สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

10 อาชีพที่มีรายได้สูงสุดในญี่ปุ่น กับ มุมมองเรื่อง งาน ในสายตาคนญี่ปุ่น

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

 

ดร.โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์
       Tokyo University of Foreign Studies

       
       ความหวั่นไหวต่อความไม่มั่นคงในชีวิต
       
       เหลืออีกไม่กี่วัน สังคมญี่ปุ่นก็จะได้ต้อนรับ “ผู้ใหญ่มือใหม่” เมื่อนักเรียนนักศึกษาเรียนจบอย่างเป็นทางการช่วงปลายเดือนมีนาคมและเข้าสู่สังคมเต็มตัวตั้งแต่เดือนเมษายน กลายเป็น “ชะไกจิง” (社会人;shakaijin) หรือ “คนทำงาน” ที่จะต้องจ่ายภาษี โดยส่วนใหญ่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์เงินเดือนผู้มีรายรับเฉลี่ยต่อปีประมาณ 4 ล้านเยนเศษ และด้วยบรรยากาศแบบนี้ “ญี่ปุ่นมุมลึก” ขอชี้ชวนมาดูเรื่องราวว่าด้วยการงานของคนญี่ปุ่นกันอีกครั้ง คราวนี้ว่ากันเรื่องเหตุแห่งการหางานให้ได้ก่อนเรียนจบ กับอันดับรายได้ในอาชีพ
       
       ขณะที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่รีบเรียนให้จบและออกไปทำงานประจำ คนส่วนน้อยที่เลือกอาชีพอย่างเช่นทนายความหรืออาจารย์มหาวิทยาลัย (ในปัจจุบันก็ไม่ใช่ว่าจะเลือกได้ เพราะมีตำแหน่งว่างน้อยมาก) ก็จะต้องยอมเสี่ยงเรียนหนังสือไปเรื่อยๆ ในกรณีของทนายความก็จนกว่าจะสอบผ่าน ได้ใบรับรองคุณสมบัติ หรือในกรณีของอาจารย์ ก็จนกว่าจะจบปริญญาเอก แต่เมื่อจบแล้วก็ยังไม่แน่ว่าจะมีงานทำตามนั้น
       
       ถามว่าระหว่างที่เรียนเพื่อไต่ระดับไปจนบรรลุเป้าหมายนั้น จะเอาอะไรกิน? พ่อแม่ญี่ปุ่นมักจะส่งเสียให้ลูกเรียนจนจบแค่ปริญญาตรีเท่านั้น ดังนั้น เพื่อรับมือกับความไม่มั่นคงในชีวิตช่วงที่สูงกว่าปริญญาตรีแต่ยังไม่มีงานทำ คนเรียนต้องหาเงินเอง อาจจะขอทุน หรือทำงานหารายได้พิเศษเพื่อส่งเสียตัวเอง นั่นหมายถึงความกล้าหาญพอสมควรในการทำอะไรที่แตกต่างจากคนญี่ปุ่นทั่วไป ซึ่งมักจะหวั่นเกรงความไร้หลักประกันและพยายามปิดช่องนั้น 

10 อาชีพที่มีรายได้สูงสุดในญี่ปุ่น กับ มุมมองเรื่อง “งาน” ในสายตาคนญี่ปุ่น
        คนญี่ปุ่นมีลักษณะอย่างหนึ่ง คือ ไม่สามารถทนต่อความไม่มั่นคงได้นาน รวมทั้งเรื่องงานด้วย งานคือกระจกสะท้อนความกลัวของคนญี่ปุ่นที่มีต่อความไม่มั่นคงในชีวิต ฟังดูอาจจะเหมือนเป็นเรื่องตื้นๆ อย่างที่คนไทยคิดกันทั่วไปว่าไม่มีงานก็ไม่มีเงิน แต่ในความเป็นจริง ลึกกว่านั้น และส่งผลต่อพฤติกรรมแทบทุกช่วงชีวิตของคนญี่ปุ่น (จนในที่สุดก็นำไปสู่วัฒนธรรมกลุ่ม) กล่าวคือ ด้วยความที่ทนความไม่มั่นคงไม่ค่อยได้ คนญี่ปุ่นจึงนำระบบเข้าไปใส่ในแทบจะทุกเรื่องเพื่อให้สิ่งต่างๆ มีขั้นตอนที่เป็นรูปธรรม จะได้ยึดเหนี่ยวได้ง่ายขึ้น
       
       เมื่อเด็กมัธยมปลายเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมใหม่ ก็จะเคว้งคว้างหวั่นใจว่าจะไม่มีอะไรทำ เกิดความไม่มั่นคงทางใจ จึงต้องเข้าชมรม ซึ่งก็กลายเป็นระบบรุ่นพี่รุ่นน้องในสถาบันการศึกษา นักศึกษาญี่ปุ่นกว่าครึ่งมีกิจกรรมชมรม หากใครไม่ได้ทำกิจกรรม จริงๆ แล้วก็ไม่มีใครว่าอะไร แต่เจ้าตัวจะรู้สึกไปเองว่าไม่มีพวก ซึ่งต่างกับของไทยโดยสิ้นเชิง เพราะในกรณีนักศึกษาไทย คนที่ทำกิจกรรมชมรมคือคนส่วนน้อย แต่คนญี่ปุ่นคิดว่า ไม่ว่าจะอย่างไร ตัวเองจะต้องมีสังกัด
       
       เมื่อถึงเวลาที่จะต้องออกไปหาเลี้ยงชีพด้วยตัวเอง ความคิดเรื่องการหลีกหนีความไม่มั่นคงก็ส่งผลอีก คนญี่ปุ่นจึงสร้างระบบการหางานให้ได้ก่อนเรียนจบ ซึ่งก็ดีต่อบริษัทด้วย เพราะต่างฝ่ายต่างก็ตัดความกังวลเรื่องความฉุกละหุกออกไปได้ และรู้ล่วงหน้าว่าใครจะเข้ามารับช่วงทำงานต่อไป บริษัททั่วญี่ปุ่นก็พร้อมใจกันสนองจุดนี้ ด้วยการเปิดรับสมัครพนักงานใหม่ตั้งแต่นักศึกษายังเรียนไม่จบ และสัญญากันว่า ถ้าจบเมื่อไรก็มาทำงานที่บริษัทนี้ได้ ช่วงเวลาการหางานของนักศึกษาญี่ปุ่นคือ เมื่อเรียนจบชั้นปี 3 คาบเกี่ยวไปจนจบเทอมแรกของปี 4
       
       นักศึกษาบางคนที่หางานไม่ได้ก่อนจะจบปี 4 ก็จะยอมเรียนซ้ำชั้นเป็นปีที่ 5 เพื่อจะได้หางานอีกเมื่อถึงฤดูกาล น้อยคนมากที่จะยอมจบโดยไม่มีงานใดๆ รองรับไว้ก่อน ซึ่งก็เป็นจุดที่ต่างจากคนไทย เพราะคนไทยส่วนใหญ่จะรอให้เรียนจบบริบูรณ์แล้วค่อยหางาน และนักศึกษาจบใหม่ของไทยยอมอยู่ว่างๆ หลายเดือน โดยไม่จำเป็นต้องมีสังกัดก็ได้ และไม่รู้สึกว่าจะต้องมีอะไรมารองรับชีวิต
       
        เมื่อเข้าทำงานแล้ว ทัศนคติของคนญี่ปุ่นเรื่องการทุ่มเทให้แก่งานก็อธิบายได้ด้วยความกลัวที่มีต่อความไม่มั่นคง คนญี่ปุ่นคิดเสมอว่าจะต้องมีที่ยึดเหนี่ยว ต้องเข้ากลุ่ม ต้องหาที่เกาะไว้ ต้องมีสังกัด หาไม่แล้วจะขาดความเชื่อมั่น สิ่งเหล่านี้คือวัฒนธรรมกลุ่ม ลองให้คนญี่ปุ่นแนะนำตัวดูเถิด คนคนนั้นจะบอกชื่อของตนและทุกครั้งก็จะพ่วงสังกัดเข้าไปด้วยว่าเป็นใครทำงานอยู่ที่ไหน ด้วยนัยนี้ ‘กลุ่ม’ หรือบริษัทคือสิ่งที่สนองตอบความต้องการของพนักงานไม่ใช่แค่เรื่องค่าจ้างเท่านั้น แต่ยังเติมเต็มความต้องการทางใจให้ด้วย พูดง่ายๆ ก็คือให้ที่พักพิง ทำให้เกิดความมั่นคงทางใจ ฉะนั้นเมื่อทุ่มเททำงานให้บริษัท ก็หมายความว่ากำลังสร้างความมั่นคงทางจิตใจให้แก่ตัวเองด้วย
       
        ในทางตรงกันข้าม สำหรับคนไทย บริษัทกับพนักงานไม่ได้หลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกัน และคนไทยมักเปลี่ยนงานบ่อยเพื่อไขว่คว้าเงินเดือนที่สูงขึ้น โดยไม่ได้รู้สึกว่าการย้ายที่ทำงานจะทำให้สูญเสียกลุ่มเดิม และการสร้างกลุ่มใหม่ในที่ทำงานใหม่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่สำหรับคนไทย หรือบางคนยอมออกจากงานโดยที่ยังไม่ได้หางานใหม่เพียงเพราะเบื่อเจ้านาย สิ่งเหล่านี้ก็คงบอกได้ว่า คนไทยกลัวความไม่มั่นคงน้อยกว่าคนญี่ปุ่น ซึ่งจะเรียกว่าเป็น ‘คุณ’ สมบัติของคนไทยก็คงได้
       
       รายได้ในอาชีพ
       
       การเลือกอาชีพนั้นสำคัญต่อความเป็นอยู่แน่นอน และใครๆ ก็อยากทำอาชีพที่มีรายได้ดี แต่บางทีการตัดสินใจเลือกเส้นทางเหล่านั้น นอกจากจะต้องมีสติปัญญาพอสมควรแล้ว ก็จะต้องมีคุณสมบัติพื้นฐานอีกข้อหนึ่งคือ ต้องอดทนต่อความไม่มั่นคงในชีวิตได้นาน เพราะหลักประกันที่จะทำให้ได้มาซึ่งอาชีพบางอาชีพนั้นไม่มี เข้าข่ายอาชีพในฝัน แต่บางทีเป็นแค่ฝันเฟื่อง หรือฝันไว้ไกลแต่ไปไม่ถึง เพราะเงื่อนไขทางสังคมบีบคั้น 

10 อาชีพที่มีรายได้สูงสุดในญี่ปุ่น กับ มุมมองเรื่อง “งาน” ในสายตาคนญี่ปุ่น
        พอเอ่ยถึงอาชีพ คนก็มักจะนึกถึงรายได้ และเมื่อมองถึงรายได้ ถ้าเป็นสังคมไทยก็มักจะส่งเสริม (เชิงกดดัน) ลูกหลานว่าต้องเรียนโน่นสินี่สิ โดยเฉพาะในยุคที่ไทยเร่งพัฒนาอย่างเต็มที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์จึงเป็นคณะยอดฮิต เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดและได้เงินเดือนมากกว่าหลายๆ สาขา
       
       ในกรณีคนญี่ปุ่น ไม่ได้เป็นเช่นนั้น การกดดันลูกหลานให้เลือกเรียนสิ่งที่จะนำไปสู่อาชีพที่มีรายได้สูงนั้นคงมีบ้าง แต่ก็น้อย พ่อแม่ญี่ปุ่นจะไม่ค่อยบังคับลูกว่าต้องเรียนอะไร แต่จะออกไปในแนวกดดันเรื่องสถาบันมากกว่า เพราะชื่อสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยคือใบเบิกทางสำคัญในสังคมญี่ปุ่น ส่วนการเรียนสายวิทยาศาสตร์นั้นก็ไม่ได้รับประกันว่าจะทำเงินได้มากกว่าสายสังคมศาสตร์เสมอไป ดังจะเห็นได้จาก 10 อันดับอาชีพที่มีรายได้สูงสุด ซึ่งสำรวจโดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่นเมื่อกลางปี 2558
       
        หากไม่นับอาชีพเฉพาะบุคคลซึ่งมีความจำกัดมากๆ อย่างเช่น นายกรัฐมนตรี (รายได้ปีละ 36.7 ล้านเยน) หรือนักกีฬาดาวเด่น หรือกรรมการผู้จัดการบริษัท หรือนักการเมือง ซึ่งอาจไม่ใช่อาชีพประจำ สิบอันดับอาชีพที่มีรายได้สูงของคนญี่ปุ่น มีดังนี้ (คิดเป็นเงินบาทคร่าวๆ ได้ด้วยการหาร 3 ส่วนตัวเลขในวงเล็บคืออายุเฉลี่ยของคนในอาชีพนั้น)
       
       1) นักบิน 15.3 ล้านเยน (44 ปี)
       2) แพทย์ 10.98 ล้านเยน (40 ปี)
       3) ทนายความ 10.95 ล้านเยน (35.6 ปี)
       4) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย 10.86 ล้านเยน (57.5 ปี)
       5) รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย 8.57 ล้านเยน (47 ปี)
       6) นักข่าว 8.23 ล้านเยน (38.8 ปี)
       7) อาจารย์มหาวิทยาลัย (ผศ.) 7.39 ล้านเยน (43.7 ปี
       8) ผู้ตรวจสอบบัญชี 7.17 ล้านเยน (40.7 ปี)
       9) ผู้ตรวจรับรองการเสียภาษี (Certified Public Tax Accountant) 7.17 ล้านเยน (40.7 ปี)
       10) ผู้ประเมินอสังหาริมทรัพย์ 7.11 ล้านเยน (46.7 ปี)
       
       จากสิบอันดับแรก จะเห็นได้ว่าอาชีพทางสายสังคมศาสตร์ก็สร้างรายได้สูงเช่นกัน และเอาเข้าจริง การแบ่งสายวิทย์สายศิลป์ก็ไม่ได้มีผลไปเสียหมด เพราะหลายๆ อาชีพเป็นสิ่งที่อิงกับการสอบให้ได้มาซึ่งคุณสมบัติพิเศษโดยไม่จำกัดความถนัดวิทย์ศิลป์ อย่างเช่น ทนายความ ผู้ตรวจสอบบัญชี ผู้ตรวจรับรองการเสียภาษี ผู้ประเมินอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งล้วนแต่มีรายได้สูง เหตุผลหนึ่งที่เป็นเช่นนั้นคือ กว่าจะได้มาซึ่งคุณสมบัตินั้นยากมาก และในขณะที่คนอื่นอาจจะเริ่มอาชีพได้ตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ แต่คนที่มุ่งมั่นจะประกอบอาชีพเหล่านี้ กว่าจะเรียนจบและสอบผ่านจนได้เริ่มอาชีพจริงจัง ก็เมื่ออายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป
       
       ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ อาชีพที่เกี่ยวกับสถาบันการศึกษามีรายได้อยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศ ได้แก่ อาจารย์มหาวิทยาลัยทุกตำแหน่ง (ประจำ) จะเรียกว่านี่เป็นแนวโน้มของประเทศพัฒนาแล้วก็คงได้ เพราะในสหรัฐอเมริกาก็มีแนวโน้มคล้ายกัน นอกจากนี้ อาจารย์ระดับมัธยมของญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ว่ามีรายได้น้อย ปีหนึ่งๆ ได้ 6.7 ล้านเยน (42.8 ปี) และอยู่ในอันดับที่ 12 ซึ่งสูงกว่าทันตแพทย์ 6.53 ล้านเยน (38.2 ปี) ในอันดับที่ 14
       
       สำหรับประเทศไทย อาชีพอาจารย์เป็นอย่างไร? ก็เป็นที่ถกเถียงกันมานานทั้งในด้านคุณภาพการสอนและคุณภาพชีวิตของคนสอนเอง เราถึงได้มีครูอาจารย์ที่ต้องออกไปหารายได้พิเศษนอกสถาบันการศึกษาหลักจนบางทีรายได้จากข้างนอกสูงกว่ารายได้ประจำ แต่ของญี่ปุ่น เรื่องแบบนี้ไม่เป็นประเด็นขึ้นมา เพราะ 1) งานสอนประจำยุ่งอยู่แล้ว 2) เงินเดือนที่ได้รับสมน้ำสมเนื้อกับงานที่ทำ และ 3) ต้นสังกัดมีกฎห้ามทำงานนอก
       
        ใครจะเลือกเส้นทางอาชีพใดคงขึ้นอยู่กับว่าจะอดทนต่อความไม่มั่นคงในชีวิตในรูปแบบไหน บางคนช่วงแรกยอมหวั่นไหว แต่สบายช่วงหลังเพราะรายได้สูง แต่บางคนเลือกที่จะปิดช่องความหวั่นใจเสียตั้งแต่เนิ่นๆ และดำเนินชีวิตด้วยรายได้กลางๆ ไปตลอด ก็แล้วแต่จริตของแต่ละคน แต่ที่แน่ๆ สำหรับผู้ใหญ่มือใหม่ คือ ในปีแรกที่ทำงานมีเงินเดือนเป็นของตัวเอง จะตื่นเต้นยิ้มร่า รู้สึกว่าเป็นอิสระจากพ่อแม่ และเหลือเงินถึงมือเยอะดี เพราะถูกหักแค่ภาษีเงินได้ แต่พอขึ้นปีถัดไปเท่านั้นแหละ อาจจะหน้าซีดตัวสั่น เพราะนอกจากภาษีเงินได้ ก็ยังต้องจ่ายภาษีท้องที่อีกด้วยซึ่งแพงมาก โดยคำนวณจากรายรับของปีก่อนหน้า และเมื่อนั้น คนหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นก็จะเริ่มรู้ว่าไม่มีชีวิตช่วงไหนสบายเท่าวัยเรียนอีกแล้ว

สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อาชีพที่มีรายได้สูงสุดในญี่ปุ่  มุมมองเรื่องงาน สายตาคนญี่ปุ่น

view