สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ธรรมะกับ พระไพศาล วิสาโล หมวกเหลือง หมวกแดง ทุนนิยม และหมึกพอล?

 

จากประชาชาติธุรกิจ

"พระไพศาล วิสาโล" เป็นพระนักกิจกรรมที่ศึกษาสังคมการเมืองไทยมาตลอด 20 ปี ล่าสุด "พระไพศาล" เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปนายอานันท์ ปันยารชุน อยากรู้ หลวงพี่ คิดอะไร ต้องอ่าน..

 "พระไพศาล วิสาโล"  เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ เป็นพระนักกิจกรรมที่ศึกษาสังคมการเมืองไทยมาตลอด 20 ปี 
        นอกจากนี้ "พระไพศาล" ยังเป็นประธานเครือข่ายพุทธิกา และมีผลงานเขียนหนังสือและบทความอย่างต่อเนื่อง  ทว่า ช่วงหลังมานี้งานหลักของหลวงพี่ไพศาลก็คือ งานศึกษาเรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบและสันติวิธี
        ล่าสุด  "พระไพศาล"   เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปชุดคุณนายอานันท์ ปันยารชุน  อดีตนายกรัฐมนตรี โดยคนที่ยกหูโทรศัพท์ชวนหลวงพี่ไพศาลเข้าร่วมคณะก็คือ อดีตนายกรัฐมนตรี อานันท์ นั่นเอง  
        คนไทยจะคาดหวังกับคณะกรรมการปฏิรูปได้แค่ไหน แล้วประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ?
        เหยี่ยวข่าวใช้เวลาสนทนาธรรมกับ "พระไพศาล"  กว่า 1 ชั่วโมงเต็ม ถึงการปฏิรูปวิถีสังคมแบบไทยๆ มาฝากคุณผู้อ่านที่รัก 
       -------------------

@ พระอาจารย์เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปชุดคุณอานันท์ (ปันยารชุน) ได้อย่างไรครับ
คุณอานันท์ โทรศัพท์ติดต่ออาตมา  เพราะเคยทำงานร่วมกันในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) แต่ก็ไม่ได้คุยอะไรกันมาก เพราะเมื่อเห็นรายชื่อคณะกรรมการ ก็รู้สึกว่าน่าจะทำงานด้วยกันได้  และไว้ใจคุณอานันท์ ก็เลยรับปาก  จริงๆ อาตมาไม่ได้คิดว่าจะได้รับการทาบทาม ไม่ว่าจากคณะกรรมการชุดไหนก็ตาม  เพราะอาตมาไม่ได้ทำงานเรื่องการปฏิรูปจริงจัง เพราะช่วงหลัง งานหลัก 5-6 ปีมานี้  ของอาตมาก็คือ 1.การเผชิญความตายอย่างสงบ และ 2. สันติวิธี


@ พระอาจารย์เข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมการบ้างหรือยัง    
 ประชุมไปแล้ว  ก็ได้คุยเปิดอกกันหลายเรื่อง  ก็คิดว่าความคิดเห็นน่าจะจูนเข้ามาไปในทิศทางเดียวกันได้  แต่ก็ยังไม่ลงตัว ต้องประชุมกันอีกถึงทิศทางและกรอบการทำงาน  แต่ขณะนี้ก็ใกล้จะเห็นภาพที่ชัดเจนแล้ว  


@ กรรมชุดนี้ มีความหวังให้คนไทยได้รอคอยบ้างไหม
 เรื่องการปฏิรูป จะว่าไปแล้ว เป็นภารกิจของคนไทยทั้งประเทศ   สิ่งที่กรรมการปฏิรูปจะทำได้ก็คือ นำเสนอแนวทางเพื่อสื่อสารกับสังคม  ในที่ประชุมก็คุยกันมากว่า การปฏิรูปจะเป็นไปได้ก็ต้องเกิดจากการขับเคลื่อนของคนทั้งสังคม แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะนำเสนอแนวทาง ที่โดนใจสังคมได้มั๊ย  ไม่ใช่โดนใจแบบประชานิยม(นะ)  แต่โดนใจในแง่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้    ถ้าทำได้ อาตมาก็เชื่อว่าสังคมพร้อมจะขับเคลื่อน
           นั่นหมายความว่าจะทำอย่างไรให้สังคมทั้งสังคมรู้สึกว่าเป็นเจ้าภาพร่วมในการ ปฏิรูป ไม่ใช่คณะกรรมการปฏิรูปพูดอย่างนี้  หมายความว่าคณะกรรมการชุดนี้จะปฏิเสธความรับผิดชอบ  แต่เราจะต้องทำให้ดีที่สุด
          แล้วเราก็รู้ว่า สังคมไทยไม่รอให้ถึง 3 ปีหรอกว่าจะเห็นอะไรจากคณะกรรมการปฏิรูป  สังคมไทยไม่รอนานขนาดนั้น ฉะนั้น ในช่วง 5-6 เดือน จากนี้ไป ก็ควรจะเห็นอะไรเป็นรูปเป็นร่างบ้างแล้ว  แต่อาตมาก็ยอมรับว่า การปฏิรูปไม่สามารถเกิดได้จากสถาบันที่มีอำนาจ   หมายถึงว่า เขาจะไม่ริเริ่มทำด้วยตัวเอง   แต่จะต้องมีการขับเคลื่อนจากภาคสังคมเข้ามาผลักดัน   


@ การขับเคลื่อนครั้งนี้ ชุมชนชนบทมีส่วนสำคัญอย่างมาก
 อาตมาคิดว่า   คงมากกว่านั้น  เพราะการปฏิรูปคราวนี้ ถ้าเราจะไปตอบโจทย์เฉพาะคนระดับล่างอย่างเดียวคงไม่พอ  แต่ต้องตอบโจทย์ชนชั้นกลางด้วย เพราะไม่เช่นนั้น จะไม่สามารถเกิดแนวร่วมอย่างกว้างขวางที่จะร่วมกันปฏิรูปได้ คือเราไม่ได้ปฏิรูปคนยากจนเท่านั้น แต่ต้องปฏิรูปเพื่อคนไทยทั้งประเทศ  


@ ชนบทไทยที่ผ่านสายตาพระอาจารย์ เปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน
           เปลี่ยนไปหลายด้าน   ในด้านเศรษฐกิจก็เห็นได้ชัดว่า  ในแง่ของวิถีการดำเนินชีวิตของเขา ค่อนข้างขยับเข้ามาใกล้ระดับชนชั้นกลางมากขึ้นในเรื่องของสไตล์การดำเนิน ชีวิต   โทรทัศน์ที่เขาดูก็เป็นรายการเดียวกับที่ชนชั้นกลางในเมืองดู  หรือบ้านเรือน ก็เริ่มมีความคล้ายเป็นทาวน์เฮาส์เหมือนในกรุงเทพฯ มากขึ้น  ไม่ต้องพูดถึงรถยนต์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า  และสิ่งเหล่านี้จะตามมาพร้อมหนี้สิน
          นอกจากนี้ ความคาดหวังของคนชนบทก็ใกล้เคียงกับคนชั้นกลางมากขึ้น   แต่ความสามารถที่จะทำความใฝ่ฝันให้เป็นจริงมันยาก เพราะโครงสร้างสังคมไม่เอื้อให้เขามีความสามารถขนาดนั้น
        สิ่งที่เห็นอีกประการก็คือ  ซึ่งไม่แน่ใจว่าดีหรือร้ายก็คือ ความเป็นปัจเจกมีมากขึ้น  ความเป็นชุมชนมีน้อยลง  นอกจากนี้ครอบครัวแตกร้าว มากขึ้น        อย่างเด็กในหมู่บ้านอาตมาจำนวนมาก  ไม่มีพ่อหรือแม่อยู่ด้วยกัน  อาจจะมีพ่อ ไม่มีแม่ หรือมีแม่ แต่ไม่มีพ่อ และไม่มีทั้งพ่อและแม่ ซึ่งไปตรงกับภาพรวมของการวิจัยที่บอกว่า เด็กชนบท  30 % ไม่มีพ่อหรือแม่อยู่พร้อมหน้ากัน  ซึ่งนี่ก็เหมือนสภาพสังคมเมือง  นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น   คุณภาพของคนก็ลดถอยลง  ทั้งในแง่ความรู้และคุณธรรม   


@ คิดว่าอะไรทำให้สังคมชนบทมีสภาพเช่นนี้ได้
             ระบบทุนนิยมบริโภค ที่ทุกคนถือเอาเงินเป็นใหญ่   เมื่อเอาเงินเป็นใหญ่ ก็มีแนวโน้มตัวใครตัวมัน ทั้งในระดับครอบครัวและชุมชน   ขณะเดียวกันปัญหาหนี้สินที่เกิดจากรายได้น้อยแต่รายจ่ายเพิ่ม   รายจ่ายที่ว่านี้รวมถึงต้นทุนการผลิตด้วย  เช่น จ้างคนมาทำไร่ ค่าใช่จ่ายเรื่องยาฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง   เป็นต้น 
            ฉะนั้น เมื่อสภาพเศรษฐกิจแย่   มิหนำซ้ำยังติดอบายมุข การพนัน เหล้า ยา   ก็เกิดการเสื่อมถอย พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก  ลูกก็ไม่มีใครสอน  คุณธรรมก็แย่ลง  รวมถึงระบบการศึกษาที่ล้มเหลว โรงเรียนในชนบท  ครูไม่มีเวลาให้กับนักเรียน   เพราะครูเองก็เป็นหนี้ ต้องหาเงิน  และครูต้องพยายามทำเปเปอร์เวิร์ก เพื่อที่จะเลื่อนขั้น  เลื่อนตำแหน่ง ตอนนี้จึงไม่มีใครมีเวลาให้กับเด็ก เมื่อเป็นอย่างนี้ คุณภาพคนก็ถดถอย  ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเมือง ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมสูง   


@ แล้วสังคมไทย จะปรองดองกันได้ไหม
           ถ้าความเหลื่อมล้ำถ่างกว้างขึ้น  และความไม่เป็นธรรมในสังคมสูงก็ปรองดองกันยาก  ในสังคมทุกคม แม้แต่สังคมที่ร่ำรวย  ประเทศที่ร่ำรวย  ที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง  ปัญหาต่างๆ ก็จะตามมามากมาย  ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาคุณภาพชีวิตย่ำแย่  ปัญหาเด็กท้องก่อนวัย
        ฉะนั้น ต้องแก้ตรงนี้  ทำให้สังคมมีความเหลื่อมล้ำน้อยลง มีความเป็นธรรมสูงขึ้น    และจะต้องทำให้ผู้คนในเชิงวัฒนธรรม มีภูมิต้านทานกับบริโภคนิยมมากขึ้น  เพราะถ้าไม่อย่างนั้น เราจะหาความร่วมมือได้ยาก
          ซึ่งก็ต้องมีความหวังว่าจะเกิดขึ้นได้   ปรองดองไม่ได้หมายความว่า สามัคคีกันแบบรักกัน แต่ว่าสามารถอยู่ด้วยกันได้ ท่ามกลางความแตกต่าง และทนกันได้  ซึ่งเราต้องหวังว่าน่าจะทำได้   


@ พระอาจารย์มีความหวังว่า สังคมไทยยังมีทางออกจากวิกฤตครั้งนี้ 
           ใช่   เพราะสังคมที่มันเลวร้ายกว่านี้ แย่กว่านี้   ก็ยังคืนดีกันได้ แอฟริกาใต้ หรือเขมร  คนตายเป็นล้าน  ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา   แต่สุดท้ายก็พูดคุยกันได้   หรือไอร์แลนด์กับอังกฤษที่ฆ่ากันสืบเนื่องกันมาเป็นร้อยปี   ทุกวันนี้ก็สามารถมองหน้ากันได้ ทำงานร่วมกันได้   อาตมาคิดว่า ถ้ามองจากประวัติศาสตร์ ก็ทำให้เรามีความหวังว่าสังคมไทยจะปรองดองกันได้   


@ มีคนอ่านถามว่า  ก่อนหน้านี้ พระอาจารย์เคยมีธรรมะหมวกแดง  แล้วจะมีธรรมะหมวกเหลืองบ้างไหม
            จริงๆ ธรรมะหมวกแดง   เป็นการตั้งชื่อของเขาเอง  เพราะคนที่มาสัมภาษณ์อาตมา เขายอมรับว่า เขาขอใส่หมวกแดง ธรรมะหมวกเหลืองจะเกิดขึ้นได้เหมือนกัน ถ้าคนสัมภาษณ์ กล้าใส่หมวกเหลือง  มาสัมภาษณ์อาตมา (หัวเราะ)  


@ ถ้ามีคนหมวกเหลืองมาสัมภาษณ์พระอาจารย์  ธรรมะหมวกเหลืองจะเป็นอย่างไร แบบไหน
            ก็อาจจะพูดคล้ายๆ กันว่า อย่ามองกันเป็นฝักเป็นฝ่าย   และให้มองแยกแยะว่า  เสื้อแดงมีความหลากหลาย อย่าไปมองหรือเหมารวมว่า ทั้งหมดของเสื้อแดงคือพวกที่มุ่งร้ายต่อสถาบันกษัตริย์ 
           จริงๆ แล้ว  คนที่สุดโต่งจะเป็นคนส่วนน้อยเสมอ   แต่การที่เขาสามารถจะมีแนวร่วมเป็นจำนวนมากเพราะว่า  สังคมมีเหตุปัจจัยที่ทำให้ผู้คนไปสนับสนุนผู้นำที่สุดโต่ง 
             ปัจจัยที่อาตมาว่าคือ โครงสร้างสังคมที่อยุติธรรม  ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ   เราอย่าไปมองว่า ปัญหาทุกวันนี้ เกิดจากตัวบุคคลอย่างเดียว   หรือคิดว่าเกิดเพราะคุณทักษิณ(ชินวัตร)   แล้วอย่าไปคิดว่าถ้าคุณทักษิณมีอันเป็นไป ปัญหาจะจบ ถ้ารากเหง้าของปัญหาคือ โครงสร้างสังคมยังไม่ได้แก้   ก็จะเกิดคนอย่างคุณทักษิณมาเรื่อยๆ
          เหมือนกับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้   ถึงแม้คุณจะจับหัวหน้าขบวนการบีอาร์เอ็นได้ ก็ใช่ว่าความสงบในภาคใต้จะหายไป  ตราบใดที่คนภาคใต้รู้สึกถูกกดขี่ เป็นพลเมืองชั้นสอง  สักวันหนึ่งความไม่สงบก็จะผุดขึ้นมาอีก เพราะว่ารากเหง้ามันยังอยู่ 
             ก็อยากจะให้คนเสื้อเหลืองมองลึกไปกว่าเรื่องตัวบุคคล และอยากให้มองว่า ถ้าสังคมมันไม่แย่จริง ๆ จะไม่มีใครออกมาเป็นแนวร่วมให้กับพวกสุดโต่งหรือขบวนการล้มเจ้าได้   อาตมาเชื่อว่าขบวนการล้มเจ้าไม่ได้เป็นขบวนการใหญ่  แต่พอเราไปเหมารวม เราก็เลยตื่นตกใจ  และคิดแต่เพียงว่าจะใช้ความรุนแรงปราบปราม  ในขณะที่ 6 ตุลา 2519 ฝ่ายขวาตกใจว่าคอมมิวนิสต์กำลังครองบ้านครองเมือง   ก็เลยมีการสนับสนุนให้มีการใช้ความรุนแรงกับนักศึกษาธรรมศาสตร์   แต่ปรากฏว่าการทำเช่นนั้นกลับทำให้คอมมิวนิสต์ขยายตัวมากยิ่งขึ้น กลายเป็นว่าผู้ที่ไปฆ่านักศึกษา  กลายเป็นแนวร่วมมุมกลับของคอมมิวนิสต์  เป็นผู้ส่งเสริมคอมมิวนิสต์โดยไม่รู้ตัว
           และวันนี้ อาตมาอยากจะบอกคนเสื้อเหลืองว่า ระวังจะเป็นแนวร่วมมุมกลับให้กับขบวนการล้มเจ้า คือ ทำให้ขบวนการล้มเจ้าใหญ่โตมากขึ้น เพียงเพราะไปใช้ความรุนแรงกระทำกับผู้ที่ตัวเองระแวงสงสัย  เพราะตอนนี้มีขบวนการไล่ล่าแม่มด   แต่ขบวนการนี้จะทำให้แม่มดเกิดมากขึ้น   และยิ่งไปไล่ล่าใครต่อใครด้วยข้อหาที่ไม่มีหลักฐานแน่นอน ก็จะทำให้ขบวนการนี้ได้รับความสนใจจากคนมากขึ้น  เหมือนกับที่ขบวนการคอมมิวนิสต์ได้รับความสนใจจากประชาชน  จาก 6 ตุลา 2519   มาแล้ว   ฉะนั้นต้องระวัง อย่าไปเป็นแนวร่วมมุมกลับให้กับขบวนการที่เราไม่ชอบหรือที่เรามองว่าเป็น ศัตรู  


@  พระอาจารย์จะเตือนสติ ถึงความแตกแยกแบ่งขั้วอย่างหนักในสังคมไทยเช่นนี้อย่างไร 
             เวลานี้คนมักจะมองถึงความต่างมากกว่าความเหมือน  ที่แบ่งเป็นเหลืองและแดงก็เพราะว่าไปเน้นเอาความแตกต่างที่เกี่ยวกับคุณ ทักษิณและรัฐบาล  ทั้งที่ในบางเรื่องอาจจะอยู่ฝ่ายเดียวกัน  แต่หากเกิดสึนามิ อาตมาเชื่อว่าจะไม่มีเหลืองและแดง  ทุกคนจะช่วยกัน   หรือวันดีคืนดี  สหรัฐอเมริกาพูดจาเหยียดหยามประเทศไทย   อาตมาเชื่อว่า คนที่แยกฝ่ายกันก็จะมาอยู่ฝ่ายเดียวกัน  คือ เราเห็นต่างกันแค่บางเรื่อง แต่มีหลายเรื่องที่เราเห็นเหมือนกัน   แต่คนไปมองที่ความต่างมากกว่าความเหมือน จึงกลายเป็นคนละขั้ว
          อาตมายกตัวอย่างบ่อยครั้งว่า  เราอาจจะเห็นต่างกัน 5 อย่าง  แต่ว่ามีอีก 95 อย่างที่เราเหมือนกัน  แต่เพราะเราไปเน้น 5 อย่างที่แตกต่างกัน  ก็เลยกลายเป็นคนละขั้ว  ฉะนั้น อาตมาจึงอยากให้มองที่ความเหมือนด้วย
           ปัญหาการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย อีกแง่หนึ่งเป็นเพราะเรามองอะไรเป็นขาวเป็นดำ  เช่น ฝ่ายหนึ่งบอกว่ารัฐบาลเป็นดำ ฉะนั้น ต้องต่อต้านรัฐบาล   ขณะที่อีกฝ่ายมองว่า ฝ่ายเสื้อแดงเป็นดำ  ฉะนั้น ต้องต่อต้านเสื้อแดงทุกเรื่อง  แต่จริงๆ แล้วอาตมาอยากจะมองว่า มันไม่ใช่ขาวและดำอย่างนั้น  หมายความว่า ทั้งรัฐบาลมีทั้งขาวและดำ  ทางเสื้อแดงหรือคุณทักษิณก็มีทั้งขาวและดำ  แต่เมื่อเรามองอีกฝ่ายเป็นดำ  ฝ่ายฉันเป็นขาว ก็เกิดการมองการเป็นคนละขั้วชัดเจน  ไม่เปิดใจที่มองเห็นว่า ฝ่ายเราก็อาจจะมีความไม่ถูกต้องอยู่(นะ)  หรืออีกฝ่ายมีความถูกต้องอยู่
              นี่เป็นปัญหาของสังคมไทย เป็นปัญหาของโลก  เหมือนกับที่จอร์จ ดับเบิลยู บุช บอกว่า ใครไม่อยู่ฝ่ายอเมริกาเป็นพวกผู้ก่อการร้าย  นี่คือการมองแบบขาวดำ แต่ไม่มีพื้นที่ให้ผู้ที่ไม่สังกัดฝ่ายหรือผู้ที่เป็นกลาง  ซึ่งอาตมาอยากให้มองเชิงระยะยาวว่า  ที่เราแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย เพราะเรายึดมั่นกับอุดมการณ์  แต่อุดมการณ์ที่เรายึดมั่นถือมั่น เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ามันถูกต้องทั้งหมด 
          เบอร์ทรันด์ รัสเซล นักปรัชญา นักเขียน นักคณิตศาสตร์ และนักต่อสู้คัดค้านอาวุธนิวเคลียร์ ชาวอังกฤษ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม  เคยพูดว่า   “ผมจะไม่ยอมตายเพื่อความเชื่อของผม  เพราะผมไม่แน่ใจว่าสักวันหนึ่ง อุดมการณ์ผมอาจจะผิดก็ได้”  
           30 ปีที่แล้ว   ทหารกับนักศึกษาประชาชน เคยจับอาวุธสู้กัน หลัง 6 ตุลา  ทหารอย่างเสธ.แดง (พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล) ก็เคยไล่ล่าอดีตนักศึกษาอย่างหมอเหวง (โตจิราการ)  หรือคุณจำลอง (ศรีเมือง) ก็เคยเป็นศัตรูกับคุณสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์   ถามว่าผ่านไป 30 ปี เป็นยังไง ก็กลายเป็นเพื่อน  คุณจำลองกับคุณสมเกียรติก็ขึ้นเวทีพันธมิตร ฯ  เสธ.แดงกับหมอเหวงก็เป็นเสื้อแดง   ต่อสู้กับศัตรูคนเดียวกัน กลุ่มเดียวกัน
          จริงๆ แล้ว ไม่มีศัตรูที่ถาวรหรอกนะ มีเฉพาะศัตรูทางอุดมการณ์  อเมริกากับเวียดนามเคยไล่บี้กันอย่างหนัก ผ่านไป 30 ปี กอดกันทำมาหากิน   แล้วที่เป็นเหลืองเป็นแดงจะฆ่ากันตายในเวลานี้ จะแน่ใจอย่างไรว่า อีก 30 ปี จะไม่เล่นกอล์ฟด้วยกัน  จะไม่ร้องคาราโอเกะด้วยกัน  ถ้าเรามองแบบนี้ มันไม่คุ้มค่ากับการที่คนเราจะฆ่ากัน    เพียงเพราะความต่างด้านอุดมการณ์  เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า วันพรุ่งนี้เราจะไม่ทิ้งอุดมการณ์ หรือเปลี่ยนความคิด  


@ วันเวลาจะทำให้อุดมการณ์และความคิดคนเปลี่ยนไป
           อุดมการณ์อาจไม่เปลี่ยน แต่คนเปลี่ยน  หรือ   อุดมการณ์เปลี่ยน คนก็เปลี่ยนด้วย  ก็เหมือนที่คนพูดว่า คนหนุ่มสาวถ้าไม่เป็นซ้าย เป็นคนไม่มีหัวใจ  แต่พออายุมากแล้ว ถ้าไม่เป็นขวาก็ถือว่าไม่มีปัญญา   


@ สังคมไทยจะต้องรอไปถึง 30 ปีหรือเปล่า  หรือเร็วกว่านั้น
  จะเร็วกว่านั้นได้ถ้า  ศึกษาบทเรียนจากประวัติศาสตร์ ว่าคนเรา 30 ปี จากศัตรูกลายเป็นมิตรได้   ถ้าเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ก็จะร่นเวลาแห่งความเจ็บปวด และร่นเวลาแห่งความหลงให้สั้นลง เพียงแต่เราไม่เรียนประวัติศาสตร์  


@ คิดเห็นอย่างไรกับกรณี  มาร์ค วี 11 ผู้เข้าแข่งขันรายการทรู อคาเดมี แฟนเทเชีย
             มองในแง่หลักการ การแสดงความเห็นก็ต้องแสดงความเห็นอย่างสุภาพ ไม่ใช่ใช้ถ้อยคำที่รุนแรงหยาบคาย แต่เราก็ต้องยอมรับว่าเยาวชนหรือวัยรุ่นมักจะมีความแรง  สมัยก่อนอาตมาก็เป็นอย่างนั้น ฉะนั้น การใช้ถ้อยคำก็อาจจะรุนแรง โดยเฉพาะในเว็บไซด์ หรือเฟสบุ๊ก  ที่บางคนอาจจะคิดว่าเป็นส่วน แต่มันไม่เป็นส่วนตัว 
            สมัยอาตมา ก็หัวรุนแรงแรงได้สักพัก พออายุมากก็เปลี่ยนไป หลายคนที่ในสมัยอาตมาเป็นพวกซ้ายรุนแรงมากๆ  พออายุ 30 ปี 40 ปี ก็กลายเป็นนายทุนไปแล้ว กรณีเดียวกับกรณีก้านธูป
             อาตมามองว่า เราต้องเข้าใจวัยรุ่นว่าเขาอาจจะมีความคิดที่เต็มไปด้วยอารมณ์ แต่ถ้าเราเข้าใจเขา ไม่ไปไล่ล่าหรือกดดันเขา  สักพักหนึ่งเขาก็จะเรียนรู้  แล้วจากที่เคยรุนแรงเขาก็จะมีความเห็นเป็นสายกลางมากขึ้น
           สังคมไทยมักไม่เรียนรู้เอาชนะกันด้วยเหตุผล แต่เราคิดแต่จะเอาชนะกันด้วยกำลัง อารมณ์   ใครพวกมากกว่ากันก็ชนะ เช่น การระดมพลไปด่า ระดมพลไปกดดัน  เจ้านาย พ่อแม่  หรือผู้บังคับบัญชาของคนที่เราไม่ชอบ อาตมาคิดว่านั่นไม่ใช่ วิธีการที่ถูกต้อง   เราต้องสู้กันด้วยเหตุผล แพ้ชนะกันด้วยเหตุผล ไม่ใช่เอาชนะที่ใครมีจำนวนคนมากกว่า
           แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ การเอาชนะกันด้วยความดี  บางอย่างเหตุผลโต้เถียงกันด้วยเหตุผลอาจจะไม่จบ  แต่บางครั้งการเอาชนะกันด้วยความดีความเมตตา จะเป็นชัยชนะที่ยั่งยืนกว่า  
             หลังวันที่ 19 พฤษภาคม   มีชุมชนหนึ่งที่ จ.ยโสธร  ใกล้ชิดกับทางสันติอโศก  ก็มีกลุ่มเสื้อแดงยกพวกจะไปเผา  คนส่วนใหญ่คิดว่า มีคนจะมาเผาก็ต้องระดมพลสู้  แต่ว่าคนในชุมชนแห่งนี้เขาแน่มาก  แทนที่เขาจะต่อสู้เขาก็สนทนาเจรจากับคนเสื้อแดงว่า มาจากไหน  กินข้าวหรือยัง  มาไกลถ้ายังไม่ได้ทานข้าว เดี๋ยวจะทำก๋วยเตี๋ยวให้กิน
          สุดท้าย เขาก็ทำก๋วยเตี๋ยวให้กิน เสื้อแดงเขาก็ดีนะ เขาก็อยู่รอกิน  กินอิ่มก็บอกว่า พวกเรากลับดีกว่า   นี่ไง ทำไมเราถึงไม่เอาชนะกันด้วยความดี คิดแต่ว่าเอาชนะใครแรงกว่า  ด่าจนให้อีกฝ่ายเลิก  นี่คือการชนะด้วยกำลัง  ซึ่งไม่ใช่วิถีของอารยชน  แม้จะไม่ใช่กำลังอาวุธ แต่เป็นกำลังแรงกดดัน  โดยที่ไม่ได้เอาเหตุผลมาสู้กัน  เพราะถ้าไม่อย่างนั้น เราก็ไม่ต่างจากยุคถ้ำ เพียงแต่มีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าเท่านั้น  


@ ทราบว่าพระอาจารย์ชอบดูฟุตบอล  ฟุตบอลโลกที่ผ่านไป ให้แง่คิดมุมมองอย่างไร
              ใช่ ชอบดู    แต่มุมมองก็คือ มีทุนนิยมเข้าไปเต็มที่เลย มีการสร้างภาพว่าคนโน้นเก่งคนนี้เก่ง สุดท้ายคนที่เก่งก็ไม่เห็นเก่งสักคนเลย มีอย่างนี้ทุกปี (หัวเราะ)    สมัยก่อนบอกว่าไมเคิล โอเว่น  อลัน เชียร์ จับตาดูให้ดี แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครเก่งสักคน แต่นักเตะโนเนมจะขึ้นมาทุกครั้ง อาตมาเขียนเรื่อง “ผู้ชนะที่แท้จริงในฟุตบอลโลก “   ไว้ในเฟตบุ๊ค  ลองไปอ่านดูได้  


@ แล้วใครคือผู้ชนะที่แท้จริงครับ
           ทุนนิยมไง   


@ แล้ววัฒนธรรมจาก หมึกพอล สัจธรรมที่ได้มีบ้างไหม
            ก็เป็นสีสัน    แต่จริงๆ เราก็ไม่รู้ว่าเขามีทริกอะไรหรือเปล่า เช่น  เราเห็นแต่ภาพเจ้าพอลเลือกหอย แต่เราไม่รู้ว่าเรื่องกลิ่นเป็นอย่างไร 


@ แล้วพระอาจารย์เชียร์ทีมไหนหรือเปล่าครับ สเปน หรือ ฮอลแลนด์
          ไม่เชียร์ แต่มีชื่นชอบ ก็คือบราซิล  และอาร์เจนตินา แต่สุดท้ายก็เรียบร้อยไปกันไปหมด (หัวเราะ)


 ................      

Tags : ธรรมะ พระไพศาล วิสาโล หมวกเหลือง หมวกแดง ทุนนิยม หมึกพอล

view