สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ฟันธง ! คดียุบพรรค ยักยอก29ล้านจุดตาย ปชป. อย่าหลงประเด็นดีเอสไอ สั่งไม่ฟ้องทีพีไอ.

จากประชาชาติธุรกิจ

19  กรกฎาคม นายธาริต เพ็งดิษฐ์  อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงข่าวสั่งไม่ฟ้องคดี บริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)ไซฟ่อนเงิน 263 ล้านบาท  เพราะดีเอสไอ.เชื่อมีการว่าจ้าง บริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด ทำสื่อโฆษณาหาเสียงให้ พรรคประชาธิปัตย์จริง พร้อมกับปฎิเสธลั่นว่า "ไม่มีใบสั่งการเมือง "


    
"ผมไม่ตอบว่าการสั่งไม่ฟ้องคดี ไซฟ่อนเงินของบริษัททีพีไอจะทำให้น้ำหนักในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ในชั้นศาล รัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นหรือลดลง"  อธิบดีดีเอสไอ กล่าว


     
พลันที่ ดีเอสไอ. สั่งไม่ฟ้อง บทวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ต่างฟันธงว่า เกมนี้ ประชาธิปัตย์ ได้ประโยชน์แบบเต็มๆ


      
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย  สวนออกมาทันทีว่า  "ถ้าเป็นผม เรื่องนี้สั่งฟ้อง 100 เปอร์เซ็นต์ หลักฐานมันชัดเจนขนาดนี้ไม่รู้ว่า ดีเอสไอคิดอะไรถึงไม่ฟ้อง ต้องบอกว่าแน่มาก .... หากชนะเลือกตั้ง จะต้องย้ายอธิบดีดีเอสไอ ภายใน 24 ชั่วโมง "


      
แต่บทวิเคราะห์ต่อไปนี้ของ"มติชนออนไลน์"  จะชี้ให้เห็นว่า  การฟ้องหรือไม่ฟ้อง คดี ทีพีไอ. ไซ่ฟ่อนเงิน หรือไม่ เป็นคนละเรื่องกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์


      
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ มีด้วยกัน 2 คดี


    
คดีแรก  คือ คดีที่รู้จักกันในนามคดี 29 ล้าน อันเป็น คดีที่พรรคประชาธิปัตย์ นำเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง จำนวน 29 ล้าน ไปใช้ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์    จากสำนวนของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง พบเส้นทางการเงิน 23.3 ล้าน จ่ายเช็คให้ บริษัท เมซไซอะฯ ก่อนนายประจวบ สังขาว ผู้บริหาร เมซไซอะฯ จะโอนเงิน 23.3 ล้าน กลับมาแจกจ่ายให้บุคคลต่างๆ ที่เป็นเครือญาติของกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์   คดีนี้ กกต. ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ


     
คดีที่สอง คือ คดี 258 ล้าน  เป็นคดีที่ บริษัท ทีพีไอฯ บริจาคเงินโดยไม่เปิดเผยให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ 258 ล้าน อันมีลักษณะเป็นนิติกรรมอำพราง ผ่านบริษัท เมซไซอะฯ คดีนี้ อัยการเป็นผู้ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ


      
ข้อสังเกตที่สำคัญ ทั้ง 2 คดี เกิดขึ้นในช่วงปี 2547-2548  อันเป็นช่วง ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548  และที่สำคัญ ช่วงเวลาดังกล่าว พรรคประชาธิปัตย์ มีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรค และมีนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์  นั่งเป็นเลขาธิการพรรค


     
ประเด็นทางกฎหมายที่สำคัญคือ การกระทำดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มีผลบังคับใช้


     
เมื่อพิจารณาผ่านบทกำหนดโทษ  ในคดี 29 ล้าน หากมีการกระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา  จะเป็นไปตาม มาตรา 62 ที่บัญญัติว่า   พรรคการเมืองที่ได้รับเงินสนับสนุนต้องใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้เป็นไปตามที่ บัญญัติ และต้องจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองในรอบปีปฎิทินให้ ถูกต้องตามความเป็นจริง และยื่นต่อ กกต.


    
หากฝ่าฝืน ไม่ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด จะต้องถูกลงโทษ (ตามมาตรา 65 วรรค 5)   นายทะเบียนจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุดังกล่าว ตามคำร้องของนายทะเบียน ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคนั้น


    
ในคดีเงินสนับสนุน 29 ล้านที่มีเงินไหลไปเข้ากระเป๋า เครือญาติกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ถึง 23.3 ล้าน ถ้า หลักฐานของ กกต. แน่นหนา และทีมทนายของปชป. หักล้างไม่ได้  โอกาสที่ ปชป. จะถูกยุบพรรคเพราะพิษเงินสนับสนุนก็มีสูงยิ่ง
      
แต่คดีที่มีช่องโหว่จริง ๆ คือ คดี 258 ล้านนั่นเอง  คดี  258 ล้าน เป็นกรณีที่มีการบริจาคเงินให้แก่พรรคการเมือง โดยไม่เปิดเผย เป็นการฝ่าฝืน มาตรา 51


  
" ห้ามมิให้หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง กรรมการสาขาพรรคการเมือง หรือ สมาชิกผู้ใดรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่เป็นการบริจาคโดยไม่เปิดเผย"


   
บทกำหนดโทษการรับเงินบริจาค โดยไม่เปิดเผย  ปรากฏอยู่ในมาตรา 86   ที่กำหนดบทลงโทษ"ผู้ใดที่รับเงินบริจาคโดยไม่เปิดเผย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่น้อยกว่า 3 เท่าของจำนวนเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่พรรคการเมือง หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี"


   
จะเห็นว่า  ความผิดรับเงินโดยไม่เปิดเผย ตาม มาตรา 51 ของกฎหมายปี 2541   มีแค่โทษ ปรับ กับ โทษจำคุก เท่านั้น  ผู้ใดรับเงินนั้นมา (ก็) ต้องรับโทษ!!!


   
อย่าลืมว่า กฎหมายพรรคการเมืองปี 2541  ความผิดนี้ ไม่มีโทษยุบพรรค


   
โทษยุบพรรคตามข้อหารับบริจาคเงินโดยไม่เปิดเผยมาโผล่ใน มาตรา 65 พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 นี่คือ จุดแตกต่างที่สำคัญ


   
มาตรา 65 ที่เขียนใหม่ในปี 2550  บัญญัติว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ โดยรู้หรือควรรู้ได้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 


   
ข้อหา รับเงินบริจาคโดยไม่เปิดเผย ปี 2550 มีโทษยุบพรรค (มาตรา 94 )   แต่ประเด็นคือ ขณะเกิดเหตุช่วงปี 2547-2548  กฎหมายมีผลบังคับใช้คือ กฎหมายพรรคการเมืองปี 2541  ที่มีโทษแค่ ปรับ กับ จำคุกเท่านั้น   ไม่มีโทษยุบพรรค


   
ประเด็นก็คือ กกต. ไม่อาจใช้กฎหมายพรรคการเมืองปี 2550 มาลงโทษ ยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้  เพราะเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษ  อันเป็นการขัดกับหลักนิติรัฐ


   
หากอ่านสำนวน กกต. ในคดี 258 จะพบว่า กกต.  อ้างเหตุมากมาย ในการยุบพรรค ปชป.  เช่น   การได้รับเงินหรือประโยชน์ โดยไม่เปิดเผย อาจทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือก ตั้ง ทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต เที่ยงธรรม


  
 " ถือเป็นการกระทำที่เป็นปฎิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  นอกจากนี้ การรับบริจาคโดยไม่เปิดผยชื่อผู้บริจาค  รวมทั้งไม่ได้ดำเนินการจัดทำบัญชี การรับบริจาคให้ถูกต้อง ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกำหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี รวมทั้งอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ "


   
แต่ปัญหาคือ จะเอากฎหมายปี 2550 ไปลงโทษการกระทำในปี 2547-2548 ได้อย่างไร  ?


   
ประเด็นถัดมาที่สับสนกันทั้ง เมือง ก็คือ การที่ ดีเอสไอ จะสั่งฟ้องทีพีไอ  ไซฟ่อนเงิน  จะทำให้คดียุบพรรคอ่อนยวบลง ก็เป็นความเข้าใจผิด เพราะเป็นคนละประเด็น !!!


   
จากการตรวจสอบ กฎหมายปี 2550  แก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายปี 2541 กรณีเงินบริจาคที่ไม่เปิดเผย    เพราะเกรงว่า จะมีการนำเงินสกปรกเข้ามาฟอกในสนามเลือกตั้ง จึงระบุว่า " โดยรู้หรือควรรู้ได้ว่า เงิน ทรัพย์สิน ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  "


   
แต่ปัญหาคือ  คดี 258 ล้าน ต้องใช้กฎหมายปี 2541 ตัดสินลงโทษ ไม่ใช่กฎหมายปี 2550 


    
ดังนั้น เงินจาก ทีพีไอ จะมาจากแหล่งใดก็ไม่สำคัญ จะยักยอกหรือไม่ยักยอก ก็ไม่ใช่ประเด็น  ...อย่าหลงประเด็น


   
ประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ แทบไม่ต้องหยิบยกมาพิจารณาด้วยซ้ำ เพราะกฎหมายปี 2541  ไม่ได้บัญญัติเรื่องแหล่งที่มาของเงินบริจาค


   
ฉะนั้นแล้ว โดยสรุป ดีเอสไอ  จะสั่งไม่ฟ้องทีพีไอ  ก็ไม่ได้มีผลต่อคดี 258 ล้านแต่อย่างใด


   
นาทีนี้  ประเด็นที่ นายชวน หลีกภัย และทีมทนายชุดใหญ่  เครียดแบบสุดๆ คือ คดี 29 ล้าน   นี่อาจเป็น  จุดจบและฝันร้ายของพรรคปชป.


   
ส่วน 258 ล้าน อย่างเลวร้ายที่สุด กรรมการบริหารพรรคในช่วงนั้น ก็อาจต้อง ติดคุก ถูกปรับ และเว้นวรรค 5 ปี ก็แค่นั้นเอง  !!!

Tags : คดียุบพรรค ยักยอก29ล้าน จุดตาย ปชป. อย่าหลงประเด็น ดีเอสไอ สั่งไม่ฟ้อง ทีพีไอ.

view