สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คนจนโวยถูกเลือกปฏิบัติ กก.ปฏิรูปเสนอตั้งศาลที่ดิน

จาก โพสต์ทูเดย์

คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับองค์กรภาคประชาชนราว 20 องค์กร ได้จัดเวทีสาธารณะ "คดีคนจน ว่า ด้วยคนจนกับความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมไทย" เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่จุฬาฯ โดยมีสาระน่าสนใจดังนี้

เนื้อหาหลักบนเวทีจะเป็นการพูดถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับชาว บ้านในเรื่องที่ดินทำกิน โดย บำรุง คะโยธา อดีตประธานกลุ่มสมัชชาคนจน กล่าวว่า ได้ทำงานเอ็นจีโอ ได้เห็นปัญหาการถูกเอาเปรียบหลายอย่าง เช่น ปุ๋ยแพง ผลผลิตราคาตก สุดท้ายก็ใช้การปิดถนนเป็นอาวุธของคนจน ก็ตกเป็นผู้ต้องหา ซึ่งตำรวจก็บอกว่าต้องแจ้งข้อหาในฐานะเป็นเจ้าพนักงาน แต่สมัยก่อนไม่ถึงขั้นต้องขึ้นศาล จนมาถึงยุคสมัชชาคนจนเริ่มมีคดีที่ต้องขึ้นศาล วันดีคืนดีคดีเก่าก็มาถูกฟ้องอีก
ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดกับคนจนมันแล้วแต่ผู้มีอำนาจ ถ้าผู้มีอำนาจสั่งก็ต้องขึ้นศาล จนตนเองถึงกับเคยพูดว่าเป็นผู้นำอยู่ข้างประชาชน ไม่คุกก็ตาย ต่างจากผู้นำที่ทำเงินหารายได้

“สังคมไทยถ้าถือว่าทุจริตเป็นเรื่องปกติก็อันตราย ตอนนี้ถึงขนาดมีพูดกันว่า อบต. ย่อมาจากอมทุกบาททุกสตางค์ ผมตั้งชมรม อบต.เพื่อต่อต้านการกินตามน้ำ ปรากฏว่า อบต. 7,000-8,000 ราย เข้าร่วมแค่ 20 กว่าราย ทั้งนี้การที่รัฐบาลมีนโยบายปรองดอง ปฏิรูป ตนเองเห็นชื่อกรรมการแล้วมีความหวังว่าจะแก้ปัญหาได้ไม่มากก็น้อย” บำรุง กล่าว

ประยงค์ ดอกลำใย ตัวแทนกลุ่มปฏิรูปที่ดินโฉนดชุมชน อภิปรายว่า คดีเกี่ยวกับที่ดินในภาคเหนือเริ่มมาจากการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ มีการสร้างหลักฐานเท็จในการออกเอกสารสิทธิที่ดินให้บริษัทเอกชน รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เองเคยมีมติ ครม. วันที่ 9 เม.ย. 2545 ปฏิรูปที่ดินนำร่อง ให้ชะลอการดำเนินคดีกับชาวบ้านที่เกี่ยวกับคดีบุกรุกที่ดินก่อน แต่ปรากฏว่าพอวันที่ 23 เม.ย. ก็มีมติให้ดำเนินการกับผู้บุกรุกอย่างเด็ดขาด เกิดการไล่ล่าผู้นำชุมชนที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นกรรมการตรวจสอบที่ดินถึง 109 คน จำนวน 1,046 คดี หลักทรัพย์ประกันคดีละแสนบาท ชาวบ้านก็ประกันตัวสู้คดีไม่ได้ และคำเบิกความของชาวบ้านไม่ได้รับความสนใจเท่าฝ่ายราชการ

ปราโมทย์ ผลภิญโญ ตัวแทนกลุ่มปัญหาที่ดินชัยภูมิ ระบุว่า คดีที่ดินทั่วประเทศรวมแล้วก็เป็นพัน ปัญหาเรื่องที่ดินรัฐและเอกชนมักจะใช้กระบวนการยุติธรรมมาดำเนินการกับชาว บ้าน ทั้งอาญา เช่น บุกรุก ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และมีฟ้องแพ่งอย่างไล่ที่ หรือคดีทำให้โลกร้อน ตนเองสังเกตว่าคดีที่ดินเริ่มเพิ่มมากตั้งแต่ต้นปี 2552 มาตรการกลับไม่มีผลในทางปฏิบัติ อยากเสนอว่าถ้ารัฐบาลจะดำเนินโครงการโฉนดชุมชน ขอให้ยุติคดีความต่างๆ ของชาวบ้านไว้ก่อน

พงษ์ศักดิ์ สายวรรณ ตัวแทนกลุ่มปัญหาที่ดินรัฐและเอกชน กล่าวว่า อำนาจทุนและรัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกับคนจน คดีคนจนถูกดำเนินการเร็ว บางครั้งมีการแกล้งฟ้องบุกรุกที่ดินผิดแปลง คือ ฟ้องชื่อคนที่ไม่ใช่ผู้ครอบครองที่ตรงนั้น พอคนครอบครองที่ไม่ไปศาลก็ถูกตัดสินคดีไปเรื่อยๆ แล้วผู้ฟ้องก็ชนะ ชาวบ้านถูกกระทำ อยากให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยรู้ว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมมีต้นตอมาจาก เรื่องที่ดิน แต่การแก้ปัญหารัฐแค่บอกว่าคดีอยู่ในชั้นศาล

จินตนา แก้วขาว แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ่อนอก หินกรูด กล่าวว่า คดีที่โดนดำเนินคดีกลับกลายเป็นคดีเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมในการออก เอกสารสิทธิ หรือการก่อสร้างโครงการที่ไม่ถูกต้อง เช่น โรงไฟฟ้าบ่อนอก หินกรูด โรงถลุงเหล็กบางสะพาน ขนาด เจริญ วัดอักษร แกนนำที่เคยต่อต้านเสียชีวิตไปแล้ว พ่อซึ่งอายุจะ 90 ปี ยังต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย ขณะนี้โครงการโรงไฟฟ้ารัฐบาลบอกว่าไม่คุ้มค่า ไม่สร้าง โรงไฟฟ้าได้ค่าชดเชย แต่ประชาชนกลับยังถูกดำเนินคดี เอาคดียิบย่อยหมด ทั้งบุกรุก หมิ่นประมาท ทำให้เสียทรัพย์ ละเมิดสิทธิ กระบวนการยุติธรรมชาวบ้านไม่มีโอกาสเข้าถึงได้เพียงพอ แถมยังมีการบอกให้ยอมรับสารภาพเพื่อจะลดโทษลงได้ พอเราจะค้านก็มียัดคดีเพิ่ม กลุ่มการเมืองกำลังพูดเรื่องปรองดอง แต่ชาวบ้านที่สู้เพื่อทรัพยากรกลับถูกดำเนินคดี

ไพจิต ศิลารักษ์ กลุ่มปัญหาเขื่อนปากมูล ราษีไศล แสดงความเห็นว่า ตนเองโดนคดีจำคุก 1 ปี 6 เดือน จากการทำโซ่คล้องประตูเขื่อนราคา 800 บาทขาด เมื่อตอนที่ชาวบ้านพยายามเข้าไปในเขตเขื่อนราษีไศล และยังถูกคดีซ่องโจร กรณีชุมนุมที่เขื่อนปากมูล มีการออกหมายจับตั้งแต่ปี 2542-2543 แต่เดือนที่ผ่านมาไม่รู้ตำรวจคึกอะไรขึ้นมา สภ.อ.สิรินธร แจ้งคนที่มีชื่อในคดีซ่องโจร 14 คน ครั้งนั้นไปมอบตัว ถ้าเป็นคดีบุกรุกอายุความจะ 10 ปี แต่นี่ไปตั้งข้อหาซ่องโจร อายุความ 15 ปี ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่ได้เรียกร้องรัฐบาลให้เปิดประตูระบายน้ำ เขื่อนปากมูลก็ได้เปิด ราษีไศลก็ได้เปิด ข้อตกลงกับรัฐบรรลุ แต่ทำไมคดีไม่ยุติ

ทั้งนี้ ตามกำหนดการ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมสัมมนาและชี้แจงนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมกรณีที่ดินคนจน แต่ปรากฏว่า สาทิตย์ ได้แจ้งว่าติดภารกิจ ทำให้ผู้เข้าร่วมเสวนาบางคนถึงกับพูดว่า จัดเวทีแบบนี้ไม่เคยมีคนผูกไท คนมีอำนาจมาฟังเลย แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ไปมาหลายเวทีก็ไม่มีคนผูกไทมาฟัง คนมีอำนาจหน้าที่น่าจะมาดูบ้างว่าชาวบ้านเดือดร้อนอย่างไร มาร้องเพลงให้ฟังก็ยังดี อยากบอกว่าตอนนี้สองมาตรฐาน คือ คนจนติดคุก คนรวยไม่ติดคุก คนจนมาพูดแล้วไม่ฟัง เปลืองงบจัดงาน เสียเวลาทำมาหากิน

ด้าน ม.ร.ว.อคิน ระพีพัฒน์ กรรมการปฏิรูป อภิปรายว่า วัตถุประสงค์ของคณะกรรมการปฏิรูป คือ การสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ขณะนี้ปัญหามีสองอย่าง คือ ปัญหาเร่งด่วน และการแก้ไขในระยะยาว การจับไปขังโดยไม่มีความยุติธรรมพอ ซึ่งต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน ส่วนการแก้ไขระยะยาวก็เช่นวิธีการพิจารณาเรื่องที่ดินที่ศาลยึดเอกสารเป็น ของสำคัญที่สุด แต่บางครั้งเอกสารไม่ได้ออกอย่างยุติธรรม ซึ่งอาจจะมีการตั้งศาลพิเศษ เช่น ศาลที่ดิน และศาลสิ่งแวดล้อม และในการปฏิรูปรัฐบาลจะทำหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่คณะกรรมการปฏิรูปจะฟังจากประชาชน วัตถุประสงค์หลักคือสร้างพลังชุมชนให้รัฐเห็น และลบล้างความไม่เป็นธรรม

บัณฑร อ่อนดำ กรรมการปฏิรูป อภิปรายว่า วันที่ 22 ก.ค. คณะกรรมการปฏิรูปจะวางกรอบการทำงานให้ชัดเจนใน 3 เรื่อง คือ ปัญหา วัตถุประสงค์ และพื้นที่ โดยเฉพาะในส่วนวัตถุประสงค์ คือ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม อานันท์ ปันยารชุน มอบหมายให้ตนเองฟังม็อบต่างๆ ว่าอยากให้ปฏิรูปประเทศไทยอย่างไร

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาประเทศในส่วนของกระบวนการยุติธรรมนั้นมันมีประเด็นใหญ่ คือ ฝ่ายรัฐ ฝ่ายนิติบัญญัติ ก็มีส่วนร่วมแล้ว แต่ยังไม่มีมาจากทางภาคศาล แล้วปัญหาคดีมันก็จะพันกันอยู่อย่างนั้น

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า เท่าที่ไปดูสถิติจากกรมราชทัณฑ์ มีผู้ต้องขัง 2.4 แสนคน เป็นคนจนเกือบหมด และประมาณ 5 หมื่นคน ถูกขังก่อนศาลตัดสินคดี ตนเองถามอธิบดีกรมราชทัณฑ์ได้ความว่า ส่วนหนึ่งถูกขังเพราะความจน ไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว มีเรื่องการกักขังแทนค่าปรับอีก แต้มต่อสำหรับคนจนมันมีน้อย ดังนั้นจะมีกระบวนการยุติธรรมเพื่อคนจนได้หรือไม่ ถ้ากระทรวงยุติธรรมให้ความยุติธรรมไม่ได้ ชื่อกระทรวงนี้ก็ไม่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีความพยายามผลักดันกองทุนยุติธรรม ต้องช่วยเหลือประชาชนเรื่องกฎหมาย เสริมสร้างศักยภาพคนจนให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้เท่าคนมีฐานะ ในเรื่องการฟ้องร้องดำเนินคดีและการบังคับคดี ตนเองได้รับข้อเสนอว่ารัฐมีเรียนฟรี มีรักษาพยาบาลฟรี แล้วทำไมไม่มีทนายฟรี หากจะให้คนจนมีแต้มต่อต้องมีทนายความฟรี และเจ้าหน้าที่รวบรวมหลักฐานให้ รวมถึงกองทุนช่วยเรื่องการประกันตัว เว้นแต่คดียาเสพติด นอกจากนี้ที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงความเป็นธรรม คือ ต้องให้ความรู้เรื่องกฎหมาย และให้คนจนรวมตัวกันมีความรู้ ต่อสู้เพื่อปกป้องความยุติธรรม

Tags : คนจน ถูกเลือกปฏิบัติ กก.ปฏิรูป ศาลที่ดิน

view