สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อาลีบาบาเอฟเฟ็กต์

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก โดย สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

 

ถ้าพูดถึง 2 ผู้ทรงอิทธิพลของประเทศจีนยุคนี้ แน่นอนว่าคนแรกที่ทุกคนนึกถึงเป็นใครไปไม่ได้ นั่นคือ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน (ตลอดชีพ)

และอีกคนคือ “แจ็ก หม่า” ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของอาลีบาบา กรุ๊ป ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทางการจีนอย่างมาก และได้รับการยกย่องจากรัฐบาลจีนว่าเป็น “ผู้ริเริ่มเศรษฐกิจดิจิทัล” มาสู่ประเทศจีน

ขณะที่อิทธิพลของอาลีบาบาที่รุกคืบเข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตประจำวันของชาวจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในทุกรูปแบบที่ต่อยอดมาจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ทั้งบนแพลตฟอร์ม เถาเป่า, ทีมอลล์, อาลีเอ็กซ์เพรส เป็นต้น สู่ผู้นำนวัตกรรมทางการเงิน (ฟินเทค) ไม่ว่าจะเป็น “อาลีเพย์” กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ชำระเงินออนไลน์ รวมถึงบริการปล่อยกู้ออนไลน์ ไปจนถึงขายประกัน ขายกองทุนออนไลน์

ปัจจุบันบริการต่าง ๆ ของอาลีบาบา ได้แทรกซึมเข้าไปในชีวิตประจำวันของประชาชนชาวจีนกว่า 600 ล้านคน

“นิกเคอิ เอเชียน รีวิว” ระบุว่า นอกจากการนำเสนอบริการต่าง ๆ ผ่านออนไลน์ผ่านมือถือที่สามารถให้กับผู้ใช้บริการอย่างทั่วถึงแล้ว หัวใจสำคัญของอาลีบาบา คือ การทำ “บิ๊กดาต้า” เกาะติดทุกพฤติกรรมการจับจ่ายของลูกค้า เพราะทุก ๆ บริการของอาลีบาบาที่ผู้บริโภคเข้าไปใช้บริการ จะต้อง “ยอมแลก” กับการสูญเสียข้อมูลส่วนตัว รวมถึงการอนุญาตให้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ติดตามการใช้ชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน

โดยเฉพาะในยุคจีนกำลังก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างรวดเร็ว

“อาลีบาบา” กลายเป็นธุรกิจที่ทรงพลัง ที่มีฐานข้อมูลลูกค้า ครอบคลุมตั้งแต่ประวัติการช็อปปิ้งสินค้าออนไลน์ พฤติกรรมการใช้จ่าย หนี้สิน ไปจนถึงภูมิหลังด้านการศึกษา สินทรัพย์ที่ครอบครอง ประวัติการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และประวัติการใช้ยา

นอกจากนี้อาลีบาบายังพัฒนา “บิ๊กดาต้า” เป็นระบบ credit score ของลูกค้าแต่ละคนภายใต้ชื่อบริการ “Sesame Credit” ที่อาศัยฐานข้อมูลธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งการชำระเงิน การซื้อสินค้า รวมทั้งข้อมูลความสัมพันธ์ทางธุรกรรมระหว่างลูกค้ากับผู้ขายสินค้าออนไลน์ ของลูกค้าอาลีบาบากว่า 600 ล้านคน ทำเป็น credit score ของผู้บริโภคแต่ละคน

ทำให้อาลีบาบา “รู้จัก-รู้ใจ” ผู้บริโภคอย่างแท้จริง ที่ช่วยให้สามารถวางแผนงานได้แม่นยำมากขึ้น ทั้งการนำเสนอบริการและสินค้าโดนใจผู้บริโภคมากขึ้น ๆ หรือเป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้าที่จะมีโอกาสเป็นเอ็นพีแอลหรือหนี้เสียน้อยมาก

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็ยอมรับว่า ข้อมูลลูกค้าธนาคารปัจจุบันเป็นแค่ข้อมูลฐานะการเงิน แต่ยังไม่สามารถเกาะติดพฤติกรรมการใช้จ่ายด้านอื่น ๆ ได้ เช่น “อาลีบาบา” และปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ของไทยหลายแห่งก็อยู่ในช่วงการพัฒนารูปแบบการปล่อยสินเชื่อ โดยใช้ข้อมูลพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เรียกว่า “information-based lending” แทนที่จะใช้ข้อมูลเงินเดือนหรือทรัพย์สินที่เป็นตัวค้ำประกันเช่นที่ผ่านมา

ด้านหนึ่งเป็นการสร้าง “บิ๊กดาต้า” เพื่อเพิ่มโอกาสและทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภค แต่อีกด้านหนึ่งหมายความว่าผู้บริโภค 600 ล้านคนในจีน และกำลังทวีคูณเพิ่มมากขึ้นจากการที่อาลีบาบาขยายอาณาจักรออกไปทั่วโลกรวมทั้งไทย กำลังตกอยู่ใต้อิทธิพลของอาลีบาบาแบบไม่รู้ตัว

สิ่งสำคัญที่นักวิเคราะห์ต่างชาติกังวลก็คือ ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ รัฐบาลปักกิ่งสามารถเข้าถึงได้ด้วยเช่นกัน

หมายความว่าการแผ่ขยายอิทธิพลของ “อาลีบาบา” มีเงาอำนาจของรัฐบาลจีนทาบติดมาด้วย

ดังนั้นในขณะที่อาลีบาบากำลังรุกขยายบริการต่าง ๆ ไปทั่วโลก ก็เป็นเสมือนเป็นตัวแทนรัฐบาลจีนรุกขยายอำนาจเศรษฐกิจโลกของรัฐบาลจีนด้วย

และสื่อต่างชาติหลายรายเรียกสิ่งนี้ว่า “อาลีบาบาเอฟเฟ็กต์” ที่อาจทำให้คนทั้งโลกอยู่ภายใต้เงาอิทธิพลของจีนแบบไม่รู้ตัว


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : อาลีบาบาเอฟเฟ็กต์ #สำนักงานสอบบัญชี พี แอนด์ อี #สำนักงานบัญชี พี เอ็ม เอส  #คณะบุคคลที่ปรึกษา พี.เอ.ที. #สอบบัญชี #ทำบัญชี #วางระบบบัญชี #ที่ปรึกษาบัญชี #ภาษีอากร #วางแผนภาษี  #สำนักงานบัญชี #สำนักงานสอบบัญชี#ที่ปรึกษา# การจัดการ เศรษฐกิจการลงทุน #108a

view