สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กม.อีเพย์เมนต์เขย่าธุรกิจออนไลน์ รัฐอุดรูรั่วภาษี…ผู้ค้าต้านไม่สนอง 4.0

จากประชาชาติธุรกิจ

หลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่าน ร่างกฎหมายภาษีอีเพย์เมนต์ หรือพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ไปเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ทำให้วงการค้าออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) ตื่นตัวกันอีกรอบ

ดึงผู้ค้าผ่านออนไลน์เสียภาษี

ส่วนหนึ่งของกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้สถาบันการเงินต้องรายงานธุรกรรมการเงินลูกค้าไปยังกรมสรรพากร ซึ่งจะทำให้กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบได้ว่าบุคคลนั้นมีรายได้เท่าไหร่ เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ จากเดิมกรมสรรพากรใช้วิธีการประเมินจากยอดขาย และเรียกมาสอบถาม เมื่อกรมสรรพากรสามารถเข้าไปถึงการเงินของผู้ค้าออนไลน์ได้ ทำให้เกิดความกังวล เพราะการค้าออนไลน์ส่วนใหญ่เสียภาษีไม่ถูกต้องนัก

จากข้อมูลพบว่าผู้ค้าออนไลน์ โดยเฉพาะรายย่อยหลายแสนรายยังไม่เสียภาษีหรือเสียไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) และภาษีเงินได้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของบุคคลธรรมดาไปเปิดเพจในเฟซบุ๊ก เปิดไอจี หรือเข้าไปขายสินค้าในช้อปปิ้งออนไลน์ยักษ์ใหญ่ การเข้าไปตรวจสอบภาษีกลุ่มผู้ค้าดังกล่าวทำได้ลำบาก ตามตัวยาก

จึงเป็นที่มาของการผลักดันกฎหมายนี้มานาน 2-3 ปี โดยกฎหมายล่าช้าเพราะมีเสียงคัดค้านมาก ต้องเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชน (ประชาพิจารณ์) ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ถึง 3 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม 2560 ถึงเดือนกันยายน 2561

ขยายฐานเพื่อลดการรั่วไหล

กฎหมายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานอีเพย์เมนต์ ต้องทำระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์และเชื่อมกับระบบการเงินออนไลน์ จุดประสงค์คือต้องการขยายฐานภาษีให้มากขึ้น โดยพบว่าการเสียภาษีของบุคคลธรรมดา แต่ละปีบุคคลธรรมดายื่นแบบแสดงรายการภาษีกว่า 10 ล้านคน แต่เสียภาษีเพียง 4 ล้านคนคิดเป็นมูลค่ารวม 3-4 แสนล้านบาทเท่านั้น

นอกจากนี้ต้องการขยายฐานการเสียภาษีนิติบุคคลให้มากกว่า 4 แสนราย เพราะพบว่าตัวเลขนิติบุคคลของกระทรวงพาณิชย์มีอยู่ถึง 6 แสนราย โดยนิติบุคคลเสียภาษีปีละกว่า 6 แสนล้านบาท

รวมถึงต้องการลดการรั่วไหลเพราะพบว่าการค้าออนไลน์ส่งผลให้การจัดเก็บแวตจากการบริโภคลดลง เนื่องจากผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าจากออนไลน์แทนในห้าง เพราะถูกกว่า สินค้าออนไลน์ขายถูกส่วนหนึ่งเกิดจากไม่มีภาระภาษี ดังนั้น เมื่อค้าออนไลน์โตขึ้นสินค้าปกติเสียแวตขายได้น้อยลง จึงกระทบการจัดเก็บแวตในช่วงที่ผ่านมา โดยแวตจัดเก็บปีละกว่า 7 แสนล้านบาท เป็นแวตจากการบริโภคเก็บในประเทศประมาณ 4 แสนล้านบาท

คาดว่าเมื่อกรมสรรพากรเดินหน้าใช้กฎหมายเต็มรูปแบบ ทำให้รายได้รัฐเพิ่มขึ้นหลายหมื่นล้านบาทจนอาจแตะระดับแสนล้านบาท

บี้แบงก์รายงานธุรกรรมลูกค้า

สาระสำคัญของกฎหมาย อีเพย์เมนต์กำหนดผู้เสียภาษีสามารถยื่นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้และแวต รวมถึงรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และกำหนดให้สถาบันการเงินรายงานการทำธุรกรรมการเงินของลูกค้าให้กรมสรรพากร หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับ 1 แสนบาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท

ธุรกรรมที่เข้าข่ายรายงานมายังกรมสรรพากรมี 2 กรณี คือ 1.การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง และมียอดรวมกันตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป และ 2.การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปี

นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร อธิบายถึงการรายงานธุรกรรมทางการเงินมายังกรมสรรพากรว่า ธุรกรรมทางการเงินต้องรับเงินเข้าบัญชีปีละ 400 ครั้ง และมีมูลค่าเกิน 2 ล้านบาท หรือรับเงินเข้าบัญชีปีละ 3,000 ครั้ง โดยรวมทุกบัญชีต่อ 1 ธนาคาร ซึ่งต้องรับโอนเงินวันละเกือบ 10 ครั้ง จึงจะมีจำนวน 3,000 ครั้งต่อปี หรือรับโอนเงิน 5,000 บาทต่อครั้ง เป็นจำนวน 400 ครั้ง จึงจะมีมูลค่า 2 ล้านบาท

ถ้าทั้งปีรับโอนเงิน 10 ล้านบาท แต่จำนวนครั้งมีแค่ 117 ครั้ง ไม่ถือว่าเข้าข่ายที่สถาบันการเงินต้องส่งข้อมูลมาให้กรมสรรพากร โดยในส่วนของเงินที่นำไปฝากเอง และเงินฝากบัญชีร่วมนั้นอยู่ระหว่างหารือกับธนาคารว่าจะยกเว้น อย่างไรก็ตาม การรับโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารนั้นไม่ได้หมายความว่าเงินจำนวนทั้งหมดต้องนำไปเสียภาษี เนื่องจากในหลายกรณีไม่ได้เป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี เช่น การคืนเงินกู้ยืม การรับเงินที่ฝากไปทำบุญแทน เป็นต้น

เปิดสูตรคำนวณภาษี 2 รูปแบบ

นายปิ่นสายกล่าวต่อว่า กฎหมายอีเพย์เมนต์มีวัตถุประสงค์หลักเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียภาษี ไม่ได้มีเจตนาไปเก็บภาษีจากผู้ค้าออนไลน์เป็นการเฉพาะ เพราะในการเสียภาษีของผู้ค้าออนไลน์นั้นเป็นหน้าที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว กรมไม่ได้หวังว่าจะเก็บภาษีเพิ่มจากกฎหมายดังกล่าวเท่าใด แต่หวังไว้ว่าผู้ค้าออนไลน์เคยเสียภาษีน้อยมากเพียง 20% จากที่ควรเสีย 100% จะมาเสียภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมสรรพากรพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำเรื่องภาษีกับผู้ที่ต้องการเสียภาษีอย่างถูกต้องทุกราย

ข้อมูลทางการเงินที่กรมได้รับจากธนาคาร มีแค่ชื่อ นามสกุล จำนวนครั้งเท่านั้น ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าโอนให้ใครเท่าไหร่ เมื่อได้ข้อมูลทางการเงินมาแล้วกรมสรรพากรจะนำข้อมูลไปประมวลผลร่วมกันกับข้อมูลอื่นๆ ในคอมพิวเตอร์เพื่อจัดกลุ่มผู้เสียภาษี ถ้าเป็นกลุ่มมีความเสี่ยงน้อย เช่น ไม่ยื่นภาษีจะแนะนำให้มายื่นแบบ ถ้าเสี่ยงมากคงต้องออกหนังสือเชิญมาพบเพื่อพูดคุย เพราะเมื่อคอมพิวเตอร์พบเสี่ยงมาก แต่อาจไม่ได้มีเจตนาเลี่ยงภาษี

ดังนั้น ถ้าได้พูดคุยจะทราบสาเหตุจะได้แนะนำให้ดำเนินการอย่างถูกต้อง

ในการเสียภาษีหากเป็นผู้มีรายได้ที่ไม่ใช่ค่าจ้างเงินเดือน หรือกลุ่มอาชีพอิสระ ค้าขาย จะอยู่ในมาตรา 40 (2-8) ในการจ่ายภาษีมี 2 แบบ คือ วิธีแรกเหมาจ่าย 0.5% ของรายได้ ถ้ามีรายได้ 1,000 บาท เสียภาษี 5 บาท วิธีที่ 2 เสียภาษีตามขั้นบันไดตั้งแต่ 5-35% ซึ่งการเสียภาษีแบบขั้นบันไดจะต้องนำเงินได้หักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนก่อนมาคิดภาษี

ทั้งนี้ ในการเก็บภาษีจากผู้ค้าออนไลน์ กรมจะคำนวณ 2 แบบ หากพบว่าภาษีแบบไหนสูงกว่ากันจะเก็บอันนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือค้าออนไลน์ จะถูกประเมินในแบบเหมาจ่ายมากกว่า

หากมีรายได้ 1 ล้านบาท เสียภาษีประมาณ 5 พันบาท และมีรายได้ 2 ล้านบาท เข้าข่ายธนาคารต้องรายงานธุรกรรม จะเสียภาษีประมาณ 1 หมื่นบาท

ดีเดย์’63 รอเชื่อมระบบ-ปรับตัว

กฎหมายดังกล่าวจะเริ่มใช้ในปีภาษี 2563 คือวันที่ 1 มกราคม 2563 เนื่องจากต้องรอการเชื่อมระบบระหว่างกรมกับสถาบันการเงิน โดยมีผลต่อการยื่นภาษีในปี 2564 ถ้าเป็นบุคคลธรรมดายื่นแบบช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 ดังนั้น มีเวลาให้ผู้ค้าออนไลน์ที่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้องปรับตัว

นายปิ่นสายมีข้อแนะนำให้ผู้ค้าที่มีรายได้สูงๆ ไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เนื่องจากสามารถลงบัญชีรับจ่ายและเสียภาษีเฉพาะส่วนกำไร ไม่ใช่เสียภาษีคิดจากฐานรายได้เหมือนบุคคลธรรมดา หากผู้ประกอบการมีประวัติทางการเงินที่ดีและโปร่งใสช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน และการขอสินเชื่อต่างๆ โดยในปี 2562 รัฐบาลกำหนดให้ผู้ขอสินเชื่อกับแบงก์ต้องใช้บัญชีเดียว คือ จากบัญชียื่นภาษี ดังนั้น การเสียภาษีอย่างถูกต้องส่งผลดีมากกว่าผลเสียกับผู้ประกอบการ

ส่วนผู้ค้าออนไลน์ที่ยังเสียภาษีเงินได้แบบบุคคลธรรมดา และมีความกังวลเรื่องภาษีสามารถขอคำแนะนำจากกรมสรรพากร สรรพากรพื้นที่ หรือโทรมาคอลเซ็นเตอร์ของกรม ทุกฝ่ายพร้อมให้คำแนะนำ

สำหรับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ากฎหมายนี้ขัดแย้งกับนโยบายอีเพย์เมนต์ หรือนโยบายสังคมไร้เงินสด เพราะกฎหมายทำให้คนกังวลในการใช้จ่ายผ่านธนาคาร นายปิ่นสายยืนยันว่ากฎหมายนี้ไม่ขัดแย้งกับนโยบายสังคมไร้เงินสดของรัฐบาล เนื่องจากการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันมีความสะดวกรวดเร็ว จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น

เว็บค้าออนไลน์ร้องขอผ่อนผัน

ผู้ที่อยู่ในแวดวงการค้าออนไลน์ส่วนใหญ่ไม่คัดค้านในเรื่องภาษี แต่มีข้อกังวลบางเรื่อง โดย นายณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยูช็อป จำกัด หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ฟรีในชื่อ LnwShop (แอลเอ็นดับเบิ้ลยูช็อป หรือเทพช็อป) กล่าวว่า กฎหมายอีเพย์เมนต์ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีจะทำให้ผู้ค้าออนไลน์เข้าสู่ระบบภาษี ทำให้ร้านค้าออนไลน์ตื่นตัว มีร้านค้าออนไลน์สอบถามเรื่องนี้มาก เพราะกลัวว่าจะถูกเก็บภาษี เนื่องจากที่ผ่านมาเคยชินไม่ต้องเสียภาษี

มีความเป็นห่วงว่ากฎหมายไม่ได้มาพร้อมกับความรู้ว่าจะเข้าระบบอย่างไร เพราะคนขายของออนไลน์ส่วนใหญ่จะคิดแค่ว่าทำอย่างไรให้ของขายได้

ไม่ค่อยมีใครมาคิดว่าจะต้องเก็บเอกสาร ทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อไว้เสียภาษี ดังนั้น เป็นหน้าที่ของภาครัฐก่อนกฎหมายจะมีผลในปี 2563 ที่จะต้องให้ความรู้กับผู้ค้าออนไลน์ในเว็บไซต์เทพช็อปมีร้านค้าเข้ามาค้าขายตั้งแต่เปิดมารวมกว่า 6 แสนราย แต่มีการแอ๊กทีฟ (เคลื่อนไหว) เพียง 6 หมื่นราย ในจำนวนนี้มีเพียงระดับ 1 พันรายเท่านั้นที่มีการจดทะเบียนแวต และเข้าระบบภาษีอย่างถูกต้อง ผู้ที่เข้าระบบภาษีถูกต้อง ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ค้ารายใหญ่มียอดขายปีละหลายร้อยล้านบาท

ทั้งนี้ กฎหมายที่ออกมาอาจมีผลทำให้ผู้ค้ารายใหม่ ที่คิดริเริ่มจะมาลองค้าขายออนไลน์คิดมากขึ้น เพราะกังวลเรื่องภาษี แต่คนเริ่มค้าขายออนไลน์ไปแล้ว ต้องเรียนรู้ว่าทำอย่างไรจะรับมือภาษีที่จะเกิดขึ้น ในส่วนของเว็บไซต์เทพช็อปเองมีโปรแกรมสำหรับลงรายรับรายจ่ายและคำนวณภาษีให้ เพื่อให้รับรู้ว่ามีรายได้เท่าไหร่ ต้องเสียภาษีเท่าไหร่ แต่ยังมีคนมาใช้บริการน้อยมาก

ถ้ากรมสรรพากรจะเก็บภาษีกับผู้ค้าออนไลน์ อยากให้มีการผ่อนผันระยะเวลาหนึ่ง เพราะผู้ประกอบการหลายรายอยากเข้าระบบแต่กลัวภาษีย้อนหลังหากรัฐใช้มาตรการที่เข้มงวดเกินไป อาจกระทบต่อผู้ประกอบการ และทำให้หนีภาษี

ซึ่งในต่างประเทศ การเก็บภาษีจากผู้ค้าออนไลน์จะมีมาตรการพิเศษ เช่น ยกเว้นบางช่วง เพื่อจูงใจให้เข้าสู่ระบบภาษี และดึงผู้ประกอบการให้มาทำธุรกิจออนไลน์มากขึ้น

เชื่อขัดนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ด้าน นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ตลาดดอทคอม Tarad.com กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการเก็บภาษีการทำธุรกรรมออนไลน์ แต่ไม่เห็นด้วยกับการรายงานความเคลื่อนไหวทางบัญชี เพราะไทยประกาศนโยบายว่าจะเป็นประเทศดิจิทัล ไทยแลนด์ 4.0 ส่งเสริมการค้าออนไลน์ ผลักดันให้ประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสด แต่กฎหมายทำให้คนลังเลว่าจะเข้าสู่ระบบสังคมไร้เงินสดหรือไม่ เพราะกลัวการตรวจสอบ กฎหมายนี้จะกลายเป็นตัวกระตุ้นให้คนกลับไปใช้เงินสดอีกครั้ง เครื่องปั้นดินเผาอย่างไหอาจจะขายดีขึ้น เพราะคนอาจจะซื้อมาเก็บเงิน ทำให้การปรับตัวในการเข้าสู่ดิจิทัลช้า โดยมีความเห็นว่าควรชะลอการใช้กฎหมายออกไป 2 ปี เพื่อให้ระบบการชำระเงินออนไลน์เติบโตเต็มที่ก่อน

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า สมาคมพยายามผลักดันให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซของไทยเข้าสู่ระบบภาษี ดังนั้น จึงไม่ได้มองว่ากฎหมายอีเพย์เมนต์กระทบอะไรผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ภายในเดือนธันวาคมนี้สมาคมจะหารือกับสมาชิกว่าจะมีการช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างไร ซึ่งการค้าออนไลน์ขยายตัวทุกปี โดยในปี 2560 ที่ผ่านมา การค้าออนไลน์ของไทยมีมูลค่าถึง 1.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากปีที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วน 1-2% ของมูลค่าตลาดค้าปลีกทั้งหมด คาดว่าในปีนี้จะเติบโต 20-30%

ลุ้นอีบิซิเนสจบก่อนเลือกตั้ง

นอกจากอีเพย์เมนต์เกี่ยวข้องกับออนไลน์แล้ว ยังมีร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่?) พ.ศ. ? ที่กำหนดให้จัดเก็บแวตจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (อีบิซิเนส) ในต่างประเทศที่เข้าทำธุรกิจในไทย เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูบ อาลีบาบา

กฎหมายกำหนดให้ผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์มในต่างประเทศที่มีรายได้จากการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนแวต ยื่นแบบแสดงรายการภาษี และนำส่งภาษีให้แก่กรมสรรพากรผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่นเดียวกับประเทศอื่นทั่วโลกกว่า 50 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษ และประเทศในสหภาพยุโรปอีกหลายประเทศ พบว่ามีผู้ประกอบการประมาณ 80-100 ราย เข้าไปลงทะเบียนเสียภาษีในประเทศต่างๆ ดังนั้น กรมสรรพากรหวังว่าผู้ประกอบการดังกล่าวเสียภาษีในไทยด้วย

ทั้งนี้ การเก็บแวตตามกฎหมายอีบิซิเนสจะจัดเก็บจากค่าบริการที่ผู้ประกอบการเก็บเพิ่มจากผู้ใช้งาน บริการดิจิทัลคอนเทนต์และโฆษณาเท่านั้น ไม่ได้จัดเก็บจากสินค้า เช่น เก็บภาษีจากโฆษณา ดาวน์โหลดเกมส์จากต่างประเทศ ดาวน์โหลดสติ๊กเกอร์จากต่างประเทศ สมาชิกทีวีออนไลน์ และวิดีโอจากต่างประเทศ แพลตฟอร์มบริการจองโรงแรม ค่าบริการจองตั๋วเครื่องบินและตั๋วโดยสาร บริการเรียกรถสาธารณะ เป็นต้น

ภาษีอีบิซิเนสในส่วนของแวตยังอยู่ในการพิจารณาของกฤษฎีกา มีกำหนดต้องแล้วเสร็จเพื่อนำเสนอไปยัง สนช.ก่อนวันที่ 25 ธันวาคม เพื่อให้ สนช.พิจารณาให้ทันก่อนเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นกฎหมายอาจถูกตีกลับมากระทรวงการคลัง เพื่อนำเสนอไปใหม่

“สมคิด” เร่งกฎหมายผ่านสนช.

โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เร่งรัดมายังกระทรวงการคลังและฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล ให้เร่งรัดกฎหมายดังกล่าวผ่าน สนช.ภายในรัฐบาลชุดนี้ เพราะกฎหมายนี้สำคัญพอๆ กับภาษีอีเพย์เมนต์ ถ้าไม่ทำไปพร้อมกันจะถูกครหาว่าเก็บเฉพาะคนในประเทศ

ทั้งนี้ ภาษีอีบิซิเนสยังเหลือการพิจารณารอรัฐบาลใหม่อีก 2 เรื่อง คือ ยกเลิกการยกเว้นภาษีสำหรับสินค้ามีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทส่งผ่านไปรษณีย์ พบการหลีกเลี่ยงสูงมากด้วยการแจ้งราคาต่ำ และการเก็บภาษีเงินได้ของผู้ประกอบการแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ทำธุรกิจในไทย ขณะนี้กรมสรรพากรยังอยู่ระหว่างการศึกษาทั้ง 2 เรื่อง

กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้เข้ารัฐประมาณ 70-80% มีเป้าหมายการจัดเก็บภาษีถึง 2 ล้านล้านบาท เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ทำให้ธุรกิจและการค้าขายเปลี่ยนไป การจัดเก็บภาษีแบบเดิมๆ คงใช้ไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการจัดเก็บภาษีใหม่ๆ

ทางภาครัฐจึงเชื่อว่า ภาษีอีเพย์เมนต์และอีบิซิเนส ถือเป็นกฎหมายภาษีที่พลิกโฉมการจัดเก็บภาษีของไทย ทำให้รายได้รัฐเพิ่มขึ้นเป็นกอบเป็นกำ

 

ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน/ผู้เขียนทีมข่าวเศรษฐกิจ


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : #กม.อีเพย์เมนต์ #ธุรกิจออนไลน์ อุดรูรั่วภาษี ผู้ค้าต้าน ไม่สนอง 4.0

view