สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ส่งเสด็จสู่สวรรค์...จาก พระเมรุมาศ สู่ เขาพระสุเมรุ ในงานพระราชพิธีพระบรมศพ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

ส่งเสด็จสู่สวรรค์...จาก'พระเมรุมาศ' สู่ 'เขาพระสุเมรุ' ในงานพระราชพิธีพระบรมศพ
พระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่กำลังก่อสร้าง
        อีกไม่นาน...วันแห่งความโศกเศร้าของคนไทยทั้งประเทศก็จะมาถึง เมื่องานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กำลังจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560
       
       แม้จะเป็นเรื่องที่ทำให้หัวใจชาวไทยทั้งประเทศต้องโศกเศร้า แต่ก็เป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ต้องจารึกไว้ เพราะงานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์เป็นพิธีการอันสำคัญและยิ่งใหญ่ที่จัดขึ้นตามราชประเพณีโบราณที่สืบทอดต่อมาเป็นเวลายาวนาน 

ส่งเสด็จสู่สวรรค์...จาก'พระเมรุมาศ' สู่ 'เขาพระสุเมรุ' ในงานพระราชพิธีพระบรมศพ
พระเมรุมาศ ณ ท้องสนามหลวง
        เพื่อเป็นการให้ความรู้เกี่ยวและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับงานพระราชพิธีพระบรมศพซึ่งเป็นโบราณราชประเพณี รวมไปถึงเรื่องราวเกี่ยวกับพระเมรุมาศ ซึ่งเป็นการรวมเอางานประณีตศิลป์และงานศิลปกรรมแขนงต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน จึงมีหลายหน่วยงานที่จัดบรรยายและเสวนาเกี่ยวกับงานถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเกร็ดความรู้ที่ควรค่าแก่นำมาเผยแพร่
       
       นายนิยม กลิ่นบุปผา ข้าราชการบำนาญ นักวิชาการช่างศิลป์ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านศิลปกรรม (ช่างศิลปไทย) กรมศิลปากร กล่าวในกิจกรรมพิพิธภัณฑ์เสวนา ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ “งานประณีตศิลป์เนื่องในพระราชพิธีพระบรมศพ” ที่จัดขึ้นโดยสำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร ว่า 

ส่งเสด็จสู่สวรรค์...จาก'พระเมรุมาศ' สู่ 'เขาพระสุเมรุ' ในงานพระราชพิธีพระบรมศพ
ระดมกำลังสร้างสรรค์พระเมรุให้สมพระเกียรติ
        “ไทยเรารับคติพราหมณ์สืบต่อมาในเรื่องของความเชื่อที่ว่าพระมหากษัตริย์เป็นประดุจเทพเจ้า เป็นดังสมมติเทพ เมื่อเคารพว่าเป็นดังเทพเทวดา ดังนั้นการปลงพระบรมศพ ปลงพระอสุภะก็ต้องทำให้งดงามที่สุด แต่ร่างกายก็ต้องเน่าเปื่อยตามธรรมชาติ จึงต้องสร้างสรรค์สถานที่ปลงพระศพหรือพระเมรุให้งดงามมากที่สุด รวมทั้งมีการตกแต่งสิ่งต่างๆ ให้งดงามเราด้วยงานประณีตศิลป์”
       
       “อีกทั้งคำว่า ‘สวรรคต’ ไม่ได้แปลว่า ตาย คำว่า ‘คต’ (คะ-ตะ) แปลว่า ไป ‘สวรรคต’ ก็คือ ไปสวรรค์ เพราะตามความเชื่อแล้วพระองค์ท่านเป็นเทพมาจากสวรรค์และมาเป็นกษัตริย์ เมื่อถึงเวลาพระองค์ท่านจึงเสด็จกลับสวรรค์ ดังนั้นจึงต้องมีการส่งเสด็จ ต้องมีริ้วขบวนส่งเสด็จ ส่วนสถานที่ที่จะถวายพระเพลิงพระบรมศพหรือพระเมรุมาศ ก็เป็นการทำจำลองวิมานที่ตั้งอยู่บนเขาสิเนรุราช หรือเขาพระสุเมรุที่เป็นดังศูนย์กลางจักรวาน บนยอดเขาพระสุเมรุเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นที่ประทับของเหล่าเทวดา เมื่อเราจะส่งเสด็จท่านจึงต้องสร้างพระเมรุให้เป็นดังวิมานในโลกมนุษย์แห่งนี้ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ต้องทำพระเมรุมาศให้ใหญ่โตอลังการ ทุ่มเทกำลังทรัพย์ ทุ่มเทกำลังคน ก็เพราะเป็นคติความเชื่อ และเป็นวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งของชาติไทยของเรามายาวนานแล้ว และนอกจากนั้นยังถือเป็นการรักษางานช่าง สืบทอดกระบวนการงานประณีตศิลป์ของช่างไทยเอาไว้อีกด้วย” นิยม กล่าว 

ส่งเสด็จสู่สวรรค์...จาก'พระเมรุมาศ' สู่ 'เขาพระสุเมรุ' ในงานพระราชพิธีพระบรมศพ
การดำเนินงานก่อสร้างพระเมรุกำลังรุดหน้า
        ด้านนายชิษณุพงษ์ ฐิตะลักขณะ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และนักวิชาการอิสระ ได้กล่าวบรรยายประวัติความเป็นมาในการพระราชพิธีพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ในกิจกรรม “รฤกวันวานงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ” ที่จัดโดยบริษัทบัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “เคทีซี” ว่า
       
       งานพระราชพิธีพระบรมศพในครั้งนี้เป็นการรวบรวมงานประณีตศิลป์ของชาติซึ่งไม่มีโอกาสได้เห็นกันบ่อยนัก เป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย โดยพระราชพิธีพระบรมศพนั้นจะมีทั้งส่วนที่จัดเป็นการภายใน อาทิ การสรงน้ำพระบรมศพ รวมไปถึงพิธีสุกำศพ หรือการมัดตราสัง 

ส่งเสด็จสู่สวรรค์...จาก'พระเมรุมาศ' สู่ 'เขาพระสุเมรุ' ในงานพระราชพิธีพระบรมศพ
รูปเทวดาที่จะประดิษฐานไว้บนฐานไพที
        สำหรับงานพระบรมศพของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ถือเป็นงานพระบรมศพสุดท้ายที่จัดสมบูรณ์แบบครบถ้วนตามโบราณราชประเพณี มีการลงพระบรมโกศตามธรรมเนียม แต่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่าถือเป็นพระองค์แรกไม่ได้ลงพระโกศ ที่มีพระราชประสงค์จะบรรทมในหีบ เช่นเดียวกับสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
       
       “ในส่วนของพระเมรุมาศนั้น เป็นการจำลองเขาพระสุเมรุที่ประทับของเทวดา เหมือนเป็นการยกวิมานทั้งองค์มา โดยเฉพาะพระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นพระเมรุมาศที่ใหญ่อลังการที่สุดในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ แต่พอมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะปรับลดให้เรียบง่ายมากขึ้นจนกลายมาเป็นต้นแบบของพระเมรุในยุคหลัง” นายชิษณุพงศ์ กล่าว 

ส่งเสด็จสู่สวรรค์...จาก'พระเมรุมาศ' สู่ 'เขาพระสุเมรุ' ในงานพระราชพิธีพระบรมศพ
หุ่นเทวดาที่จะใช้ประดับพระเมรุมาศ
        ขณะที่การก่อสร้างพระเมรุมาศนั้นก็ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนตอนนี้สำเร็จลุล่วงไปแล้วกว่าครึ่ง และจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกันยายนนี้ โดยพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประกอบด้วยอาคารทรงบุษบก จำนวน 9 องค์ ตั้งอยู่บนฐานชาลารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 3 ชั้น มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ทิศ
       
       บริเวณฐานชาลา ทั้ง 3 ชั้น ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้ ฐานชาลาชั้นที่ 1 เป็นชั้นล่างสุด ล้อมด้วยรั้วราชวัติ ประดับด้วยฉัตรและเทวดานั่งถือบังแทรก ส่วนที่มุมทั้งสี่ของฐานมีประติมากรรมท้าวจตุโลกบาลประทับยืนหันหน้าเข้าสู่บุษบกองค์ประธาน รอบฐานพระเมรุมาศมีสระน้ำและเขามอจำลอง ประดับด้วยประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ตระกูลต่างๆ 

ส่งเสด็จสู่สวรรค์...จาก'พระเมรุมาศ' สู่ 'เขาพระสุเมรุ' ในงานพระราชพิธีพระบรมศพ
เป็นการรวบรวมงานประณีตศิลป์ของช่างไทยหลายสาขา
        ฐานชาลาชั้นที่ 2 มีหอเปลื้องทรงบุษบกรูปแบบเดียวกันตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่ ใช้สำหรับจัดเก็บพระโกศทองใหญ่และพระโกศจันทน์ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับงานพระราชพิธี
       
       ฐานชาลาชั้นที่ 3 มีบุษบกองค์ประธานตั้งอยู่ที่จุดกึ่งกลางฐานชาลาชั้นบนสุด เป็นอาคารทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ที่ยอดบนสุด ประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 9 ชั้น) ภายในมีพระจิตกาธานเป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศ ผนังโดยรอบเปิดโล่ง ติดตั้งพระวิสูตร และฉากบังเพลิงเขียนภาพพระนารายณ์อวตารตอนบน และภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตอนล่าง ฐานบุษบกประธานประดับประติมากรรมเทพชุมนุมโดยรอบ รองรับด้วยฐานสิงห์ซึ่งประดับประติมากรรมครุฑยุดนาคโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง มุมทั้งสี่ของฐานชั้นที่ 3 นี้ เป็นที่ตั้งของซ่างทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น ใช้สำหรับพระพิธีธรรม 4 สำรับ นั่งสวดอภิธรรมสลับกันไปตลอดนับตั้งแต่พระบรมศพประดิษฐานบนพระจิตกาธานจนกระทั่งถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จ 

ส่งเสด็จสู่สวรรค์...จาก'พระเมรุมาศ' สู่ 'เขาพระสุเมรุ' ในงานพระราชพิธีพระบรมศพ
ช่างกำลังตกแต่งหุ่นเทพนม

สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ส่งเสด็จสู่สวรรค์ พระเมรุมาศ เขาพระสุเมรุ งานพระราชพิธีพระบรมศพ

view