สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เรตติ้งเพี้ยน เด็กดู(ละครน้ำเน่า)เพลิน

จาก โพสต์ทูเดย์

การปล่อยให้เด็กตัวเล็กๆ นั่งดูโทรทัศน์ในรายการที่ไม่เหมาะสมกับวัยเพียงคนเดียว โดยขาดการชี้แนะจากผู้ใหญ่ ถือเป็นเรื่องอันตรายที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม

โดย...เรื่อง- อินทรชัย พาณิชกุล

ข่าวเด็กหญิงวัย 6 ขวบที่ผูกคอตายเลียนแบบละครชื่อดังเรื่อง “ไทรโศก” จนพลาดท่าเสียชีวิตอย่างน่าเศร้า สร้างความสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่งแก่พ่อแม่ผู้ปกครองที่ชอบทิ้งลูกตัวน้อยไว้ กับโทรทัศน์เพียงลำพัง

การปล่อยให้เด็กตัวเล็กๆ นั่งดูโทรทัศน์ในรายการที่ไม่เหมาะสมกับวัยเพียงคนเดียว โดยขาดการชี้แนะจากผู้ใหญ่ ถือเป็นเรื่องอันตรายที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในวันที่ละครหลังข่าวที่นับวันยิ่งมีเนื้อหารุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนอย่างปัจจุบัน

แต่ละฉากล้วนเต็มไปด้วยความโหดร้ายป่าเถื่อน เรื่องราวชิงรักหักสวาท มีทั้งคำหยาบและการแสดงออกที่ไร้ศีลธรรม ไม่ว่าจะเป็นฉากจับหญิงชรากรอกปากด้วยยาพิษ รุมทำร้ายกันเลือดท่วมจอ แม่ตบตีลูกอย่างทารุณ ลูกสาวตะคอกพ่อด้วยท่าทีก้าวร้าว ยิงหัวทะลุอย่างสยดสยอง หรือสาวเซ็กซี่สองคนในชุดผ้าขนหนูผืนเดียวตบกันดุเดือด ปากก็พ่นคำผรุสวาทกันไฟแลบ ฯลฯ

ภาพ ประกอบข่าว

ทั้งหมดอยู่ในสายตาของประชาชนหน้าจอทีวีนับล้านคนครั้งแล้วครั้งเล่า

เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ณ คริสตจักรในประเทศไทย ราชเทวี กรุงเทพฯ ได้มีการจัดเวทีเสวนาเรื่องการจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ ตอน “เนื้อหาละครกับช่วงเวลาการออกอากาศ” ขึ้น โดยเครือข่ายสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน

อัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า รู้สึกหดหู่ใจมากกับสถานการณ์ของละครโทรทัศน์ไทยในปัจจุบัน “ดูจบแล้ว เกิดคำถามตามมาว่าเราอยากให้สังคมที่เราอยู่เป็นแบบนี้เหรอ? เราอยากให้เด็กๆ ของเราเติบโตขึ้นมาในสังคมแบบนี้เหรอ? มีคนบอกว่าละครทีวีถือเป็นกระจกสะท้อนสังคมได้ดีที่สุด แต่ถ้าหากมันถูกฉายซ้ำแบบถี่ๆ อย่างนี้ มันจะทำให้คนดูซึ่งเป็นเด็กเล็กที่ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอันไหนเรื่องจริง อันไหนเรื่องสมมติ เกิดความรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ และจดจำจนกลายเป็นพฤติกรรมเลียนแบบได้”

ขณะที่ อิทธิพล ปรีติประสงค์ อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเรตติ้ง กล่าวว่า ช่วงเวลาออกอากาศของรายการโทรทัศน์ไทย ได้รับแนวคิดมาจากต่างประเทศ เพื่อดูแลคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการชมโทรทัศน์ โดยเฉพาะแนวคิด น 13+ (เหมาะกับผู้มีอายุ 13 ปีขึ้นไป) และ น 18+ (เหมาะกับผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป) แต่ปรากฏว่าบ้านเรากลับมีการกำหนดเวลาการออกอากาศรายการไม่ตรงตามเรตติ้งที่ กำหนดไว้  

“การจัดเรตติ้งมันผิดเพี้ยนไปหมด ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่มีการเอาเวลาออกไปจากระบบเรตติ้ง ละครที่เรตติ้ง น 13+ ซึ่งควรออกอากาศหลัง 22.00 น. เหมือนอย่างต่างประเทศ แต่กลับมาออกอากาศในช่วงหลังข่าวทันที 20.30 น. ไฟเขียวให้เด็กดูได้ ทั้งๆ ที่แต่ละเรื่องนั้นมีเนื้อหาชิงรักหักสวาท อาฆาตมาดร้าย ใช้กิริยาวาจาไม่เหมาะสม ถ่ายทอดความขัดแย้งรุนแรงตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ผมจึงเห็นว่าควรเลื่อนเวลาไปแพร่ภาพในเวลา 21.30 น. เป็นต้นไป เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนมีโอกาสเข้ามาเห็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม”
แม้ เมืองไทยจะมีการจัดเรตติ้งรายการโทรทัศน์มาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยมีความรู้ความเข้าใจดีพอที่จะนำมาใช้ ชี้แนะสั่งสอนลูกๆ ได้

“พ่อแม่บางคนยังไม่รู้เลยว่าเรตติ้งคืออะไร ขณะที่ส่วนใหญ่รู้จัก แต่ก็ไม่เข้าใจ จึงไม่รู้ว่าจะแนะนำลูกยังไง แทบทุกคนบอกว่าจะมีไปทำไม แป๊บเดียวไม่กี่วินาทีก็หายไปแล้ว แถมยังไม่มีการอธิบายให้ความรู้ที่มากเพียงพอ แบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับสัญลักษณ์ที่แปะโชว์ไว้เฉยๆ ดังนั้นจึงขอเสนอให้หน่วยงานภาครัฐเปิดพื้นที่พูดคุยให้ความรู้เรื่องประเภท ของเรตติ้งแก่ประชาชนทุกครัวเรือน เพื่ออธิบายให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าใจ ก่อนจะนำไปชี้แนะแก่ลูกๆ ที่บ้านได้ รวมทั้งยังอยากให้เร่งผลักดันกฎหมายกำหนดเวลาผู้ชมแต่ละประเภทให้ตรงกับ เนื้อหารายการโทรทัศน์ตามมาตรฐานสากลด้วย” นายอิทธิพลแสดงความคิดเห็น

ด้าน ภญ.พัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนการพัฒนาเด็กปฐมวัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 8 ปี เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุดในการชมละคร เนื่องจากไม่สามารถแยกแยะได้ เมื่อเสพสื่อก็จะซึมซับสิ่งที่ได้พบเห็นโดยไม่รู้ตัว ส่วนกลุ่มเด็กโต เป็นกลุ่มที่มีพัฒนาการทางด้านสติปัญญา สามารถแยกแยะเรื่องจริงและจินตนาการได้ แต่หากชมละครที่มีการแฝงด้วยการกล่าวร้าย ตบตี ใช้ภาพ ภาษาความรุนแรง ก็จะสะสมจนเกิดเป็นความรู้สึกเชิงร้ายและส่งผลแสดงออกทางพฤติกรรมตามมาได้

“สำหรับผู้ปกครองทางบ้านที่อยากได้วิธีอบรมสั่งสอนลูกๆ ที่บ้านในการหลีกเลี่ยงรายการโทรทัศน์ที่ไม่เหมาะสม ขอแนะนำว่าพยายามอย่าให้ลูกติดเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ ควรกำกับดูแลการดูโทรทัศน์ของลูกด้วยการถือรีโมตไว้เอง ชี้นำแต่รายการที่มีประโยชน์สาระ หากลวิธีที่จะหลีกเลี่ยงรายการที่มีความรุนแรง สะเทือนอารมณ์ สุดท้ายปิดทีวี แล้วเอาเวลามาใช้กิจกรรมสร้างสรรค์อื่นๆ ให้มากขึ้น” ภญ.พัชราภรณ์ กล่าว

ทั้งสามคนยืนยันเป็นเสียงเดียวว่าไม่ถึงขนาดต้องให้ละครน้ำเน่าหมดไปจาก สังคมไทย เพียงแค่อยากจัดให้อยู่ถูกที่ถูกเวลาเท่านั้น

Tags : เรตติ้งเพี้ยน เด็กดู ละครน้ำเน่า

view