สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

20 เรื่องสำคัญในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

>>การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่สำหรับพสกนิกรชาวไทยและประชาคมโลก เพราะพระราชกรณียกิจนานัปการตลอดรัชสมัยของพระองค์ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพ และความมุ่งมั่นพระราชหฤทัยที่จะทรงครองแผ่นดินโดยธรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยามทุกหมู่เหล่ามาโดยตลอด

นับจากวันนี้ไปก็เหลือเวลาเพียงน้อยนิดที่ปวงพสกนิกรชาวไทย จะได้รวมพลังน้ำใจและความจงรักภักดี น้อมถวายอาลัย ส่งเสด็จพระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2560 ฉะนั้น เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ถึงข้อมูลงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ อย่างถี่ถ้วนและเข้าใจง่าย Celeb Online ได้เรียบเรียง 20 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ มาให้ทุกคนได้รับทราบถึงข้อปฏิบัติและเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับพระราชพิธีครั้งประวัติศาสตร์นี้


ริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ
ตามโบราณราชประเพณี การเชิญพระบรมศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปสู่พระเมรุมาศ หรือเชิญพระบรมอัฐิจากพระเมรุมาศมาสู่พระบรมมหาราชวัง และการเชิญพระบรมราชสรีรางไปบรรจุหรือลอยพระอังคารนั้น จะต้องเชิญไปด้วยขบวนพระบรมราชอิสริยยศ หรือที่เรียกว่า "ริ้วขบวน" นั่นเอง ดังนั้น ข้อควรรู้เกี่ยวกับริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศมีดังต่อไปนี้

1. การจัดริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพมี 6 ริ้วด้วยกัน


2. ในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศ นอกจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จะทรงร่วมริ้วขบวนด้วยแล้ว พันโทหญิงพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ในฐานะพระนัดดาของในหลวง ร.๙ ก็ยังทรงทำหน้าที่เป็นผู้บังคับม้ากองทหารม้าเกียรติยศ ประกอบริ้วขบวนที่ 6 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 ตุลาคมนี้ คือการเชิญพระบรมราชสรีรางคารจากพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส พระประธานพระอุโบสถวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ พระประธานพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เพื่อเป็นการน้อมถวายความอาลัยแด่ทูลกระหม่อมปู่เป็นวาระสุดท้าย


3. ริ้วขบวนที่ 2 คือการเชิญพระบรมโกศโดยพระมหาพิชัยราชรถ ไปยังพระเมรุมาศที่ท้องสนามหลวง ก่อนที่จะมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงนั้น มีความงดงามสมพระเกียรติมากที่สุดเพราะมีกำลังพลมากถึง 2,406 นาย รวมทั้งพระประยูรญาติทั้ง 100 ราชสกุล แห่งบรมจักรีวงศ์ อีกหลายพระองค์ และหลายคน รวมถึงข้าราชบริพาร ผู้เคยถวายงาน รวมแล้วกว่า 3,000 คนในริ้วขบวนนี้


4. ในริ้วขบวนที่ 2 มีหม่อมเจ้าร่วมเดินถึง 4 พระองค์ ประกอบด้วย พล.ท.ม.จ. เฉลิมศึก ยุคล, ร.อ.ม.จ. นวพรรษ์ ยุคล, ม.จ. หญิงศรีสว่างวงศ์ ยุคล (บุญจิตราดุลย์) และ ม.จ. หญิงนภดลเฉลิมศรี ยุคล นอกนั้นก็จะเป็นหม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวงตามลำดับ โดยมี ร.อ. จิทัศ ศรสงคราม พระนัดดาเพียงคนเดียวในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นผู้อัญเชิญเครื่องทองน้อย ตามหลังพระมหาพิชัยราชรถ ซึ่งผู้ที่จะทำหน้าที่อัญเชิญเครื่องทองน้อยได้นั้นต้องเป็นผู้ชาย หรือฝ่ายหน้าที่มีความใกล้ชิดทางสายเลือดกับในหลวง ร.9 มากที่สุดเท่านั้น


5. พระประยูรญาติที่มาร่วมเดินในริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศครั้งนี้ มีราชสกุลทุกมหาสาขาจำนวน 100 ราชสกุล จาก 129 ราชสกุล เนื่องด้วยอีก 29 ราชสกุลนั้นมิได้มีผู้สืบทอดแล้ว โดยคัดเลือกจากผู้ที่เคยร่วมเดินริ้วขบวนในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพมาแล้ว และดูความเหมาะสมในเรื่องของพระชันษา เพราะหม่อมเจ้าบางพระองค์ทรงมีชันษามากแล้ว หรือสุขภาพไม่ค่อยดี ก็จะจัดให้อยู่ในริ้วขบวนที่เดินในระยะใกล้ที่สุด อาทิ ท่านมุ้ย-ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล เนื่องด้วยสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง คณะกรรมการจึงจัดให้เดินในริ้วขบวนระยะสั้น อย่างริ้วขบวนที่ 5คือการอัญเชิญพระบรมอัฐิโดยพระที่นั่งราเชนทรยาน จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นมาประดิษฐานที่พระวิมานบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ระยะทาง 63 เมตร ใช้เวลาเดินเพียง 10 นาทีเท่านั้น 

6. การเดินในริ้วขบวนที่ 2 จะเป็นการเดินแบบเปลี่ยนเท้าประกอบเพลงพญาโศกลอยลม ซึ่งเป็นเพลงอัตราจังหวะ 2 ชั้น มีทำนองเก่าสมัยอยุธยา เป็นหนึ่งในเพลงเกร็ดที่ใช้ประกอบการแสดงโขนละครบทโศก ซึ่งมี 6 เพลง โดยใช้เวลาในการเดินจากถนนสนามไชย หน้าวงเวียนรักษาดินแดน ถึงท้องสนามหลวง ใช้เวลา 2 ชั่วโมง จากระยะทาง 890 เมตร


เกร็ดน่ารู้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ
ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นับเป็นงานใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ต้องจารึกไว้ในบรรณพิภพ ที่ทุกภาคส่วนต่างประสานใจทำงานกันอย่างสุดกำลัง เพื่อให้งานครั้งนี้ยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติที่สุด เพื่อร่วมน้อมถวายอาลัย และความจงรักภักดีเป็นครั้งสุดท้าย โดยแบ่งการทำงานดังต่อไปนี้

7. นับเป็นความโชคดีของปวงพสกนิกชาวไทย ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในฐานะพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงใส่พระราชหฤทัยของบัตรเชิญผู้ร่วมงานในพระราชพิธีครั้งนี้ โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณปรับแก้ไขถ้อยคำในบัตรเชิญ ที่เป็นทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จากเดิมที่ระบุเพียง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่ทรงให้เพิ่มคำว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงาน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ด้านล่างชื่อนายกรัฐมนตรีด้วย และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานลายขอบ ซึ่งเป็นลายไทยที่กรมศิลปากรจัดทำมาให้ทรงเลือกให้ไปปรากฏบนบัตรเชิญ สำหรับผู้เข้าร่วมงานทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ซึ่งไม่มีบัตรเชิญใดในโลกใบนี้ ที่พระราชโอรสและพระราชธิดาทรงทำถวายสมเด็จพระบรมราชชนก


8. บัตรเชิญผู้มาร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ที่จะกราบทูล-ทูล-เชิญ ได้จัดพิมพ์จำนวน 5,000 ใบ โดยหน้าปกของบัตรเชิญเป็นภาพของพระเมรุมาศบนพื้นสีเทา ขณะที่ปกหลังจะเป็นตราสำนักนายกรัฐมนตรี

9. ขณะนี้มีการแจ้งความประสงค์ของประเทศต่างๆ ที่จะมาร่วมในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ มีถึง 30 กว่าประเทศ และอีกหลายประเทศอยู่ระหว่างการตอบรับกลับมา
10. คณะบุคคลที่จะได้เข้าร่วมในพระราชพิธีครั้งนี้นั้น นอกจากจะเป็นพระราชอาคันตุกะ และพระอาคันตุกะ แล้วยังประกอบไปด้วย พระประยูรญาติ ผู้สืบเชื้อสายมาจากราชสกุลบรมจักรีวงศ์ทั้ง 100 ราชสกุล โดยจะคัดเลือกจากผู้ที่อาวุโสสูงสุดของแต่และราชสกุล คณะรัฐมนตรี ผู้นำเหล่าทัพ และข้าราชการระดับสูงเท่านั้น

11. การแต่งกายสำหรับผู้เข้าร่วมพิธีในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพนั้น ต้องแต่งกายด้วยชุดเต็มยศสูงสุด โดยฝ่ายชายข้าราชการ ทหาร ตำรวจ พลเรือน ต้องใส่เครื่องแบบเต็มยศไว้ทุกข์ พลเรือนทั่วไปที่ไม่ใช่ข้าราชการต้องใส่เครื่องแบบขอเฝ้าไว้ทุกข์ และสตรีใส่ชุดไทยจิตรลดา หรืออมรินทร์ สีดำล้วน ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จักรี หรือช้างเผือก


12. รัฐบาลได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาต จัดทำเหรียญที่ระลึกพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จำนวน 40,00 ชิ้น เพื่อนำมาจำหน่ายให้แก่ประชาชนชาวไทยได้เก็บไว้เป็นที่ระลึกในราคาเข็มละ 300 บาท โดยเข็มนั้นได้รับการออกแบบเป็นสีทอง ตรงกลางของเข็มประดับด้วยพระปรมาภิไธย ภปร และมีพระมหาพิชัยมงกุฎอยู่ด้านบนพระปรมาภิไธย ด้านล่างของเข็มเขียนว่าพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ๒๕๖๐


13. สำหรับประชาชนทั่วไปที่จะเดินทางมาร่วมในพระราชพิธีครั้งสำคัญนี้ ต้องแต่งกายด้วยชุดดำสีสุภาพ ผู้ชายเชิ้ตสีขาว เนคไทดำ หรือ เสื้อดำมีปก กางเกงทรงสุภาพสีดำ รองเท้าหุ้มส้นสีดำ ส่วนสุภาพสตรี ควรเป็นเสื้อ หรือเดรส สีดำ มีแขน ไม่รัดรูป กระโปรง ผ้าถุงสีดำยาวคลุมเข่า รองเท้าหุ้มส้นสีดำ และควรพกบัตรประจำตัวประชาชนมาด้วยทุกครั้ง เพื่อแสดงตนผ่านจุดคัดกรองเข้ามายังโดยรอบท้องสนามหลวง


“พระเมรุมาศ” ณ แดนสรวงสวรรค์ ที่สุดแห่งสถาปัตยกรรมไทย
พระเมรุมาศเป็นสถาปัตยกรรมชั่วคราว สำหรับประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชินี และพระบรมราชชนนี และยังเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ สำหรับการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งพระเมรุมาศสำหรับประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในหลวง ร.๙ ถือว่ามีความงดงามสมพระเกียรติตามโบราณราชประเพณี และถือได้ว่าเป็นพระเมรุมาศองค์เดียวในแผ่นดินไทย ที่มีการรวบรวมงานสถาปัตยกรรมอันงดงามไว้มากที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์

14. พระเมรุมาศองค์นี้ใหญ่ที่สุดในพระเมรุมาศของพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นพระเมรุมาศองค์เดียวที่สร้างจากโครงเหล็กทั้งองค์เป็นครั้งแรก


15. การก่อสร้างพระเมรุมาศครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการรวมสุดยอดงานประติมากรรมมากที่สุด อาทิ ประติมากรรมรูปปั้นคุณทองแดง คุณโจโฉ สุนัขทรงเลี้ยง รวมทั้งรูปปั้นสัตว์ป่าหิมพานต์รายล้อมพระเมรุมาศ ที่มีตั้งแต่สัตว์ระดับสูง อย่าง ครุฑ ราชสีห์ ช้าง ม้า และโคอุสุภราช


16. ภาพจิตกรรมฝาผนังบนพระที่นั่งทรงธรรม อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ ในระหว่างพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุ พระบรมศพ และเป็นที่สำหรับคณะรัฐมนตรี องคมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชบริพาร ตลอดจนคณะทูตานุทูต เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทนั้น ในครั้งนี้มีความพิเศษกว่าทุกครั้ง โดยช่างจิตรกรรมนั้นได้บรรจงวาดภาพโครงการในพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการ ลงบนผนังพระที่นั่งทรงธรรม อันเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณ และพระปรีชาสามารถของในหลวง ร.๙ ที่ทรงตั้งพระราชประสงค์ขจัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ปวงพสกนิกรของพระองค์ ให้มีชีวิตอยู่ดีกินดีในผืนแผ่นดินเกิด


17. เป็นครั้งแรกของงานภูมิสถาปัตย์ ที่ได้รับการตกแต่งอยู่ด้านหน้าของพระเมรุมาศ ที่ได้มีการนำโครงการในพระราชดำริฯ ของในหลวง ร.๙ มาตกแต่งบริเวณด้านหน้าพระเมรุมาศ ซึ่งประกอบไปด้วยแปลงนาที่มีข้าวพันธุ์พระราชทาน หญ้าแฝก พืนผักสวนครัวรั้วกินได้ รวมถึงกังหันน้ำชัยพัฒนา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของในหลวง ร.๙ ที่ทรงทุ่มเทพระวรกายทรงงานด้านต่างๆ เพื่อความอยู่ดีกินดีของพสกนิกรชาวไทย


18. ครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการบูรณะราชรถและราชยาน สมบูรณ์ 100% หลังจากเสร็จสิ้นงานพระศพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี และเป็นการสร้างราชรถปืนใหญ่และพระที่นั่งราเชนทรยาน ขึ้นมาใหม่ทั้ง 2 องค์


19. สำหรับช่อไม้จันทน์ในส่วนของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อใช้ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยช่อไม้จันทน์ทั้งหมดนั้นสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ได้จัดทำทั้งหมด 7 แบบด้วยกัน ใช้ลายดอกไม้เทศซ้อนไม้ฉลุซ้อนกัน ซึ่งความพิเศษอยู่ที่การแกะสลักที่เป็นลวดลายนูนสูงเพื่อเพิ่มมิติ

20. หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว รัฐบาลได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชานุญาต เปิดให้ประชาชนเข้ามาชมความงดงามสมพระเกียรติของพระเมรุมาศ ได้ตั้งแต่วันที่ 2-30 พฤศจิกายน 2560 ตั้งแต่เวลา 07.00-22.00 น. รอบละ 5,500 คน โดยกำหนดเวลาเข้าชมรอบละ 1 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น


ถือเป็นอีกหนึ่งหน้าบันทึกของประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ต้องจารึกไว้ว่า มีการหลอมรวมพลังแห่งความรักความสามัคคี ความจงรักภักดี และความเทิดทูนเหนือเกล้า เพื่อน้อมถวายแด่พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัยเป็นครั้งสุดท้าย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : 20 เรื่องสำคัญ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

view