สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เจาะธุรกิจ โฮมแคร์-บ้านจัดสรร กลุ่มสูงวัยไฮโซ-ตลาดกลางรุ่ง แต่ภาพรวมประเทศยังน่าห่วง

จากประชาชาติธุรกิจ

เรื่องโดย รณิดา บริบูรณ์ภัทรกุล / ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

แนวโน้มที่มาแน่ๆว่าประเทศไทยกำลังจะย่างกรายเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ กระแสธารของธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านสุขภาพต่างหมายมั่นปั้นมือที่จะจับจองลูกค้าสูงวัย ที่จะเป็นกลุ่มกำลังซื้อและเป็นฐานตลาดจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

โดยประเมินกันถึงศักยภาพกลุ่มผู้สูงวัยที่จะเพิ่มขึ้นในอนาตตอันใกล้ ถือเป็นฐานกำลังซื้อปานกลาง-สูง ที่พร้อมจับจ่ายสินค้าและบริการเพื่อสุขภาพ ความสะดวกสบายในบั้นปลายชีวิต

  • “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” พาไปดูเทรนด์ธุรกิจที่มาแรงยามนี้ อย่างการทำ “Home care” และ “Nursing home” รวมทั้งธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับผู้สูงอายุที่เราอาจคิดไม่ถึงว่าเหล่าผู้สูงอายุที่ “พร้อมจ่าย” นั้น เขามีแนวคิดกันเช่นไร

ดร.วีรณัฐ โรจนประภา ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงวัย ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” ว่า ผู้สูงอายุจำนวนมากเกษียณอายุจากการทำงาน ประกอบกับบางส่วนมีความเสื่อมถอยด้านสุขภาพ ทำให้ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแล โดยที่ผ่านมาอัตราส่วนจำนวนผู้ดูแลกับผู้สูงอายุ (หมายถึงครอบครัวลูกหลาน กับผู้สูงอายุ) อยู่ที่ 4:1 แต่เมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัยในอนาคตอันใกล้และอัตราการเกิดใหม่ลดน้อยลง อัตราส่วนจะลดลงอยู่ที่ 2:1

“สำหรับประชากรสูงวัยประมาณ 15 ล้านคนในประเทศไทยที่ส่วนใหญ่จำเป็นต้องได้รับการดูแล ขึ้นอยู่กับสภาพครอบครัวว่าจะบริหารจัดการดูแลภายในครอบครัวหรือทำเช่นไร ทั้งนี้อาจส่งผลให้ภาคส่วนสังคมมีประชาชนสูงวัยเข้าใช้บริการมากขึ้น เช่น สถานสงเคราะห์คนชรา หรือภาคส่วนเอกชน เช่น เนอร์สซิ่งโฮม และ โฮมแคร์ เป็นต้น”ดร.วีรณัฐอธิบาย

โอกาสทองของหมู่บ้านจัดสรร

ดร.วีรณัฐ ยังกล่าวถึงเทรนด์ของผู้สูงอายุกลุ่มกำลังซื้อสูงว่า คนกลุ่มนี้มักสร้างสังคมร่วมกันด้วยการเหมาซื้อโครงการบ้านจัดสรร

“กลุ่มคนสูงวัยในระดับไฮโซมักชวนไปอยู่ร่วมกันเป็นสังคมผู้สูงอายุด้วยกัน หรือบางครั้งอาจมีสมาคมมาชักชวนให้ไปซื้อบ้านในโครงการเดียวกัน ตรงนี้เป็นช่องว่างทางการตลาดของหมู่บ้านจัดสรรหรือโครงการที่ยังขายบ้านไม่หมด”ดร.วีรณัฐเปิดฉากเล่ารายละเอียด

ทั้งนี้ หากโครงการบ้านจัดสรรมีการจัดแบ่งส่วนหนึ่งของโครงการให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้าประเภทผู้สูงวัยเหล่านี้ ประกอบกับเพิ่มจุดแข็งด้านการรักษาความปลอดภัย จะทำให้สามารถเจาะกลุ่มลูกค้านี้ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ปัจจัยที่ภาคธุรกิจด้านที่พักผู้สูงวัยต้องคำนึงถึง ดร. วีรณัฐ กล่าวว่า กลุ่มผู้สูงวัยที่มีฐานะต้องการกิจกรรมสันทนาการที่มากกว่า อาทิ ความสวยงามของห้องพัก ภูมิทัศน์ร่มรื่น ซึ่งให้ความรู้สึกคล้ายกับรีสอร์ตอันเป็นส่วนนอกเหนือจากที่พื้นฐานกฎหมายระบุให้มีส่วนพื้นสีเขียว และการประจำของพยาบาลและรถฉุกเฉิน

กลุ่มผู้สูงวัยตลาดกลาง…แนะต้องจับตา

นอกเหนือจากการดึงดูดกลุ่มลูกค้าในระดับบนที่ค่อนข้างแรงในช่วง 2-3 ปีนี้ ยังมี กลุ่ม “ผู้สูงวัยในระดับกลาง” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายทางการลงทุนที่น่าสนใจ ซึ่ง ดร.วีรณัฐ มองว่า ในฐานะนักลงทุนควรจับตามองตลาดผู้สูงวัยระดับกลางเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นตลาดใหม่ที่ยังไม่มีนักลงทุนกระโดดเข้าไปอย่างจริงจัง จึงยังมีที่ว่างสำหรับพัฒนาอสังหาฯ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนส่วนนี้

พยาบาลสมองไหลไป Homecare เอกชน

วิชาชีพพยาบาลยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นในสภาวะสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ที่ก้าวเข้ามาใกล้เรื่อยๆ แต่อัตราพยาบาลในไทยไม่เพียงพอ ทั้งยังเกิดอาการสมองไหลไปยังต่างประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งมาจากรายได้และอัตราการจ้างงานวิชาชีพพยาบาลที่สูง ทำให้พยาบาลไทยโยกย้ายถิ่นฐานไปยังนอกประเทศ ส่งผลให้วิชาชีพนี้เป็นที่ขาดแคลนเรื่อยมา

ทำธุรกิจ Homecare แจ๋วกว่า Nursing home?

จากข้อมูล “ธุรกิจ Home care ดีต่อใจวัยเกษียณ” โดยธันยาพร เล้าโสภาภิรมย์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(SCB EIC) พบว่ามีโอกาสที่ดีสำหรับการลงทุนในธุรกิจ Home care ที่ว่าประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าผู้สูงอายุกว่า 90% ต้องการอาศัยอยู่ในบ้านของตนเองหลังจากที่เกษียณอายุ ทั้งนี้การดูแลรักษาตัวที่บ้านมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเฉลี่ยราว 3 เท่า ดังนั้น Home care จึงเป็นทางเลือกที่ดีของผู้สูงอายุส่วนใหญ่

โดยธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (Home care) มีเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุในสังคมไทยที่นิยมอยู่บ้าน โดยมีแนวโน้มพัฒนารูปแบบการให้บริการครอบคลุมมากขึ้น ตั้งแต่การช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน ดูแลสุขภาพและพยาบาลรอบด้าน ตลอดจนการดูแลครบวงจรแบบบูรณาการ

ปัจจุบันตลาด Home care ในไทยยังมีขนาดเล็กแต่มีโอกาสเติบโตได้อีกมากสะท้อนได้จากการเติบโตของรายได้ราว 7% ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ หากเทียบอัตรากำไรของธุรกิจ Home care กับ Nursing home ที่มีระยะเวลาในการประกอบธุรกิจใกล้เคียงกัน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่า Home care มีอัตรากำไรเพิ่มขึ้นราว 2 เท่า ในขณะที่ Nursing home มีอัตรากำไรที่ลดลง

ทั้งนี้ รูปแบบธุรกิจแบบแฟรนไชส์เป็นการขยายธุรกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากใช้เงินลงทุนต่ำ ให้ผลตอบแทนสูง และยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ไออีซียังมองว่าเป็นผลพวงโอกาสที่ดีของธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจอุปกรณ์การแพทย์ธุรกิจที่อยู่อาศัย เนื่องจากสอดรับกับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย

ผู้สูงอายุในไทย 1 ใน 3 รายได้ต่ำกว่า 2,647 บาทต่อคนต่อเดือน

ผศ.ดร.ศุทธิดา ชวนวัน นักวิจัยสถาบันประชากรศาสตร์และสังคม ให้ข้อมูลที่น่าสนใจถึงรายได้ของผู้สูงอายุว่า ถ้าเราใช้เส้นความยากจนปี 2557 มาเป็นเกณฑ์กำหนดจะพบว่า มีจำนวนผู้สูงอายุ 1 ใน 3 ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ซึ่งเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่า 2,647 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ 31,764 บาทต่อคนต่อปี ทั้งนี้ยังพบว่าแหล่งรายได้หลักมาจากบุตรหลานและการทำงานด้วยตนเอง

อีก 4 ปี ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์

ผศ.ดร.ศุทธิดา กล่าวต่อว่า นักประชากรศาสตร์แบ่งกลุ่มคนเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ เด็กอายุ 0-14 ปี, แรงงาน 15-59 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซี่งตั้งแต่ ปี 2548 ที่ผ่านมาสังคมไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 10 ของประชากร เป็นช่วงเข้าสู่สังคมสูงวัย(Ageing society) โดยคาดการณ์ว่า ปี 2564 สังคมไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์(Completed aged society) และจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอด(Super aged society)ในปี 2574

“การเข้าสู่สังคมสูงวัยจะต้องมีประชากรผู้สูงวัย 20 คนต่อประชากรทั้งหมด 100 หรือทุกๆ 5 คนจะมีผู้สูงอายุจำนวน 1 คน ถัดจากนั้นหากมีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมดในประเทศไทยจะส่งผลให้เข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดเป็นขั้นถัดไป แต่อย่างไรก็ตามการคาดการณ์สามารถแปรผันกับอัตราการเกิดของประชากรใหม่และอัตราการตายของประชากรทั่วไป” ผศ.ดร.ศุทธิดา กล่าว

นักวิจัยสถาบันประชากรศาสตร์และสังคมอธิบายว่า การเกิดและการตายที่ลงลด พร้อมทั้งการมีอายุยืนยาวขึ้นทำให้ผู้สูงอายุมีจำนวนมาก โดยจำนวนประชากรผู้สูงอายุเหล่านี้เป็นผลพวงมาจากยุคเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งเป็นผู้ที่เกิดระหว่างปี 2489-2507 มีอัตราการเกิดที่ประมาณ 1 ล้านคนต่อปี ขณะที่ปัจจุบันมีอัตราการเกิดน้อยลงอยู่ที่ประมาณปีละ 700,000 คนต่อปี

“เมื่อคนยุคเบบี้บูมเมอร์แก่ตัวลงจะกลายมาเป็นคลื่นสึนามิประชากร แต่การเกิดในระยะหลังกลับน้อยลงจนปัจจุบันมีอัตราการเกิดเพียง 7 แสนคน ตรงนี้ส่งผลให้รัฐบาลเป็นกังวลด้านจำนวนประชากรจนออกนโยบายสาวไทยแก้มแดงสนับสนุนให้มีลูกเพื่อชาติเพิ่มอัตราการเกิด”

โครงสร้าง-รูปแบบครอบครัวเปลี่ยน

ทั้งนี้ เมื่ออัตราการเกิดเปลี่ยนแปลงไปทำให้โครงสร้างครอบครัวจึงเปลี่ยนแปลงตาม โดยในปี 2562 นักประชากรศาสตร์คาดว่าจะมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าจำนวนเด็กเป็นครั้งแรก เมื่ออัตราการเจริญพันธุ์รวมบุตรต่อสตรี 1 คนอยู่ที่ 1.55 คน เนื่องจากปัจจุบันคนนิยมมีลูกเพียง 1-2 คน ขณะที่ภาวะเจริญพันธุ์ทดแทนคือขั้นต่ำของประชากรที่จะมีลูก 2 คนเพื่อทดแทนพ่อแม่ 2 คนที่จะจากไปในอนาคต

“คิดง่ายๆ ว่าลูก 2 คนจะมาแทนพ่อคนหนึ่งและแทนแม่อีกคนหนึ่ง แต่ตอนนี้แนวโน้มครอบครัวคือมีลูกเพียง 1 คนเท่านั้น เป็นผลให้โครงสร้างครอบครัวในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปกลายเป็น 1 ครอบครัวมีสมาชิกเพียง 3 คน” ผศ.ดร.ศุทธิดา กล่าว

นอกจากนี้ยังพบว่า ผลจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความทันสมัยมากขึ้น ทำให้แบบแผนการอยู่อาศัยในลักษณะของการอาศัยของผู้สูงอายุอยู่คนเดียวกลับมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่อยู่ร่วมกับบุตรหลาน โดยในปี 2557 มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่คนเดียวเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 8.7 ของผู้สูงอายุทั้งหมด นอกจากนี้แล้วผู้หญิงสูงอายุมีการอยู่คนเดียวในสัดส่วนที่มากกว่าผู้ชาย ขณะที่ผู้สูงอายุชายมีการอยู่กับคู่สมรสเพียงลำพังในสัดส่วนที่มากกว่าผู้สูงอายุหญิง

ทั้งหมดข้างต้น คือสถานการณ์ผู้สูงอายุ ในอนาคตอันใกล้นี้ ที่ดูเหมือนจะเปิดโอกาสให้ธุรกิจต่างๆ ปรับตัวหาช่องทางสร้างรายได้กันได้ไม่ยากเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัย

ทว่าในความสดใสของธุรกิจเพื่อผู้สูงอายุ กลับมีอีกด้านที่น่าห่วงยิ่งกว่า นั่นคือปัญหาด้านประชากรวัยแรงงาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจระดับมหภาค กลับมีจำนวนลดลงมาก และแน่นอนจะเป็นผลกระทบที่ซ่อนตัวเห็นตนอยู่ในภาวะสังคมสูงวัยสมบูรณ์ของประเทศ


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เจาะธุรกิจ โฮมแคร์ บ้านจัดสรร กลุ่มสูงวัยไฮโซ ตลาดกลางรุ่ง ภาพรวมประเทศ ยังน่าห่วง

view