สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กม.แรงงานต่างด้าว ยาขม รัฐ vs เอกชน

จากประชาชาติธุรกิจ

หนังชีวิตเรื่องยาว ว่าด้วยกฎหมายแรงงานต่างด้าวเวอร์ชั่นปี 2560

ชื่อเต็ม ๆ คือ “พ.ร.บ.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560” ประกาศฟ้าผ่าเมื่อวันศุกร์ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา เดือดร้อนปั่นป่วนไปทั้งประเทศ

จนรัฐบาลต้องงัด ม.44 ชะลอไปอีก 6 เดือนให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2561 แทน

ในภาพใหญ่ ปัญหาเริ่มต้นตั้งแต่ “ตัวเลข” ทางกรมการจัดหางานแบสถิติจดทะเบียนถูกต้องมี 1,510,740 คน

สวนทางกับฝั่งเอกชน บ้างก็บอกมาว่ามีแรงงานต่างด้าวในไทย 2-3 ล้านคน บ้างก็บอกว่ามีถึง 6 ล้านคน ครึ่งหนึ่งหรือ 1-3 ล้านคนอยู่แบบไม่ถูกกฎหมาย

หัวขบวนเรื่องนี้ฝั่งภาครัฐให้ฟัง “นายกฯตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ทั่นออกมาตบจูบ ๆ ยอมใช้ ม.44 ยืดเวลาบังคับใช้กฎหมาย 180 วัน พร้อมกับให้โอวาทภาคเอกชนให้มีจิตสำนึกรักชาติบ้านเมือง

อีกทั่นก็น่าจะเป็น “วรานนท์ ปีติวรรณ” อธิบดีกรมการจัดหางาน เพิ่งได้รับโปรโมตเข้าสู่เก้าอี้อธิบดีตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 31 มกราคม 2560 ซึ่งถามหาจิตสำนึกผู้ประกอบการเช่นเดียวกัน

รัฐบาล คสช. ตลอดจนกรมการจัดหางานไม่ทันระแวดระวังว่ากฎหมายใหม่เพิ่มโทษรุนแรงทั้งปรับ-ทั้งจำ ประเด็นค่าปรับจากไม่เกินหัวละ 2 หมื่นเพิ่มเป็น 4-8 แสน บางรายการ 1 ล้านบาทก็มี

ก็เลยลืมให้เวลาเตรียมตัว ลืมตั้งเวลาผ่อนผัน งานนี้ฝนตกทั่วฟ้าเพราะคนเดือดร้อนไม่ใช่มีแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ปรากฏว่าตัวเล็กตัวน้อยโดนกันหมด

ประเด็นอยู่ที่บรรยากาศฝุ่นตลบในช่วง 6 เดือนนี้ และหลังจากเริ่มบังคับใช้จริง ๆ ในวันที่ 1 มกราคม 2561 เราจะอยู่กันยังไง

ทั้งนี้ทั้งนั้น 1 ใน 2 ภาคธุรกิจที่มีการใช้แรงงานต่างด้าวเข้มข้นหนีไม่พ้นประมงกับก่อสร้าง วันนี้พามุดไซต์ก่อสร้างไปนั่งจับเข่าคุยปัญหานี้แบบไม่เป็นทางการ

เริ่มจากค่าใช้จ่ายจดทะเบียน ได้ยินเสียงเอสเอ็มอีร้องโอดโอยว่าแพง ถัวเฉลี่ยหัวละ 2-2.5 หมื่น ถ้ามีลูกน้องต่างด้าวสัก 20 หัว ค่าใช้จ่ายปาเข้าไป 4-5 แสนบาทแล้ว ฝากถามผู้มีอำนาจว่าพอจะลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ไหม

เรื่องการทำงานข้ามเขต ภาคก่อสร้างดูเหมือนกระทบมากที่สุด เพราะสร้างโครงการนี้จบก็ต้องมูฟไปทำที่อื่นต่อ ไม่เหมือนอุตสาหกรรมที่ตัวโรงงานติดตรึงอยู่กับที่ ไม่ย้ายไปไหน

ประเด็นคือโดนเบิลค่าใช้จ่ายเพราะต้องขออนุญาตใหม่หมด ทั้งที่คนงานต่างด้าวก็คนเดิม นายจ้างก็คนเดิม ลักษณะงานก็เดิม ๆ เปลี่ยนแต่โลเกชั่น

ถูกจับได้ว่าผิดเมื่อไหร่ ค่าปรับ (แบบไม่มีใบเสร็จ) เดิมคุยกันหลักพัน/หัว แนวโน้มตอนนี้โก่งค่าปรับได้สูงลิ่ว

ยังไม่นับปฏิบัติการตรวจไซต์ฟ้าฝ่า สนธิกำลังกันตั้งแต่ทหาร+ตำรวจ (มาตามออร์เดอร์ร้องเรียนจากศูนย์ดำรงธรรม) กระทรวงหมอ (ตรวจอนามัยคนงาน) เทศกิจ (ในพื้นที่อารักขากรุงเทพมหานคร) และอื่น ๆ อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของกฎหมายใหม่ ฝั่งนายจ้างบอกว่าดัดหลังแรงงานต่างด้าว เพราะตัวเองไม่มีสตางค์จดทะเบียนเข้ามาเอง ให้นายจ้างออกเงินให้ก่อน พอเข้ามาแล้วก็หนีไปทำที่อื่น เพื่อไม่ต้องถูกหักเงินเดือนชดเชย อะไรประมาณนี้

คำถามคือแรงงานต่างด้าวถ้าไม่เข้าไทย เขาไปไหนได้มั่ง

คำตอบคือทุกวันนี้เรามีโควตานำเข้าแรงงานจาก 4 ประเทศ หลัก ๆ เป็นเมียนมากับกัมพูชา เวียดนามไม่ค่อยเข้าไทยเพราะค่าแรงสูงอยู่แล้ว ส่วนลาวก็มีน้อยมาก

ตอนนี้เมียนมาเพิ่งเปิดประเทศ ใกล้กันมีอินเดียแหล่งจ้างงานขนาดมหึมา แม้แต่เพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียตอนนี้ออกวีซ่าแรงงานต่างด้าวอย่างขมีขมัน

กฎหมายใหม่ที่ “สนช.-สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” โหวตให้ยกระดับเป็นพระราชบัญญัติ เป็นยาแรงแก้ปัญหาชาติ ทางฝั่งเอกชนเขาฝากมาบอกว่าอยากให้รัฐบาล คสช.บาลานซ์ให้ครบทั้ง “ความมั่นคง-สังคม-เศรษฐกิจ”

เดินไปพร้อม ๆ กัน อย่าทิ้งใครไว้ข้างหลังตามสโลแกนนายกลุงตู่ค่ะ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : กม.แรงงานต่างด้าว ยาขม รัฐ vs เอกชน

view