สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

งานนี้จบยาก! ศึกแย่งชื่อถนน สุทธิสารวินิจฉัย VS อินทามระ สองตระกูลเก่าสู้กันยันศาล

จากประชาชาติธุรกิจ

จากกรณีศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมาให้กรุงเทพมหานคร พิจารณาเปลี่ยนชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัย ให้กลายเป็นถนนอินทามระทั้งหมด 59 ซอย  พร้อมเปลี่ยนข้อมูลทะเบียนราษฎร และอาจต้องเรียงเลขที่บ้านใหม่ ภายใน 180 วัน หรือวันที่ 16 ม.ค. 2561 นี้

ภายหลังนายกฤษฎา อินทามระ อาชีพทนายความ ในฐานะทายาทสกุลอินทามระ ที่บิดาเป็นผู้พัฒนาที่ดินจัดสรรกรมตำรวจ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องข้อหาละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากทางเขตพญาไท และเขตดินแดง ไม่ดำเนินการติดตั้งป้ายชื่อถนนอินทามระ แต่กลับติดตั้งป้ายชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัย ตั้งแต่ถนนพหลโยธินทางทิศตะวันออก ไปจนถึงบริเวณที่จัดสรรกรมตำรวจ ซึ่งไม่ถูกต้องตามทะเบียนประวัติถนน

แต่ทางศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2555 โดยศาลปกครองกลางชี้ว่า ตระกูลอิมทามระ เป็นเพียงผู้พัฒนาที่ดินให้เป็นโครงการจัดสรรของกรมตำรวจในยุคนั้น ไม่ใช่เจ้าของที่ดินเหมือนบุตรพระสุทธิสารวินิจฉัย แค่มีชื่อซอยก็เพียงพอให้ระลึกถึงคุณงามความดีแล้ว

ต่อมาทายาทตระกูลอินทามระ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด  จนได้มีคำพิพากษาว่าการดำเนินการเปลี่ยนชื่อถนนของกรุงเทพมหานครไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามประวัติทะเบียนถนน พ.ศ. 2503 อีกทั้งไม่เคยปรากฏว่า กรุงเทพมหานครเคยรวบรวมข้อมูลเรื่องนี้เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชน จึงมีคำพิพากษากลับ

จากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ทำให้กรุงเทพมหานคร ต้องพิจารณาเปลี่ยนชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัย ตั้งแต่แยกสะพานควายถึงแยกสุทธิสาร ให้กลายเป็นถนนอินทามระทั้งหมดภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

โดยส่งผลให้ สำนักงานปกครองและทะเบียน จะต้องแก้ไขชื่อถนนในข้อมูลที่อยู่ทะเบียนราษฎรในเขตพญาไท และเขตดินแดง และอาจต้องเรียงเลขที่บ้านใหม่ ซึ่งจะแจ้งให้ประชาชนทราบในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลที่อยู่บ้านต่อไป

ขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  กล่าวว่าทางกรุงเทพมหานครจะตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการตามคำสั่งศาล โดยจะหารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบอีกครั้ง

โดยทาง ว่าที่ร.ต.ภาณุพงษ์ สุทธิสาร  ผอ.สำนักงานปกครองและทะเบียนกทม. หน่วยงานรับผิดชอบเรื่องการกำหนดชื่อถนน ตรอก ซอย แม่น้ำ ลำคลองในพื้นที่กรุงเทพ กล่าวว่า ทางกทม.กำลังพิจารณาการกำหนดหรือปรับเปลี่ยนชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัย เฉพาะในพื้นที่จากแยกสะพานควาย มาจนถึงแยกสุทธิสาร ข้ามไปยังถนนสุทธิสารที่ไปบรรจบถนนรัชดาภิเษก คือซอยอินทามระ 59 เท่านั้น ไม่ได้พิจารณาถนนสุทธิสารวินิจฉัยที่ยาวไปสิ้นสุดที่ย่านลาดพร้าวแต่อย่างใด เบื้องต้นผลการหารือของคณะทำงานเห็นควรปรับเปลี่ยนชื่อถนนจากสุทธิสารเป็นถนนอินทามระเฉพาะช่วงนี้เท่านั้น

โดยเมื่อมีมติชัดเจนเเล้ว ทางกทม.จะทำหนังสือแจ้งไปยังประชาชนที่อาศัยอยู่ในช่วงบริเวณดังกล่าวเพื่อให้เดินทางมาเปลี่ยนแปลงเฉพาะชื่อถนนที่ระบุในบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านเท่านั้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนโดยอัตโนมัติ ประชาชนจึงไม่ต้องรีบร้อนมาเปลี่ยนเเต่อย่างใด

ด้าน ดร.รุจิระ  บุนนาค ทายาทพระสุทธิสารวินิจฉัย (ชั้นหลาน) ส่งหนังสื่อชี้แจงต่อสื่อมวลชนต่อกรณีดังกล่าวว่า ในคดีนี้ทายาทของพระสุทธิสารวินิจฉัยไม่ถูกฟ้องคดี และไม่ได้ถูกเรียกเข้ามาเป็นคู่ความในคดี ทำให้ข้อเท็จจริงสำคัญบางส่วนคลาดเคลื่อน และขาดหายไป ศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้ยกฟ้องเเล้ว  แต่ล่าสุดศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เปลี่ยนแปลงชื่อถนนและซอยให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ภายใน 180 วัน

เขาระบุต่ออีกว่า แม้จะมีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้ว  เเต่ยังต้องตีความกันอีกต่อไป ซึ่งมีความหมายว่า กรุงเทพมหานครจะต้องเปลี่ยนแปลงชื่อถนนดังกล่าว  ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามมติที่ประชุม อ.ก.พ. กรมตำรวจ เมื่อปี พ.ศ. 2503 ที่ให้ใช้ชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัย ตั้งแต่ถนนพหลโยธินเข้าไป 500 เมตร และตอนต่อไปให้ใช้ชื่อถนนอินทามระ

“หากกรุงเทพมหานครไม่ดำเนินการตามข้อเท็จจริงนี้ มีความเป็นไปได้ที่ทายาทของพระสุทธิสารวินิจฉัยจะใช้สิทธิทางศาลปกครองต่อไป แม้เรื่องการใช้ชื่อถนนในคดีนี้อาจดูเหมือนว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไปเท่าไรนัก แต่ถือได้ว่าเป็นบรรทัดฐานสำคัญที่แสดงว่า ผู้อุทิศที่ดินเพื่อเป็นถนนสาธารณะและประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป สมควรจะได้รับการยกย่อง หากปล่อยผ่านไป ต่อไปในอนาคตอาจเป็นเรื่องยาก  ที่จะมีผู้อุทิศที่ดินเพื่อยกให้เป็นทางสาธารณะและประโยชน์แก่สาธารณชน” ดร.รุจิระกล่าว

ทั้งนี้ กรณีที่ถนนสายเดียวกันแต่ใช้ชื่อต่างกันมี เช่น ถนนสุขุมวิท ถนนเพลินจิตและถนนพระราม 1 ล้วนแต่เป็นถนนสายเดียวกัน

สำหรับที่มาของปมปัญหาความขัดแย้งของชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัยและซอยอินทามระ เริ่มต้นก่อนที่จะมีถนนสุทธิสารวินิจฉัย โดยกรมตำรวจได้มีโครงการจัดสรรที่ดินเพื่อข้าราชการตำรวจ เมื่อปี 2503 โดยมี พล.ต.ท. โต๊ะ  อินทามระ ซึ่งเป็นหัวหน้ากองคลัง กรมตำรวจในขณะนั้นเป็นผู้ดำเนินการ เเต่บริเวณที่ดินจัดสรรของกรมตำรวจในขณะนั้น ไม่มีเส้นทางสู่ถนนสาธารณะ ที่ดินด้านทิศตะวันออกในขณะนั้นยังไม่มีถนนวิภาวดีรังสิต ส่วนที่ดินด้านทิศตะวันตกติดที่ดินของพระสุทธิสารวินิจฉัย

โดยพล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น  ได้เจรจากับศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ทายาทผู้เป็นบุตรของพระสุทธิสารวินิจฉัย เพื่อขอซื้อที่ดินบางส่วนเป็นทางออกสู่ถนนพหลโยธิน และได้ตกลงยกที่ดินให้เป็นทางสาธารณะ เพื่อเป็นทางออกสู่ถนนพหลโยธิน โดยขอให้ใช้ชื่อว่า ถนนสุทธิสารวินิจฉัย เพื่อเป็นอนุสรณ์

จากนั้นมติที่ประชุม อ.ก.พ. กรมตำรวจ เมื่อปี 2503 เห็นควรเป็นชื่อถนนสุทธิสารวินิจฉัย  ตอนตั้งแต่ถนนพหลโยธินเข้าไป 500 เมตร และตอนต่อไปใช้ชื่อถนนอินทามระ

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา กรุงเทพมหานครได้ติดป้ายชื่อถนนว่า ถนนสุทธิสารวินิจฉัย โดยไม่ได้ใช้ชื่อถนนว่า อินทามระ แต่ในซอยแยกในถนนดังกล่าวนี้หลายซอย ก็มีทั้งซอยที่ชื่อว่า ซอยสุทธิสารวินิจฉัย และซอยอินทามระ

ต่อมากรุงเทพมหานครได้จัดทำชื่อถนนในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2548 โดยมีคณะกรรมการพิจารณาชื่อถนน และยังคงใช้ชื่อถนนว่า ถนนสุทธิสารวินิจฉัย เป็นเหตุให้ทายาทของ พล.ต.ท. โต๊ะ  อินทามระ ฟ้องคดีกรุงเทพมหานครต่อศาลปกครองกลาง ให้เปลี่ยนชื่อถนนเป็นถนนอินทามระ  เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของพล.ต.ท. โต๊ะ  อินทามระ ด้วยเช่นกัน โดยในปี 2555 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งยกฟ้อง และตระกูลอินทามระได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ จนต่อมาในวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ชนะคดี และให้กรุงเทพมหานครพิจารณาเปลี่ยนชื่อถนนและซอยตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ข้างต้น

ศึกแย่งชื่อถนน “สุทธิสารวินิจฉัย-อินทามระ” เหล่าทายาทจะยกไม้เด็ดมาสู้กันต่อหรือจบกันไป ฝ่ายกรุงเทพมหานครจะตัดสินใจดำเนินการอย่างไร…ต้องติดตาม


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : งานนี้จบยาก แย่งชื่อถนน สุทธิสารวินิจฉัย อินทามระ ตระกูลเก่า สู้กันยันศาล

view