สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ดาบสองคมของ IOT

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Redpillz

โดย พงศ์พีระ ชวาลาธวัช www.Redpillz.com

ครั้งที่แล้วเรากล่าวถึงเรื่องของ IOT คืออะไร ทำอะไรได้บ้าง และเลือกซื้อเลือกหากันอย่างไร ซึ่งถ้าหากใครอยากปูพื้นก่อนจะอ่านบทความวิเคราะห์ที่ลึกขึ้น ผมแนะนำให้ไปอ่านในเพจหรือบล็อกผมก่อนได้ครับ และครั้งนี้เราจะมาว่ากันถึงด้านมืดของ IOT ที่ผู้บริหารทางสารสนเทศหลาย ๆ คนกลัว และโดยเฉพาะหลาย ๆ คนที่ยังเข้าไม่ถึงด้านมืดของ IOT ยิ่งควรต้องระวังตัวไว้ก่อน

เริ่มจาก 1.แพงเกินความจำเป็น

ในประเด็นนี้ ผมได้บอกไปแล้ว ว่าไม่มีระบบ IOT ที่ไหนแพงเกินความจำเป็น แต่ถ้ามันจะแพงเกินไปก็ต่อเมื่อคนที่ตัดสินใจซื้อไม่ได้วิเคราะห์ปัญหาหรือประโยชน์อย่างถี่ถ้วน คิดแต่ว่าองค์กรตัวเองต้องมี IOT ไว้ใช้ เพื่อดูตัวเลขความเป็นไปขององค์กร แต่เมื่อถามว่าเอาตัวเลขไปทำอะไร คำตอบคือ “ไม่ได้ทำอะไรมาก” แค่เก็บไว้เฉย ๆ ซึ่งบอกได้เลยว่าเป็นการทำให้ IOT เสียชื่อเสียงมาก และถูกมองว่าเป็นระบบที่แพง แต่แท้จริงแล้วปัญหาคือไม่ได้วิเคราะห์ปัญหาและโอกาสของธุรกิจให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อนั่นเอง

2.รอให้มีคนใช้มาก ๆ จะได้ราคาถูกและใช้ง่ายกว่านี้

ปัญหานี้ในเมืองไทยยังไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่นัก แต่จะเห็นในบล็อกของฝรั่ง หลายองค์กรยังไม่กล้าซื้อมาใช้ เพราะเห็นว่า IOT platform มีมากเหลือเกิน ไม่รู้ตัวไหนจะรุ่งหรือจะรอด hardware sensor ก็ยังไม่มีมาตรฐานเดียวกัน ดังนั้นเลยชะลอการลงทุนไปก่อน อันที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ทุกเจ้ามักอ้างว่าของตัวเองคือที่สุดของเทคโนโลยี ทำให้คนที่ใช้งานจริงแยกความแตกต่างไม่ออก เรื่องนี้ผมคงให้คำแนะนำแบบฟันธงไม่ได้ แต่สามารถบอกได้ว่าดีจริงหรือไม่ โดยให้ดูจากลูกค้าที่บริษัทนั้น ๆ เข้าไปทำระบบให้เป็นหลักเพื่อลดความเสี่ยงครับ

3.ลืมเรื่องค่าใช้จ่ายในอนาคต

ว่ากันตามจริง ค่าใช้จ่ายในอนาคตของ IOT ก็ไม่เบาเลย ด้วยความที่ IOT ต้องใช้พื้นฐานโครงข่าย เช่น ถ้าไม่ได้อยู่ในเครือข่ายที่มีสัญญาณถึง ก็อาจจะต้องใช้ 4G ในการส่งข้อมูล ซึ่งแน่นอนว่า Telco รับไปเต็ม ๆ ส่วนคนที่ใช้ก็ต้องจ่ายรายเดือนกันไป แล้วปกติเวลาทำ IOT เราไม่ได้ทำเพียงแค่ตัวเดียว จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายในระยะยาว และยังค่าซ่อมบำรุงระบบเครือข่ายอีก เซ็นเซอร์เองก็มีอายุ ตรงนี้ผู้ออกแบบระบบกับผู้ใช้หรือลูกค้าต้องสอบถามให้ดี ว่ามีการรับประกันในระยะยาวเท่าไหร่ เพื่อประเมินค่าใช้จ่ายในโครงการขนาดไหน อย่างน้อยต้องประเมินไว้สองระยะ คือ 3 ปีแรก และ 3 ปีหลัง ขึ้นอยู่กับรูปแบบการคิดเงินของแต่ละเจ้าด้วย บางเจ้าคิดเงินครั้งเดียวจบ ส่วนค่าบำรุงจ่ายเป็นคราวๆ บางเจ้าคิดเงินเป็นรายปี ขอให้ดูสัญญาให้ดีว่าครอบคลุมอะไรบ้าง จะได้ไม่ลืมคิดค่าใช้จ่ายในอนาคต

4.ความปลอดภัยของระบบเครือข่าย IOT

ทีแรกประเด็นนี้ผมจะเขียนแยกเป็นอีกบท แต่ยังไม่อยากสร้างความกลัวให้เกินกว่าเหตุ ผมอยากให้ระวังเอาไว้ เพราะอุปกรณ์ใด ๆ ก็ตามในโลกนี้ ถ้ามีการส่งสัญญาณไม่ว่าจะผ่านสายหรือไร้สาย ล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น ยิ่งเรื่องของ IOT จุดเข้าของเซ็นเซอร์ก็เยอะ จุดส่งข้อมูลก็มาก แน่นอนว่า hacker สามารถเข้ามาแทรกได้ทุกเมื่อ แล้ว hacker หรือคนสร้าง malware มักจะใช้วิธีโจมตีแบบ DDos พูดภาษาเข้าใจง่าย ๆ คือคนพวกนี้จะสร้างโปรแกรมเป็น malware หรือไวรัสคอมพิวเตอร์ ส่งไปฝังตามคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ IOT ทั้งหลาย เราจะเรียกตัวที่โดนยาสั่งนี่ว่า Bot หรือบางคนเรียกว่า Zombie เมื่อโดนมากเข้า จะเรียกว่า BOTNET ตัวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดชื่อว่า Mirai เป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “อนาคต” ซึ่งในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2016 มีเครื่องติดไวรัส malware ตัวนี้ถึง 493,000 ตัว โดยตัว malware นั้นจะทำงานโดยส่งสัญญาณให้ท่อส่งสัญญาณเต็มและเข้าหาอุปกรณ์ต่อเชื่อมจากรหัสที่ตั้งมาจากโรงงานเป็นหลัก จนองค์กร homeland security ของอเมริกา ถึงกับออกมาประกาศว่าเหตุการณ์ BOTNET นั้น เป็นภัยคุกคามต่อมาตุภูมิ ข้อมูลจากเว็บไซต์ Thaicert ได้แนะนำผู้ใช้งาน IOT ไว้ข้อแรก ๆ เลยว่าขออย่าใช้รหัสที่ติดมากับเครื่องเด็ดขาด พยายามควบคุมอุปกรณ์ให้วิ่งภายในองค์กรให้มาก อย่าเปิดทางให้คุมจากอินเทอร์เน็ตได้ และอัพเดตเฟิร์มแวร์ ถ้าพบสิ่งผิดปกติให้ reboot หรือ hard reset ไปเลย

5.ติดปัญหาอุปกรณ์ไม่ปล่อยข้อมูลให้ (ทั้ง ๆ ที่ปล่อยได้)

ปัญหานี้จะรู้กันมากในหมู่ผู้พัฒนาและติดตั้งระบบ IOT แต่ลูกค้ามักไม่ค่อยทราบ คือหลายเคส IOT จะต้องดูดข้อมูลจากอุปกรณ์เช่น ECU ของรถยนต์ และในหลายครั้งรถยนต์เองก็มีการล็อกรหัสไว้ทำให้ข้อมูลไม่ออกมา ถึงแม้จะต่อท่อออกมาแล้วก็ตาม แต่เมื่อจะหาทางลัด ทางเจ้าของผู้ผลิตอุปกรณ์นั้น ๆ ก็จะถือว่าประกันสิ้นสุดทันที ซึ่งเรื่องนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการที่ผู้ใช้ระบบต้องตรวจสอบกับผู้ผลิตอุปกรณ์เสียก่อน ว่าสามารถปลดล็อกได้หรือไม่ เพราะผู้ผลิตบางรายก็มีระบบ IOT สำหรับตรวจสอบอุปกรณ์ระยะไกลเช่นกัน เลยทำให้ต้องล็อกเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ดาบสองคมของ IOT ไม่ได้หมายความว่าให้ทุกคนเกิดความกลัวที่จะใช้ระบบ เพียงแต่ต้องรู้ล่วงหน้าและป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะ IOT นั้นเอาเข้าจริงแล้วมีประโยชน์มากมาย ในตอนหน้าเราจะคุยกันเรื่องกรณีศึกษาการใช้งาน IOT ในเมืองไทย และต่างประเทศว่าเขาใช้กันอย่างไร ได้ประโยชน์กันอย่างไร และนำมาปรับใช้กับองค์กรของเราเองอย่างไร


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ดาบสองคมของ IOT

view