สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ใครว่าญี่ปุ่นไม่มี คนจน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

คอลัมน์ "เรื่องเล่าสะใภ้ญี่ปุ่น" โดย "ซาระซัง"

เมื่อพูดถึงญี่ปุ่น คนจำนวนไม่น้อยคงนึกถึงภาพความเจริญ เทคโนโลยีอันก้าวไกล อาหารการกินที่ดี คุณภาพชีวิตที่ดี และผู้คนที่มีฐานะอันจะกิน แต่จะมีกี่คนที่รู้ว่าประเทศญี่ปุ่นมีความเหลื่อมล้ำทางฐานะสูง และยังเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราเด็กยากจนมากที่สุดอีกด้วยไม่น่าเชื่อเลยว่าประเทศที่ร่ำรวยเป็นอันดับต้น ๆ อย่างญี่ปุ่นจะมีคนยากจนถึงประมาณ 20 ล้านคนในปัจจุบัน หรือกล่าวได้ว่าทุก ๆ 1 ใน 6 คนญี่ปุ่นมีฐานะยากจน คนที่ถูกจัดว่าอยู่ในเกณฑ์ความยากจนคือมีรายได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของรายได้เฉลี่ยของประชากร ความยากจนของญี่ปุ่นเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น การตกงาน การมีรายได้ที่ไม่แน่นอน และความเจ็บป่วย เป็นต้น 


ในบรรดาคนที่มีฐานะยากจนเหล่านี้มีทั้งที่เป็นครอบครัว พ่อหรือแม่ที่เลี้ยงลูกเดี่ยว บ้างก็เป็นคนโสดอาศัยอยู่ตามลำพัง นอกจากนี้ยังคาดว่าเด็กอายุต่ำกว่า 17 ปีที่อยู่ท่ามกลางความยากจนมีถึง 3.5 ล้านคนทั่วญี่ปุ่นทีเดียว โดยครอบครัวของพวกเขามีรายได้ต่ำกว่า 3 ล้านเยนต่อปี (ประมาณ 8.6 แสนบาท) หากฐานะทางบ้านลำบากมาก เด็กเหล่านี้อาจไม่ได้เรียนจนจบมัธยมปลาย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในการหางานต่อไปในอนาคต และยากที่จะมีชีวิตที่ขึ้นดีกว่าเดิมได้


ที่เมืองไทยคนยากไร้จำนวนหนึ่งอาจพึ่งพา “ข้าวก้นบาตร” ตามวัดวาอารามได้ แต่วัดญี่ปุ่นนั้นไม่มีอาหารแจกทาน หรือจะมีก็เฉพาะในเทศกาลต่างๆ เท่านั้น เด็กญี่ปุ่นที่ยากจนบางคนอาจไม่ได้รับอาหารตกถึงท้องเลยตลอดวันด้วยซ้ำ แต่จากสถิติของรัฐพบว่ามีเด็กเพียง 2 แสนคนจาก 3.5 ล้านคนเท่านั้นที่คนในครอบครัวมาขอรับเงินช่วยเหลือ ส่วนที่เหลือที่ไม่มารับนั้นมีหลายปัจจัยสลับซับซ้อน แต่ปัจจัยหลักอย่างหนึ่งคือความรู้สึกอายกับการที่ไม่ทำอะไรแล้วแบมือขอเงินเฉย ๆ 

สังคมญี่ปุ่นมีคำกล่าวทำนองว่า “คนไหนไม่ทำงานก็ไม่สมควรได้กินข้าว” ก็อาจจะเป็นไปได้ที่คนญี่ปุ่นหลายคนจะรู้สึกเป็นตราบาปกับการที่ตัวเองไม่มีงานทำและได้รับความช่วยเหลือฟรี ๆ ซึ่งเอาเข้าจริงหลายคนก็คงไม่ใช่ว่าตกงานด้วยความขี้เกียจหรือเลือกงาน แต่เป็นเพราะความจำเป็นที่ทำให้หางานยาก หรือค่าครองชีพที่สูงที่ทำให้รายได้ไม่เพียงพอกับความต้องการ 

ขอยกตัวอย่างค่าครองชีพในกรุงโตเกียวซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าสูงมาก ค่าเช่าบ้านสำหรับอยู่คนเดียวโดยเฉลี่ยในกลางกรุงโตเกียวหรือภายใน 23 เขตนั้นอยู่ที่ 60,000-100,000 เยน (ประมาณ 17,300-29,000 บาท) ถ้านอกเขต (หรืออาจเรียกว่าชานเมือง) จะราคาถูกลงมาอยู่ที่ราว ๆ 40,000-60,000 เยน (ประมาณ 11,500-17,300 บาท) แต่ก็จะใช้เวลาเดินทางเป็นชั่วโมงหากต้องเข้าไปทำงานหรือเรียนหนังสือในเมือง ค่าเช่าบ้านในกรุงโตเกียวที่ต่ำสุดที่เคยได้ยินมาคืออยู่ที่ประมาณเดือนละ 25,000-30,000 เยน (ประมาณ 7,200-8,600 บาท) แต่หาไม่ค่อยจะมี และห้องก็คับแคบมาก มีพื้นที่พอให้นั่ง ๆ นอน ๆ เท่านั้น และไม่มีห้องน้ำในตัว ส่วนค่าน้ำค่าไฟและค่าแก๊ส ถ้าใช้ประหยัดหน่อยก็อาจเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5,000-7,000 เยนต่อเดือน  (ประมาณ 1,400-2,000 บาท)

ค่าเดินทางนั้นแล้วแต่ระยะทาง ค่ารถไฟในกรุงโตเกียวเริ่มต้นอยู่ที่ 133 เยนต่อเที่ยว เมื่อก่อนฉันเดินทางไปทำงานใช้เวลา 45 นาที มีค่ารถไฟอยู่ที่ 300 กว่าเยนต่อเที่ยว(ประมาณ 85 บาท)  ไปกลับก็ 600 กว่าเยน ตกราว ๆ เดือนละ 12,000 เยน (ประมาณ 3,450 บาท)  แต่ถ้าวันเสาร์อาทิตย์ออกไปข้างนอกก็จะมีค่าเดินทางเพิ่มอีก หากไปทำงานประจำหรือเรียนประจำก็อาจเลือกซื้อเป็นตั๋วเดือนซึ่งจะถูกกว่าเมื่อคิดราคาต่อเที่ยว แต่ต้องระบุสถานีที่ขึ้นลงที่แน่ชัด ซึ่งตราบใดที่ตั๋วเดือนยังไม่หมดอายุก็สามารถใช้เดินทางระหว่างสถานีที่ระบุไว้เหล่านั้นโดยไม่จำกัดเที่ยว ที่ทำงานหลายแห่งอาจออกค่าเดินทางไปทำงานให้รวมทั้งช่วยค่าเช่าบ้านนิดหน่อย แต่ถ้าหากต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้เองก็ถือว่าหนักไม่น้อย โดยเฉพาะคนที่ทำงานไม่ประจำซึ่งที่ทำงานไม่มีการช่วยเรื่องค่าเช่าบ้านและไม่มีสวัสดิการให้มากนัก 

ส่วนค่าอาหารนั้น ถ้าเอาที่ถูกสุดก็อาจจะเป็นข้าวปั้นสักสองก้อนราคาประมาณ 200 เยน (ประมาณ 60 บาท) หรือข้าวหน้าเนื้อหรืออุด้งหรือโซบะชามละประมาณ 300 เยน(ประมาณ 85 บาท)  ปริมาณไม่มากแต่ก็พออิ่มไปได้หนึ่งมื้อ สมมติว่าถ้ารับประทานอย่างนี้ทุกมื้อตลอดหนึ่งเดือน เพียงแค่ค่าอาหารราคาถูกอย่างต่ำก็ตกคร่าว ๆ เดือนละ 30,000 เยนแล้ว (ประมาณ 8,600 บาท) (แน่นอนว่าถ้าทำเองก็ประหยัดไปได้มากกว่านี้) นอกจากนี้ก็ยังมีค่าของใช้ส่วนตัวอย่างเช่น เสื้อผ้า ทิชชู ผงซักฟอก สบู่ ยาสระผม น้ำยาทำความสะอาด อะไรต่อมิอะไรเป็นค่าใช้จ่ายจิปาถะ รวมทั้งค่าสันทนาการเพิ่มเติมไปอีก


นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการจ่ายเบี้ยประกันสังคมด้วยทุกเดือน ถ้าเป็นลูกจ้างประจำ บริษัทจะต้องทำประกันอุบัติเหตุจากการทำงานให้โดยออกให้ทั้งหมด ส่วนประกันสุขภาพ ประกันบำนาญ และประกันการมีงานทำนั้น บริษัทจะหักเบี้ยประกันจากค่าจ้าง ณ ที่จ่ายโดยบริษัทสมทบให้ครึ่งหนึ่ง ถ้าคู่สมรสรายได้ต่อปีไม่ถึง 1.3 ล้านเยนก็สามารถเข้าประกันสังคมของบริษัทของคู่สมรสอีกคนได้โดยไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับอายุด้วย 

หากถ้าไม่ได้เป็นพนักงานบริษัทก็ต้องไปเข้าระบบประกันสังคมแห่งชาติเอาเอง เช่น ประกันสุขภาพซึ่งอัตราเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับฐานรายได้ และประกันบำนาญซึ่งมีเบี้ยประกันคงที่ในแต่ละปีโดยไม่ขึ้นกับรายได้ ประกันเหล่านี้แม้จะไม่มีรายได้ก็ต้องจ่าย หรือทำเรื่องขอผ่อนผันจ่ายบางส่วน เว้นแต่จะขอและได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ 

แม้รัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือพ่อหรือแม่ที่เลี้ยงลูกเดี่ยวโดยออกเป็นค่าเลี้ยงดูบุตรทุกเดือน และหากพ่อหรือแม่ต้องการเรียนวิชาชีพรัฐก็จะส่งเสริม รวมทั้งลดราคาค่าธรรมเนียมสถานรับเลี้ยงเด็กระหว่างที่พ่อแม่ไปทำงานด้วย แต่รัฐก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่จริงจังและไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควร ภาระที่เหลือจึงเป็นขององค์กรเอกชนซึ่งก็ได้รับเงินอุดหนุนไม่เพียงพอ แต่องค์กรเหล่านี้ก็พยายามสะท้อนให้สังคมเห็นถึงปัญหาความยากจนและเรียกร้องให้รัฐแก้ไขอย่างจริงจังมากขึ้น


หลายปีก่อนขณะที่ฉันกำลังยืนคุยอยู่กับเพื่อน ๆ ชาวญี่ปุ่นอยู่นอกอาคารในเวลากลางคืน ฉันเหลือบไปเห็นอะไรไหว ๆ อยู่ในความมืด แรก ๆ เห็นเป็นเหมือนถุงขยะสีดำ ๆ ก็นึกว่ามีสุนัขมาคุ้ยเขี่ยอะไรหรือเปล่า มองไปมองมาพอรู้ว่าเป็นคนก็ตกใจ และนั่นก็เป็นครั้งแรกที่ฉันได้เห็น "คนไร้บ้าน" ในญี่ปุ่น 

คนไร้บ้านในญี่ปุ่นมักเอากล่องลูกฟูกมาต่อกันกั้นเป็นคอกพื้นที่ส่วนตัว อาศัยอยู่ข้างถนนบ้าง ในสวนสาธารณะบ้าง กลางวันบางคราวก็เจอตำรวจมาไล่ออกไปจากพื้นที่บ้าง ส่วนใหญ่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความช่วยเหลือจากอาสาสมัครที่เอาอาหาร น้ำ และเครื่องนุ่งห่ม หรือถุงนอนมาให้ คนญี่ปุ่นโดยทั่วไปก็มีคนที่เห็นใจและอยากช่วยคนไร้บ้านเหล่านี้ แต่ก็ไม่กล้าจะเป็นฝ่ายเดินเข้ามาหาและหยิบยื่นความช่วยเหลือให้เพราะกลัวคนมอง

ฉันยังไม่เคยเห็นคนไร้บ้านที่ญี่ปุ่นคนไหนที่เอาถ้วยหรือกระป๋องมาวางไว้รอคนหยอดเงินให้ อาจจะเป็นเพราะคนญี่ปุ่นรู้สึกอายกับการขออะไรจากใครแบบได้เปล่าอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น แล้วยิ่งถ้าเป็นการขอเงินจากคนแปลกหน้าก็คงยิ่งน่าอายเข้าไปอีก โดยปกติเท่าที่เห็นคือคนญี่ปุ่นเองก็ไม่ค่อยจะขอความช่วยเหลือใครหรือคุยกับคนที่ไม่รู้จักถ้าไม่จำเป็น เมื่อดูจากนิสัยคนญี่ปุ่นในมุมนี้แล้ว เมื่อฝ่ายหนึ่งไม่กล้าขอ อีกฝ่ายหนึ่งก็คงไม่กล้าให้ เพราะคนญี่ปุ่นเองก็มีบางคนที่เกรงว่าการแสดงความเห็นใจจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าตนมีสถานะต่ำต้อยกว่าและน่าสงสาร ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วคนไร้บ้านหลายคนก็ต้องการความช่วยเหลือที่เป็นตัวเงินด้วยเช่นกัน 

เดิมทีนั้นคนไร้บ้านหลายคนเคยเป็นพนักงานบริษัทที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมทั่วไปนี้เอง ทำงานให้บริษัทมาหลายสิบปี พอถึงคราวที่เศรษฐกิจตกต่ำคนก็ตกงาน เคยมีคนเล่าให้ฟังว่าช่วงเศรษฐกิจไม่ดีและต้องปลดคนงาน บริษัทจะเลือกคนที่ทำงานมานาน อายุมาก และเงินเดือนสูงให้ออกจากบริษัท แล้วรับคนจบใหม่ซึ่งอายุน้อยกว่า เงินเดือนน้อยกว่าเข้าทำงานแทน กรณีแบบนี้น่าเห็นใจมากเพราะในยุคสมัยที่ผ่านมาคนญี่ปุ่นจะภักดีกับองค์กรและคาดว่าจะทำงานที่เดิมไปจนถึงเกษียณ แต่ถ้าโดนให้ออกกลางคันแบบนี้ อายุจะเป็นประเด็นที่ทำให้หางานยาก แถมปกติผู้ชายก็มีภาระหน้าที่กดดันให้เป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวเป็นหลักด้วย การให้พนักงานอาวุโสออกจากงานจึงอาจเท่ากับเป็นการสร้างปัญหาครอบครัว และกลายมาเป็นปัญหาสังคมแบบหาทางออกยากต่อไปอีก เพราะโครงสร้างทางสังคมของญี่ปุ่นเองก็ไม่ค่อยมีความยืดหยุ่นมากนัก

ยิ่งเดี๋ยวนี้การจ้างงานแบบประจำมีน้อยลง และคนหันมาจ้างงานแบบเป็นสัญญางวด ๆ ไปมากกว่าเหตุผลหนึ่งก็เพื่อเป็นการลดภาระค่าสวัสดิการพนักงานและเงินโบนัสที่บริษัทต้องจ่าย วัฒนธรรมการทำงานแบบภักดีต่อองค์กรไปตลอดชีวิตแบบเมื่อก่อนจึงค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป

ฉันเคยดูละครญี่ปุ่นที่พ่อบ้านครอบครัวหนึ่งโดนให้ออกจากงานจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ตัวเองก็ไม่กล้าบอกภรรยาว่าตกงานแล้ว ยังคงใส่สูทออกไปข้างนอกทุกเช้าเช่นเคย แต่จริง ๆ แล้วไปนั่งเหม่ออยู่ตามสวนสาธารณะ ในความเป็นจริงก็คงจะมีคนที่มีลักษณะคล้ายกันเช่นนี้อยู่ไม่น้อย บางคนก็รู้สึกว่าในเมื่อตนเองไม่มีงานทำ อยู่ไปก็เป็นภาระให้ลูกเมีย เลยหนีออกจากบ้านไปใช้ชีวิตเร่ร่อนแทน สมัยก่อนผู้ชายบางคนยังใช้วิธีฆ่าตัวตายเพื่อเอาเงินประกันไปจุนเจือครอบครัวกันหลายรายด้วย แต่คนใช้วิธีนี้กันมากทำให้บริษัทประกันเปลี่ยนนโยบายไม่ให้เงินประกันในกรณีฆ่าตัวตายอีก


ฟังเรื่องแบบนี้แล้วทำให้รู้สึกว่าแม้ผู้ชายจะเป็นใหญ่ในสังคมญี่ปุ่น แต่ก็มีบทบาทหน้าที่หนักหนาสาหัสที่ต้องแบกรับไว้บนบ่าเช่นกัน มีความคาดหวังของสังคมค้ำไว้ ดู ๆ ไปก็เหมือนชีวิตมีโซ่ตรวนที่มองไม่เห็นล่ามเอาไว้ไม่ให้คิดให้ทำอะไรได้โดยสะดวก 

แน่นอนว่าทุกประเทศมีคนยากจน คนญี่ปุ่นอาจ “ดูรวย” ในสายตาคนไทย ระบบสวัสดิการของญี่ปุ่นอาจครอบคลุมมากกว่าของไทย แต่คนจนของญี่ปุ่นนั้นไม่เพียงแต่ “ขัดสน” เงินทอง แต่ยังยึดติดศักดิ์ศรีที่ไม่ยอมรับของใครฟรี ๆ หรือทำตัวให้เป็นภาระของผู้อื่นและสังคม คนจนในญี่ปุ่นจึงอาจลำบากเพราะทั้ง “จนทรัพย์” และ “จนใจ” อีกด้วย.



"ซาระซัง"
 สาวไทยที่ถูกทักผิดว่าเป็นสาวญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เรียนภาษาญี่ปุ่นตั้งแต่ชั้นประถม และได้พบรักกับหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย เป็น “สะใภ้ญี่ปุ่น” เธอเคยใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงโตเกียวนานกว่า 5 ปี ปัจจุบันติดตามสามีไปทำงาน ณ สหรัฐอเมริกา


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ใครว่า ญี่ปุ่น ไม่มีคนจน

view