สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธุรกิจวิทยุยังไม่ตาย จูนคลื่น ออนไลน์ เติมรายได้อีเวนต์

จากประชาชาติธุรกิจ

แม้สื่อดิจิทัลเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคและสินค้าในขณะนี้ แต่สำหรับผู้ประกอบการสื่อวิทยุ ก็เรียกว่าเคลื่อนไหวและปรับตัวต่อเนื่อง ไม่แพ้สื่อดิจิทัล แม้แนวโน้มการใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านวิทยุของสินค้าจะลดลงเรื่อย ๆ ก็ตาม สะท้อนจากรายงานของบริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า การใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อวิทยุ 5 เดือนปีนี้ (ม.ค-พ.ค. 2560) มีมูลค่า 1,764 ล้านบาทลดลง 20.43% จากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่า 2,217 ล้านบาท แต่ผู้ประกอบวิทยุส่วนใหญ่ก็ยังเฟ้นโมเดลสร้างรายได้ เพื่อรักษาพื้นที่และส่วนแบ่งตลาดของตัวเองไว้ให้แน่นที่สุด

คลื่นออนไลน์พรึ่บ ! ตลาด

แหล่งข่าวจากวงการวิทยุให้มุมมองกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้เทคโนโลยีต่าง ๆ จะพัฒนาขึ้น แต่ผู้บริโภคไม่ได้ฟังเพลงน้อยลง เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบการรับฟังสู่แพลตฟอร์มอื่น ๆ มากขึ้น และไม่ได้แยกว่าฟังเพลงผ่านออนไลน์หรือออฟไลน์อีกแล้ว ทำให้วิทยุต้องพัฒนาช่องทางการฟังให้ครอบคลุมขึ้น และมองข้ามแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่ได้แล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่ที่ความพร้อมของแต่ละคลื่นด้วย

ซึ่งคลื่นวิทยุส่วนใหญ่ก็เริ่มปรับตัวเองมาเป็นระยะ ๆ ปัจจุบันถือว่าบรรดาคลื่นวิทยุส่วนใหญ่ เริ่มสร้างโมเดลการหารายได้ใหม่ ๆ เพิ่มจากการขายสปอตรูปแบบเดิม เช่น จัดอีเวนต์ หรือการขายโฆษณาบนช่องทางออนไลน์ของตัวเอง เป็นต้น อย่างไรก็ตามด้วยต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากค่าสัมปทานคลื่น ค่าบุคลากร และรายจ่ายในส่วนอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้น เชื่อว่าจะทำให้ผู้ประกอบการวิทยุบางรายที่ไม่สามารถบริหารจัดการต้นทุนได้หายไปจากตลาดนี้อีกจำนวนมาก

ขณะเดียวกันที่ผ่านมาคลื่นเพลงที่เจาะกลุ่มวัยรุ่น ก็ได้ย้ายตัวเองจากที่เคยออกอากาศบนหน้าปัดวิทยุ สู่คลื่นออนไลน์ไปแล้ว เนื่องจากพฤติกรรมคนฟังกลุ่มนี้ เปลี่ยนเร็ว มีช่องทางการรับฟังที่หลากหลาย เช่น เอไทม์มีเดีย ได้เปลี่ยนคลื่นชิล 104.5 เอฟเอ็มมาเป็นคลื่นออนไลน์ในชื่อ “ชิลล์ออนไลน์” ชูจุดเด่นคอนเทนต์ “กิน ดื่ม เที่ยว”

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา หรือ แคทเรดิโอที่ตัดสินใจย้ายตัวเองจากคลื่น 98 Fat Ratio มาออกอากาศบนออนไลน์ตั้งแต่ปี 2557 และปัจจุบันถือว่าได้ผลตอบรับที่ดีจากกลุ่มคนฟังวัยรุ่น และต่อยอดด้วยการขยายต่อสู่อีเวนต์ต่าง ๆ ทั้งนี้คาดว่าจะมีคลื่นวิทยุออนไลน์เกิดขึ้นอีกจำนวนมาก เนื่องจากกลุ่มคนฟังกระจายตัวมากขึ้นตามคอนเทนต์ที่ตัวเองสนใจ

คลื่นใหญ่แข่งบริหารต้นทุน

ปริญญ์ หมื่นสุกแสง กรรมการผู้จัดการ บริษัท คูลลิซึ่ม จำกัด ผู้บริหารสถานีวิทยุคูล ฟาเรนไฮต์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจวิทยุมีแนวโน้มที่เติบโตลดลงต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คาดว่าจะมีคลื่นวิทยุหายไปจากตลาดอีกเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันคลื่นที่ยังดำเนินธุรกิจอยู่ก็จะปรับโมเดลหารายได้ที่เหมาะสม

“ด้วยเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อ เม็ดเงินโฆษณาลดลงต่อเรื่อย ๆ ทำให้ผู้เล่นที่ยังอยู่ในตลาดก็ต้องเหนื่อยขึ้น และมีบางรายที่ตัดสินใจออกจากตลาดเพราะต้นทุนสูงขึ้นแต่รายได้ลดลง แต่เชื่อว่าเมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง ที่เม็ดเงินโฆษณาเล็กลงจะบาลานซ์กับผู้เล่นที่ยังเหลืออยู่ในตลาด”

“คูล” รีแบรนด์เพิ่มยอดออนไลน์

ปริญญ์กล่าวว่า ด้วยพฤติกรรมการฟังวิทยุฟังเพลงวันนี้ไม่ได้ลดลง แต่เปลี่ยนช่องทางการฟัง และผู้ฟังไม่ได้แยกว่า ฟังวิทยุผ่านแพลตฟอร์มไหน ดังนั้นการขยายแพลตฟอร์มวิทยุเข้าสู่สื่อออนไลน์ก็กลายเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการวิทยุแต่ละสถานีก็เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ทั้งนี้ บริษัทได้รีแบรนด์คลื่น 93 คูลฟาเรนไฮต์ เป็น คูลฟาเรนไฮต์ ให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้ฟังปัจจุบันที่ไม่ยึดติดกับช่องทางการออกอากาศอีกแล้ว และจะเพิ่มรายได้จากช่องทางออนไลน์มากขึ้น คาดว่าตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป จะมีสัดส่วนรายได้จากการขายโฆษณาออนไลน์เพิ่มขึ้นเท่าตัว จากปัจจุบันรายได้หลักมาจากการขายโฆษณาบนคลื่นวิทยุ และอีเวนต์

“ปัจจุบัน แอปพลิเคชั่นคูลฟาเรนไฮต์มี 3 ล้านยอดดาวน์โหลด และตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ ก็ร่วมนีลเส็นวัดเรตติ้งวิทยุแบบมับสกรีน คาดว่าจะทำให้บริษัทสามารถสร้างรายได้จากช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นด้วย”

EDS ส่งฟรีคอนเสิร์ตมัดใจคนฟัง

หัทยา วงษ์กระจ่าง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตูดิโอ 888 จำกัด ผู้บริหารคลื่นวิทยุ EDS 88.5 เอฟเอ็ม กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากได้เปิดตัวคลื่นเมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่า ได้ผลตอบรับที่ดีจากผู้ฟังและเอเยนซี่โฆษณา เนื่องจากจุดแข็งที่มีคือ มีคอนเทนต์ที่แข็งแรง และมีอีเวนต์ต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 12 ครั้ง ทำให้มีฐานผู้ชมประจำ และเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนและกว้าง คือ วัยเริ่มทำงาน เพราะเปิดเพลงที่หลากหลายทั้งเพลงฮิตยุค 80 ยุค 90 และเพลงที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ซึ่งทิศทางจากนี้ไปก็มุ่งสร้างความแข็งแกร่งให้แก่คลื่นวิทยุมากขึ้น สำหรับครึ่งปีหลังนี้ คาดว่าจะอีเวนต์อีกไม่ต่ำกว่า 6 อีเวนต์ หนึ่งในไฮไลต์ คือ การจัดฟรีคอนเสิร์ต “ดับเบิ้ลฮิต คอนเสิร์ต นูโวและโปเตโต้” วันที่ 22 กรกฎาคมนี้ คาดว่าแนวทางการตลาดที่วางไว้จะทำให้บริษัทสามารถเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ แม้จะว่าภาพรวมเศรษฐกิจและเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อวิทยุจะชะลอการเติบโตลง

103.5 ต่อยอดสร้างรายได้

พณิชนาฏ แย้มเพกา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินดิเพ็นเดนท์ คอมมิวนิเคชั่น เน็ทเวิร์ค จำกัด ผู้บริหารคลื่นวิทยุ 103.5 และ GET 102.5 กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ก็ทำให้หลาย ๆ ธุรกิจสื่อต้องปรับกลยุทธ์โดยเฉพาะวิทยุต้องเปลี่ยนรูปแบบการหารายได้ใหม่ ซึ่งสิ่งที่บริษัทดำเนินต่อเนื่อง คือ ต่อยอดแบรนด์วิทยุสู่การสร้างรายได้ใหม่ ๆ หนึ่งในนั้น คือ การจัดอีเวนต์ คอนเสิร์ต ซึ่งแต่ละปีทั้ง 2 คลื่นวิทยุที่บริหารอยู่ก็มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยครึ่งปีหลังนี้คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 4-5 อีเวนต์ใหญ่ต่อคลื่น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าธุรกิจวิทยุยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพียงแต่ต้องหาโมเดลการสร้างรายได้ที่เหมาะสม พร้อมกับการขยายช่องทางการรับฟังผ่านออนไลน์ อีกทั้งต้องเติมรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ผู้ชมและโฆษณา

อสมท ผุด Mellow จับวัยทำงาน

เขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากบริษัทได้ขอคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม 97.5 จากบริษัท ซี้ดเอ็มคอท จำกัด เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ล่าสุดได้นำคลื่นดังกล่าวมาบริหารเอง ภายใต้ชื่อ “Mellow 97.5” เริ่มออกอากาศเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา วางโพซิชั่นให้เป็นคลื่นเพลงฟังสบาย เจาะกลุ่มคนวัยทำงานซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจวิทยุ

สำหรับ เมลโล่ ชูจุดแข็ง เปิดเพลงเพราะต่อเนื่อง พร้อมนำเสนอเรื่องราวดี ๆ ผ่านดีเจ.ของคลื่น เป็นจุดขาย รวมถึงขยายช่องทางผ่านออนไลน์ทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นด้วย ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 18 เดือนจะมีส่วนแบ่งตลาดเป็นเบอร์ 1 ของคลื่นเพลงฟังสบายที่มีคูลฟาเรนไฮต์เป็นเจ้าตลาด ในส่วนแนวโน้มการใช้งบฯโฆษณาผ่านสื่อวิทยุช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถือว่าซบเซาขณะที่ปีนี้ก็ไม่ได้เติบโต ผู้ประกอบการวิทยุส่วนใหญ่ต้องแข่งขันบริหารจัดการต้นทุนภายในเพื่อสร้างความอยู่รอดให้แก่ธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม บริษัทถือว่ามีคลื่นวิทยุที่ครอบคลุมทุกผู้ฟังทุกกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มแมส วัยทำงาน และแต่ละคลื่นวิทยุที่บริษัทบริหารอยู่ก็มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ของทุกเซ็กเมนต์ เช่น กลุ่มเพลงลูกทุ่ง มีเอฟเอ็ม 95 เมกะเฮิร์ตซ์ “ลูกทุ่งมหานคร” เป็นต้น

เท่ากับว่าธุรกิจวิทยุวันนี้กำลังปรับเปลี่ยนตัวเองอีกระลอก ขณะที่คลื่นวิทยุที่เจาะกลุ่มวัยรุ่นเองก็เริ่มค้นพบโมเดลที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้ฟังด้วยการแปลงตัวเองเป็นคลื่นออนไลน์เต็มตัว ตอบโจทย์คนฟังในแต่ละทาร์เก็ต ทางรอดให้แก่ธุรกิจวิทยุ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ธุรกิจวิทยุยังไม่ตาย จูนคลื่น ออนไลน์ เติมรายได้อีเวนต์

view