สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เตรียมตัว! แก้กฎหมายลิขสิทธิ์รอบสอง! ปลดล็อกปมถอด เว็บเถื่อน

จากประชาชาติธุรกิจ

กรมทรัพย์สินทางปัญญา เล็งแก้กฎหมายลิขสิทธิ์ใหม่อีกรอบ หลังพบ 2 ปี มาตรา 32/3 “เทกดาวน์” เว็บละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หลังติดปัญหาเรื้อรัง 6 เคส

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างให้คณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 เพื่อแก้ไขมาตรา 32/3 ว่าด้วยเรื่องความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider : ISP) เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะแก้ไขแล้วเสร็จในปีนี้

“มาตรา 32/3 ซึ่งเป็นเหมือนมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนฟ้องร้องกัน หากพบว่ามีการละเมิดในอินเทอร์เน็ต ให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้นำสิ่งที่ละเมิดลง (เทกดาวน์) แต่หลังจากบังคับใช้ก็ติดปัญหาว่า ถ้าเว็บไซต์นั้นมี Server/ISP อยู่ต่างประเทศ การจะไปสั่งให้เอาลงต้องไปขออำนาจศาล โดยศาลจะสั่งให้ดำเนินการภายใน 30 วัน แต่ผู้ให้บริการที่อยู่ในต่างประเทศ บทบัญญัตินี้มีปัญหาไม่สามารถบังคับใช้ได้ในทางปฏิบัติ มีปัญหาอยู่ประมาณ 5-6 เคส ไม่สามารถดีเฟนซ์ต่อศาลได้ เงื่อนไขในทางปฏิบัติเช่นต้องระบุพฤติการณ์การละเมิด ซึ่งทำได้ยากเพราะข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนเร็ว เรื่องมูลค่าความเสียหายวัดได้ยาก เป็นต้น จึงเสนอให้มีการแก้ไขให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง โดยปรับว่าใช้วิธีการอย่างไรที่ไม่ต้องไปใช้กระบวนการของศาล”

เบื้องต้นแนวทางในการแก้ไขอาจจะต้องให้เป็นความสมัครใจของ ISP เอง เมื่อได้รับแจ้งขอความร่วมมือต้องเทกดาวน์ ซึ่งผู้ให้บริการ ISP จะได้ประโยชน์ หากให้ความร่วมมือในการเอาลงแล้ว ถ้าต่อไปถูกฟ้องว่าละเมิดลิขสิทธิ์ โดยการไปเผยแพร่งานที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรับผิดใด ๆ ทั้งแพ่งและอาญา

“รายที่ให้ร่วมมือก็เป็นเซฟฮาร์เบอร์ของ ISP ของละเมิดอยู่ในเว็บ ซึ่งตัว ISP ไม่รู้ว่ามีการละเมิด แต่เจ้าของสิทธิได้ยื่น notice มาแล้ว ทาง ISP เอาออก ต่อไปถ้ามีปัญหาการละเมิดในเน็ตสามารถที่จะอ้างได้ว่า กฎหมายจะเขียนไว้ว่า ‘ถ้าเขาให้ความร่วมมือในการเทกดาวน์ก็ไม่ต้องรับผิด’ แต่ถ้าไม่ร่วมมือก็มีความเสี่ยง ถ้าเจ้าของชิ้นงานนั้นไปฟ้องว่าคุณร่วมละเมิดลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเขา เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์เลย จะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ จะมีความผิดและมีบทลงโทษทางอาญา”

อย่างไรก็ตาม ในอีกทางหนึ่งหากเกิดปัญหาลักษณะเดียวกันนี้ เจ้าของสิทธิสามารถยื่นคำร้องอาศัยมาตรา 20 ภายใต้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560

สำหรับมาตรา 32/3 เป็น 1 ใน 8 ประเด็นที่ได้รับการแก้ไขเมื่อปี 2558 ซึ่งเดิมเมื่อเกิดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์บนเว็บไซต์ เจ้าของลิขสิทธิ์จะใช้วิธีขอความร่วมมือไปยัง ISP เพื่อให้ถอดงานลิขสิทธิ์นั้นลงจากเว็บไซต์ แต่กฎหมายปี 2558 บังคับให้เจ้าของลิขสิทธิ์ต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งไปยัง ISP ให้ยุติการเผยแพร่ จึงเป็นประเด็นที่เจ้าของลิขสิทธิ์พยายามเรียกร้องให้มีการแก้ไขใหม่ เพราะกระบวนการดังกล่าวทำให้เกิดความล่าช้า โดยเฉพาะในกรณีที่ ISP เป็นผู้ให้บริการต่างชาติ จะทำให้การถอดเว็บละเมิดล่าช้า ส่งผลให้เกิดความเสียหาย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เตรียมตัว แก้กฎหมายลิขสิทธิ์ รอบสอง ปลดล็อกปมถอด เว็บเถื่อน

view