สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ระดม สมอง 5 นักวิชาการ (1) ถอดบทเรียน ปัญหาเชิงโครงสร้าง

จากประชาชาติธุรกิจ



ปฏิรูป ประเทศ สะสางปัญหาเชิงโครงสร้าง ถือเป็น วาทกรรมที่ได้ยินบ่อยตั้งแต่การเมืองบนท้องถนนร้อนแรง จนกระทั่งเหตุการณ์ 19 พฤษภาคมผ่านพ้น ไปแล้ว วาทกรรมนี้ยิ่งดังถี่ยิบผ่านการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล หรือตามวงเสวนา และเวทีระดมความคิดเห็นต่าง ๆ

แต่จะปฏิรูปอะไร ปัญหาอยู่ตรงไหน จะดำเนินไปในทิศทางใด เป็นหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการที่ "ประชาชาติธุรกิจ" เชื้อเชิญมารวมระดมความเห็นวงเล็ก ๆ 4-5 ท่าน เห็นสอดคล้องกัน และช่วยกันหาคำตอบไปทีละประเด็น

"บรรยง พงษ์พานิช" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ภัทร เป็นคนแรกที่เริ่มนับหนึ่งกับคำถามข้างต้นในฐานะ "นายทุน" ที่ทุ่มเทศึกษาปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยเหตุผลส่วนตัวว่าปัญหามีอยู่แต่ไม่แก้ หรือไม่ทำอะไรเลย "จะเป็นอุปสรรคต่อตัวผม อยากจะแข่งขันในระบบที่เป็นธรรม มีโครงสร้างที่เป็นธรรม" และ "อยากใช้ชีวิตหลังเกษียณในประเทศที่เจริญและสงบเรียบร้อย"

หลังเอา ข้อมูลเชิงประจักษ์ และงานศึกษา "ความเหลื่อมล้ำ" ของนักวิชาการมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ร่วมกัน วางกรอบตั้งแต่วิกฤต และหลังกระบวนการแก้วิกฤต ถึงปัจจุบัน ก็พบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ และตอกย้ำว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนั้นมีอยู่จริง

ประเด็นแรก การเปลี่ยนโครงสร้างของตลาดแรงงาน เดิมปี 2541 ตลาดแรงงานมี 30 ล้านคน แล้วพอปี 2552 ตลาดแรงงานเพิ่มเป็น 39 ล้านคน ใครก็ตามที่เข้าตลาดก็ดีหมด เพราะมันพ้นเส้นความยากจน ตอบคำถามได้ว่า ทำไมความยากจนลดต่อเนื่องจาก 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ เหลือ 8%

ประเด็นที่ 2 พอพูดถึงความเหลื่อมล้ำเมื่อพิจารณาที่ตัววัดความเหลื่อมล้ำ เปรียบเทียบรายได้ประชากรกลุ่มที่รวยที่สุด 20% แรกเทียบกับประชากรที่มีรายได้น้อยที่สุดหรือจนที่สุด 20% ล่าสุด จากข้อมูลของสำนักงานสถิติพบว่า ในปี 2529 อยู่ที่ 12.8 เท่า และขึ้นไปเกือบ 15 เท่า ในปี 2542 และเป็น 12.7 เท่า ในปี 2551 ซึ่งถือว่าดีขึ้นและไม่ได้เลวร้าย

คำถามคือ ทำไมถึงมาแตกแยกแม้ผลสำรวจหรือนักวิชาการจะบอกว่า ปัญหาเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องสำคัญ เป็นเรื่องประชาธิปไตยก็ว่าไป แต่สิ่งที่บรรยงหยิบมาเป็นประเด็น คือ ประการแรก ตลาดแรงงานที่เพิ่มจาก 30 ล้านคน เป็น 39 ล้านคน เมื่อไปดูข้อมูลเชิงลึก แรงงานภาคเกษตร ลดจาก 46% เหลือ 38 ล้านคน แต่ตัวเลขนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 25% ในปี 2541 เป็น 29% ในปี 2552

ถ้ารวมตลาดแรงงานทักษะต่ำ 2 ภาคนี้เข้าด้วยกัน จะเป็น 48 เท่าเดิม ซึ่งมาจากการย้ายจากเกษตรมาสู่แรงงานทักษะต่ำ ซึ่งยืนยันข้อเท็จจริงที่ว่า แรงงานที่เพิ่มขึ้น 8 ล้านคนในเซ็กเตอร์เหล่านี้ เพิ่มในภาคเกษตรในสัดส่วนที่น้อยกว่าสัดส่วนเดิมของเขา

นั่นหมาย ความว่า คนจนในชนบทมาเป็นสัดส่วนของคนจนเมืองมากขึ้น ซึ่งนักสังคมบางคนมองว่า คนจนเมืองเหล่านี้จะมีความสัมพันธ์กับชนบทสูง เพราะมาจากฐานครอบครัวเดียวกัน

และหากวิเคราะห์รวมไปถึงพัฒนาการ หนึ่งที่ไม่อยู่ในตัวเลขนี้ คือ แรงงานในภาคการผลิตอย่างไม่เป็นทางการ หาบเร่ แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์ แม้จะไม่มีตัวเลขที่แน่ชัด แต่ก็พอมองเห็นชัดว่า ตัวเลขเพิ่มขึ้น

บรรยงตั้งข้อสังเกตว่า ความที่คนจนเมืองเชื่อมต่อกับชนบท หลายเรื่องก็เป็นเรื่องของความรู้สึก ดังที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยยกตัวอย่างจลาจลคนดำในสหรัฐทศวรรษ 1960 ในชิคาโก ดีทรอยต์ ในพิตส์เบิร์ก ว่า ในตอนนั้นคนดำมีปัญหาจลาจลทั้ง ๆ ที่เป็นคนดำในเมือง และมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าคนดำในฟาร์มเทกซัส แอตแลนตา จอร์เจีย

บทเรียนดังกล่าวสามารถนำมาเปรียบเทียบกับกลุ่ม "คนจนในเมือง" ของไทยได้ เนื่องจากตอนอยู่ในชนบทพวกเขาจะเจอคนอยู่แค่ 2 กลุ่ม ได้แก่ พ่อค้าคนกลาง และนายทุนเงินกู้ แต่พอมาอยู่ในเมืองก็จะเจอเยอะทั้ง 2 มาตรฐาน ความไม่เป็นธรรมและระบบอภิสิทธิ์ชนในทุกย่างก้าว เป็นลักษณะสังคมที่เรียกว่าถูกเหยียดหยาม แม้แต่ภาพที่ปรากฏในละครยังเห็นคนอีสานเป็นตัวตลก เรื่องพวกนี้มันสะสมทำให้เกิดความรู้ที่แตกต่างกันมาก ปัญหาใหญ่เกินกว่าจะเป็นเรื่องของรัฐบาล

เมื่อวิเคราะห์มาถึงประเด็น ความเหลื่อมล้ำทางสังคม วงเสวนาให้บทสรุปผ่านมุมมอง ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เรียกสิ่งนี้ว่า ความเหลื่อมล้ำที่สามารถสัมผัสได้จากความรู้สึก

ความ รู้สึกของคนกลุ่มนี้มาได้อย่างไร คำตอบย้อนกลับไปอ้างอิงตัวเลขที่ บล.ภัทรเอามาสังเคราะห์ใหม่ โดยเฉพาะ "ส่วนแบ่งในระบบเศรษฐกิจ" ซึ่งเขาได้จัดแบ่งกลุ่มผู้มีส่วนแบ่งในระบบเศรษฐกิจออกเป็น "กลุ่มที่รับค่าจ้าง : wage income" กับ "กลุ่มที่ไม่รับค่าจ้าง : nonwage income" ทำให้พบว่าส่วนแบ่งในระบบเศรษฐกิจของกลุ่มรับค่าจ้างที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงาน ไม่มีทักษะหรือไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีรายได้ลดลงจาก 44% ในปี 2541 ลงเหลือ 39% ในปี 2551

แต่ส่วนแบ่งของกลุ่มไม่รับค่าจ้าง คือ ส่วนของเจ้าของทรัพย์สินหรือที่ดินกับเจ้าของทุนเพิ่มขึ้น โดยปี 2551 มีส่วนแบ่งอยู่ที่ 61% เพิ่มขึ้นจาก 56% ในปี 2541

สิ่งเหล่านี้ สะท้อนว่า พัฒนาการความเจริญของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังวิกฤต ผู้ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของทรัพย์สินกับเจ้าของทุน เพราะสัดส่วนของค่าจ้างแรงงานลดลงเมื่อเทียบกับ ผลตอบแทนจากทุน ค่าเช่า และอื่น ๆ ดังนั้นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจน่าจะเพิ่มขึ้น

ที่น่า สนใจ ส่วนแบ่งของเจ้าของทรัพย์สินหรือที่ดินในปี 2541 มีรายได้จากค่าเช่าและอื่น ๆ เป็นสัดส่วนต่อรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนถึง 26% แต่หลังวิกฤตปรับลดลงอย่างแรงเหลือเพียง 10% ในปี 2546 และกระเตื้องขึ้นบ้างแต่ไม่มาก ขณะที่ส่วนของเจ้าของทุนมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวเลขภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2541 อยู่ที่ 6% แล้วปรับเพิ่มขึ้นเป็น 13% ในปี 2552

ตัวเลขเหล่า นี้ให้ข้อสรุปอย่างชัดเจนว่า "เจ้าของทุน" ได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา เทียบกับคนที่รับค่าจ้างได้ส่วนแบ่งน้อยลง แม้ว่าชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาจะดีขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ

นัก วิชาการทีดีอาร์ไอตั้งข้อสังเกตว่า พอคนเริ่มหายจนก็ไม่ได้สนใจความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่กลับมาเริ่มคิดในเรื่องการอยากแสดงความคิดเห็น อยากเรียกร้อง อยากมีสิทธิมีเสียงเท่ากับคนกลุ่มอื่น ๆ แม้แต่ผู้ประกอบการขนาดเล็กก็เป็นกลุ่มที่น่าสนใจ และมีส่วนเชื่อมโยงกับภาคเกษตร คนกลุ่มนี้เมื่อมามีชีวิตในเมือง มีโลกทัศน์ที่กว้างขวางขึ้น พวกเขาก็เริ่มเรียกร้องการจัดการที่ดีขึ้น

นี่ อาจเป็นเหตุผลที่กลุ่มเสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง

ดร.สมชัย โยนประเด็นกลับมาที่คน 10% ที่อยู่ยอดบนสุดของสามเหลี่ยม คนเหล่านี้อยู่ในฟากของ "ซัพพลาย" ซึ่งที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้ไม่เคยต้องแก้ปัญหาและไม่คิดจะแก้ เนื่องจากพวกเขาพอใจกับประโยชน์ที่ได้รับอยู่แล้ว ซึ่งในอดีตคนอีกฟากหนึ่ง คือ ฝั่ง "ดีมานด์" ไม่มีใครคิดอยากจะเรียกร้องอะไร เพิ่งจะมาเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่คนในฝั่งนี้คิดอยากจะเรียกร้องทวงสิทธิ์ของพวกเขาบ้าง และเริ่มเป็นเสียงที่ "ไม่ฟังไม่ได้แล้ว" ดังนั้นฝั่งที่เป็น "policy maker" 10% ของประชากร ถ้าไม่ปรับตัวผมไม่คิดว่าเขาจะอยู่ได้

ปัญหา เชิงโครงสร้าง พูดกันมากมาย แต่ปัญหาหนึ่งที่ไม่เคยทำกันเลยในมุมมองของ สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ คือ การขาดการมองปัญหาเชิงโครงสร้างต่าง ๆ แบบ "เชื่อมโยงในเชิงบูรณาการ" ดังนั้นเวลาจะแก้ไขปัญหาก็จะทำในลักษณะแยกส่วน

เช่น พอพูดถึงเรื่องการศึกษาก็จำแนกปัญหาออกมาว่า การศึกษามีปัญหา 10 ข้อ ไปคิดวิธีแก้กันมา หรือปัญหาเศรษฐกิจมีเท่านี้ข้อ ก็ไปคิดทางแก้มา ทำกันมาเช่นนั้นตลอด

เธอมองว่า วิกฤตการณ์เมืองที่ผ่านมาจึงถือเป็นโอกาส เพราะว่าปัญหาที่ถูกสะท้อนออกมาในระยะหลัง ๆ ล้วนมีส่วนถูก ไม่ว่าจะเป็นข้อเรียกร้องทางการเมือง หรือแม้กระทั่งปัญหาเศรษฐกิจก็มีส่วนสำคัญด้วยเหมือนกัน เพราะปัญหาในลักษณะนี้มีความซับซ้อน ย่อมมีสาเหตุมากกว่า 1 และทุกอย่างต้องประกอบกัน

"ปัญหาหนึ่งที่วิกฤตการเมืองสะท้อนออกมา คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของรัฐบาล แต่มันส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันดังที่ ดร.สมชัยพูดถึงเรื่องการที่ไทยใช้ cheap labor model มาโดยตลอด ซึ่งหากไม่มีจีน อินเดีย หรือเวียดนาม ไม่มีประเทศที่ด้อยกว่า เราก็ยังใช้ไปได้เรื่อย ๆ

cheap labor เป็นประเด็นที่ ดร.สมชัยหยิบยกมาพูดถึง โดยมองว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ค่าแรงในภาคการผลิตของไทยถูกกดอยู่ในระบบ ประกอบกับมีการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทนด้วย ก็ช่วยให้ภาคธุรกิจเอกชนสามารถตรึงค่าจ้างให้อยู่ในระดับต่ำได้ต่อไป ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ควรจะเปลี่ยนได้แล้ว เพราะมีผลต่อเนื่องต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากภาพลวงตาที่เกิดขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจของไทยไม่จำเป็นต้องปรับตัว

ใน อดีตโมเดลเหล่านี้อาจได้ผล เพราะที่ผ่านมานายทุนหรือพวกแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (rent seeking) และฐานล่างต่าง ได้รับประโยชน์ แต่ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่ง "ต้องให้เครดิตแก่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เขามองเห็นและสามารถออกแพ็กเกจมา เพราะเข้าใจว่ามีคนกลุ่มนี้อยู่ ดังนั้น 30-40% จึงไม่ได้จนอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นพอมีตรงนี้พวกเขาจึงรู้สึกว่ามีสิทธิ์ที่จะเรียกร้อง ใช่ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำมันไม่เคยมี แต่เขาไม่เคยมองในลักษณะของ subjective"

สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องดี เพราะทำให้กลุ่ม 10% ที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมา เริ่มคำนึงว่าสิ่งเหล่านี้คือ "ต้นทุน" ที่พวกเขาต้องประเมินรวมไว้ด้วย เป็นต้นทุนในตัวเอง เพราะคนที่ควรจะได้ขึ้นค่าแรงก็ไม่ได้ขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นต้นทุนของความสามารถในการแข่งขันด้วย เพราะประเทศอื่น ๆ ก็ไล่เรามาเช่นกัน ซึ่งถึงจุดนี้ก็ควรจะเลิกใช้ cheap labor model เพราะไม่ยั่งยืน

อีกปัญหาที่สำคัญที่ควรจะมอง คือ อีก 10 ปีถ้าเราไม่ทำอะไรเลย อะไรจะเกิดขึ้น ปัญหาขยะ น้ำเสีย หรือการขาดแคลนน้ำ ดังที่เกิดขึ้นกับเขื่อนป่าสักฯ ซึ่งไม่เคยมีใครคิดว่ามันจะเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้น ทุกปัญหามันพันกันหมด ดังนั้นพวกเราควรเริ่มสำรวจหาว่า อะไรคือต้นทุนของเรา แล้วคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

ประเด็น สุดท้ายที่เชื่อมโยงกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่นักวิชาการอิสระท่านนี้ไม่อยาก ให้ถูกมองข้าม คือ การขาดการถอดบทเรียน เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะมีปัญหาใดเกิดขึ้นมาก็ตาม จะไม่มีการศึกษาและถอดบทเรียน และแม้ว่าสภาพัฒน์จะศึกษาและจัดทำรายงานไว้ แต่เนื่องจากเราไม่มีวัฒนธรรมในการวิพากษ์วิจารณ์ ถกเถียงในประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการลองผิดลองถูก

เมื่อ ถอดบทเรียนก็ควรจะยอมรับ ไม่ทำสิ่งนั้นอีก ที่ผ่านมาสิ่งที่ทำกันเป็นเพียงการประชาสัมพันธ์ผลงานโดยไม่เอาความจริงมา พูด

ระบบของการลองผิดลองถูก ต้องทำใจ กล้าที่จะยอมรับความจริงว่า มันล้มเหลวได้ และเมื่อล้มเหลวก็ต้องมาหาว่า อะไรทำให้ระบบล้มเหลว

อีกหนึ่งปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะท้อนออกมา ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า "ความเหลื่อมล้ำในเรื่องของโอกาส" เป็นสิ่งที่ทำให้คนรู้สึก "เคือง" ได้มาก ซึ่งในบ้านเราเรื่องของโอกาสดูตัวอย่างได้ง่ายมาก จากโอกาสในการเข้าถึงบริการดี โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษาและบริการสาธารณสุข

เขาตั้งข้อสังเกตว่า ในเรื่องการศึกษานั้นเป็นนโยบายหนึ่งที่ประเทศไทยลงทุนไปเยอะมาก แต่ผลลัพธ์ที่ได้ยังไม่ถึงเป้าหมาย โดยตัวอย่างที่เข้าใจง่าย ๆ และมีอยู่ในชีวิตจริงของสังคมไทย คือ การที่พ่อแม่พยายามที่จะให้ลูกได้เข้าเรียนในโรงเรียนดี ๆ เพราะคาดหวังว่าโรงเรียนดี ๆ เหล่านั้นจะเป็น "ตั๋ว" (ticketing) ที่ทำให้ลูกได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดี ๆ เช่น โรงเรียนสาธิต

เพราะ อะไร ? ดร.เศรษฐพุฒิชี้ว่า เพราะนั่นคือตั๋วที่จะทำให้ลูกมีโอกาสที่ดีกว่า ได้เข้ามหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง หากสังเกตดูโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่คนอยากเข้าและต้องเข้าให้ได้มักจะ กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ อีกทั้งเมื่อเข้าได้ค่าเรียนก็ไม่ได้แพง เพราะรัฐบาลให้เงินอุดหนุน ซึ่งหากมองลึก ๆ คนที่เข้าไปได้ก็ไม่ได้มาจากครอบครัวที่ยากจนอะไร กลายเป็นว่ากลุ่มคนที่มีโอกาส ดีกว่ากลุ่มอื่นอยู่แล้วก็ได้รับประโยชน์จากระบบการศึกษาไปด้วย

Tags : ระดมสมอง นักวิชาการ บทเรียน ปัญหาเชิงโครงสร้าง

view