สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วอตช์ลิสต์ ของอเมริกา กับ ค่าเงิน ในเอเชีย

จากประชาชาติธุรกิจ

ค่าของสกุลเงินในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าเงินบาทของไทย กับค่าเงินรูปีของอินเดีย แข็งค่าขึ้นสูงผิดปกติในช่วงระยะเวลาไม่นานมานี้ จนเป็นเหตุให้มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพราะประเทศเหล่านี้ กำลังพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการตกอยู่ใน “วอตช์ลิสต์” ของสหรัฐอเมริกา

ลองย้อนกลับไปดูค่าเงินบาทตลอดปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า แข็งค่าขึ้นเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ในเวลาเดียวกัน ค่าเงินรูปี เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์แล้วก็แข็งค่าขึ้นมาไม่น้อย ถึง 6.4 เปอร์เซ็นต์

ในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินใดก็ตาม หากแข็งค่ามากกว่าสัดส่วนที่ควรจะเป็นโดยรวม จะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าไปขายยังต่างประเทศในทางลบเนื่องจากขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง เพราะราคาสินค้าจะสูงกว่าราคาสินค้าชนิดเดียวกันของประเทศอื่น ๆ แนวทางปกติทั่วไปที่ทำกันก็คือ ธนาคารกลางของแต่ละประเทศต้องแทรกแซงด้วยการเข้าซื้อดอลลาร์ในตลาด เพื่อเพิ่มปริมาณเงินสกุลตนเองให้มากขึ้นซึ่งจะทำให้เกิดการอ่อนค่าของสกุลเงินนั้น ๆ ตามมา

ผลที่สะท้อนออกมาจากการเข้าแทรกแซงตลาดดังกล่าวคือ สัดส่วนของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นนั่นเองในช่วงขวบปีที่ผ่านมา ไทย กับ อินเดีย ถือเป็น 2 ประเทศที่มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจใหม่ (อีเมิร์จจิ้งมาร์เก็ต) ในเอเชียด้วยกัน

ปัญหาก็คือ เมื่อปีที่แล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีอเมริกัน ประกาศจะจัดการกับ “พฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม” กับสหรัฐอเมริกา ตอนนั้นมีการประกาศรายชื่อประเทศที่เข้าข่ายดำเนินการด้านการค้าไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐอเมริกาออกมาด้วยเช่นกัน

ในความเป็นจริง สหรัฐอเมริกาจัดทำบัญชีรายชื่อประเทศที่ต้อง “จับตา” เพราะบิดเบือนค่าเงินมานานแล้ว แต่ไม่เคยระบุชัดเจนว่าประเทศหนึ่งประเทศใดเป็นประเทศที่มีพฤติกรรมบิดเบือนค่าเงินมานับตั้งแต่ปี 1994 (ยกเว้นคำกล่าวในตอนหาเสียงของทรัมป์ ที่กล่าวหาจีนตรง ๆ ในเรื่องนี้ แต่เอาเข้าจริง ทรัมป์ กลับไม่ได้ดำเนินการเรื่องนี้แต่อย่างใด) ในการจัดทำ “วอตช์ลิสต์” ที่ว่านั้น สหรัฐอเมริกากำหนดเกณฑ์เอาไว้ 3 ประการด้วยกัน

แรกสุดก็คือ ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ 20,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป ประการที่ 2 ก็คือ มีภาวะดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลอย่างน้อย 3 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และประการสุดท้ายก็คือ ใช้เงินซื้อเงินตราต่างประเทศสุทธิ เทียบเท่ากับ 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีเป็นอย่างน้อยในช่วงระยะเวลา 12 เดือน

ประเทศไหนที่มีพฤติกรรมเข้าเกณฑ์ดังกล่าว 2 ประการ จะถูกระบุชื่อเอาไว้ในวอตช์ลิสต์ ซึ่งจะทบทวนปรับปรุงข้อมูลกันทุก ๆ 6 เดือนหรือปีละ 2 ครั้งครั้งหลังสุด ซึ่งมีการเผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่อยู่ในลิสต์ที่ว่านี้มีเพียง จีน กับเกาหลีใต้ เท่านั้น ในขณะที่ไต้หวันซึ่งเคยเป็นหนึ่งในรายชื่อถูกถอนออกจากลิสต์รายชื่อดังกล่าว

ในรายงานผลวิจัยของ โนมูระ ที่เผยแพร่เมื่อ 11 ธันวาคมปีที่แล้ว ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ธนาคารกลางของอินเดีย (อาร์บีไอ) เพิ่งใช้เงินแทรกแซงค่าเงินรูปีเกิน 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีไปแล้ว ในขณะที่มูลค่าการได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา ณ สิ้นเดือนตุลาคม ตามข้อมูลของทางการสหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 19,700 ล้านดอลลาร์ ใกล้เคียงกับเกณฑ์เป็นอย่างยิ่ง มีเพียงดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเกินดุลอยู่ 1.4 เปอร์เซ็นต์ในไตรมาสที่ 3 ของปีที่ผ่านมาเท่านั้น ที่ยังไม่เข้าใกล้กับเกณฑ์เท่าใดนัก

ในส่วนของไทย ข้อมูลของฝ่ายอเมริกันแสดงให้เห็นว่า ไทยได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐอเมริกาอยู่ 16,700 ล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่มีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมากถึงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีต่อเนื่องกันนานถึง 6 ไตรมาสจนถึงเดือนกันยายนปีที่แล้ว

ในเวลาเดียวกัน ข้อมูลของ แบงก์ ออฟ โตเกียว-มิตซูบิชิ ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อ 26 ธันวาคมระบุว่า ไทยใช้เงินแทรกแซงค่าเงินบาทเกิน 2 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีมาแล้ว เช่นเดียวกับอินเดียเปรียบเทียบข้อมูลของไทยกับอินเดียกันแล้ว นักวิเคราะห์เชื่อว่า ไทยมีโอกาสสูงกว่าอินเดียที่จะถูกใส่เข้าไว้ในรายชื่อ “วอตช์ลิสต์” ของสหรัฐอเมริกา ถามว่าอยู่ในวอตช์ลิสต์แล้วสหรัฐอเมริกาจะทำอย่างไร ?

กิลเลอร์โม เฟลิเซส ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอของ บีเอ็นพี พาริบาส์ แอสเสท แมเนจเมนท์ ที่ประจำอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ให้คำตอบเอาไว้ว่า ฝ่ายบริหารของทรัมป์จะยังคงพยายามใช้รายชื่อดังกล่าว เป็นเครื่องมือในการแสดงหลักฐานกล่าวหาว่าประเทศใดประเทศหนึ่งมีพฤติกรรมบิดเบือนค่าเงิน แต่ไม่น่าจะมีมาตรการกีดกันทางการค้าใด ๆ เกิดขึ้นตามมา กับประเทศเหล่านั้น เว้นเสียแต่ว่า อยู่ดี ๆ ค่าเงินดอลลาร์เกิดแข็งค่าพรวดพราดขึ้นมาหรืออยู่ดี ๆ ทรัมป์ เกิดนึกอยากใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองภายในของตนขึ้นมาซึ่งในสายตานักวิเคราะห์ทั้งหลายก็ยังคงเป็นความเสี่ยงอยู่ดี

ดังนั้น จึงเชื่อว่า “วอตช์ลิสต์” ของสหรัฐอเมริกาส่งผลให้ค่าเงินในเอเชีย โดยเฉพาะบาทกับรูปี มีทิศทางเคลื่อนไหวเป็นอิสระมากกว่าที่ผ่านมาและมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้นในอนาคตนั่นเอง


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วอตช์ลิสต์ อเมริกา ค่าเงิน ในเอเชีย

view