และลักษณะพิเศษของสังคมไทย ที่ได้รับการหยิบฉวยขึ้นมาใช้แก้ปัญหาในยามยาก ที่คนไทยทุกคนสามารถทำความเข้าใจ และนำบทเรียนจากประวัติศาสตร์มาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตของตนเองและสังคมให้ดียิ่งขึ้น นายราเมศ กล่าวทิ้งท้าย 

มิวเซียมสยามชี้วิกฤติระลอกใหม่อาจเกิดกับชนชั้นกลาง-รากหญ้า ดึงกูรูถอดบทเรียนประเทศ
        นายพรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รังสรรค์ แอนด์ พรรษิษฐ์ สถาปัตย์ กล่าวว่า เหตุการณ์วิกฤตทางการเงินในปี 2540 ส่งผลกระทบต่อกลุ่มนักธุรกิจกิจสมัยนั้น โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องแบกรับภาระหนี้สิ้นจากการที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จนต้องทยอยกันปิดกิจการไป นอกจากนี้ธนาคารส่วนใหญ่ในสมัยนั้น ยังประสบปัญหาสภาพคล่อง เป็นต้นว่าผู้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่างๆ ไม่สามารถชำระดอกเบี้ย และเงินต้นของธนาคารได้ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าว ถือเป็นบทเรียนให้แก่ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจให้รู้จักปรับตัวเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งต่อไปด้วยการลงทุนและฝากเงินในต่างประเทศ ในขณะที่ในอนาคตอันใกล้ที่อาจจะเกิดวิกฤติขึ้นจะเกิดกับกลุ่มชนชั้นกลางถึงล่าง ซึ่งต้องมาเผชิญปัญหาหนี้สินแทน เนื่องจากวิถีการใช้จ่ายเงินที่เกินความจำเป็น จากการใช้บัตรเครดิตที่เต็มวงเงิน เพราะไม่เคยประสบปัญหาทางการเงินมาก่อน
       
       ทั้งนี้ ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะประสบวิกฤตในอนาคต โดยวิกฤตการณ์ทางการเงินที่จะเกิดขึ้นในระลอกใหม่ จะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในแบบฉับพลันเหมือนครั้งที่ผ่านมา แต่จะค่อยๆ แทรกซึมผ่านต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นของกลุ่มชนชั้นกลาง และผู้มีรายได้น้อยมากกว่า นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมกลับทำให้สภาวะทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าในกรณีที่เกิดภาวะฟองสบู่แตก เนื่องจากเดิมกลุ่มเกษตรกรเป็นตัวช่วยในการอุ้มเศรษฐกิจจากวิกฤตการณ์ ในปี 2540 แต่ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่มีการโยกย้ายมาทำงานในเมืองหลวงมากขึ้น ทำให้สัดส่วนผู้ถือครองภาคการเกษตรลดลง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างดังกล่าวจึงทำให้ประเทศขาดตัวช่วยในการพยุงเศรษฐกิจรากฐาน นายพรรษิษฐ์ กล่าวสรุป
       
       อย่างไรก็ดี งานเสวนา “สูตรไม่สำเร็จ เศรษฐกิจ 2540” เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของนิทรรศการหมุนเวียน ชุด “ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน!” ที่เตรียมเปิดตัวขึ้น ณ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน ในวันที่ 6 มีนาคม 2560 เพื่อสร้างการเรียนรู้สังคมไทยอย่างสร้างสรรค์ ผ่านวิกฤตการณ์ที่คนไทยเลือกไม่ได้

วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง สู่นิทรรศการ ′ต้มยำกุ้งวิทยา:วิชานี้อย่าเลียน!′ รำลึก เรียนรู้แต่อย่าเลียนแบบ!

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว “ต้มยำกุ้ง”  รสชาติแซ่บที่ส่งความเผ็ดร้อนไปถึงชีวิตผู้คนนับล้านในชื่อ “วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง” วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่เริ่มต้นจากไทย และแพร่ไปสู่ทั่วเอเชีย...

พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ มิวเซียมสยาม เปิดงานนิทรรศการ ‘ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน’ เพื่อเป็นการรำลึกถึงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ครบรอบ 20 ปี ทั้งนี้ภายในงานนิทรรศการมีทั้งหมด 8 โซน ที่หยิบยกวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาให้คนทั่วไปได้ทำความเข้าใจสังคมไทยในแง่มุมต่างๆ ผ่านการจำลองบรรยากาศของห้องเรียนและบางส่วนของโรงเรียน

นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า ต้องการกระตุ้นคนไทยให้ได้เห็นและตระหนักถึงประวัติศาสตร์ระยะใกล้ ในการเรียนรู้ให้เข้าใจและสามารถต่อยอดนวัตกรรม กลไกต่างๆ ที่ใช้ในการต่อสู้เศรษฐกิจขึ้นมา หรือแม้กระทั่งเอากลไกต่างๆ เหล่านี้มาเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการกำหนดอนาคตของสังคมร่วมกัน 



นอกจากนี้ยังมีการถอดไลฟ์สไตล์คนยุค2540ผ่านบทเรียนต้มยำกุ้งวิทยาโดยได้วสันต์ โพธิพิมพานนท์ ประธานเบนซ์ทองหล่อกรุ๊ป  ให้มุมมองแนวคิดในการทำธุรกิจที่ผ่านวิกฤต รวมถึงการทำ "ตลาดนัดคนเคยรวย" ที่ทำให้รู้จักไปทั่วโลกว่า เพราะคนไทยมีสมบัติเหลือเฟือ แต่คนไทยขาดเงินสด เพื่อนร่วมวงการ เศรษฐีในสมัยนั้นต่างประสบปัญหาทางการเงิน ทุกคนจึงนำสมบัติของ มาฝากให้ตนขายให้ที่โชว์รูมเหมือนการเปิดท้ายขายของ

"เธอมีสมบัติ มีเบนซ์ มีนาฬิกา เอามาสิ เดี๋ยวผมขายให้ คนไทยเป็นคนขี้อาย ไม่อายหรอกที่ไปซื้อของโง่ๆ มา  ซื้อกระเป๋าในละ สามแสน สามล้าน แต่เวลาขายมันอาย แต่ไม่อายที่ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย มันกลับกัน ถ้าอายงั้นก็เอามา เดี๋ยวผมขายให้" วสันต์กล่าว

ส่วนที่ว่าวิกฤตจะเกิดขึ้นตามวงรอบที่จะเกิดทุกๆ 10 ปี หรือไม่นั้น วสันต์ เบนซ์ทองหล่อ กล่าวว่า ไม่แน่ และยังอันตรายอยู่ถ้าเราไม่ปูพื้นฐานให้คนรุ่นใหม่ ซึ่งต้องอย่าไปพึ่งอะไรมาก นอกจากตัวเอง  โดยระบุว่าในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่เกิดขึ้นนั้นเพราะมัวแต่ไปพึ่งพาสถาบันการเงินมากเกินไป




ด้วยวิกฤตที่ผ่านมาทำให้ทุกคนเรียนรู้รวมถึงเด็กรุ่นใหม่ที่พยายามหาอาชีพไม่ว่าจะเป็นสตาร์ตอัพ หรือธุรกิจเอสเอ็มอีเล็กๆซึ่งก็ยังมีเด็กบางคนยังเข้าใจผิดอยู่โดยทำอาชีพอิสระด้วยการไปเล่นหุ้น

"เล่นหุ้นก็มีสิทธิ์เจ๊งอีกมันต้องมีคนได้คนเเสียเล่นหุ้นมันก็เหมือนบ่อนการพนันรวยเสร็จก็มาคุยเจ๊งไป 9 คน ไม่มีใครพูดถึง"

เขายังกล่าวอีกว่า ต้องฝึกให้คนรุ่นใหม่รู้จักความลำบาก ความสบาย ต้องวางรากฐานต่อยอดธุรกิจให้ได้ พร้อมชี้ว่าอาชีพอิสระก็เป็นทางเลือกที่ดี แต่ต้องให้นึกว่าวันหนึ่งทำงานออกมาแล้วขายไม่ได้จะอยู่อย่างไร ซึ่งจะต้องเตรียมตัวอยู่เสมอ

“พรุ่งนี้คงจะสดใสมากกว่าวันนี้ อะไรที่อยู่ในที่ต่ำสุด มันคงไม่มีต่ำสุดไปกว่านั้นแล้ว มันต้องมีขึ้น แต่เมื่อใดที่อยู่สูงสุด  จะต้องระวัง เพราะมันต้องมีวันตกลงมา”


ด้านฟิล์ม เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่ม  Young Filmmakers of Thailandเด็กรุ่นใหม่ที่โตมากับครอบครัวที่ประสบปัญหาวิกฤตการเงิน ที่ทำให้เขาเห็นความจริงของชีวิตตั้งแต่ยังเด็ก ทั้งเรื่องการเงิน การทำมาค้าขาย ให้ความเห็นเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจที่จะคล้ายในอดีตหรือไม่นั้นว่า ทุกวันนี้วิกฤตก็เกิดอยู่ ซึ่งอาจจะไม่พังพินาศมากขนาดนั้น ซึ่งเปรียบได้กับคนที่นอนละเมอ (Sleep walker) ที่ทุกคนวาดฝันอยากให้เศรษฐกิจกลับไปเฟื่องฟูเหมือนก่อนปี 2540 แต่ในความเป็นจริงทำไมได้

สิ่งที่เป็นตัวส่งสัญญาณว่าประเทศไทยจะเกิดวิกฤตนั้น เปรมปพัทธ กล่าวว่า ต้องมองไปที่ประเทศรอบๆ ส่วนคนรุ่นใหม่เองจะต้องปรับตัวอย่างไรบ้างนั้น  มองว่าวัฒนธรรมด้านดิจิทัลสำหรับคนรุ่นใหม่นั้นไม่ต้องสอนมากนัก เพราะพวกเขาเหล่านี้เรียนรู้ได้เด้วยตัวเอง

"เด็กรุ่นใหม่เกิดอยู่ในยุคดิจิทัล เวลาจะหาสิ่งเรียนรู้ หรืออยากจะพบกับแหล่งความรู้ก็ง่ายๆ เช่น เด็กที่ชอบเล่นเกมส์ อยากรู้ อยากเจอนักพัฒนาเกี่ยวกับเกมส์ ก็แค่กดเข้าไปในยูทูบเท่านั้น " เปรมปพัทธ กล่าว

เขายังกล่าวว่า สิ่งที่เป็นเรื่องท้าทายของคนรุ่นใหม่ มี 2 เรื่องคือ เราจำเป็นจะต้องวิพากษ์วิจารณ์กันมากขึ้น และจะต้องมีการพัฒนากรอบความคิด หรือ Growth Mindset จะต้องมีความสนใจมากกว่านั้น และในการทำธุรกิจจะต้องมีมุมมองทางสังคมด้วย หากไม่สนใจบริบททางสังคมก็จะทำธุรกิจอยู่บนความเสี่ยง

ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาทั้งคู่เชื่อว่านิทรรศการ ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน! จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เด็กรุ่นใหม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ และนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาเป็นประสบการณ์ ที่ทำให้รู้ว่าเราต้องไม่เลียนแบบ และต้องอยู่กับปัจจุบัน และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด 

สำหรับ นิทรรศการหมุนเวียนชุด “ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่างเลียน!” มีรายละเอียด 8 โซนนิทรรศการ ประกอบไปด้วย



โซน 1 : สวนสรุป คือประตูด่านแรกที่จะนำผู้ชมไปเรียนรู้วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งร่วมกัน ผ่านการเสนอข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์ ในรูปแบบของสนามเด็กเล่นกลางแจ้ง อาทิ "สไลเดอร์" สะท้อนการล้มคะมำของเศรษฐกิจไทย "ม้ากระดก" แสดงค่าเงินบาทก่อนและหลังลอยตัว "บาร์โหน" สะท้อนความรุ่งเรืองที่ไม่หวนคืนของตลาดหุ้นไทย



โซน 2 : กำแพงข่าวเล่าสถานการณ์  เป็นการจำลองบรรยากาศกำแพงข่าวในโรงเรียน มาจัดแสดงข้อมูลสถานการณ์ต้มยำกุ้ง โดยใช้ภาพการ์ตูนของ "บัญชา คามิน" การ์ตูนนิสต์ที่โดนเด่นในยุคนั้น มาสื่อสารทั้งข้อมูลและอารมณ์ของยุคสมัยในลักษณะ "ทีเล่น ทีจริง" อันจะช่วยให้ผู้ชมย้อนรำลึกถึงสังคมไทยในยุควิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งได้เป็นอย่างดี 



โซน 3 : ห้องภาระศึกษา ห้องนี้ล้อมาจากวิชาพละศึกษา โดยมีเนื้อว่าด้วยภาระหนี้ที่คนไทยทุกคนต้องแบกรับไว้ แม้วิกฤตการณ์จะผ่านไปกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม ซึ่งจัดแสดงข้อมูลโดยใช้เครื่องออกกำลัง โดยใช้ ดัมเบลล์ เป็นสื่อนำให้เห็นภาพมากขึ้น  



โซน 4 : ห้องสันทนาการ เป็นที่จัดให้มีบรรยากาศสบายๆ พร้อมนำเสนอสังคมในยุคฟ้องสบู่ ภาพสื่อภาพยนตร์และวัตถุจัดแสดงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้กอล์ฟ แสดงคอนเนคชั่นทางธุรกิจ กระเป๋าแบรนด์เนมที่นำเทรนในยุคนั้น เป็นต้น 



โซน 5 : ประสบการณ์ชีวิต นำเสนอข้อมูลช่วงฟองสบู่แตก และชีวิตของผู้คนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นด้านลบหรือด้านบวก ตลอดจนทางออกต่างที่คนในสังคมไทยดิ้นรน ณ เวลานั้น เช่น ผ้าป่าช่วยชาติ ตลาดเปิดท้ายขายของ เศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น 



โซน 6 : วิชาความน่าจะเป็น เผยเหตุปัจจัยของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ใน 5 แนวทาง ผ่านมุมมองของ "ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์" นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของเมืองไทย อันประกอบไปด้วย ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย คอรัปชั่น และทุนนิยมพวกพ้อง ภาวะย่ามใจทางศีลธรรม การแข่งขันการลดค่าเงินและความตื่นตระหนกทางการเงิน 



โซน 7 : การงานพื้นฐานอาชีพ นำเสนอข้อคิด บทเรียน จากคนในอาชีพต่างๆ อาทิ นักเขียน นักแปล สื่อมวลชน นักออกแบบแนวคิด นักทำภาพยนตร์ เจ้าของธุรกิจ ผู้เคยผ่านหรือได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ผ่านบทสัมภาษณ์เพื่อเป็นแนวทางหรือภูมิคุ้มกันให้คนรุ่นใหม่ไว้ศึกษาต่อไป 



โซน 8 : วิชาประวัติศาสตร์เพื่ออนาคต เป็นการสรุปรวบยอดและสร้างการแบ่งปันประสบการณ์การมีส่วนร่วมของผู้ชมต่อนิทรรศการ ผ่านการแสดงความคิดเห็น

นอกจากนี้ยังได้มีการรวบรวมวัตถุจัดแสดงจากสาธารณชนโดยใช้กระบวนการของสื่อสังคมออนไลน์เพื่อให้นิทรรศการนี้เป็นนิทรรศการที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนเช่นการทัวร์โครงการในพระราชดำริสวนจิตรลดาเพื่อให้เห็นแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การเปิดตลาดนัดคนเคยรวย ซึ่งเป็นตลาดขายของแบกะดินในลักษณะที่เกิดเมื่อ 20 ปีก่อน เป็นต้น โดยเปิดให้เข้าชมได้แล้วตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2560


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มิวเซียมสยามชี้ วิกฤติระลอกใหม่ อาจเกิดกับ ชนชั้นกลาง-รากหญ้า ดึงกูรู ถอดบทเรียนประเทศ

view