สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เครือข่ายคนรักป่าต้านผู้ว่าฯแพร่เกณฑ์คน หนุนสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เครือข่ายคนรัก ป่าแฉผู้ว่าฯจ.แพร่เกณฑ์ราชการ รัฐวิสาหกิจ ลูกจ้าง นักเรียนนักศึกษาชุมนุมหน้าศาลากลางนับหมื่นลงชื่อหนุนสร้างเขื่อนแก่งเสือ เต้น
จากกรณีที่ พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีแนวคิดในการรื้อฟื้นโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา น้ำแล้งนั้น เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเขื่อนทุกเขื่อนกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตไม่สามารถแก้ไข ปัญหาภัยแล้งได้ อีกทั้งนโยบายของจังหวัดแพร่ กำลังเร่งสร้างฝายทดน้ำหนึ่งล้านฝายเท่ากับเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเป็นนโยบายที่ทดแทนการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม ที่ได้ประโยชน์จริงในพื้นที่ อีกทั้งไม่ทำลายป่าและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

นายอุดม ศรีคำภา ประธานคณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า ชาวบ้านและคณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เห็นว่าการใช้สถานการณ์น้ำแล้งมาเป็นข้ออ้าง และเร่งผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น เป็นแนวความคิดที่ผิดพลาดและควรจะสรุปบทเรียนจากการสร้างเขื่อนต่างๆที่ผ่าน มา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตต่อไป

ขณะนี้คณะกรรมการกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ดังนี้

1.การจัดการโดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา เน้นแนวทางการจัดการน้ำที่ยั่งยืนทั้งระบบ

2.การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม

3.การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำ การทำแก้มลิง

4.การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม สามารถทำได้โดย ขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง  การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ

5.การปรับปรุงประสิทธิภาพ ในปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง ให้มีประสิทธิภาพตามที่โครงการกล่าวอ้างไว้

6.การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ตามแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณ เฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น

7.การพัฒนาระบบประปา ซึ่งมีความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 % ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้มีการประหยัดน้ำในฤดูแล้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น

8.ผลัดดันนโยบายจังหวัดแพร่ในการสร้างฝายทดน้ำหนึ่งล้านฝายเท่ากับเขื่อน แก่งเสือเต้น ซึ่งจะทำให้สภาพป่าเกิดความชุ่มชื้นและอุดมสมบูรณ์มากขึ้น อีกทั้งยังไม่กระทบกับป่าและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ผลการศึกษาไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

ที่ผ่านมาจากผลการศึกษาหลายๆหน่วยงานการวิจัย เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าไม่ สมควรสร้างเขื่อนแข่งเสือเต้น ได้แก่

1.จากการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของตัวเอง

2.จากการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น

3.จากการศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI) ด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน

4.จากการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยาน แห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก

5.จากการศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทย และมวลมนุษยชาติ

6.จากการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

7.จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

เรียกร้องยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น

1.ให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น อย่างเด็ดขาด เพื่อความผาสุกของชุมชนและคนทั้งชาติ

2.การดำเนินการ โครงการพัฒนาใดๆ ในลุ่มน้ำยม จะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการการพัฒนา บนทิศทางความยั่งยืนของทรัพยากรและความมั่นคงในวิถีชีวิตของประชาชน

3.ให้รัฐบาลสนับสนุน และส่งเสริมให้มีการดูแลรักษาป่า เพื่อให้เป็นป่าชุมชนของชาวบ้าน และให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการดูแลรักษาป่า

"เพี่อความสงบสุขของชุมชนและประเทศชาติ ขอยืนยันเรียกร้องให้ ฯพณฯ ยุติการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยการยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชน "นายอุดม กล่าว

ต้านผู้ว่าฯแพร่ ล่ารายชื่อและเกณฑ์ปชช. หนุนสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

ตามที่ท่านได้มีบัญชาให้หน่วยงานราชการทุกหน่วยงาน พนักงาน ลูกจ้าง รัฐวิสาหกิจ ได้เข้าร่วมชุมนุมสนับสนุนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และให้รวบรวมรายชื่อ-นามสกุล ลายมือชื่อ เลขบัตรประจำตัวประชาชน ของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง พร้อมด้วยสมาชิกในครอบครัว ไปมอบให้ทางจังหวัด ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2553 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดแพร่ อีกทั้งยังมีบัญชาไปยังสถานศึกษา และโรงเรียนทุกโรงเรียน ให้รวบรวมรายชื่อ ครู อาจารย์ นักเรียน และบุคลากรในสถานศึกษาในการสนับสนุนเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น

คณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตำบลสะเอียบ และกำนันผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งกลุ่มเยาวชนตะกอนยม เห็นว่าการกระทำของท่านเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิเด็กทั้งเด็กจากพื้นที่ที่ ได้รับผลกระทบจากโครงการ และเด็กในสถานศึกษาต่างๆ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นแต่อย่าง ใด

ทั้งนี้ปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนแก่ง เสือเต้นนั้น ได้เคยเกิดขึ้นขึ้นมาแล้วเมื่อสิบกว่าปีก่อน ในช่วงที่ปัญหาความขัดแย้งเนื่องจากโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ระหว่าง รัฐ นักการเมืองที่สนับสนุนการสร้างเขื่อน และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ นั้นได้สร้างความกดดันให้กับเด็กเยาวชนลูกหลานชาวสะเอียบที่กำลังศึกษาอยู่ ในโรงเรียนหรือสถานศึกษาต่าง ๆ ในตัวอำเภอสองและเมืองแพร่  เนื่องจากปัญหาการเลือกปฏิบัติของครูอาจารย์ และการพูดจาเสียดสีล้อเลียนจากครูอาจารย์และเพื่อนนักเรียนในกรณีปัญหาดัง กล่าว  ซึ่งในขณะนั้นนับว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นทางการ แต่ก็ยังผลกระทบที่รุนแรงทางด้านจิตใจและความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของลูกหลาน ชาวสะเอียบเป็นอย่างมากถึงเพียงนั้น

แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้นั้น เป็นการกระทำอย่างเป็นกระบวนการ และใช้อำนาจหน้าที่ของผู้เกี่ยวทั้งหมด สั่งการให้มีการลงรายมือชื่อสนับโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ดังที่ได้กล่าวแล้วนั้น ยิ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อจิตใจของเด็กลูกหลานชาวสะเอียบ ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาทุกแห่งในจังหวัดแพร่มากยิ่งกว่าในอดีต และการชี้นำหรือชักจูงสถานศึกษาให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวที่กำลัง เป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในพื้นที่และภาครัฐนั้นก็นับว่าผิดต่อพระราช บัญญัติเกี่ยวกับสถานศึกษาอย่างชัดเจนด้วย   

นอกจากนี้ยังได้ก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นในหมู่ประชาชน ทั้งที่เป็นที่ประจักษ์ด้วยเหตุด้วยผลแล้วว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ คุ้มทุน รัฐไม่ควรให้การสนับสนุน เป็นโครงการที่ทำลายป่า ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 อีกทั้งพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นยังเป็นพื้นที่บนรอยเลื่อนของ เปลือกโลก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว หากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นปัญหานานับประการจะตามมา

"พวกเราจึงขอให้ท่านยุติการดำเนินการดังกล่าวเสีย และแสวงหาทางออกอื่น ๆ ในการพัฒนาลุ่มน้ำยมแทนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและ สังคม  เพื่อความสงบสุขของบ้านเมืองสืบต่อไป"นายอุดม กล่าว

 ประณามหนังสือการใช้อำนาจผู้ว่าฯจ.แพร่

ตามที่หนังสือด่วนที่สุด ที่ พร 0017.1 / ว 2558 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 เรื่อง สนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ของจังหวัดแพร่ ถึงหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ให้หน่วยงานรวบรวมรายชื่อ-นามสกุล ลายมือชื่อ เลขประจำตัวประชาชน ของข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง พร้อมด้วยสมาชิกในครอบครัว และให้ทุกคนเข้าร่วมชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดในวันที่ 16 กรกฎาคม 2553  อีกทั้งยังมีหนังสือด่วนที่สุด ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแพร่ ที่ ศธ 04109 / ว 4057 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 ถึง ผู้อำนวยการโรงเรียนทุกโรงเรียน โดยเนื้อหากล่าวถึงผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ได้มีบัญชาให้ส่วนราชการ หน่วยงาน สถานศึกษา รวบรวมรายชื่อครู อาจารย์ นักเรียน และบุคลากรในสถานการศึกษา ส่งมอบรายชื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ในวันชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัด

คณะกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง เป็นการสนองตอบต่อความต้องการของนักการเมืองบางคนเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน การใช้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเกณฑ์คนมาชุมนุมสนับสนุนการสร้างเขื่อนแก่ง เสือเต้นในครั้งนี้ เป็นความอัปยศ สร้างความด่างพร้อยให้กับคนเมืองแพร่โดยรวม

นายอุดม กล่าวว่า จึงขอประณามความอัปยศที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของผู้ว่าฯ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของนักการเมืองบางคนในครั้งนี้ และขอเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกลับตัวกลับใจ ยุติการดำเนินการดังกล่าว หันมาร่วมมือกับประชาชนในการอนุรักษ์ปกป้องรักษาป่าสักทอง รวมทั้งเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สืบต่อไป

Tags : เครือข่ายคนรักป่า ต้านผู้ว่าฯ แพร่ เกณฑ์คน หนุนสร้าง เขื่อนแก่งเสือเต้น

view