สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ส่อง e-Commerce จาก 2018 สู่ 2019

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ Pawoot.com

โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

 

ปีที่ผ่านมา ยักษ์วงการอีคอมเมิร์ซเข้ามาในบ้านเราครบแล้ว ทั้ง Lazada, Shopee, JD.Com หรือ JD CENTRAL โดยใช้งบฯการตลาดมหาศาลกันทีเดียว ใช้พรีเซ็นเตอร์ชื่อดังอย่างณเดชน์ ญาญ่า หรือทุ่มโปรโมชั่นช่วง 9.9, 10.10, 11.11 หรือ 12.12 ทำให้ยอดขายโตต่อเนื่อง

รายได้สำคัญช่วงหนึ่งประมาณกลางปีที่ Shopee เริ่มขยายธุรกิจอย่างรุนแรงและโตต่อเนื่อง Lazada เริ่มเพลี่ยงพล้ำไปบ้าง ส่วนหนึ่งมาจากการปรับโครงสร้างภายใน แต่ Lazada ได้ปรับตัวเปิดแนวรบเพื่อสู้กับ Shopee ด้วยการไม่เก็บค่าคอมมิสชั่นเหมือนกับ Shopee เป็นการแข่งกันเผาเงินแบบไม่มีรายได้เลย ถือเป็นศึกสงครามที่รุนแรงมากในปีที่ผ่านมา

รวมถึงเป็นปีที่เราเริ่มเห็นว่า สินค้าจีนไหลทะลักเข้ามาในเว็บ Lazada และ Shopee แบบต่อตรงมาจากจีนเลย เป็นปีที่คนในต่างจังหวัดตอบรับการใช้อีคอมเมิร์ซมากขึ้น และเป็นปีที่โซเชียลคอมเมิร์ซหรือการค้าขายผ่านโซเชียลมีเดียเติบโตขึ้นอย่างมาก เห็นได้จากธนาคารกสิกรไทยเริ่มบุกเข้ามาให้บริการชำระเงินผ่าน Facebook

ส่วน Facebook ก็เปิดบริการชำระเงินผ่านตนเองเหมือนกัน ทั้งยังเปิดตัวมาร์เก็ตเพลซเพื่อให้คนเข้าไปซื้อขายกัน รวมถึงมี “เฟซบุ๊กกรุ๊ป” ให้ซื้อขายในกลุ่มด้วย จะเห็นว่าโซเชียลคอมเมิร์ซโตขึ้นมากจริง ๆ

ฝั่งการขนส่งต้องบอกว่า เป็นปีที่ไปรษณีย์ไทยต้องปรับตัวหนักมาก เพราะ kerry logistics จากฮ่องกง ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น game changer เพียงปีเดียวขยายเป็นพันสาขา ทำให้การขนส่งรวดเร็วมากขึ้น คุณภาพดีขึ้น และยังมีบริการที่เป็น killer feature ที่บรรดาคนทำอีคอมเมิร์ซชอบมาก คือ การเก็บเงินปลายทางได้ รวมถึงในประเทศไทยเริ่มมีสตาร์ตอัพด้านโลจิสติกส์เข้ามามากขึ้น เช่น ลาลามูฟ, ไลน์แมน, ชิปป๊อป ฯลฯ

ช่วงปีที่ผ่านมา จึงเป็นปีที่การขนส่งและการชำระเงินพัฒนาขึ้นอย่างมาก ทำให้คนไทยมีพฤติกรรมเปลี่ยนเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น

ส่อง e-Commerce ปี 2019

ปีที่ผ่านมา เป็นพื้นฐานให้ปี 2019 อีคอมเมิร์ซเป็นเครื่องมือที่ทรงอานุภาพมาก เมื่อวิเคราะห์ว่าในปีนี้ช่องทางการขายของคนไทยจะเป็นอย่างไรบ้าง โดยรวมยังแบ่งเป็น 3 ช่องทางคล้ายเดิม คือ 1.ขายผ่านทางเว็บไซต์ คนจะเริ่มมาเปิดเว็บไซต์เองเพื่อขายของออนไลน์เพิ่มมากขึ้น 2.ขายผ่าน e-Marketplace อยู่แต่เป็นสงครามที่รุนแรงมากขึ้น และ 3.ขายผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซที่จะโตมากยิ่งขึ้น

ศึกโซเชียลคอมเมิร์ซยิ่งเดือด

“เฟซบุ๊ก” คงจะเพิ่มความสามารถในการขายของผ่านเฟซบุ๊กมากขึ้น ขณะที่ LINE แข็งแกร่งมากขึ้น ถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าทุกธุรกิจอยากให้ผู้บริโภค แอด LINE@ ของตนเอง

ตอนนี้ LINE@ กลายเป็นเครื่องมือประจำของธุรกิจคนไทยไปแล้ว ล่าสุด LINE เพิ่งซื้อกิจการ Sellsuki ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโซเชียลคอมเมิร์ซของไทย และปีนี้สงครามการค้าขายผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซน่าจะระอุอย่างแน่นอน

e-Marketplace ดุเดือดเช่นกัน

เมื่อปลายปีมีธนาคารกระโดดเข้ามาแข่งขัน เช่น KBank เปิด K Plus Market ให้คนซื้อสินค้าผ่านแอปพลิเคชั่น KBank ได้เลย ในไตรมาสที่ 2 ที่เห็นชัดคือ ธนาคารกรุงศรีฯ เริ่มแย้มมาแล้วว่าจะเปิดให้บริการมาร์เก็ตเพลซเช่นกัน ทั้งหมดล้วนต้องการข้อมูลลูกค้าเพื่อเอามาให้บริการด้านการเงิน KBank ปีนี้รุกหนักมาก คือ จับมือกันร่วมลงทุนกับ LINE และลงทุนกับ Grab SCB ก็ปรับหนักมาก

ดังนั้น ในการค้าขายของอีคอมเมิร์ซในปีนี้ที่ละสายตาไปไม่ได้เลย คือฟากธนาคาร เชื่อว่า จะมีการเปิดมาร์เก็ตเพลซของธนาคารเพิ่มมากขึ้นทุกคนจะขยับมาในฝั่งมาร์เก็ตเพลซ การแข่งขันจะเริ่มมากขึ้นเพราะทุกคนเริ่มเปิดให้บริการวอลเลตของตนเองอย่าง Lazada เริ่มมีแล้ว และจะเข้าสู่บริการในเรื่องการสะสมแต้ม แต้มจะเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้คนติดอยู่กับมาร์เก็ตเพลซนั้น ๆ อีคอมเมิร์ซจะเอาระบบแต้มเข้ามาผสม ระบบแต้มจะมีผู้เล่นมากขึ้น จะเริ่มเจอการแลกเปลี่ยนแต้มระหว่างกันได้ point economy หรือระบบเศรษฐศาสตร์ของแต้มจะเติบโตมาก


ส่อง e-Commerce จาก 2018 สู่ 2019 (จบ)

นอกจากศึกโซเชียลคอมเมิร์ซจะระอุยิ่งขึ้นแล้วในปีนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นอีกบ้างมาว่ากันต่อ สินค้าจีนจะบุกหนักกว่าเดิม

เริ่มเจอสินค้าจีนบุกเข้ามาในโลกออนไลน์ ในอีมาร์เก็ตเพลซของไทยมากขึ้นจากที่เคยทะลักมาหลายสิบล้านชิ้น เจ้าของโรงงานจากจีนคงกระหน่ำเข้ามา มีการตั้งทีมมาโฟกัสการขายสินค้าในอาเซียนเพิ่มขึ้นทั้งมาทำข้อมูล มาแปลภาษา ฯลฯ เพื่อเจาะกลุ่มให้เหมาะกับคนไทยเพิ่มขึ้น

สงครามออนไลน์-ออฟไลน์

การแข่งขันของมาร์เก็ตเพลซใหญ่ที่ไปกระทบกับโลกออฟไลน์ กำลังซื้อที่เมื่อก่อนอยู่ตามตลาดนัด ตามห้างจะไปอยู่ในออนไลน์เพิ่มขึ้นเพราะสะดวกมากกว่า ผู้ที่ทำธุรกิจในปัจจุบันจะเจอกับคู่แข่งที่เป็นออนไลน์มากขึ้น แบรนด์ต่าง ๆ จะเริ่มกระโดดมาทำอีคอมเมิร์ซ เจ้าของสินค้าเปิดช่องทางเว็บไซต์ของตนเองมากขึ้น หลายแบรนด์เข้ามาขายตรงกับผู้บริโภคเลย นั่นหมายถึงคนที่เป็นตัวแทนสินค้า ดีลเลอร์ ยี่ปั๊ว ฯลฯ ต้องเตรียมตัวได้เลยว่าแบรนด์จะลงมาขายตรง

Cross Border เริ่มเบ่งบาน

จะเป็นปีที่การค้าขายระหว่างประเทศเริ่มเบ่งบาน หลายแบรนด์เริ่มขยายสินค้าไปขายต่างประเทศแต่อาจเป็นเพียงการเริ่มต้น เพราะผู้ให้บริการอย่าง Amazon หรือ eBay ก็เริ่มบุกเข้ามาในประเทศไทยแต่เป็นการพาผู้ประกอบการไทยให้ออกไปขายต่างประเทศ และผู้ประกอบการไทยจะเริ่มผสมออนไลน์เข้ากับออฟไลน์มากขึ้นหรือเป็น O2O marketing เช่น สั่งซื้อออนไลน์แต่มารับหน้าร้าน ปีนี้จะเริ่มเจอพฤติกรรมคนที่ผสานออนไลน์กับออฟไลน์เข้าด้วยกันมากขึ้น

ปรับตัวรับ กม.เก็บภาษีออนไลน์

การชำระเงินในช่วงต้นปีจะยังเติบโต แต่ช่วงกลางปีคนไทยต้องเริ่มมีการปรับตัวกับกฎหมายการเก็บภาษีสินค้าออนไลน์ที่สรรพากรจะเข้ามาตรวจสอบบัญชีต่าง ๆ ทำให้ผู้ให้บริการขายของออนไลน์หลายคนน่าจะมีการตัดสินใจบางอย่าง ผมเชื่อว่าปลายปีจะมีคนเปิดบัญชีธนาคารเพิ่มขึ้นเพื่อกระจายรายได้ออกไปในหลายธนาคาร และจะมีคนเปิดบริษัทเพิ่มขึ้นด้วยในปีนี้เพราะอยากทำให้ถูกต้อง ปลาย ๆ ปีตัวเลขของพร้อมเพย์หรือคิวอาร์โค้ดจะโตน้อยลง คนจะหันมาใช้เงินสดมากขึ้น

ฉะนั้นช่วงปลายปี พ่อค้าแม่ค้าหลายคนต้องดูว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไรกับกฎหมายตัวนี้ ในฝั่งของธนาคารและผู้ให้บริการชำระเงินเองก็ต้องปรับตัวด้วย เพราะตอนนี้ยังไม่มีระบบที่จะเข้ามารองรับกฎหมาย

โฆษณาออนไลน์จะเก่งมากขึ้น อย่างของกูเกิล ตอนนี้เมื่อค้นหาในกูเกิลจะพบสินค้าแล้ว เพราะเริ่มเปิดตัว Google product search หรือ Google shopping ที่กดปุ๊บซื้อได้เลย ฉะนั้น โฆษณารูปแบบใหม่ ๆ ที่จะมาตอบสนองอีคอมเมิร์ซจะเปิดตัวมากขึ้น

และเก่งขึ้น เริ่มมี AI, Chatbot หรือบริการที่เอา data มาวิเคราะห์ทำให้เจ้าของสินค้าเข้าถึงลูกค้าง่ายขึ้น เข้าใจลูกค้ามากขึ้น เริ่มทำ marketing automation ที่จะมีการใช้คนน้อยลง ฉะนั้นปีนี้บอกได้เลยว่าเครื่องมือเก่งขึ้น ช่องทางดีขึ้น ระบบชำระเงินดีขึ้น คนพัฒนามากขึ้น การแข่งขันสูงขึ้น ทุกอย่างจะไปเร็วกว่าเดิม

นอกจากนี้ การแข่งขันอีคอมเมิร์ซก็จะรุนแรงมากขึ้นด้วย จะมีผู้เล่นใหม่เพิ่มเข้ามา ตอนนี้ประเทศเพื่อนบ้านเราหลายประเทศก็เริ่มพยายามเอาสินค้าของเขาออกมาขายในบ้านเราแล้ว

ถึงตรงนี้อยากให้ทุกท่านทบทวนดูว่า ธุรกิจของท่านทำอะไรไปแล้วบ้าง ลงทุนไปเท่าไหร่ ทำการตลาดออนไลน์เท่าไหร่ ยอดขายเป็นอย่างไร ใช้เม็ดเงินซื้อโฆษณาออนไลน์เท่าไหร่ ฯลฯ และนำสิ่งที่ได้จากการทบทวนนี้มาปรับปรุง อะไรที่ยังไม่มีก็ควรจัดหา ถ้ายังไม่มีผู้ช่วยก็ต้องหา เพราะการแข่งขันจะรุนแรงขึ้นอีกมากเลยนะครับ


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : #e-Commerce #2018 สู่ 2019

view