สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เศรษฐกิจ-จิตใจ แก้ไขพร้อมกัน วิรไท สันติประภพ

จากประชาชาติธุรกิจ

คนหนุ่มไฟแรง “ดร.วิรไท สันติประภพ” ที่ขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติตั้งแต่อายุยังน้อย (ไม่ถึง 50 ปี)

ทั้งวงการธุรกิจการเงินและสังคมต่างให้ความสนใจและจับตามองเขาอยู่ทุกขณะ โดยเฉพาะการบริหารด้านการเงินการคลังระดับประเทศ ซึ่งเป็นภาระใหญ่หนักอึ้ง ยิ่งช่วงที่โลกเปลี่ยนแปลงแรงและเร็ว เขากลับสามารถสร้างกันชนและประคองให้เศรษฐกิจไทยให้เดินต่อไปได้ เพราะมี”ธรรม” เป็นที่ตั้ง

เริ่มเรื่องเลยแล้วกัน ค่ำคืนของการนัดหมายพูดคุยกับ “ดร.วิรไท สันติประภพ” หรือ “ดร.ก็” (ก้อ) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 20 ในวังบางขุนพรหม เทเวศร์ ซึ่งเป็นที่ทำการของแบงก์ชาติ อดีตเป็นวังที่ประทับของเจ้านายคนสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และยังได้ชื่อว่าเป็นวังที่สวยงามที่สุดในเมืองไทยอีกด้วย

ดร.วิรไท และคณะผู้บริหารของแบงก์ชาติมากันพร้อมหน้า หลังทักทายทำความรู้จักเสร็จสรรพ จึงสังเกตเห็นรอบ ๆ ห้องโถงที่ทุกคนยืนอยู่นั้น ฝาผนังประดับด้วยรูปวาดสีน้ำมันของผู้ว่าการแบงก์ชาติตั้งแต่คนแรกเรื่อยมาจนถึง ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล หากจะว่าไปแล้วในบรรดาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่อดีตเป็นต้นมานั้น “ดร.วิรไท” ถือว่าอายุน้อยรองจาก อ.ป๋วย คือ 48 ปี (เกิด 25 ธันวาคม 2512)

จำได้ว่าเมื่อเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการใหม่ ๆ ดร.วิรไทถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเกี่ยวกับเรื่องของ “อายุ” และ “บารมี” ไม่สูงพอที่จะปกครองคนแบงก์ชาติ แม้จะมีดีกรีดอกเตอร์ด้านเศรษฐศาสตร์จากฮาร์วาร์ด และยังเคยทำงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ก็ตาม

แต่เมื่อมาถึงเวลานี้ ข้อวิพากษ์วิจารณ์นี้ดูเหมือนจะเบาเสียงลงไปมาก แต่ด้วยเวลาที่มีอยู่จำกัด นอกเหนือจากเรื่องเศรษฐกิจและการเงินของประเทศแล้ว เรื่องอื่น ๆ ที่จะพูดคุยคงจะได้เพียงขี่ม้าเลียบค่ายเท่านั้น เอาเป็นว่า ณ ที่นี้ ขอข้ามเรื่องหนัก ๆ ไปก่อนก็แล้วกัน เพราะเรื่องอีกด้านของ “ดร.ก็” น่าติดตามไม่แพ้บทบาทผู้กุมบังเหียนธนาคารกลางของประเทศ

สิ่งที่ได้รู้เพิ่มเติมนอกเหนือจากงานในหน้าที่ “ดร.ก็” เป็นคนเริ่มเล่า ว่าเพิ่งกลับมาจากไปปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิที่วัดมเหยงคณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งแต่ก่อนเขาสนใจ เรื่องแบบนี้จากการอ่านหนังสือ แต่เดี๋ยวนี้สนใจปฏิบัติด้วย โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีหลัง

“ที่วัดมเหยงคณ์ ท่าน (พระอาจารย์สุรศักดิ์ เขมรังสี-เจ้าอาวาส) สอนไม่เหมือนใคร ผมถูกจริตวิธีที่ท่านสอน” วิธีการสอนปฏิบัติธรรมของเจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ ก็คือสอนเรื่อง “สติปัฏฐาน” การมีสติเป็นประธานในการปฏิบัติ มีจุดมุ่งหมายสำคัญอยู่ที่การฝึกสติ และเพื่อให้มีสติระลึกรู้เท่าทันในธรรมหรือสิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะที่จะเป็นเหตุก่อให้เกิดทุกข์ ประกอบด้วยการมีสติอย่างตั้งมั่น เป็นสติที่รู้เข้าใจตามความเป็นจริงเมื่อปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เฉพาะเมื่อเวลาปฏิบัติธรรม ถ้าดำเนินชีวิตโดยมีสติคุ้มครอง ก็จะช่วยให้มีความเป็นไปอย่างปลอดภัย ไร้ทุกข์ มีความสุขผ่องใส นำไปสู่ความรู้แจ้งแห่งธรรมในที่สุด

“ท่านจะกางภาพให้เห็นว่าการทำงานของจิตคืออะไร และอธิบายขั้นตอนของพระพุทธศาสนาว่าเป็นอย่างไร สอนทีละส่วน ๆ ท่านดีไซน์คอร์สดีมากทุกอย่าง ตรงนี้เทศน์จบปุ๊บจะหยุด แล้วจะมีเพลงขึ้นอะไรแบบนี้ ใช้เครื่องมือหลายอย่าง แต่ทุกอย่างมันสอดประสานไปพร้อม ๆ กัน ทำให้คนที่ไปจะเห็นการเปลี่ยนแปลง”

ดร.วิรไท เริ่มเรียนรู้ที่วัดมเหยงคณ์ด้วยตัวเองแล้วต่อยอดไปถึงพนักงานในธนาคารแห่งประเทศไทย โดยพาพนักงานเกือบ 100 คน ไปอบรมที่วัด มีท่านเจ้าอาวาสจัดคอร์สอบรมให้เป็นพิเศษ คอร์สสั้น ๆ 4 วัน เรียกว่าเป็น “คอร์สอินโทร” ถ้าอยากจะเรียนอื่น ๆ เพิ่มเติม ก็ต้องผ่านคอร์สนี้ไปก่อนจึงจะรับเข้าคอร์สอื่น ๆ ต่อไป

วัดมเหยงคณ์ ไม่ได้มีสอนแค่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เท่านั้น แต่มีสาขาที่อื่นอีก ที่ซึ่ง ดร.ก็ ชื่นชอบเป็นพิเศษและชอบไปบ่อย ๆ คือ สาขา จ.เชียงใหม่ สำนักปรมัตถภาวนา ดอยภูโอบ อยู่ด้านหลังวัดพระบาทสี่รอย “สิ่งที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ คือท่านมีทีมงานลูกศิษย์ที่เข้มแข็งมาก ทีมลูกศิษย์จะจัดอาหารทุกอย่างเปอร์เฟ็กต์มาก อย่างผมไปที่เชียงใหม่

ทั้ง ๆ ที่ไปปฏิบัติธรรมบนเขา แต่เดี๋ยว ๆ มีสตรอว์เบอรี่สดมาให้แล้ว มีทีมงานลงเขาไปจ่ายกับข้าวทุกวัน ซึ่งทีมนี้จะเป็นทีมลูกศิษย์ที่ติดตามท่านตลอดเวลาที่ท่านออกไปตามสาขา หรือออกนอกพื้นที่ พวกนี้เป็นเจ้าของบริษัทใหญ่ ๆ ในอยุธยาทั้งนั้น พากันปิดบริษัทนำพนักงานไปทำบุญติดตามท่าน ไปชัยภูมิ นครสวรรค์ อุบลฯ บางทีตรงที่พวกเรานั่งกินข้าวมีฝุ่นเยอะ ถัดมาอีกวันก็จะมีฟางมาปู มีกระถางต้นไม้มาตั้ง เปอร์เฟ็กต์มาก…”

ปกติแล้วสมัยที่ยังไม่ได้เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ ดร.วิรไท มักจะไปปฏิบัติธรรมคราวละ 7-8 วัน แต่พอมาถึงวันนี้โอกาสที่จะไปยากมากขึ้นทุกที ขนาดวัดมเหยงคณ์ที่อยุธยายังไปได้แค่ไม่กี่วัน “ตั้งแต่กลับจากวัดมานี่ ยังไม่ได้ถามน้อง ๆ ที่ไปเลยว่าเป็นยังไง ได้ยินว่าหลายคนบอกเจอโน่นเจอนี่…” (หัวเราะ)

เมื่อถามว่าทำสมาธิไปถึงระดับไหนแล้ว ดร.ก็ นิ่ง ไม่ตอบคำถาม กลับไปพูดถึงเรื่องนโยบายการพัฒนาจิตใจของคนแบงก์ชาติแทน ว่าปีนี้มีนโยบายพัฒนาจิตใจ โดยเฉพาะการสานต่อวัฒนธรรมองค์กร “ยืนตรง-มองไกล-ยื่นมือ-ติดดิน” เขาบอกว่าทั้งหมดนี้เรื่องสำคัญคือเรื่อง “ใจ” ถึงจะยื่นมือได้ ต้องเปิดใจรับฟัง มองให้กว้าง เข้าใจ มีเมตตาจึงยื่นมือได้ ยืนตรง เป็นหลักของคนทำหน้าที่เป็นธนาคารกลางของประเทศ เพราะอยู่ท่ามกลางผลประโยชน์สารพัด

“ทุกอย่างที่เราทำมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ เพราะฉะนั้นภูมิคุ้มกันด้านจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ เรามีชมรมพุทธศาสนาที่เข้มแข็งมาก คนแบงก์ชาติทำบุญที่อีสานทีรถไปเป็นร้อย ๆ คัน ตอนนี้ก็มีนโยบายให้ลาไปปฏิบัติธรรมได้โดยไม่ถือเป็นวันลา และให้มีคอร์สเรื่องพัฒนาจิตใจเป็น 1 ใน 3 เหมือนกับศาสตร์อื่น ๆ ที่เราสอน เป็นองค์ประกอบสำคัญของการทำหน้าที่ธนาคารกลางที่ปลูกฝังให้กับพนักงาน”

“ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหลาย ๆ เรื่อง ที่คนแบงก์ชาติคิดเก่ง คิดเยอะ แต่ถ้าเราอยากจะให้งานของเราดี มีอิมแพ็กต์ ในโลกที่มีแต่ความวุ่นวายมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกมิติหนึ่งทางด้านจิตใจจะต้องสงบ สำคัญมาก คือต้องมีทั้งสาย “ธรรม” และ “ทำ” ที่ให้เกิดผลทางปฏิบัติ เศรษฐกิจและจิตใจต้องแก้ไขไปพร้อมกัน”

ก่อนจะมานั่งเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ดร.ก็ มีเรื่องเล่าสนุก ๆ เกี่ยวกับชาวเขาเผ่าลัวะ สมัยที่เข้าไปช่วยทำงานให้กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ไม่พ้นเรื่องของศาสนา เป็นการนำพระสงฆ์เข้าไปสอนธรรมแก่ชาวเขา ซึ่งปกติแล้วจะนับถือผีและมีปฏิทิน

“วันกรรม” เป็นแนวทางปฏิบัติในชีวิตประจำวัน แต่ละหมู่บ้านมีหมอผี 4-5 คน และสืบทอดตามเจเนอเรชั่น “หมอผีมีหน้าที่บอกว่าวันนี้ห้ามทำงาน ห้ามตัดต้นไม้ ห้ามขุดดิน มีวันที่ทำงานไม่ได้สัก 20 วันใน 1 เดือน แล้วยังต้องเอาเงินรายได้ที่หามาได้ไปแบ่งให้หมอผีอีก อย่างนี้มันก็จนกันทั้งหมู่บ้าน…” (หัวเราะเสียงดัง)

วิธีการปราบหมอผีของเขาและทางมูลนิธิ โดยทำพิธีแต่งตั้งนายอำเภอเป็นหัวหน้าหมอผี เรียกประชุมหมอผีในตำบล หมู่บ้านที่มีประมาณ 40-50 คน ให้นายอำเภอบอกหมอผีให้สั่งคนลุกขึ้นมาทำงาน จากนั้นค่อย ๆ ให้พระเข้าไปในหมู่บ้านสอนหลักธรรมแทนหมอผี

“คือให้เขามีหลักยึดนอกเหนือจากนับถือผีอย่างเดียว และที่สำคัญพระยังช่วยเรื่องลดเหล้า ยาเสพติด เมื่อสองปีที่แล้วเห็นรูปเขาส่งมาให้ดู ดีใจมากเลย เป็นรูปพระชาวเขาที่มาบวชในพุทธศาสนาออกบิณฑบาต เดินเป็นแถวบนสันเขาจีวรปลิวไสว สวยงามมาก…”

เสียงบอกเล่าปริ่มเปรมด้วยความปีติ สัมผัสได้เลยว่าคนเล่ามีความสุข คนฟังก็มีความสุข ชั่วโมงที่นอกเหนือจากงานบนบ่า จึงเป็นเสมือนแบตเตอรี่ที่ช่วยเติมพลังให้คนหนุ่มคนนี้สามารถทำหน้าที่ของตนต่อไป


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เศรษฐกิจ-จิตใจ แก้ไขพร้อมกัน วิรไท สันติประภพ

view