สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เวทียูโรมันนี่ ไทยแลนด์ กูรูแนะ 3 ปัจจัยสร้างศก.แกร่ง การศึกษา-เกษตร-โครงสร้างพื้นฐาน

 

จากประชาชาติธุรกิจ

ผู้เชี่ยวชาญประสานเสียงไทยต้องเร่งลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา พร้อมเพิ่มผลิตภาพภาคเกษตร เพื่อหนุนเศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต มองนโยบายกระตุ้นของรัฐบาลได้ผลดีในระยะสั้น แนะควรถอนมาตรการในเวลาที่เหมาะสม และวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวแทน

 ผู้เชี่ยวชาญประสานเสียงไทยต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา พร้อมเพิ่มผลิตภาพภาคเกษตร เพื่อหนุนเศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต มองนโยบายกระตุ้นของรัฐบาลได้ผลดีในระยะสั้น แนะควรถอนมาตรการในเวลาที่เหมาะสม และวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวแทน
 ระหว่างการอภิปรายหัวข้อ "ประเทศไทยในปี 2553: การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้ม ในงานยูโรมันนี่ ไทยแลนด์ อินเวสเมนต์ ฟอรั่ม ครั้งที่ 4"  นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุน มองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีพื้นฐานที่ดี และมีแนวโน้มในการเติบโตดี แม้ว่าจะเผชิญกับปัญหาการเมืองภายใน และได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจของต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม หากไทยต้องการเห็นเศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ก็จำเป็นต้องปรับปรุงองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และภาคเกษตรกรรม
 โดยผู้เชี่ยวชาญแสดงความคิดเห็นว่า การศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ และภาคอุตสาหกรรมซึ่งนายดีน แวน ดราเส็ก กรรมการบริหารของบริษัทเอเค พาร์ทเนอร์ส แอนด์ อาร์ช แอดไวซอรี่ อธิบายว่า ไทยไม่ได้เตรียมพร้อมนักเรียนให้ดีพอสำหรับการทำงานสายอาชีพ เช่น  วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ต้องการเห็นไทยลงทุนด้านการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา เพราะโดยทั่วไปการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยอยู่ในระดับดีอยู่แล้ว แต่ควรเน้นด้านวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น
 "บริษัทต่างตระหนักดีกว่าวิศวกรไทยมีคุณภาพดีมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอย่างจีนและเวียดนาม แต่ปัญหาคือ บริษัทต่างชาติไม่มั่นใจว่าจะมีวิศวกรมากเพียงพอกับความต้องการ ดังนั้นบริษัทจึงต้องไปลงทุนในประเทศที่มีแรงงานด้านนี้เพียงพอ หรือไม่ ไทยก็ต้องผ่อนคลายกฎวีซ่าทำงานของแรงงานฝีมือต่างชาติ เพื่อช่วยให้บริษัทต่างชาติสามารถเดำเนินกิจการในไทยได้สะดวกขึ้น"
 เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นอาเซียน พบว่า ไทยมีกฎควบคุมการนำเข้าแรงงานต่างชาติจบใหม่ที่เคร่งครัดกว่า ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับบางธุรกิจ เช่น ธุรกิจออกแบบ และธุรกิจไฮเทค ซึ่งหากแก้ปัญหานี้ได้ ก็จะช่วยให้ไทยสามารถดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น
 ทั้งนี้ภาครัฐและภาคเอกชนสามารถร่วมมือกันเพื่อพัฒนาการศึกษา โดยภาครัฐจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมเน้นด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เพิ่มผลตอบแทนให้กับครู ขณะที่ภาคเอกชนสามารถมีบทบาทมากขึ้นในการฝึกอาชีพของแรงงาน
 พร้อมกันนี้ไทยต้องเพิ่มการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหากเปิดโอกาสให้ต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนในส่วนนี้มากขึ้น ไทยก็จะสามารถดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้นเช่นกัน
 ขณะเดียวกันนายบิเนย์ ชานด์โกเทีย ประธานฝ่ายการลงทุนของพรินซิเพิล โกลบอล อินเวสเตอร์ ฮ่องกง เห็นว่า ไทยควรพยายามเพิ่มผลิตภาพภาคเกษตรกรรม เพราะตอนนี้ไทยมีตลาดส่งออกอยู่แล้ว และไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร คนก็ต้องบริโภคอาหาร ดังนั้นอุตสาหกรรมนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
 นอกจากนี้นายเอริค จี. จอห์น เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ระบุว่า บริษัทอเมริกันมองว่าไทยเป็นแหล่งลงทุนที่ดี มีแรงงานฝีมือคุณภาพ มีโครงสร้างพื้นฐานดี และสามารถเป็นศูนย์กลางการผลิตที่เหมาะสมสำหรับส่งออกสินค้าไปยังอาเซียน
 ส่วนในแง่ของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของไทยนั้น ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นว่า นโยบายปัจจุบันทำได้ง่าย แต่ให้ผลในระยะสั้น รัฐบาลควรคิดเปลี่ยนนโยบาย ไม่ควรผลักภาระไปในอนาคต แต่ควรปรับนโยบายมาเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการศึกษาที่ส่งผลดีในระยะยาว
 ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของนายบิเนย์ ที่ว่า รัฐบาลต้องยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเวลาที่เหมาะสม ไม่เช่นนั้นจะประสบปัญหาในอนาคต

Tags : เวทียูโรมันนี่ ไทยแลนด์ กูรู ปัจจัยสร้างศก.แกร่ง การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน

view