สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดงานวิจัย ทุจริตภาคเอกชน แนวโน้มซับซ้อน-กระทบรุนแรง


การทุจริต คอร์รัปชันไม่เพียงเป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมโลก
ก่อนหน้านี้คนจะมองว่าอันตรายจากการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นในหน่วย งานรัฐ แต่จากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ได้แสดงให้เห็นว่าผลกระทบจากการทุจริตคอร์รัปชันในภาคเอกชนก็มี มากเช่นเดียวกัน

องค์การสหประชาชาติได้ตระหนักถึง ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในภาคธุรกิจ เอกชนด้วย และได้บัญญัติไว้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption 2003 : UNCAC 2003) โดยกำหนดให้ภาครัฐต้องมีมาตรการในการป้องกันการทุจริตในภาคธุรกิจเอกชน มีบทลงโทษทั้งทางแพ่ง ทางปกครองและทางอาญา เพื่อป้องปรามการกระทำผิดนั้น

ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า หากไทยให้สัตยาบัน ภาครัฐต้องมีกฎหมายและมาตรการเพื่อควบคุมการทุจริตภาคเอกชน แม้ว่าขณะนี้มีหลายหน่วยงานดูแลเรื่องนี้ แต่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่ง เพื่อใช้เป็นแนวทางหามาตรการกรณีที่ลงสัตยาบัน

ทีดีอาร์ไอ เตรียมเสนอผลการศึกษาวิจัยเรื่อง "ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ในวงการธุรกิจเอกชนไทยกับแนวทางแก้ไขและป้องกัน (Corruption in the Private Sector: Preventive and Remedial Measures)" โดย ดร.เดือนเด่น และคณะ เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดูแลการคอร์รัปชันในภาคเอกชน

ผลการศึกษาพบว่ารูปแบบในการทุจริตคอร์รัปชันในภาคเอกชนนั้น มีหลากหลาย ในด้านของรายได้นั้น ผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องสร้างรายได้และกำไรให้แก่บริษัท อาจเลือกใช้วิธีการ “ทางลัด” โดยหลอกลวงลูกค้าด้วยการปกปิดข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ หรือในการนำข้อมูลของลูกค้าไปใช้ในการสร้างผลประโยชน์ให้แก่บริษัท เช่น ในกรณีของการขายแฟรนไชส์ที่ไม่มีคุณภาพ หรือการชักจูงให้เข้าร่วมในธุรกิจขายตรงที่มีลักษณะคล้ายแชร์ลูกโซ่

หากผู้ประกอบการไม่สามารถสร้างกำไรจากการลดต้นทุนหรือเพิ่มรายได้ ทางออกอีกทางคือ การตกแต่งบัญชีเพื่อที่จะให้บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าความเป็นจริง ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แพร่หลาย อีกส่วนหนึ่งเกิดจากแรงจูงใจในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้บริหาร ที่มีส่วนได้เสียโดยตรงกับผลการดำเนินงานของบริษัท เช่น ในกรณีที่ กรรมการ และ ผู้อำนวยการมีระบบการจ่ายเงินโบนัสที่ผูกติดกับผลการดำเนินงานของบริษัท เป็นต้น

ในกรณีของบริษัทมหาชนหรือบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นหลายราย การทุจริตอาจเกิดจากการแสวงหาผล ประโยชน์ส่วนตัวของคนภายในองค์กรเองมากกว่าการทุจริตเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท เช่นในกรณีที่ผู้บริหารใช้ข้อมูลภายในที่เกี่ยวกับบริษัทในการซื้อขายหุ้น เพื่อทำกำไร (insider trading) หรือการอนุมัติให้บริษัททำธุรกรรมกับนิติบุคคลที่ตนเป็นเจ้าของในลักษณะที่ บริษัทเสียเปรียบ

คณะผู้วิจัยได้นิยาม "การคอร์รัปชันในภาคธุรกิจ หมายถึง การที่กรรมการหรือผู้บริหารใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ที่ตนได้มาจากผู้ถือ หุ้นหรือตัวแทนผู้ถือหุ้นในการบริหารและดำเนินนโยบายของบริษัทเพื่อแสวงหา ประโยชน์ส่วนตน ซึ่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการทุจริตคอร์รัปชันในแวดวงธุรกิจ โดยส่วนมากแล้วจะเป็นผลประโยชน์ทางการเงิน"

ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ (1) การทุจริตคอร์รัปชันมีรูปแบบวิธีการ ที่ซับซ้อนขึ้น ไม่ว่าการคอร์รัปชันในเชิงนโยบาย และการทับซ้อนของผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ ซึ่งนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ยาก เนื่องจากขาดหลักฐานที่ชัดเจน และ (2) การทุจริตคอร์รัปชันได้แพร่ขยายในวง กว้างมากและฝังรากลึก เพราะไม่เพียงแต่ในภาครัฐเท่านั้น แต่ในภาคเอกชนก็มีการทุจริตคอร์รัปชันกันมากไม่ว่าจะ เป็นภายในองค์กรเอง หรือเป็นการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐจนกลายเป็นค่านิยมในการประกอบธุรกิจ

สาเหตุที่พฤติกรรมดังกล่าวมีอยู่อย่างแพร่หลาย เนื่องมาจากการบริหารจัดการของภาคธุรกิจไทยโดยทั่วไปยังขาดการมีบรรษัทภิบาล (corporate governance) ซึ่งหมายถึง การบริหารจัดการธุรกิจที่เป็นธรรมและโปร่งใส ในการตรวจสอบ

ลักษณะการทุจริตคอร์รัปชันในธุรกิจเอกชน ไทย

จากการรวบรวมข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชันที่มีการดำเนิน การทางกฎหมายในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2552 (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2552) จากทั้ง 3 หน่วยงานหลัก คือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ข้อมูลปี 2543-2552) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ข้อมูลปี 2547-2551) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ข้อมูลปี 2543-2551) สามารถจำแนกรูปแบบของการทุจริตคอร์รัปชันได้เป็น 9 รูปแบบ

ทั้ง 9 รูปแบบ มีจำนวนพฤติกรรมรวมทั้งสิ้น 747 รายการ โดยแบ่งเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน กฎ ระเบียบของกฎหมาย ซึ่งเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นมากที่สุดประมาณ 73% โดยมีพฤติกรรมการฝ่าฝืน กฎ ระเบียบในหลากหลายลักษณะ รองลงมา คือ พฤติกรรมการปกปิดข้อเท็จจริง การสร้างข้อมูลเท็จ และการหลีกเลี่ยงภาษีอากร คิดเป็น 10.3% และ 7.63% ตามลำดับ

พฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชันนั้น มีแนวโน้มที่ลดลงเรื่อยๆ จาก 117 รายการในปี 2543 มาเป็น 80 รายการในปี 2551

หากพิจารณารูปแบบของการทุจริตคอร์รัปชันตามแหล่งที่มา ของข้อมูลทั้ง 3 แห่ง จะพบว่าในช่วงปี 2543-2552 สำนักงาน ก.ล.ต. พบจำนวนพฤติกรรมมากที่สุด รวม 647 รายการ โดยส่วนใหญ่เป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน กฎระเบียบ ของกฎหมายถึง 83% รองลงมาได้แก่ การปกปิดข้อเท็จจริงและการสร้างข้อมูลเท็จ จำนวน 70 รายการ หรือคิดเป็น 10.8% ถัดมา ได้แก่ การยักยอกเงินบริษัทและการสร้างราคา ตามลำดับ (ดูรูปที่ 2.2)

ส่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษพบจำนวนพฤติกรรมการทุจริตรวม 83 รายการ จำแนกเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีอากร 68% การจัดซื้อจัดจ้างและฮั้วประมูล 10.8% และการยักยอกเงินบริษัท 8.4%

ในขณะที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พบจำนวนพฤติกรรมทั้งสิ้น 17 รายการ โดยมีสัดส่วนของการสร้างข้อมูลเท็จและการยักยอกเงินบริษัทมากที่สุดอย่างละ 5 รายการ หรือ 29.4%

คณะผู้วิจัยขอตั้งข้อสังเกตว่าพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชันในช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา เกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบและขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น ลักษณะและโอกาสที่เอื้อให้เกิดการทุจริต โดยพฤติกรรมที่พบมากที่สุด ได้แก่ การสร้างข้อมูลเท็จ การปกปิดข้อเท็จจริง และการหลบเลี่ยงภาษี ถึงแม้ว่าสัดส่วนของจำนวนพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจะมีไม่มากนัก แต่ลักษณะของพฤติกรรมกลับทวีความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยกรณีส่วนใหญ่มักมีผู้ร่วมดำเนินการมากกว่าหนึ่งคน

อีกทั้งในบางกรณีเกิดจากการดำเนินการในหลายลักษณะควบคู่กันไป เช่น การสร้างข้อมูลเอกสารเท็จเพื่อเอื้อให้เกิดการยักยอกเงินออกจากบริษัท อันเป็นการกระทำที่เกิดจากเจตนาของบุคคลในระดับผู้บริหารหรือกรรมการร่วม ดำเนินการด้วย ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายที่ค่อนข้างรุนแรงต่อบริษัทและผู้ถือหุ้นของ บริษัทดังกล่าว

นอกจากนี้แล้ว การศึกษาในบทนี้ยังพบว่าจำนวนพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชันที่เข้าสู่ กระบวนการทางการเมืองหรือการดำเนินการทางกฎหมาย มีแนวโน้มที่ลดลงในช่วงกลางของรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หรือช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วและการเมืองมีเสถียรภาพ แต่ทั้งนี้จำนวนพฤติกรรมดังกล่าวกลับเพิ่มมากขึ้นในปีต่อๆมา เมื่อประเทศไทยประสบปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมือง

อาจสรุปได้ว่าการตรวจจับพฤติกรรมการทุจริตในภาคธุรกิจเอกชนนั้นจะ เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่สภาพเศรษฐกิจและการเมืองขาดเสถียรภาพ

แรงจูงใจที่ทำให้เกิดพฤติกรรมทุจริต

คณะผู้วิจัยได้วิเคราะห์แรงจูงใจที่เอื้อให้เกิดพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นในภาคธุรกิจ เอกชนไทย ซึ่งหากแรงจูงใจจากผลประโยชน์ที่ได้รับมากกว่าโทษ ก็จะเอื้อให้เกิดการทุจริต โดยได้ยกตัวอย่างบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ที่ถูกกล่าวโทษในช่วงปี 2544-2553 รวม 5 กรณี อันได้แก่ กรณีทุจริตของบริษัท ศิครินทร์ จำกัด (มหาชน) บริษัท รอยเนท จำกัด (มหาชน) บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เซอร์คิท อีเลคโทรนิคส์ อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอส.อี.ซี. ออโตเซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

จากทั้ง 5 กรณี คณะผู้วิจัยสรุปที่มาของปัญหา ดังนี้

(1) อุปสรรคในขั้นตอนการตรวจสอบพฤติกรรมการกระทำความผิดในเบื้องต้น อันเนื่องมาจากข้อจำกัดทางด้านข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่มักจะอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้กระทำความผิดเสียเอง ซึ่งฝ่ายตรวจสอบทำงานได้ยากยิ่งขึ้น อีกทั้งผู้กระทำความผิดยังสามารถสร้างข้อมูลเท็จในเอกสารหรืองบการเงินของ บริษัทเพื่อสนับสนุนหรือปกปิดการกระทำความผิดของตนเอง

(2) ระยะเวลาของการดำเนินคดีที่ล่าช้า นับตั้งแต่การกล่าวโทษผู้กระทำความผิดของ ก.ล.ต. จนถึงการสั่งฟ้องคดีไปยังศาลชั้นต้น เนื่องมาจากผ่านหลายขั้นตอน จากดีเอสไอหรือสศก. ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด อีกทั้ง ก.ล.ต.ยึดหรืออายัดทรัพย์ตามกฎหมายได้ไม่เกิน 12 เดือน แต่ในความเป็นจริงแล้วกว่าอัยการจะพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องนั้น กินเวลามากกว่า 1 ปี การอายัดไว้ได้ไม่เกิน 12 เดือน จึงไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด เพราะสุดท้ายแล้วก็จำต้องปล่อยทรัพย์ที่อายัดไว้กลับไป

(3) การตีความในข้อกฎหมายที่ไม่ตรงกันระหว่าง ก.ล.ต. และอัยการ จึงถือเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นหรือทำ ให้คดีถูกยกฟ้องเมื่อเรื่องไปถึงศาลแล้ว โดยที่การตีความทางกฎหมายจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของอัยการแต่เพียงผู้เดียว จึงนับเป็นปัญหาต่อการทำงานของ ก.ล.ต. อย่างมาก

(4) สำหรับโทษที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับ ในที่สุดแล้วอาจเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบริษัทและผู้ถือหุ้นไม่ ได้ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีการกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ซึ่งผู้กระทำความผิดจะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนถึงหนึ่งล้านบาท เป็นต้น ซึ่งหากประเมินแล้วถือว่าคุ้มค่ากว่า

กล่าวโดยสรุปแล้ว รูปแบบและพฤติกรรมการทุจริตนับวันจะมีมากขึ้นและหลาก หลาย ตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพตลาด เทคโนโลยี และกฎหมาย โดยการทุจริตในระดับโลกนั้นมีความซับ ซ้อนมาก ซึ่งไทยต้องเร่งหามาตรการรับมือกับการทุจริตคอร์รัปชันที่จะเกิดมาก ขึ้น

Tags : เปิดงานวิจัย ทุจริตภาคเอกชน แนวโน้มซับซ้อน กระทบรุนแรง

view