สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สนง.บัญชี 4 พันรายป่วน พาณิชย์ออกกฎใหม่ตั้งหลักประกัน3% บังคับใช้26ก.ค.โวยกระทันหันไป

จากประชาชาติธุรกิจ

สำนักงานบัญชีมึนถ้วนหน้า กระทรวงพาณิชย์ออกกฎกระทรวงไล่บี้บังคับต้องมีเงินหลักประกัน อ้างเพื่อความมั่นคงธุรกิจ ขีดเส้นตาย 26 ก.ค.นี้บังคับใช้ ระบุฝ่าฝืนปรับทันทีไม่เกิน 3 แสนบาท ไม่แก้ปรับเพิ่มอีกวันละหมื่นบาท ฟันธงกระเทือน 4 พันบริษัทเล็ก วิ่งโร่หาหลักประกัน ธุรกิจโวยกระทันหันไป ทำไม่ทัน แนะเลื่อนการบังคับใช้ไปถึงช่วงต้นปี 2554

   @สนง.บัญชีกว่า 4 พันรายอ่วม


นายสิทธิพล สิทธิสาตร์ ประธานสหกรณ์บริการพัฒนานักบัญชีไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้ประกอบการวิชาชีพบัญชีที่เป็น นิติบุคคลทุกราย (ทั้งด้านการทำบัญชีและตรวจสอบบัญชี) จะต้องมีหลักประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 3% ของเงินทุนจดทะเบียน หรือรายได้ในรอบปีบัญชีที่ผ่านมา แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน เพื่อเป็นหลักประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 26 ก.ค.นี้


ทั้งนี้ตามพระ ราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 มาตรา 66 นิติบุคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง


"การ เร่งออกกฎกระทรวงและมีผลบังคับใช้อย่างกะทันหันดังกล่าวทำให้บริษัทบัญชี จำนวนมากไม่ทราบเรื่องนี้และไม่ได้เตรียมความพร้อมหลักประกันไว้ก่อน โดยเฉพาะสำนักงานบัญชีขนาดเล็กที่มีทุนจดทะเบียนหรือรายได้ประมาณไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งมีกว่า 4,000 แห่งทั่วประเทศ จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เพราะส่วนใหญ่ไม่มีเงินทุนสำรองมากนัก หากต้องถูกปรับมากถึงตามเกณฑ์ดังกล่าว บางบริษัทอาจต้องปิดสำนักงานก็ได้"


@วอนเลื่อนบังคับใช้ต้นปีี54

 
นายสิทธิพลกล่าว อีกว่า กฎกระทรวงที่ออกและมีผลบังคับใช้ 26 ก.ค.นี้กะทันหันเกินไป ควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสเตรียมตัวมากกว่านี้ เห็นว่าควรเลื่อนการบังคับใช้ไปถึงช่วงต้นปี 2554 ซึ่งจะต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ออกกฎกระทรวงมาแก้ไขเงื่อนเวลา ของกฎกระทรวงฉบับก่อนหน้า


นอกจากนี้ทางสหกรณ์บริการพัฒนานักบัญชีไทยได้ พยายามหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการวิชาชีพบัญชี โดยได้ขอซื้อกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ สำหรับผู้ประกอบการวิชาชีพบัญชีจาก บมจ.เมืองไทยประกันภัย ซึ่งจะต้องออกเป็นกรมธรรม์พิเศษให้ครอบคลุมสมาชิกในสหกรณ์ไปด้วย ซึ่งขณะนี้ได้พยายามติดต่อสำนักงานบัญชีต่าง ๆ ราว 400-500 แห่ง ให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหกรณ์เพื่อเป็นหนึ่งในทางแก้ไขปัญหานี้ในเบื้องต้น


ทั้ง นี้กระทรวงพาณิชย์ได้ออกกฎกระทรวงเรื่องการกำหนดหลักประกันความรับผิดต่อ บุคคลที่สามของผู้ประกอบการวิชาชีพบัญชี โดยประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 27 พ.ค. 2553 มีผลบังคับใช้ภายใน 60 วัน นับจากวันประกาศ ขณะที่สภาวิชาชีพบัญชีแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศชี้แจงหลักปฏิบัติกรณีดัง กล่าวในวันที่ 7 ก.ค. และนัดชี้แจงต่อสมาชิกเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค.นี้เป็นต้นไป


@เร่งออกแพ็กเกจประกันภัยรองรับ

 
ด้านแหล่ง ข่าวจากบริษัทประกันวินาศภัยรายใหญ่แห่งหนึ่งกล่าวว่า บริษัทกำลังออกแบบกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ สำหรับผู้ประกอบการวิชาชีพบัญชี ซึ่งเป็นแพ็กเกจความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากการทำบัญชีหรือสอบบัญชี ผิดพลาดโดยไม่เจตนา โดยรวมความรับผิดชอบทั้งค่าต่อสู้คดีและการชดใช้ค่าเสียหายตามทุนประกันที่ ได้เลือกซื้อเอาไว้ โดยเริ่มต้นทุนประกันที่ 500,000 บาท เบี้ยประกันเริ่มต้นประมาณ 3,000 บาท


"ขณะนี้รูปแบบกรมธรรม์ออกแบบเสร็จ แล้ว พร้อมจะยื่นขออนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ประกันภัย (คปภ.) ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาอีก 1-2 เดือน กว่าจะได้รับอนุมัติและเริ่มทำตลาดได้ ซึ่งจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่ไม่ต้องการใช้หลักทรัพย์ มาค้ำประกันจำนวนมาก เพราะหลักเกณฑ์อัตรา 3% ของทุน หรือรายได้ในปีที่ผ่านมา ถือเป็นเพียงเกณฑ์ขั้นต่ำเท่านั้น แต่เจ้าทุกข์อาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมากกว่านั้นก็ได้" แหล่งข่าวกล่าว


@บ.บัญชีร้อง "เวลากระชั้นชิด-ไม่มีสภาพคล่อง"


แหล่ง ข่าวจากบริษัทรับทำบัญชีขนาดเล็กกล่าวว่า ได้รับทราบเรื่องแล้วที่กระทรวงพาณิชย์ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักประกันความรับ ผิดต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2553 โดยให้วางหลักประกันไม่น้อยกว่า 3% ของทุน หรือรายได้รอบปีบัญชีที่ผ่านมา แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน เนื่องจากสภาวิชาชีพบัญชีได้จัดสัมมนาอบรมเรื่องดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่ ผ่านมา เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 26 ก.ค.นี้


"ใน งานสัมมนาดังกล่าวมีบริษัทบัญชีมาร่วมฟังการสัมมนาจำนวนมาก ทั้งขนาดใหญ่ กลาง และขนาดเล็ก เนื่องจากกฎกระทรวงนี้ทุกบริษัทจะได้รับผลกระทบเหมือนกันในการต้องวางเงิน หลักประกันซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กที่มีสภาพคล่องหมุนเวียนน้อย โดยหากทุน 1 ล้านบาท ต้องวางประกันถึง 3 หมื่นบาท หากทุน 5 ล้านบาท ก็ต้องวางประกันถึง 1.5 แสนบาท ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ไม่ใช่น้อย ทำให้การประชุมในวันนั้นมีบริษัทบัญชีหลายรายลุกขึ้นสอบถามและแสดงความไม่ เห็นด้วยจำนวนมาก และไม่เข้าใจกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกระทรวงพาณิชย์ทำอะไรกันอยู่"


แหล่ง ข่าวกล่าวว่า แม้ว่าจะทราบเรื่องจากการสัมมนาเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ไม่สามารถทำตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ทัน เนื่องจากเวลากระชั้นชิดมาก และการที่จะนำเงินมาฝากธนาคารพาณิชย์หรือนำพันธบัตรวางเป็นหลักประกันก็ไม่ สามารถทำได้ภายในเวลารวดเร็ว เพราะจะต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติและจัดทำหนังสือรับรองการประชุม เพื่อนำไปเปิดบัญชีเงินฝากประจำ 1 ปี ตามเกณฑ์ที่กำหนด ขณะที่พันธบัตรหรือบัตรเงินฝากก็ไม่สามารถหาซื้อได้ภายในวันนี้พรุ่งนี้ รวมถึงกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพบัญชีในปัจจุบันก็ยังไม่มี บริษัทประกันภัยใดออกขายเลย


อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับการต้องวาง หลักประกัน คิดว่าบริษัทบัญชีหลายแห่งคงเลือกที่จะฝากประจำ 1 ปีมากกว่า เพราะยังได้ดอกเบี้ยและเงินต้นยังอยู่ แต่หากต้องไปซื้อกรมธรรม์ความรับผิดก็จะต้องเสียค่าเบี้ยประกันไปฟรี ๆ และค่าเบี้ยประกันไม่ใช่น้อย


"แต่ปัญหาตอนนี้คือ บริษัทขนาดเล็กที่มีทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งมีอยู่กว่า 4 พันบริษัท ไม่มีเงินมากพอที่จะนำไปวางเป็นหลักประกัน เพราะเงินที่มีอยู่ในบริษัทก็ต้องใช้หมุนเวียนธุรกิจ ฉะนั้นกฎกระทรวงที่ออกมาดังกล่าวสร้างผลกระทบอย่างมากให้กับบริษัทบัญชี ขณะที่ระยะเวลาบังคับใช้ก็กระชั้นชิดเกินไป ไม่มีเวลาให้บริษัทบัญชีตั้งตัว" แหล่งข่าวกล่าว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้สอบถามในประเด็นดังกล่าวไปยังอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์แล้ว แต่ไม่ได้รับการชี้แจงใด ๆ ก่อนที่จะออกจดหมายข่าวชี้แจงส่งไปยังสำนักพิมพ์ต่าง ๆ


 

กรมพัฒนาธุรกิจได้มีการประกาศเรื่องนี้ตั้งแต่ประมาณเดือน เมษายน ๒๕๕๓ การประกันเป็นไปตามที่พรบ บัญชี กำหนด ไม่น่าแปลกใจที่หนังสือพิมพ์จะไม่รู้ แต่ในฐานะนักวิชาชีพควรรู้เพราะ การประกาศนอกจากจะลงในสื่อของกระทรวงแล้ว ยังได้ลงในเวปไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจในหน้าแรกของเวปไซต์ หากเป็นสำนักงานบัญชีและเข้าทำกิจกรรมต่างๆในช่วงระหว่างการปิดงบการเงิน ก็ควรจะได้เห็นนอกจากไม่สนใจข่าวสารที่กรมพัฒนาธุรกิจแจ้ง ดังนั้นกรณีดังกล่าวไม่ได้มีการกำหนดกระชั้นชิดจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแต่อาจมีปัญหาที่สภาวิชาชีพบ้าง (สำนักงานเองทราบข่าวนี้นานพอสมควรตั้งแต่ประมาณ พ.ค. แต่ไม่ได้ดำเนินการอะไรเพราะจะรอสอบถามสภา ตอนใกล้ๆ เหมือนกัน)


ในการประชุมสามัญประจำปีได้มีการพูดเรื่องนี้เล็กน้อย และหลังจากการประชุมเจ้าหน้าที่สำนักงานได้สอบถามเกี่ยวกับเรื่องของการดำเนินการดังกล่าวและแบบฟอร์มที่จะต้องใช้แจ้ง กับเจ้าหน้าที่ของสภา เจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงว่า ให้ดำเนินการตามที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศก่อน ทางสภาจะรีบดำเนินการหาความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว และหากดำเนินการไปแล้วสภาไม่สามารถดำเนินการได้ทันเวลาสภาจะไม่ดำเนินการเอาผิดจากสำนักงานบัญชี  เจ้าหน้าที่สภาขอเบอร์โทรศัพท์ของสำนักงานเพื่อแจ้งแต่สำนักงานไม่ได้ให้ไป แต่ให้คำแนะนำว่า ทุกคนต้องการรู้ดังนั้นให้แจ้งไปทางอีเมลล์ที่สมาชิกได้กรอกไว้ให้กับสภาในการรับข่าวสาร และให้ลงในเวปไซด์ของสภา ซึ่งสำนักงานได้ติดตามและเห็นว่าสภามีการดำเนินการจริง และได้สอบถามไปยังคนที่รู้จักอีกหลายคนได้คำตอบว่า ได้รับข่าวสารดังกล่าว


หลังจากนั้นสภาได้มีการจัดการสัมมนาโดยมีการเชิญเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรรมการสภามาให้ความกระจ่าง ในระหว่างการประชุมได้มีผู้สอบถามจำนวนมากเกี่ยวกับการดำเนินการตามประกาศ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องประเภทหลักประกัน , การบันทึกบัญชี , การดำเนินการตามประกาศ และเนื่องจากในที่ประชุมมีผู้เข้าประชุมคิดว่าสภาจะเอาหลักประกันไปเก็บไว้เอง แต่ไม่มีใครแสดงการคัดค้านเรื่องของหลักประกันดังกล่าว(หากจะพิจารณาแล้วหลักประกันจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตาม พรบ. วิชาชีพ ให้แล้วเสร็จตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ จึงเป็นเรื่องที่ควรจะทราบกันแล้วตั้งแต่พรบ.ประกาศใช้) โดยในที่ประชุมได้มีการแจ้งว่าให้ดำเนินการให้เสร็จในวันที่ ๒๖ กค ซึ่งมีเวลาในการดำเนินการประมาณ ๑ อาทิตย์


ในการเข้าไปยื่นฟอร์มการประกันให้กับสภา ก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก แต่ไม่ค่อยมีคนไปยื่น และเจ้าหน้าที่สภาได้แจ้งว่าวันสุดท้ายการยื่น สภาจะหมดเขตวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๕๓ (คิดว่าน่าจะคุยได้หากไปยื่นไม่ช้าเกินไป เพราะสภาดำเนินการกระชันชิดเกินไปจริง แต่ไม่น่าจะถึงปลายปี)

 

ดังนั้นพออนุมานได้ว่า


๑.สำนักงานบัญชีเองไม่ได้ติดตามข่าวสารจากจุลสารวิชาชีพที่เป็นจุลสารรายเดือนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

๒.สำนักงานบัญชีเองไม่ได้สนใจติดตามข่าวสารจากเวปไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและสภาวิชาชีพ

๓.ปัญหาของหลักประกันไม่ได้มีประเด็นที่เป็นปัญหาใหญ่ทั้งส่วนที่เป็น จำนวนเงิน ๓% ของรายได้หรือทุน (ส่วนใหญ่รายได้จะมากกว่าทุนอยู่แล้ว) และประเภทการประกันตามที่โวยกันก็ไม่ได้ยุ่งยากหากเข้าประชุมจริงก็ต้องทราบว่าประเภทหลักประกันมีจำนวนมากหลายประเภท เพราะสลากออมสินก็ยังเป็นหลักประกันได้ ตามการตีความของกรมและสภา(สำนักงานใช้สลากออมสิน เป็นหลักประกัน จึงดำเนินการได้เร็ว)

๔.การให้ข่าวดังกล่าวกับหนังสือพิมพ์เป็นการใช้หน้าสื่อประชาสัมพันธ์ตัวเอง แต่เป็นการให้ร้ายกับวิชาชีพ เพราะให้ข่าวไม่ค่อยตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในการประชุมเหมือนกับไปฟังมาอีกที จากข่าวก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้ที่ให้ข่าวรู้ว่าประกาศในราชกิจจาเมื่อไหร่ บังคับใช้เมื่อไหร่ ทำไมไม่ติดตามดำเนินการตามกฎหมาย อ้างได้หรือเปล่าว่าไม่รู้ ที่สำคัญบุคคลธรรมดารับทำบัญชีไม่เกี่ยวกับประกาศ ฉบับนี้ ให้ข่าวไม่เคลียร์เดี๋ยวจะตื่นกันไปใหญ่

๕.หากเข้าประชุมจริง การดำเนินการให้ถูกต้องอยู่ในวิสัยที่ทำได้ไม่ยาก สำนักงานส่วนใหญ่ทำได้ ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่สำนักงานอื่นๆจะทำไม่ได้ นอกจากไม่ทราบเพราะไม่สนใจตามข้อ ๑ , ๒

๖.การที่ออกมาร่วมมือกับบริษัทประกันภัยติดต่อไปยังสำนักงานบัญชี ๔๐๐-๕๐๐แห่ง และขอเลื่อนการยื่นหลักประกันออกไปเพราะออกรูปแบบการประกันภัยไม่ทันใช่หรือไม่ ระวังจะถูกสงสัยได้ว่า เห็นช่องทางทำเงิน และ มี conflict of interest ในกรณีที่ออกมาให้ข่าวแบบนี้.......หรือเปล่า

๗.ช่วงนี้เป็นช่วงหลังฤดูงบการเงิน ถ้าสภาพการเงินไม่คล่อง จะไปคล่องตอนสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า คงเป็นเรื่องแปลก

 

เลิกค้านแล้วมาทำตามกติกาดีกว่า

เพราะมันจะแสดงถึงการไม่ใส่ใจของเราที่ไม่ติดตามข่าวสารวงการวิชาชีพชัดเจนไปหน่อย

 

 


คัดมาจากเวปไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

กฎกระทรวง
กำหนดหลักประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
พ.ศ. ๒๕๕๓

 

               อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา ๕ และมาตรา ๑๑ (๑) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของ บุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

                ข้อ ๑ในกฎ กระทรวงนี้
               “ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี” หมายความว่า นิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้บริการด้านการสอบบัญชีหรือด้านการทำบัญชี หรือให้บริการวิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙
               “ทุน” หมายความว่า ทุนจดทะเบียนของบริษัทจำกัด ทุนชำระแล้วของบริษัท มหาชนจำกัด ส่วนลงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วน จำกัด หรือเงินที่ผู้เป็นหุ้นส่วนหรือสมาชิกนำมาลงหุ้นในนิติบุคคลอื่น
               “รายได้” หมายความว่า รายได้ที่เกิดจากการประกอบกิจการให้บริการ ด้านการสอบบัญชีหรือด้านการทำบัญชี หรือให้บริการวิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนด โดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙
               “สถาบันการเงิน” หมายความว่า สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และธนาคารที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

                ข้อ ๒ ในวันที่ยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ต้องจัดให้มีหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามประเภทหนึ่ง ประเภทใด รวมกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสามของทุน ณ วันที่ยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันมาพร้อมกับการยื่นจดทะเบียนต่อสภา วิชาชีพบัญชี
                การเพิ่มทุนหรือลดทุนของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีในระหว่างรอบปีบัญชี ไม่กระทบต่อจำนวนหลักประกันที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีได้จัดให้มีแล้วในรอบปี บัญชีนั้น

                ข้อ ๓ ประเภทของหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ได้แก่
                (๑) เงินฝากสถาบันการเงินในประเทศประเภทฝากประจำตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป
                (๒) บัตรเงินฝากซึ่งสถาบันการเงินในประเทศออกให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเพื่อ เป็นหลักฐานการฝากเงินของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีนั้น
                (๓) พันธบัตรรัฐบาลไทยที่จำหน่ายในราชอาณาจักร
                (๔) พันธบัตรองค์การหรือรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลซึ่งมีพระราชบัญญัติหรือ พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น
                (๕) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพบัญชีของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
                หลักประกันตามวรรคหนึ่งต้องปราศจากภาระผูกพัน

                ข้อ ๔  จำนวนของหลักประกันตามข้อ ๓ (๒) (๓) และ (๔) ให้ถือตามจำนวนเงิน ที่ปรากฏในตราสารนั้น ส่วนหลักประกันตามข้อ ๓ (๕) ให้ถือตามจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัย ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย

                ข้อ ๕ ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องดำรงหลักประกันเพื่อประกันความรับผิด ต่อบุคคลที่สามตลอดระยะเวลาที่ประกอบกิจการ

                ข้อ ๖ ภายในหก สิบวันนับแต่วันสิ้นรอบปีบัญชีทุกปี ให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี จัดให้มีหลักประกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสามของทุน ณ วันสิ้นรอบปีบัญชีที่ผ่านมา หรือของรายได้รอบปีบัญชีที่ผ่านมา แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชี
                ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงประเภทของหลักประกันในระหว่างรอบปีบัญชี ให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีแจ้งต่อสภาวิชาชีพบัญชีภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ มีการเปลี่ยนแปลง

                ข้อ ๗ การแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันหรือการเปลี่ยนแปลงประเภทของหลัก ประกันตามกฎกระทรวงนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่นายกสภาวิชาชีพบัญชีประกาศกำหนด

                ข้อ ๘ ผู้ ประกอบวิชาชีพบัญชีที่จดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชีอยู่แล้วก่อนวันที่กฎ กระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ ต้องจัดให้มีหลักประกันประเภทหนึ่งประเภทใดรวมกันเป็นจำนวน ไม่น้อยกว่าร้อยละสามของทุน ณ วันสิ้นรอบปีบัญชีที่ผ่านมา หรือของรายได้รอบปีบัญชีที่ผ่านมา แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า และแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับหลักประกันต่อสภาวิชาชีพบัญชี ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้มีผลใช้บังคับ 
                ในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีตามวรรคหนึ่งประกอบกิจการไม่ถึงหนึ่งรอบปี บัญชี ต้องจัดให้มีหลักประกันเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสามของทุน ณ วันที่แจ้งต่อสภาวิชาชีพบัญชี       

ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓
พรทิวา นาคาศัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๑๑ (๑) แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๗ บัญญัติ ให้นิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้บริการด้านการสอบบัญชีหรือด้านการทำบัญชี หรือให้บริการวิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา ๙ ต้องจัดให้มีหลักประกัน เพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามตามประเภท จำนวน หลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนด ในกฎกระทรวง  จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้


ผู้ สอบบัญชีโวยพาณิชย์สุดมั่ว กฎใหม่สับสน-ช่องโหว่เพียบ
จากประชาชาติธุรกิจ

ผู้สอบบัญชีป่วน หลัง "พรทิวา" เข็นกฎบังคับสำนักงานบัญชีวางหลักประกัน 3% เผยมี 300 รายที่ปฏิบัติถูกต้อง ส่วนกว่า 9,700 รายตั้งตัวไม่ทัน ผวาถูกปรับ 3 แสนบาท ด้านสำนักงานบัญชีโวยออกกฎไม่ทำประชาพิจารณ์ ชี้ช่องโหว่เพียบ


หลัง จาก น.ส.พ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับ วันที่ 26 ก.ค. 2553 ได้นำเสนอข่าวกระทรวงพาณิชย์ออกกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่ เป็นนิติบุคคล ทุกรายจะต้องมีหลักประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 3% ของทุนจดทะเบียนหรือรายได้ในรอบปีบัญชีที่ผ่านมา แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน มีผลบังคับใช้วันที่ 26 ก.ค. เป็นต้นไป

นาย สิทธิพล สิทธิสาตร์ ประธานสหกรณ์บริการพัฒนานักบัญชีไทย เปิดเผยว่า มีสำนักงานบัญชีจำนวนมาก โทรศัพท์เข้ามาสอบถาม เนื่องจากสำนักงานบัญชีส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ และเกรงว่าหากไม่ปฏิบัติตามก็จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท และจะปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะปฏิบัติได้ถูกต้อง ถือเป็นวงเงินปรับที่สูงมาก

ส่วนสำนักงานบัญชีขนาดเล็กที่จะได้รับผล กระทบ น่าจะมีกว่า 4,000 ราย ขณะที่สำนักงานบัญชีที่มาขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชีมี ประมาณ 1,200 ราย ซึ่งสำนักงานที่เปิดดำเนินการแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ถือว่ามีความผิดและต้องเสียค่าปรับ ขณะเดียวกันจะต้องจัดหาหลักประกันมายื่นให้ครบถ้วนตามกฎหมายใหม่ สภาวิชาชีพฯจะดำเนินการให้สำนักงานเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบเดียวกันหมด

"รัฐ ควรต้องสื่อสารและมีระยะเวลาให้ ผู้ประกอบการเตรียมตัวมากกว่านี้ ในอนาคตกฎหมายน่าจะขยายครอบคลุมผู้ที่อยู่ในวิชาชีพบัญชีมากขึ้น เช่น คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ และบุคคลธรรมดาที่ประกอบวิชาชีพบัญชี ในกรณีนี้จะมีผลกระทบมากขึ้น เพราะนักบัญชีทั้งหมดในระบบมีกว่า 80,000 คน"

นาย สิทธิพลกล่าวอีกว่า ขณะนี้สหกรณ์ได้ดำเนินการจัดหาและทำสัญญาประกันภัยความรับผิด เพื่อครอบคลุมความเสี่ยงทางวิชาชีพของสมาชิกไว้แล้ว และในอนาคตน่าจะมีบริษัทประกันภัยออกกรมธรรม์รองรับความคุ้มครองส่วนนี้เป็น การเฉพาะเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่น ๆ เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก และทนายความ

ทั้ง นี้ มีรายงานข่าวแจ้งว่า บมจ.เมืองไทย ประกันภัย ได้ออกแบบแพ็กเกจกรมธรรม์ความรับผิดทางวิชาชีพ สำหรับผู้ประกอบการวิชาชีพบัญชี โดยภายในสัปดาห์นี้จะยื่นขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการ ประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) คาดว่าต้องใช้เวลา 1-2 เดือนพิจารณาก่อนจะอนุญาตให้ทำตลาดได้

แหล่งข่าวจากสำนักงานบัญชี แห่งหนึ่ง มีความเห็นว่า ถ้าดูในรายละเอียดของประกาศพบช่องโหว่หลายจุด กล่าวคือ กฎกระทรวงไม่ได้ระบุถึงความรับผิดชอบต่อบุคคลที่สาม อย่างเช่น กรณีสำนักงานบัญชีรับทำบัญชีให้ลูกค้าแล้วเกิดความผิดพลาดจากการยื่นภาษีผิด พลาดและถูกกรมสรรพากรปรับ ลูกค้าจะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากสินทรัพย์ที่สำนักงานบัญชีสำรองไว้ 3% ได้หรือไม่ และหน่วยงานใดทำหน้าที่บังคับหลักประกันดังกล่าว

นอก จากนี้กฎกระทรวงข้อที่ 2 กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีมายื่นจดทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชีต้องสำรอง สินทรัพย์มูลค่าไม่ต่ำกว่า 3% ของทุน ณ วันที่มายื่น แต่ในข้อที่ 8 กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่จดทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชีอยู่แล้วก่อน วันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ต้องสำรองสินทรัพย์ไม่น้อยกว่า 3% ของทุนหรือของรายได้ในรอบปีบัญชีที่ผ่านมา แล้วแต่จำนวนใดมากกว่า จึงมีคำถามเหตุใดจึงกำหนดหลักเกณฑ์สำรองสินทรัพย์ไม่เหมือนกัน เพราะตามหลักกฎหมายควรจะออกมาเหมือนกัน

ปัจจุบันมีผู้สอบบัญชีเป็น นิติบุคคล คณะบุคคลและบุคคลธรรมดารวมกันประมาณ 10,000 รายแต่ปรากฏว่ามีผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีเพียง 300 รายที่แจ้งกับสภาวิชาชีพบัญชีว่าได้ดำเนินการตามกฎกระทรวงดังกล่าวแล้วจึง มี9,700รายที่วิตกว่าจะถูกปรับ


คณะบุคคลและบุคคลธรรมดาไม่จำเป็นต้องเข้าตามประกาศฉบับนี้ แล้ว 9,700 รายทำไมต้องวิตก การให้ข่าวนี้เป็น conflict of interest แน่ๆ จากแหล่งข่าวคนเดียวกัน ที่ไม่กล้าบอกว่าเป็นใคร

Tags : สนง.บัญชี พาณิชย์ กฎใหม่ หลักประกัน3% บังคับใช้ กระทันหันไป

view