สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ประสารไตรรัตน์วรกุล จากราชดำเนิน... สู่วังบางขุนพรหม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : วีระศักดิ์ พงศ์อักษร


คงยากที่จะคาด คิดว่า..นักศึกษาหนุ่ม นักกิจกรรมเมื่อ เดือนตุลาคม 2516 ที่มักจะยึดฐานที่มั่นถนน"ราชดำเนิน"
บอกกล่าวอุดมการณ์ของตัวเอง ให้สาธารณะชนได้รับทราบ จะสามารถก้าวขึ้นมา ดำรงตำแหน่ง"ผู้ว่าการแบงก์ชาติ" แห่งวังบางขุนพรหม

"ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" หลายคนอาจลืมเลือนไปว่า เขาคือคีย์สำคัญคนหนึ่งในจุดเปลี่ยนของเหตุการณ์วิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ในฐานะนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะนั้นกับหน้าที่เจรจากับรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 13 คน ซึ่งได้ผลเมื่อรัฐบาลยอมปล่อยตัวผู้ต้องขังทันที โดยไม่มีเงื่อนไข พร้อมทั้งยืนยันว่า จะมีการร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จก่อนเดือนตุลาคม 2517

เพียงแต่ข่าวสารบทสรุปจากกลุ่มเจรจา ที่มี ดร.ประสาร นำทีม กับกลุ่ม"เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" ที่ดูแลมวลชน อยู่นั้น ส่งกันไม่กระจ่าง บวกกับอารมณ์ของมวลชน ที่กรุ่นมาตลอด และอยากให้มียกร่างรัฐธรรมนูญทันที จึงนำไปสู่การเคลื่อนไหวใหญ่ดังกล่าว

 จึงมีคำถามย้อนกลับไปว่าหากวันนั้น สาส์นที่ ดร.ประสาร ได้ข้อสรุปมานั้น เราอยู่ในโลก ทวิตเตอร์หรือ บีบี เช่นวันนี้ จะเกิดวันวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 หรือไม่?

ปริศนา 14 ตุลาคม 2546 ยังคง"เทา"อยู่จนถึงวันนี้..ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล น่าจะมีบทสรุปของตัวเอง เพียงแต่จะบอกกล่าวกับสังคมหรือไม่เท่านั้นเอง

เมื่อดูบทบาทในเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516  "เขา"น่าจะถูกจดจำและเอ่ยถึงในชื่อ"คนเดือนตุลาฯ" เหมือนเพื่อนร่วมรุ่นอีกหลายคน!

แล้วทำไม?

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหลังเหตุการณ์วิปโยคครั้งนั้นต่อเนื่องมาถึง 6 ตุลาคม 2519  เพื่อนๆหลายคนเลือกที่จะ"เข้าป่า"เดินตามความเชื่อของ"ทฤษฎีเหมาเจ๋อตุง" ต่อต้านระบบทุนนิยม ปฎิวัติประเทศไทย

แต่ "เขา"เลือกที่จะเข้าป่าคอนกรีต ศูนย์กลางของทุนนิยมโลก ...สหรัฐอเมริกา

เพราะหลังจาก ดร.ประสาร จบวิศวะไฟฟ้า เกียรตินิยมอันดับ 1 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2517 แล้ว  หลังจากนั้น ในปี 2519 เลือกเรียนต่อที่สหรัฐ และที่สำคัญยังได้รับพระราชทานทุนจาก"มูลนิธิอานันทมหิดล"แผนกวิศวะกรรม ศาสตร์

....จึงเป็นอีกพันธะกิจสำคัญของเขา ในการบริหารจัดการ มูลนิธิฯอานันทมหิดล จนถึงทุกวันนี้..

ขณะเดียวกันหลังจบด้านการบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา จนได้ปริญญาเอกออกมาในปี 2524 แล้วในปี พ.ศ. 2526  ดร.ประสาร ได้กำหนดวิถีชีวิต ตัวเองอีกครั้ง

ตัดสินใจเข้ามาทำงานที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย ในตำแหน่ง เศรษฐกร ฝ่ายวิชาการ ก่อนที่จะขยับมาเป็น หัวหน้าหน่วย ฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์  และขึ้นมาถึง รองผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน ก่อนที่จะกระโดด ตามคำเชิญของรุ่นพี่ ฮาร์วาร์ด "เอกกมล คีรีวัฒน์" เลขาธิการ ก.ล.ต.คนแรก

เข้ามารับตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในปี 2535 ก่อนที่จะได้รับเลือกเป็นเลขาธิการฯในปี 2542 จนถึงปี 2546

เชี่ยวชาญครบสูตร..ทั้งตลาดเงินและตลาดทุน

นี้อาจจะเป็นย่างก้าวแรก...ที่นำเขาเดินมาสู่เส้นทางในตำแหน่งผู้ว่าการ แบงก์ชาติ ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อ 6 ก.ค.2553

เพราะทุกชะตากรรม ล้วนมีที่มา !

หากดูเฉพาะความชำนาญ หรือมีความรู้ครบสูตร ทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน รวมถึงบริหารธุรกิจธนาคาร เขาคงไม่สามารถชนะใจคณะกรรมการสรรหา และ"กรณ์ จาติกวณิช" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  ที่เสนอชื่อเขา เข้าที่ประชุม ครม.อย่างแน่นอน

ในส่วนของกรรมการสรรหาฯ ยังไม่มีการเปิดเผยคะแนนและเหตุผล แต่มีรายงานว่า คะแนนดร.ประสาร มาเป็นอันดับ 1 ซึ่งถือเป็นคะแนนสูงสุดทิ้งห่างอันดับ 2 และ3 คือ ดร.บัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพนโยบายการเงิน  ธปท. และดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ดร.บัณฑิตและ ดร.พิสิฐ มีคะแนนสูสีหรือใกล้เคียงกัน ขณะที่นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) คะแนนรั้งท้าย

สาเหตุที่คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ ธปท.เลือกดร.ประสาร นั้น มีอยู่ 4 เหตุผลหลัก 1 .เชื่อมั่นว่า จะบริหารธปท.ภายใต้ภาวะวิกฤติได้ดี 2.มีหิริโอตัปปะ หรือมีความละอายต่อการกระทำผิด 3.ผ่านการทำงานภาคเอกชนมาก่อน คือ ธนาคารกสิกรไทย และ 4.มีความรู้ด้านตลาดทุนอย่างดี โดยผ่านงานด้านตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต.มาก่อน และมีผลงานที่ดีสมัยเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต.ได้รับการยอมรับทั้งจากนักลงทุนและนักวิชาการรวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ

ส่วนในทัศนะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นั้นบทสรุปที่ให้สัมภาษณ์หลังมติครม.น่าจะเป็นคำตอบที่ตรงและชัดเจนที่สุด

" มีคุณสมบัติที่โดดเด่น มีประวัติที่เป็นที่รับรู้กันในสังคม เป็นคนที่มีจริยธรรม มีความเป็นมืออาชีพ และผมเองเคยร่วมงานกับดร.ประสารมาก่อน ในสมัยที่เป็นเลขาธิการก.ล.ต.ถือเป็นผู้นำองค์กรที่มีความเหมาะสม เพราะเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และมีประสบการณ์การทำงาน ที่ตรงกับความต้องการ ในตำแหน่งผู้ว่าการธปท."

ยิ่งหากพิจารณาแนวทางตัดสินใจ 13 ข้อที่ กรณ์ จาติกวณิช ระบุ ผ่าน เฟซบุ๊กก่อนนำเสนอเข้า ครม.นั้น ยิ่งชัดเจนที่สุดว่า ดร.ประสาร เหมาะสม ทั้ง 13 ข้อ

1. ความซื่อสัตย์ สุจริตที่ไม่เคยมีที่ตำหนิ 2. ความเข้าใจที่ลึกซึ้งในระบบเศรษฐกิจของประเทศ และของโลก 3. ประสบการณ์ในการบริหารองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งความรู้ 4. ความแน่วแน่ในการรักษาหลักความเป็นอิสระของธนาคารชาติ ในการตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ โดยไม่ยอมรับการกดดันโดยนักการเมืองที่อาจจะหวังผลตอบแทนในระยะสั้น

5. ความรู้ความเข้าใจในระบบเศรษฐกิจที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ 6. ความสามารถในการตัดสินใจที่ชัดเจน และในระยะเวลาที่เหมาะสม 7. วิสัยทัศน์และความเข้าใจในวิธีการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินของประเทศ เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว 8. ความมุ่งมั่นที่จะบังคับใช้กฎเกณฑ์ และกฎหมายในการควบคุมดูแลสถาบันการเงิน 9. ความมุ่งมั่นในการปกป้องเงินทุนสำรองของประเทศ

10. ความยืดหยุ่น และความเข้าใจผลของการตัดสินใจในโลกของความเป็นจริง ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง 11. การมีสามัญสำนึกที่ดี 12. จิตสำนึกในหน้าที่การกำกับดูแลโดยมองถึงประโยชน์ของประชาชน และ13. เป็นคนดี มีจริยธรรม และจิตสำนึกอันงาม

จริงอยู่ตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติ ที่มีจากการสรรหา"คนแรก"ในช่วง 5 ปีนี้ยากที่การเมือง จะแทรกแซงภายใต้กฎหมายแบงก์ชาติฉบับใหม่ที่เคร่งครัด แต่ แรงกดดันทางสังคมมากกว่าที่จะเป็น"ผู้ประเมิน" อย่างแท้จริง

โจทย์ที่นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ไว้ดูเหมือนจะตรงใจอีกหลายคนในสังคมนี้ โดยเฉพาะปัญหา"ส่วนต่างดอกเบี้ยและค่าเงินบาท" ที่มักจะมีการร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง เกือบทุกอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ

ความคาดหวังที่สูงค่าในตัว"ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล"...อีกด้านหนึ่งหากลงสู่ภาคปฎิบัติแล้ว ทำไม่สำเร็จ สังคมผิดหวังกันทั่วหน้า แรงเหวี่ยงที่รุนแรงจะวกกลับมาสู่ คนเดือนตุลาฯ ท่านนี้

แต่หากเขาย้อนกลับไปทบทวน แนวทางของตัวเองช่วงเป็นนิสิตนักศึกษา เดินตาม"ไอดอล" ตัวเอง ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี 2515

ยิ่งก่อนหน้านี้ ดร.ป๋วย ได้วางรากฐานในการบริหารแบงก์ชาติ สืบทอดมาอย่างยาวนาน" ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล"ก็น่าจะซึมซับได้ไม่มากก็น้อย

ดังนั้นภูมิคุ้มกันตามแนวทางที่ปรมาจารย์ วางไว้หาก ยังคงยึดเป็น"ไอดอล"อย่างต่อเนื่อง รับประกันได้เลยว่า คุณประโยชน์และประวัติการทำงานที่ได้รับการเคารพและนับถือมาตลอดนั้น จะผลักดันเขาขึ้นไปมากกว่านี้

ตำแหน่ง ผู้ว่าการแบงก์ชาติ สำหรับ"ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล"แล้วอาจจะไม่ใช่เส้นทางสูงสุด ในชีวิตคนเดือนตุลาฯท่านนี้ก็เป็นได้ !

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 9 กรกฎาคม 2553

Tags : ประสารไตรรัตน์วรกุล ราชดำเนิน วังบางขุนพรหม

view