สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เงินงบประมาณขาดดุลเพิ่ม 6.1% กระตุ้นเศรษฐกิจ-พัฒนาคน รับ Thailand 4.0

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์มายาการเงิน โดยนิด้า


ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2561 ผ่านการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2560 มีวงเงินทั้งสิ้น 2.9 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2560 จำนวน 2.3 หมื่นล้านบาท และได้ตั้งเป็นงบประมาณขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท เป็นการจัดสรรตามยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 6 ยุทธศาสตร์ 56 แผนงาน

อาทิ ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จำนวน 2.7 แสนล้านบาท, ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ จำนวน 3.3 แสนล้านบาท, ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการน้ำ จำนวน 1.2 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เป็นงบประมาณที่กำหนดขึ้นให้สอดคล้องตามร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 โดยให้ความสำคัญเรื่องนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ นโยบายสำคัญของรัฐบาล และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง



นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายการจัดทำงบประมาณนี้ให้รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อให้การจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ เป็นกลไกขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาลให้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะแถลงสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 นายกรัฐมนตรีได้รายงานถึงภาวะเศรษฐกิจทั่วไป ฐานะ และนโยบายการเงินการคลังของประเทศว่าเศรษฐกิจทั่วไปปี 2560 มีแนวโน้มขยายตัว ในช่วงร้อยละ 3.3-3.8 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2559 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออก การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและราคาสินค้าในตลาดโลก, การขยายตัวของการลงทุนภาครัฐที่อยู่ในระดับสูงขึ้น, การปรับตัวดีขึ้นของภาคสินค้าเกษตรและราคาสินค้าเกษตร, การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว และการปรับตัวดีขึ้นของตลาดรถยนต์ในประเทศ

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีข้อจำกัด จากอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาพรวม รวมทั้งมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยน การดำเนินมาตรการและนโยบายที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา และความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของราคาน้ำมันและราคาสินค้าในตลาดโลก

สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.8-1.3 ในขณะที่การจ้างงานมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของภาคการผลิต และดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งมีแนวโน้มเกินดุลประมาณร้อยละ 8.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.3-4.3 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้าและบริการตามภาวะเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นรวมทั้งความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนที่มีการฟื้นตัวและขยายตัวมากขึ้นและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของการผลิตภาคเกษตร

กล่าวโดยสรุป คือ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจปี 2561 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5-2.5 ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลประมาณร้อยละ 8.9 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ฐานะและนโยบายการคลังในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ห้าพันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 จากปีก่อน และเมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.ก.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 115,000 ล้านบาทแล้ว คงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,450,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ดังนั้น คณะรัฐมนไตรีจึงกำหนดวงเงินงบประมาณปี 2561 เป็นวงเงินทั้งสิ้น 2,900,000 ล้านบาท เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุล โดยกำหนดรายได้สุทธิจำนวน 2,450,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีกจำนวน 450,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 182,515 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป


หลังการแถลงของนายกรัฐมนตรีมีความเห็นจากดร.มนตรีโสคติยานุรักษ์ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชน (MPPM NIDA) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ว่ารัฐบาลได้วางวงเงินงบประมาณปี 2561 ไว้ที่ 2.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.1% ซึ่งเป็นงบประมาณแบบขาดดุล โดยหากวิเคราะห์โครงสร้างงบประมาณปี 2561 จะพบว่ารัฐบาลมีรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.4% รายจ่ายเพื่อการลงทุนเพิ่มขึ้น 20.2% และการจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เพิ่มขึ้น 7.1% โดยงบประมาณรายรับจะถูกจัดสรรเป็นรายได้ 84.5% และเป็นเงินกู้ 15.5% ทำให้ต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 15.4% หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท

การกู้เงินชดเชยดังกล่าวอาจสร้างความกังวลต่อความยั่งยืนทางการคลังของประเทศอยู่บ้างแต่หากพิจารณาสัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อGDPอยู่ที่42.6% ยังต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไม่เกิน 60% ทำให้การกู้เงินดังกล่าวไม่น่ากังวลเท่าใดนัก หากเม็ดเงินกู้ดังกล่าวถูกใช้จ่ายไปเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการเพื่อสนับสนุนการเชื่อมต่อความร่วมมือ AEC ตลอดจนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศได้ในระยะยาว


และหากพิจารณาการจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์จะพบว่าภาครัฐมุ่งเน้นใช้จ่ายเงินเพื่อพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพ"คน"โดยมีการใช้จ่ายเงินงบประมาณสูงที่สุดหรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 151.2% เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต หวังแก้ปัญหาความยากจน และสร้างความมั่งคั่ง รวมทั้งช่วยขับเคลื่อน Thailand 4.0

รองลงมาได้แก่ ยุทธศาสตร์การปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารการจัดการภาครัฐเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 131.4% เพื่อปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพ เป็นรากฐานในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทย เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 17.6% และ 12.3% ของวงเงินงบประมาณตามลำดับ ขณะที่การจัดสรร "งบกลาง" ที่ไม่ระบุวัตถุประสงค์ในการใช้งาน ได้งบฯลดลง 2.9% แต่ก็เป็นการจัดสรรงบประมาณมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 13.6% ของงบประมาณทั้งหมด

งบฯปี 2561 ทำให้เห็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ใช้นโยบายการคลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการจัดสรรงบการลงทุนเพิ่มขึ้น 20.2% เพื่อมุ่งให้เกิดผลทางเศรษฐกิจ และเชิงบวกต่อการขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่เน้นสร้างรากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจากตัวเลขการส่งออกของไทยยังมีความเสี่ยงจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ภาคครัวเรือนมีภาระหนี้มาก และภาคการลงทุนภาคเอกชนที่ยังทรงตัวอยู่

ดังนั้น การจัดสรรงบประมาณขาดดุลเช่นนี้ ถือว่าค่อนข้างตอบโจทย์การกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เงินงบประมาณขาดดุล กระตุ้นเศรษฐกิจ-พัฒนาคน Thailand 4.0

view