สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เชลออยล์ หอกข้างแคร่ โอเปก กุมขมับแก้ไม่ตก

จากประชาชาติธุรกิจ

ราคาน้ำมันที่อยู่ในขาลงยาวนานเกือบ 2 ปี ทำให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน 14 ประเทศ (โอเปก) ที่มีซาอุดีอาระเบียเป็นพี่ใหญ่ และเคยเป็นผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดในตลาดน้ำมัน ประสบปัญหาอย่างหนักจากการที่รายได้ลดลงฮวบฮาบจนกระทบต่อฐานะการคลัง ปรับตัวแทบไม่ทัน จากที่เคยเป็นเสือนอนกินสบาย ๆ

โอเปกเคยผ่านความรุ่งเรืองสุดขีดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 จนถึงกลางปี ค.ศ. 2008 ซึ่งราคาน้ำมันเคยทะยานขึ้นไปแตะ 147 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากจีนและอินเดียมีความต้องการมากเพราะเศรษฐกิจเติบโตสูง แต่เมื่อเกิดวิกฤตการเงินครั้งร้ายแรงในสหรัฐเมื่อปลายปี 2008 ราคาน้ำมันได้ดิ่งลงเหลือ 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนจะดีดกลับมาสูงสุดที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังช่วงวิกฤตการเงิน

แต่กลางปี 2014 เป็นต้นไป ราคากลับทรุดลงไปอีก ไปแตะจุดต่ำสุด 29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อต้นปี 2016 ซึ่งคราวนี้เกิดจากสหรัฐอเมริกา ลูกค้ารายใหญ่ของโอเปก ค้นพบเทคโนโลยีใหม่ในการขุดเจาะน้ำมัน อันทำให้สามารถเจาะน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (shale oil) มาใช้ได้เป็นครั้งแรก พลิกสถานะจากผู้ซื้อมาเป็นผู้ผลิตเอง เท่านั้นไม่พอ ยังยกระดับไปเป็นผู้ส่งออกอีกด้วย ทำให้มีปริมาณน้ำมันออกสู่ตลาดมากขึ้น

โอเปกจึงแก้ปัญหาด้วยการปรับลดการผลิต ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว และขยายระยะเวลาการปรับลดออกไปเป็นระยะ เพื่อหวังดึงราคาขึ้นไป ซึ่งก็ได้ผลระดับหนึ่ง เพราะปัจจุบันราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวมาอยู่แถว ๆ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

กลุ่มโอเปกยอมรับว่า ในอีกหลายปีข้างหน้า น้ำมันเชลออยล์ของสหรัฐจะเป็นผู้ครอบงำตลาด โดยคาดว่าสหรัฐจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3.8 ล้านบาร์เรลต่อวันไปจนถึงปี 2022 คิดเป็น 75% ของปริมาณที่ผลิตโดยกลุ่มประเทศนอกโอเปก หรือเทียบเท่า1 ใน 3 ของผลผลิตน้ำมันทั่วโลก

แต่โอเปกเชื่อว่าน้ำมันเชลออยล์ ทั้งจากสหรัฐ แคนาดา และรัสเซีย จะถึงจุดสูงสุดในปี 2025 แต่หลังจากนั้นจะแผ่วลง และก็เป็นโอกาสของโอเปกที่จะเพิ่มปริมาณการผลิต ทั้งนี้ สาเหตุที่โอเปกคาดว่าเชลออยล์จะแผ่วลง เพราะผู้ประกอบการได้เร่งขุดเจาะในแหล่งน้ำมันชั้นเยี่ยมระดับหัวกะทิในระยะแรกด้วยต้นทุนถูกไปหมดแล้ว

โอเปกระบุว่า ปกติแล้วเชลออยล์จะให้ปริมาณน้ำมันมากในระยะแรก แต่หลังจากนั้นจะลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อเป็นเช่นนี้การขุดครั้งต่อไปจะได้น้ำมันน้อยลงและต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสให้โอเปกเพิ่มกำลังการผลิตไปสู่ระดับ 41.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากที่ชะงักอยู่ในระดับ 33 ล้านบาร์เรลมานาน

ทางด้านนักวิเคราะห์อย่าง ไมค์ วิตต์เนอร์ หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดน้ำมันของโซซิเอเต เจเนอราล ในนิวยอร์ก เห็นว่า ความพยายามของโอเปกในการลดปริมาณส่วนเกินในตลาดลงเพื่อดันราคาขึ้น ถือว่าได้ผลและเป็นทิศทางที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตามโอเปกก็จะเผชิญกับสถานการณ์ที่ย้อนแย้ง แก้ไม่ตก เพราะถ้าหากโอเปกยิ่งประสบความสำเร็จในการดันราคาขึ้น ก็จะยิ่งจูงใจให้บริษัทเอกชนสหรัฐและคู่แข่งอื่น ๆ ของโอเปกทำการขุดเจาะเชลออยล์ คาดว่าการผลิตเชลออยล์ของสหรัฐในปีหน้าจะมีปริมาณมากพอที่จะชดเชยปริมาณที่โอเปกลดลงไปได้ ทำให้ภาวะอุปทานล้นเกินยังคงอยู่ในระดับเดิม เท่ากับว่าการลดของโอเปกไม่มีผลในการดึงน้ำมันออกจากตลาด

“แทนที่จะสามารถประกาศชัยชนะในปีหน้าและกลับไปเพิ่มกำลังการผลิต โอเปกอาจพบว่าตัวเองติดอยู่ในกับดักที่ทำให้ต้องดิ้นรนอย่างไม่สิ้นสุด ตอนนี้โอเปกอยู่ในกับดักนั้นแล้ว ผมยังมองไม่เห็นว่าพวกเขาจะหาทางออกได้อย่างไร” วิตต์เนอร์ระบุ

ส่วน แอนดี้ ฮอลล์ นักค้าน้ำมันดิบผู้มากประสบการณ์ ซึ่งได้รับเชิญจากเจ้าหน้าที่โอเปกให้ไปช่วยสรุปและประเมินแนวโน้มของเชลออยล์บอกว่า เชลออยล์คาดหมายได้ยาก ด้วยเหตุนี้ เขาจึงตัดสินใจปิดกองทุนเฮดจ์ฟันด์ไปแล้วในปีนี้ แต่ตามการประเมินของเขาเชื่อว่า ปริมาณเชลออยล์ปีหน้าจะแปรปรวนมาก ระหว่าง 5 แสนบาร์เรล ไปจนถึง 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เชลออยล์ หอกข้างแคร่ โอเปก กุมขมับ แก้ไม่ตก

view