สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

6 กูรู ชี้ทางสว่างในปลายอุโมงค์ ทิศทางทุนมนุษย์ไทยในอาเซียน 2015 เสริมสร้างทักษะ-พัฒนาขีดความสามารถ

จากประชาชาติธุรกิจ



งาน ประชุมนานาชาติ Mega Trend in Human Capital and Labour Productivity Towards Global Integration ที่องค์การสหประชาชาติ กรุงเทพฯ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ในหัวข้อ Navigating National Agenda on Human Capital towards Global Dynamics ที่มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย นคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, ดร.โชติชัย เจริญงาม สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการอิสระ, ธนิฏฐา เศวตศิลา มณีโชติ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, ทวี เตชะธีราวัฒน์ สมาชิกที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 3 และ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยมี "ดร.พิเชษฐ ดุรงคเวโรจน์" เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ

ซึ่งเบื้องต้น "ดร.พิเชษฐ" ให้ "นคร" อธิบายภาพรวมก่อนว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) สามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนอย่างไร

"นคร" จึงอธิบายว่า เราจำเป็นต้องยกระดับกระบวนการผลิต และเกื้อกูลในขั้นตอนกระบวนการ โดยมีเป้าหมายที่จะ ส่งเสริมให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานฝีมืออย่างเสรี และการเคลื่อนย้ายทุนที่เสรีมากขึ้น

"เพื่อ ส่งเสริมขีดความสามารถ

ในการแข่งขันของอาเซียน ทั้งยังลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิก และ ส่งเสริมการรวมตัวเข้ากับประชาคมโลกของอาเซียน"

"ฉะนั้นในบทบาท ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงจำเป็นต้องเร่งส่งเสริมให้ภาคแรงงานฝีมือมีการศึกษาสูงขึ้น ขณะเดียวกันต้องเร่งส่งเสริมทักษะอาชีพด้านต่าง ๆ ให้เกิดความทัดเทียมกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน เสมือนเป็นการติดอาวุธให้พวกเขาพร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานฝีมือในปี 2020"

"นอก จากนั้นสิ่งที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานมอง และจะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมคือแผนการจ้างงานแห่งชาติ ซึ่งประเทศไทยเองไม่เคยมี แต่สำหรับประเทศญี่ปุ่น เขามีมานานแล้ว ซึ่งตรงนี้เราจะต้องปรึกษากับทางรัฐบาลเพื่อให้แผนการจ้างงานแห่งชาติ และแผนพัฒนาฝีมือแรงงานแห่งชาติเกิดขึ้น ถึงจะไปแข่งในระดับอาเซียนได้"


ธนิฏฐา เศวตศิลา มณีโชติ, ทวี เตชะธีราวัฒน์

นคร ศิลปอาชา, ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ



ถึง ตรงนี้ "ดร.พิเชษฐ" จึงให้"ดร.โชติชัย" สะท้อนมุมมองเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนากำลัง คน ซึ่ง "ดร.โชติชัย" มองว่า ปัจจุบันมีแรงงานไร้ฝีมือชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยค่อนข้างมาก

"คิด เฉลี่ยประมาณ 1.8 ล้านคน ซึ่งมาจากประเทศกัมพูชา, ลาว, พม่า และส่วนใหญ่แรงงานพวกนี้จะไปทำงานในภาคการประมง และเกษตรกรรม ผมจึงมองว่าปัญหาของแรงงานไทยมีปัญหาอยู่ 3 เรื่องหลัก ๆ คือ ค่าจ้างต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน, ทำงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษา และทำงานไม่ตรงกับสาขาและความถนัด จึงทำให้แรงงานไทยไม่ค่อยมีมาตรฐานที่จะไปแข่งขัน"

ขณะที่มุมมองของ "ดร.เสรี" กลับมองสะท้อนกลับว่า ถ้าจะพูดถึงเรื่องทุนมนุษย์ ต้องมองแยกแยะออกเป็น 2 อย่าง คือ human resource และ human capital

"HR คือทรัพยากรมนุษย์ ขณะที่ HC คือทุนมนุษย์ และทั้ง HC และ HR มีความต่างกัน เพราะ HR มองคนเป็นทรัพย์สิน ขณะที่ HC มองคนเป็นทุนมนุษย์ ที่จะต้องเพิ่มทักษะการพัฒนาทั้งในเรื่องของการฝึกอบรมพัฒนาวิชาชีพ และการลงทุนเพื่อพัฒนาให้เขาเหล่านั้นก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพ"

"ผม จึงมองว่าการจะทำเช่นนั้นได้ เราจึงจำเป็นต้องบูรณาการ 4 อย่างประกอบกัน คือหนึ่ง การศึกษา เพราะการศึกษาเป็น สิ่งแรกที่จะทำให้คนมีทักษะ และความรู้ สอง ความเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ที่จะต้องกระตุ้นจิตสำนึกของเขาให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อยู่เสมอ"

"อัน ไปเชื่อมโยงกับข้อสาม คือการปลูกฝังวัฒนธรรมที่ต้องการให้คนในชาติมีสำนึกทางประวัติศาสตร์ และข้อสี่ คือการปลูกฝังอุดมการณ์ เพื่อให้มีอุดมคติต่อการทำงานในวิชาชีพ"

นอก จากนั้น "ดร.เสรี" ยังมองว่า human capital จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ต้องมองเชื่อมโยงกับอดีต เพราะอดีตเรามี land capital จนมายุคหนึ่งก็เป็น factory capital และ finance capital

จนมาถึงยุค human capital ที่จะต้อง มีคนเก่ง+คนดี ถึงจะมี capital ดังที่กล่าวมาได้

เช่น เดียวกันในมุมมองของ "ธนิฏฐา" ต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวและกีฬามองว่า ถ้าเปิดเสรีในปี 2015 และทุนมนุษย์อาเซียนทั้งหมด 7 สาขา อันประกอบด้วย แพทย์, ทันตแพทย์, พยาบาล, วิศวะ, นักสำรวจ, นักบัญชี และภาคบริการท่องเที่ยว จะต้องมีการโยกย้ายถิ่นฐานกันไปมาในระหว่างประเทศอาเซียนด้วยกัน


ดร.เสรี วงษ์มณฑา, ดร.โชติชัย เจริญงาม



"เขา เหล่านั้นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเดินทาง ยิ่งเฉพาะในส่วนของภาคบริการท่องเที่ยว ต้องยอมรับว่าธุรกิจสุขภาพและสปา เราค่อนข้างได้เปรียบกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่กระนั้นสิงคโปร์ มาเลเซีย เขาก็พัฒนาตามเราเร็วมาก เราจึงต้องพัฒนาทักษะอยู่เสมอ"

"ยกตัวอย่าง ไกด์ท่องเที่ยวของเรา นอกจากภาษาอังกฤษที่เราจะต้องสื่อสารให้ได้ เรายังจะต้องฝึกพูดภาษาสเปน, สวีเดน, อาหรับ เพราะคนกลุ่มนี้มาเที่ยวประเทศเราค่อนข้างมาก นอกจากนั้นคือภาษาเกาหลี เพราะตอนนี้คนเกาหลีเขาใช้ไกด์ของเขาเอง เราเป็นแค่เพียง sit guide"

ฉะนั้น ต่อมุมมองในการเตรียมบุคลากรเพื่อรองรับการเปิดเสรีในปี 2015 และต่อข้อตกลงในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2020 เราจึงต้องสร้างหลักสูตรขึ้นมาฝึกอบรมคนของเราอย่างต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นเราจะแข่งขันในขีดความสามารถทางทุนมนุษย์ลำบาก

ถึงตรงนี้ "ทวี" จึงมองเสริมขึ้นว่า ในส่วนของการพัฒนาฝีมือแรงงาน และแรงงานในปัจจุบัน เราต้องยอมรับความจริงว่า ค่าแรงปัจจุบันอยู่ระหว่าง 106-206 บาทนั้นถือว่าเป็นค่าแรงที่ถูกมาก

"ตรงนี้จึงเป็นอุปสรรค อย่างหนึ่งต่อการพัฒนาตัวแรงงานเอง และทักษะที่เขาทำอยู่ เพราะนายจ้างยังมองเขาคือนายจ้าง หรือนายทุน เขาจึงไม่ค่อยมีการพัฒนาฝึก อบรมทักษะคนของเขา เพราะถือเป็นเรื่องสิ้นเปลือง"

"ทั้ง ๆ ที่การพัฒนาฝีมือแรงงานคือหัวใจของธุรกิจ และเป็นหัวใจต่อการพัฒนาประเทศ ที่สำคัญปัญหาที่พบคือปัจจุบันมีแรงงาน sub contract ที่ทำเฉพาะแผนก ซึ่งแรงงานพวกนี้ส่วนใหญ่เอามาทำในโรงงาน และได้ค่าแรงขั้นต่ำมาก ขณะที่อีกส่วนหนึ่งคือแรงงาน out source หรือแรงงานต่างด้าว"

"ผมจึง อยากถามว่าถ้ามีการเปิดเสรีแรงงานอาเซียนในปี 2015 และเรายังไม่มีการพัฒนาฝีมือแรงงานของเรา เราจะไปแข่งกับใครเขาได้ ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และรัฐบาล ต้องช่วยหาคำตอบ"

ขณะ ที่มุมมองของ "ดร.อมรวิชช์" ขอ มองไปที่การเตรียมคนเพื่อก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเขามองว่าจากประสบการณ์ที่เคยทำงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เขามีความเชื่อว่าภาคแรงงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ค่อนข้างเป็นแรงงานฝีมือ

"มีทักษะในวิชาชีพประมง หัตถกรรม พื้นบ้าน การทำเกษตรอย่างน่าสนใจ และที่ผ่านมาเรามักจะมองฮาลาลแค่เป็นเพียงสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย หรือเครื่องหมายทางการค้า ที่เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคเท่านั้น"

"แต่ ในมุมมองของผม ผมกลับมองไปที่ทุนมนุษย์ฮาลาล ซึ่งเขาเป็นมุสลิมทั้งกายและใจ ดังนั้นผมจึงมองว่าศักยภาพในตัวเขาอันเป็นทุนมนุษย์อย่างหนึ่ง ผมว่าเราน่าจะส่งทุนมนุษย์ภายใต้เครื่องหมายทางการค้า ฮาลาลไปในตลาดมุสลิมทั่วโลก เพราะตลาดนี้มหาศาล เราจึงควรสร้าง productivity ให้เขาก้าวไปจุดนั้น"

"แต่การจะทำเช่นนั้น เราจำเป็นต้อง ส่งเสริมเรื่องการศึกษา เราต้องสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม และเราต้องกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม ทั้งยังจะต้องสร้างวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็งและแข็งแรง"

"ครู จึงเป็นผู้มีบทบาท และครูจะเป็นตัว ชี้วัดระบบการศึกษา ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องและเชื่อมโยง 3 ด้านด้วยกัน คือการเรียนรู้, คุณภาพ และนวัตกรรม ถึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี"

ซึ่งฟัง อย่างครบถ้วนจะเห็นว่าแม้กรอบของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะดูเสมือนเป็น กรอบกว้าง ๆ ที่เกี่ยวกับประชากรในอาเซียนเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงคงต้องยอมรับกันว่า ประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในอาเซียนควรที่จะต้องสร้างบุคลากรในประเทศของตนอย่างรีบเร่งต่อการ พัฒนา ขีดความสามารถ

หาไม่เช่นนั้น กรอบความคิดคงเป็นเพียงแค่กรอบความคิด แต่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมเสียที ฉะนั้นการที่ภาคแรงงานจะข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน ที่มี รายได้ สวัสดิการ และคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

ทางเดียวที่จะทำความฝัน ให้กลายเป็นความจริง มีแต่ต้องพัฒนาตัวเองอย่างรอบด้านเท่านั้น ถึงจะทำให้ความฝันกลับกลายเป็นความจริงเสียที

อย่าเสียเวลาฝันอีกเลย ?

Tags : 6 กูรู ทางสว่าง ปลายอุโมงค์ ทิศทางทุนมนุษย์ไทย อาเซียน 2015 เสริมสร้างทักษะ พัฒนาขีดความสามารถ

view