สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เจาะเครือข่าย หุ้นปั่น ก.ล.ต.สาวถึง เจ้าพ่อปิคนิค เชื่อมโยงบริษัทรถหรู เอส.อี.ซี. ทิ้งซากคาตลาดหุ้น

 

จากประชาชาติธุรกิจ

หากย้อนรอยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลัก ทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่ได้กล่าวโทษนายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน และอดีตผู้บริหารของ บมจ.อีสเทิร์นไวร์ (EWC) ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.แคปปิทอล เอ็นจิเนียริ่ง เน็ตเวิร์ค (CEN) ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา

เนื่องจากได้ร่วมกันกระทำทุจริตผิดหน้าที่และยักยอก เงินของอีสเทิร์นไวร์ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้เพื่อตนเองหรือผู้อื่นในระหว่างปี 2547-2548 ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่อีสเทิร์นไวร์เป็นจำนวน 580.1 ล้านบาท จากช่วงเวลาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นั้นเป็นช่วงปีเดียวกับที่นายสุริยา นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อปี 2548 ในช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งเป็นยุครัฐบาล "ทักษิณ" ที่มีนโยบายเปิดเสรีเก็งกำไรตลาดหุ้นอย่างคึกคัก ซึ่งกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในช่วงนั้น คือ "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" เหตุการณ์สำคัญในช่วงนั้น หุ้นเล็กที่อยู่ในกลุ่มฟื้นฟูกิจการคึกคักมาก เพราะถูกปั่นราคาที่ถูกอยู่แล้ว และมีสภาพคล่องต่ำ โดยมีการเก็บหุ้นตุนไว้จนถึงระดับหนึ่งก็สร้างสตอรี่มีผู้ร่วมทุนรายใหม่ เข้ามากอบกู้ ทำให้นักเก็งกำไรทั้งขาใหญ่และแมงเม่าโดดเข้าหุ้นร้อนกันไม่ลืมหูลืมตา  


กลุ่มหุ้นที่เกี่ยวพันนักการเมืองและนักเล่นหุ้นขาใหญ่ มืออาชีพ ไม่เว้นแม้แต่นักปั่นหุ้นขาใหญ่อย่าง เสี่ยสอง วัชรศรีโรจน์ ก็ปรากฏชื่อในวงการอีกคน โดยหุ้นที่ถูกสปอตไลต์ส่องมาก มีประมาณ 4-5 บริษัท ประกอบไปด้วย บมจ.ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น (PICNI) บมจ.อีเอ็มซี (EMC) บมจ.อีสเทิร์นไวร์ (EWC) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บมจ.แคปปิทอล เอ็นจิเนียริ่ง เน็ตเวิร์ค (CEN), บมจ.อกริเพียว โฮลดิ้งส์ (APURE) และ บมจ.เพาเวอร์-พี (PP) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อย่อเป็น POWER   หากย้อนดูการเคลื่อนไหวของหุ้นเหล่านี้ในช่วงเวลานั้น หุ้นปิคนิคถูกโฟกัสมากที่สุด เพราะปรากฏชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นตระกูล "ลาภวิสุทธิสิน" ถือหุ้นสัดส่วน 13.75% ในปี 2545 และกระโดดมาเป็น 58.09% ในปี 2546 หลังจากนั้นราคาหุ้นก็ทะยานขึ้นทำสถิติสูงสุด 80 บาทต่อหุ้น ในช่วงปี 2547-2548 ในช่วงเดียวกัน หุ้นอีเอ็มซีก็ย้ายจากกลุ่มฟื้นฟูเข้ามาซื้อขายในกระดานปกติในช่วงปี 2546 มีชื่อ "สุริยา" นั่งเป็นกรรมการในปี 2547 พร้อมกับมีชื่อ "พายัพ ชินวัตร" และลูกชาย "ฤภพ ชินวัตร" เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ดันราคาหุ้นขึ้นไป 7 บาท หุ้น 2 ตัวนี้ถูกจับโยนกันไปโยนกันมาจนติดตลาดเก็งกำไร   หลังจากหุ้นรีแฮปโก้จุดพลุนักเก็งกำไรติดตลาดแล้ว หุ้นที่เหลือต่างพาเหรดออกมาซื้อขายในกระดานปกติเช่นกัน มีทั้งหุ้นอีสเทิร์นไวร์ ที่ได้ผู้ถือหุ้นใหม่ที่ถูกโยงเกี่ยวข้องกับ "สุริยา" รวมทั้งยังมี "คมกริช ลือจรรยา" เพื่อนโรงเรียนเซนต์ดอมินิก แม้แต่ "รัตนา เสถียรวารี" เป็นเพื่อนภรรยา "สุริยา" ก็ร่วมวงด้วย อีกทั้งยังข้ามไปถือหุ้นอกริเพียว โดยราคาหุ้นอีสเทิร์นไวร์พุ่งขึ้นมาแตะ 40 บาทต่อหุ้น จากนั้นวิ่งพรวดถึง 84 บาท ส่วนหุ้นอกริเพียว จากเปิดตัวกว่า 1 บาท วิ่งทะลุไปที่ 291 บาทต่อหุ้น  


มาตรการสกัดหุ้นร้อนของ ตลท.ในช่วงนั้น คือประกาศหยุดพักการซื้อขาย (H) และห้ามซื้อขายมาร์จิ้นและหักชำระบัญชีในหุ้นตัวเดียวกันในวันเดียวกัน (net settlement and margin trading) แต่ก็ไม่ได้ลดความร้อนแรงของหุ้นเหล่านี้ แม้จะมีการตรวจสอบความผิดปกติของราคาหุ้นและกลุ่มผู้เล่น แต่ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้   จนกระทั่งในช่วงเดือน มี.ค. 2548 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจพบความผิดปกติของงบการเงินปี 2547 ของปิคนิค ที่มีการตั้งค่าความนิยม (good will) ของราคาสินทรัพย์สูงถึง 1,049 ล้านบาท และสั่งแก้ไขงบการเงินดังกล่าว หลังจากนั้นยังตรวจสอบพบการตกแต่งบัญชีทำสัญญาและรับรู้รายได้ ซึ่งบันทึกเป็นการให้เช่าถังแก๊สไม่ถูกต้อง ซึ่งแต่ละรายการมูลค่านับพันล้านบาท และยังทุจริตให้กู้ยืมเงินจำนวน 85 ล้านบาท แก่นิติบุคคล 2 ราย ซึ่งเป็นการทำเพื่อประโยชน์ของอดีตผู้บริหารและบุคคลอื่น โดย ก.ล.ต.ดำเนินการกล่าวโทษตั้งแต่ 30 มิ.ย. 2548 แต่ก็ยังไม่สามารถสาวถึง "สุริยา" ได้ เพราะคนถูกกล่าวโทษคือ "ธีรัชชานนท์ ลาภวิสุทธิสิน" และ "สุภาพร ลาภวิสุทธิสิน" และบุคคลที่เกี่ยวข้องอีก 3 ราย และมีการกล่าวโทษเพิ่มเติมต่อมาในวันที่ 13 ต.ค. 2549  


จนกระทั่ง ก.ล.ต.ตรวจพบข้อมูล ทุจริต ยักยอกเงิน และหุ้นบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นทรัพย์สินของปิคนิค ที่มีการโอนหุ้นเวิลด์แก๊สให้เจ้าหนี้ในราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ 169 ล้านบาท จากมูลค่าเวิลด์แก๊สในปี 2547 อยู่ที่ 1,011 ล้านบาท จึงส่งผลให้ ก.ล.ต.สาวไปถึงตัว "สุริยา" และผู้เกี่ยวข้องในเวลาต่อมา   นอกจากนี้ ก.ล.ต.ยังเช็กบิลไปถึงหุ้นอีสเทิร์นไวร์ โดยในปี 2548 ที่พบความผิดปกติในรายการให้กู้ยืมเงินกับ บริษัท เจเจแลนด์ เดเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวโยงถึงภรรยาของ "สุริยา" และยังให้กู้ยืมเงินแก่ บมจ.สยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง (SGF) แม้ในช่วงเวลานั้นจะยังไม่สามารถกล่าวโทษได้ แต่ ก.ล.ต.ก็ยังเดินหน้ารวบรวมหลักฐานต่าง ๆ กว่า 5 ปี ถึงได้กล่าวโทษเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา  


การเชื่อมโยงเครือข่ายกลุ่ม "สุริยา" ยังพบว่าเกี่ยวข้องไปถึงหุ้นของ บมจ.เอส.อี.ซี. ออโต้เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส (SECC) ผู้นำเข้ารถหรูที่เข้าตลาดหุ้นได้ไม่นานก็โกยเงินผู้ถือหุ้นรายย่อยหนีหายไป ด้วยการเสกรถหายไปแบบไร้ร่องรอยจากคลังสินค้าถึง 493 คัน มูลค่า 1,409 ล้านบาท ซึ่ง ก.ล.ต.ตรวจสอบการทุจริตและยักยอกทรัพย์ของ "สมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์" ประธานกรรมการบริษัท และมี "สุริยา" ร่วมมือด้วยการปลอมแปลงชื่อ เพื่อยักยอกเงินบริษัทในรูปการกู้ยืมออกไปให้แก่บุคคล 4 ราย จำนวน 245 ล้านบาทอีก รวมทั้งยังพบการสร้างราคาหุ้นด้วย    


ทุกวันนี้บริษัทเหลือแต่ซากความเสีย หายที่ถูกทิ้งไว้ในตลาดหุ้น

Tags : หุ้นปั่น ก.ล.ต. เจ้าพ่อปิคนิค เอส.อี.ซี. ตลาดหุ้น

view