สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สตง.ชำแหละระบบจัดการขยะเชียงราย แนะเทศบาลนครฯ ทบทวนรายงานโรงงานขยะไฟฟ้า 332 ล.พบต้องจ่ายค่าไฟฟ้าปีละ 1 ล.ทั้งที่ยังไม่ได้เปิดใช้

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

สตง. ชำแหละ “ระบบบริหารจัดการขยะมูลฝอย จ.เชียงราย” แนะ เทศบาลนครเชียงราย ทบทวนรายงานโรงงานขยะไฟฟ้า มูลค่า 332.21 ล้าน หากต้องการเดินหน้า “ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า” เหตุต้องจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าถึงปีละ 1 ล้าน ทั้งที่ยังไม่ได้เปิดใช้หลังสร้างเสร็จเมื่อปี 2554 เผยยังพบอุปสรรคงานบริหารขยะเพียบ “ศูนย์กำจัดขยะฯ” อีก 2 อปท. มูลค่ารวม 188 ล้าน ย้ำ 3 โครงการใช้จ่ายงบกว่า 239 ล้าน ไม่คุ้มค่า และยังพบการตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดินและผิวดิน ปี 59-60 ไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข

วันนี้ (12 พ.ย.) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า สตง. ได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบระบบจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โครงการของหน่วยงานรัฐ อันประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงราย สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จังหวัดเชียงราย และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พื้นที่จังหวัดเชียงราย ประจำปีงบประมาณ 2560 โดยเฉพาะข้อสังเกตที่ 5 ประเด็นโครงการสำรวจและออกแบบรายละเอียดเพื่อก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ของเทศบาลนครเขียงราย มูลค่า 230 ล้านบาท 

ทั้งนี้ สตง.พบว่า ตามรายงานการศึกษาความเหมาะสมโครงการสำรวจและออกแบบ รายละเอียดเพื่อก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า (ในส่วนของการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ) ของ เทศบาลนครเชียงราย ได้กำหนดให้มีปริมาณขยะมูลฝอยเช้าสู่ระบบ 500 ตัน/วัน มี อปท.เข้าร่วม 17 แห่ง แต่จากการตรวจสอบพบว่า รายงานการศึกษาฯ ไม่ครอบคลุมด้านสังคม โดยไม่คำนึงถึงบริบททางสังคมและการมีส่วนร่วมของ อปท.ในพื้นที่ใกล้เคียงยังขาดความชัดเจน อาจทำให้การรวบรวมปริมาณขยะมูลฝอยจาก อปท.ใกล้เคียงเข้าสู่ศูนย์ฯตํ่ากว่าปริมาณขยะมูลฝอยตามรายงานการศึกษาฯ และ อาจมีการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ ทำให้ไม่ได้ใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับโครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรเทศบาลนครเชียงราย

“สตง. มีหนังสือถึงเทศบาลนครเชียงราย ควรทบทวนรายงานการศึกษาความเหมาะสมโครงการสำรวจ และออกแบบรายละเอียด เพื่อก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า (ในส่วนของการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ) ให้สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง หรือควรศึกษาเฉพาะประเด็นเพิ่มเติม ก่อนการขอรับสนับสนุนงบประมาณเพื่อก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยควรมุ่งเน้นเพิ่มเติมการศึกษาประเด็นทางสังคม การจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับ อปท.ในพื้นที่เป้าหมายที่จะรวบรวมขยะมูลฝอย การได้รับความเห็นขอบจากสภาท้องถิ่น และ ประชาชนในพื้นที่ เป็นต้น เพื่อมิให้เกิดปัญหาปริมาณขยะจาก อปท.ในพื้นที่ เพื่อนำเข้าสู่ศูนย์กำจัด และลดปัญหาผลกระทบจากประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนการดำเนินงานโครงการเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผล บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ”

มีรายงานว่า ที่ว่ากันว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร อดีตพ่อเมืองเชียงราย-ผู้นำปฏิบัติการถ้ำหลวงฯ ต้องถูกเด้งจากเก้าอี้ไปเป็นผู้ว่าฯ พะเยา โครงการมีการก่อสร้างแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2554 ในพื้นที่บ้านดงป่าเหมี้ยง ต.ห้วยสัก อ.เมืองเชียงราย ด้วยงบประมาณ 322.21 ล้านบาท แต่ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เนื่องจากติดปัญหาการขอใช้พื้นที่ และการให้สนับสนุนงบประมาณกับเทศบาลห้วยสัก โดยเทศบาลนครเชียงราย ประสงค์ให้สถานที่ดังกล่าวเป็นสถานที่กำจัดขยะในลักษณะ cluster เพื่อให้มีขยะเพียงพอ และคุ้มทุนในการดำเนินงาน แต่เทศบาลตำบลห้วยสักไม่เห็นด้วย ทำให้ปัญหาค้างคาจนถึงขณะนี้

สตง. พบว่า จากการตรวจสอบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการขยะมูลฝอยประจำปีงบประมาณ 2559 ของ อปท. จำนวน 31 แห่ง พบว่า อปท. มีการเก็บอัตราค่าธรรมเนียมการจัดการขยะมูลฝอยตํ่ากว่าอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงและไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจัดการขยะมูลฝอย โดย อปท. จำนวน 30 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 96.77 ของ อปท. ที่สุ่มตรวจสอบ มีรายได้จากค่าธรรมเนียมไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจัดการขยะมูลฝอย

ส่วนประเด็นการเก็บข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยปีงบประมาณ 2559 โดยการสัมภาษณ์ เจ้าหน้าที่ของ อปท. จำนวน 48 แห่ง พบว่า อปท. ส่วนใหญ่เก็บข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอย เพื่อบันทึก และรายงานข้อมูลด้านการจัดการขยะมูลฝอยตามแบบสำรวจเพื่อจัดทำฐานข้อมูลด้านการบริหาร จัดการขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (มฝ.1) และ แบบรายงานการบริหารจัดการขยะมูลฝอยประจำเดือนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ 2560 (มฝ.2) ไม่รัดกุม โดยมี อปท. เพียง 10 แห่ง ที่สามารถจัดเก็บข้อมูลปริมาณขยะตามปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจริง อปท. จำนวน 38 แห่ง จัดเก็บข้อมูลปริมาณขยะไม่ได้จัดเก็บข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยตามปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจริง แต่จะคำนวณจากค่าเฉลี่ยของอัตราการเกิดขยะมูลฝอยในพื้นที่ หรือ จากปริมาตรบรรจุของรถเก็บขยะ หรือ อัตราการเกิดขยะมูลฝอยเฉลี่ยของประเทศ ทำให้ข้อมูลปริมาณขยะไม่ตรงตามปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจริง

สำหรับ อปท. ที่มีสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย รวม 31 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พบว่า สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของ อปท. จำนวน 8 แห่ง ได้รับอนุญาตใช้ที่ดินตามกฎหมาย และ อปท. จำนวน 23 แห่ง ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กรมป่าไม้ และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งจังหวัดเชียงรายได้รายงานผลการดำเนินการขออนุญาตใช้ที่ดินเพื่อเป็นสถานที่กำจัดขยะมูลฝอย ตามหนังสือ ที่ ชร 0023.3/9494 ลงวันที่ 20 เมษายน 2561 สรุปได้ดังนี้ อปท. จำนวน 19 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อขออนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดิน และอ ปท. จำนวน 3 แห่ง ยังไม่ได้ดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม สำหรับการตรวจสอบพื้นที่ อปท. ที่มีจัดการขยะมูลฝอยนอกระบบศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย จังหวัดเขียงราย จำนวน 40 แห่ง มีรูปแบบการจัดการ 3 รูปแบบ ได้แก่ อปท.บริหารเก็บรวบรวมและขนส่ง จำนวน 20 แห่ง หมู่บ้านบริหารจัดการ 14 แห่ง และครัวเรือนบริหารจัดการเอง จำนวน 10 แห่ง พบว่า การเก็บรวบรวม ขนส่ง และการกำจัดขยะมูลฝอยไม่เป็นไปตามเกณฑ์การตรวจสอบที่กำหนด พบว่า การเก็บรวบรวม ขนส่งขยะมูลฝอยโดย อปท. ซึ่ง อปท. จำนวน 20 แห่ง คิดเป็น ร้อยละ 100 พาหนะที่ใช้ขนส่งมีภาชนะที่ปิดมิดชิด พนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการจัดเก็บขยะมูลฝอย ของ อปท. มีการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตราย และ อปท. จำนวน 17 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 85 ไม่ได้เก็บขนขยะมูลฝอยแยกประเภท แต่ให้บริการจัดเก็บขยะมูลฝอยได้ครอบคลุมพื้นที่รับผิดขอบ รวมทั้ง อปท. จำนวน 9 แห่ง ไม่ได้จัดอบรมความรู้ในการปฏิบัติงานให้แก่พนักงาน

“การเก็บรวบรวมขนส่งขยะมูลฝอย โดยหมู่บ้านบริหารจัดการ พื้นที่ อปท.ที่ หมู่บ้านบริหารจัดการด้านขยะเอง จำนวน 14 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 100 พาหนะที่ใช้ขนส่งขยะมูลฝอย ไม่มีภาชนะที่ปิดมิดชิด และไม่ได้จัดเก็บแยกประเภท โดยขนส่งขยะมูลฝอยทุกชนิดปะปนกัน แต่การเก็บขยะมูลฝอย มีการเก็บขนครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ และพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการจัดเก็บขยะมูลฝอย จำนวน 12 ราย จาก 14 ราย คิดเป็นร้อยละ 85.71 ไม่ได้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตราย”

ส่วนการกำจัดขยะมูลฝอยโดย อปท. พื้นที่ที่ อปท.มีการบริการกำจัดขยะมูลฝอย จำนวน 17 แห่ง เป็นการกำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีการเทกอง จำนวน 12 แห่ง และกำจัดขยะมูลฝอย โดยวิธีการเตาเผา จำนวน 5 แห่ง โดยสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีการเทกอง ไม่เป็นไปตามรายการประเมิน ตรวจสอบสมรรถนะการดำเนินงานกำจัดมูลฝอยสำหรับการเทกองที่มีการควบคุม (Controlled Dump) การจัดการ 4 ด้าน จำนวน 15 ข้อกำหนด เช่น การจัดการด้านพื้นที่ อปท. จำนวน 7 แห่ง จาก 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 63.64 ไม่ดำเนินการตามข้อกำหนดการจัดการด้านพื้นที่ทั้ง 3 ข้อ และ การบริหารจัดการ อปท. จำนวน 10 แห่ง จาก 11 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 90.91 ไม่ดำเนินการหรือ ดำเนินการเพียง 1 ข้อ ได้แก่ การบดอัดมูลฝอย เจ้าหน้าที่ประจำสถานที่ การควบคุมมูลฝอยเข้าสู่พื้นที่ เป็นต้น

สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยโดยวิธีการเตาเผา ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ข้อกำหนดในการปฏิบัติงาน 9 ข้อ ตามมาตรฐานการจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล บทที่ 3 เทคนิคการจัดการ ขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ข้อ 3.10.2(2)โดย อปท. 4 แห่ง จาก 5 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 80 ไม่ได้กำจัดขยะมูลฝอยโดยหมู่บ้านบริหารจัดการของพื้นที่ อปท. จำนวน 14 แห่ง เป็นสถานที่กำจัดโดยการเทกอง และเผากลางแจ้ง ไม่มีการจัดการบริเวณสถานที่กำจัด การกำจัดขยะมูลฝอยของครัวเรือนของพื้นที่ อปท. จำนวน 10 แห่ง มีการกำจัดขยะมูลฝอยโดยการผิง และเผาบริเวณบ้าน หรือพื้นที่เกษตรกรรมของตนเอง

ขณะที่ การบริหารจัดการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ที่มีจำนวน 3 แห่ง ได้รับเงินงบประมาณจากภาครัฐ และ อปท.สมทบ จำนวนเงิน 520.42 ล้านบาท ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย จำนวน 322.21 ล้านบาท เทศบาลตำบลแม่สาย จำนวน 160.38 ล้านบาท และเทศบาลตำบลห้วยไคร้ จำนวน 37.83 ล้านบาท จากการตรวจสอบพบว่า การบริหารจัดการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยทั้ง 3 แห่ง มีปัญหาอุปสรรค ดังนี้ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย ทั้ง 3 แห่ง บ่อฝังกลบใกล้เต็ม รองรับขยะมูลฝอยได้ถึง พ.ศ. 2561-2562, ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย 2 แห่ง อาคารและเครื่องจักรอุปกรณ์ไม่ได้ใช้ประโยชน์ 

“โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรเทศบาลนครเชียงราย ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2554 อาคารและเครื่องจักรอุปกรณ์ไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวนเงิน 205,640,257.42 บาท และค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าเพื่อบำรุงรักษาจำนวนเงิน 1,081,316.88 บาท รวมเงินจำนวน 206,721,574.30 บาท”

ส่วน ทต.แม่สาย ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย อาคารหมักมูลฝอยทำปุ๋ย อาคารเก็บปุ๋ยหมัก งานปอหมักสิ่งปฏิกูล และเครื่องจักรอุปกรณ์ ไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวนเงิน 32,792,700.18 บาท เป็นการใช้จ่ายเงินไม่คุ้มค่า รวมทั้งสิ้นจำนวนเงิน 239,514,274.48 บาท และ เทศบาลทั้ง 3 แห่ง ตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดินและผิวดิน ประจำปีงบประมาณ 2559-2560 ไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ข้อ 8 และรายงานฉบับสมบูรณ์โครงการศึกษา ความเหมาะสม เช่น ตรวจสอบน้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน ปีละ 1 ครั้ง ไม่ได้ตรวจสอบปีละ 2 ครั้ง หรือ ตรวจสอบเฉพาะน้ำใต้ดินไม่ได้ตรวจสอบน้ำผิวดิน เป็นต้น

“สตง. ได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย (ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอยจังหวัดเขียงราย) สั่งกำชับให้ นายกเทศมนตรี/นายกองค์การบริหารส่วนตำบล และ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ บริหารการใช้ประโยชน์ จากทรัพย์สินให้มีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุด”


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : สตง. ชำแหละ ระบบจัดการขยะเชียงราย เทศบาลนครฯ ทบทวน รายงานโรงงานขยะไฟฟ้า จ่ายค่าไฟฟ้า ปีละ 1 ล. ยังไม่ได้เปิดใช้

view