สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผลสอบเช่าเฟรทเตอร์ มัด ผู้บริหารบินไทย

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ผลสอบเช่าเฟรท เตอร์"มัด"ผู้บริหารการบินไทย หลังพบพิรุธข้ามขั้นตอน-ค่าเช่า 2ปี มูลค่า 5.5พันล้านบาท
การโยกย้าย นายพฤทธิ์ บุปผาคำ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และเรืออากาศเอกจรัสพงษ์ บุรุษรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหารทั่วไป ให้เป็นที่ปรึกษาพิเศษ เป็นผลจากความไม่ถูกต้องในการจัดซื้อพื้นที่ระวางบรรทุกสินค้าจากบริษัท เซาท์เธิร์น แอร์ โดยคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งมีนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ เป็นประธาน ได้เสนอผลการสอบสวนให้คณะกรรมการการบินไทยพิจารณาเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา

แหล่งข่าวจากการบินไทย เปิดเผยว่า คณะกรรมการสอบสวน ระบุว่า นายพฤทธิ์ ดำเนินการไม่ถูกต้องตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2546 โดยเฉพาะการเสนอเรื่องต่อผู้มีอำนาจอนุมัติ และไม่ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างถูกต้อง มีลักษณะจงใจหรือหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามระเบียบพัสดุ ขณะที่เรืออากาศเอกจรัสพงษ์ ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการจัดซื้อจัดจ้าง จงใจให้ข้อมูลการจัดซื้อพื้นที่ระวางบรรทุกสินค้าต่อคณะกรรมการบริหารกลุ่ม ธุรกิจสนับสนุนการบิน (BEM) ไม่เป็นไปตามระเบียบพัสดุ

ทั้งนี้ การจัดซื้อพื้นที่ระวางบรรทุกสินค้าจากเซาท์เธิร์นฯ มีเริ่มต้นจากการประชุม BEM เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2552 นายพฤทธิ์ขณะนั้นเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ และรักษาการกรรมการผู้จัดการฝ่ายการพาณิชย์สินค้าและไปรษณียภัณฑ์ ได้เสนอขออนุมัติจัดซื้อพื้นที่ระวางแบบ BLOCK SPACE AGREEMENT ทั้งลำ จากเซาท์เธิร์นฯ ด้วยเครื่องบินโบอิง 777-200 LRF จำนวน 2 ลำ เป็นเวลา 24 เดือน ในราคาฐาน ACMI ต่อ BLOCK HOUR 7,400 ดอลลาร์ ใน 12 เดือนแรก และ 7,350 ดอลลาร์ใน 12 เดือนหลัง และมี MINIMUM MONTHLY BLOCK HOUR GUARANTEE จำนวน 400 ชั่วโมงต่อเดือน กำหนดส่งมอบพื้นที่ระวางลำแรกในเดือนก.พ.2553 และส่งมอบลำที่ 2 ในเดือนมี.ค.2553

อย่างไรก็ตาม นางงามนิตย์ สมบัติพิบูลย์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชีในขณะนั้น ได้สอบถามว่าเรื่องนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนเพียงใด และควรตรวจสอบวงเงินเงื่อนไข เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต โดยเห็นว่ากรณีนี้ถือเป็นการเช่าเครื่องมาทำการบินขนส่งสินค้ารูปแบบ FREIGHTER โดยการบินไทยกำหนดเส้นทางบินเอง จึงไม่ใช่การ BLOCK SPACE เพราะถ้าเป็นการ BLOCK SPACE ทั้งลำ เซาท์เธิร์นฯ ต้องมีตารางเที่ยวบินที่จะทำการบินตามเส้นทางอยู่แล้ว และต้องรับผิดชอบการจัดตารางบินทั้งหมด แต่การจัดซื้อพื้นที่ระวางตามที่เสนอมา เปรียบเสมือนการเช่า FREIGHT ซึ่งไม่สามารถดำเนินการได้ ที่ประชุมจึงให้นายพฤทธิ์รับข้อเสนอนางงามนิตย์ไปดำเนินการ

หลังจากนั้นนายพฤทธิ์ ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม BEM อีกครั้ง ในวันที่ 22 ก.ย.2552 โดยนายปาณฑิต ชนะภัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายทรัพยากรบุคคลและบริหารทั่วไป ได้สอบถามว่าใช้ระเบียบหมวดใดในการจัดซื้อดังกล่าว ซึ่งเรืออากาศเอกจรัสพงษ์ ชี้แจงว่าเป็นการดำเนินการตามระเบียบพัสดุ โดยใช้วิธีพิเศษแบบเฉพาะเจาะจงเฉพาะราย เพื่อซื้อพื้นที่ระวางแบบ BLOCK SPACE AGREEMENT และจากการคำนวณพบว่าโครงการนี้จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 200 ล้านบาท จึงเป็นอำนาจอนุมัติของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรมีข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ประสบการณ์ จำนวนเครื่องบินของเซาท์เธิร์นฯ และควรศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน เพราะเป็นรายจ่ายที่ต้องผูกพัน 2 ปี ที่ประชุมจึงให้นายพฤทธิ์ รับข้อสังเกตไปดำเนินการ

ต่อมานายพฤทธิ์ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม BEM เป็นครั้งที่ 3 ในวันที่ 29 ก.ย.2552 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ และในวันรุ่งขึ้น คือ 30 ก.ย.2552 นายพฤทธิ์ได้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งขณะนั้นมีนายวัลลภ พุกกะณะสุต เป็นประธาน เพื่อขออนุมัติจัดซื้อพื้นที่ระวางแบบ BLOCK SPACE AGREEMENT ทั้งลำ จากเซาท์เธิร์นฯ โดยระบุว่าจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน 230.64 ล้านบาท และมีกำไรเดือนละ 29 ล้านบาท ซึ่งที่ประชุมมีมติอนุมัติ และนายพฤทธิ์ได้ลงนามสัญญากับเซาท์เธิร์นฯ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2552  

ทั้งนี้ คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าโครงการนี้ดำเนินการอย่างรีบเร่งข้ามขั้นตอน ตั้งแต่การไม่ขออนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อ การไม่ศึกษาหรือดำเนินการเพื่อเสนอข้อมูลต่อที่ประชุม BEM การรีบเร่งลงนามสัญญาทั้งๆ ที่มีการทักท้วงในประเด็นอำนาจของผู้อนุมัติ ซึ่งการลงนามสัญญาของนายพฤทธิ์ เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบพัสดุ เพราะการบินไทยต้องจ่ายค่าเช่าพื้นที่ ระวาง 2 ปี เป็นวงเงิน 5,520 ล้านบาท ซึ่งเกินอำนาจอนุมัติของคณะกรรมการบริหาร จึงต้องเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการการบินไทย

สำหรับตัวเลขกำไรเดือนละ 29 ล้านบาทนั้น ไม่มีข้อมูลแหล่งที่มา ไม่สามารถชี้แจงได้ และไม่พบว่าได้เปรียบเทียบราคากับรายอื่น อีกทั้งการบอกเลิกสัญญาต้องบอกล่วงหน้า 1 ปี เท่ากับว่าต้องจ่ายค่าเช่า 1 ปีเป็นเงิน 2,760 ล้านบาท ถ้าหากดำเนินการตามขั้นตอนและได้เจรจาต่อรองอย่างรอบคอบ หรือนำข้อมูลของผู้ให้บริการรายอื่นมาเป็นฐาน เชื่อว่าการบินไทยจะได้รับประโยชน์มาก ขึ้น จึงถือว่าเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท

ส่วนการที่นายพฤทธิ์ชี้แจงว่าสัญญา BLOCK SPACE ดังกล่าว มีลักษณะเป็นสัญญาจัดซื้อพื้นที่ระวางบรรทุกสินค้ามิใช่สัญญาเช่าเครื่องบิน เพราะเซาท์เธิร์นฯ ต้องจัดให้มีสิทธิการบินผ่านหรือ TRAFFIC RIGHTS ของเครื่องบินทั้ง 2 ลำ และเครื่องบินทั้ง 2 ลำนี้ ไม่ได้จดทะเบียนในนามการบินไทย จึงมิใช่การเช่าเครื่องบินนั้น คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าการที่เซาท์เธิร์นฯ มีหน้าที่ต้องจัดให้มี TRAFFIC RIGHTS เป็นเพียงการกำหนดเงื่อนไขประการหนึ่งในสัญญาเช่า และการที่เครื่องบินทั้ง 2 ลำ จดทะเบียนในนามเซาท์เธิร์นฯ หรือการที่เซาท์เธิร์นฯ มีTRAFFIC RIGHTS ไม่ได้เป็นสาระสำคัญถึงขนาดทำให้สัญญาดังกล่าวมิอาจมีลักษณะเป็นสัญญาเช่า ได้ จึงเห็นว่าสัญญาจัดซื้อพื้นที่ระวางแบบ BLOCK SPACE เป็นนิติกรรมที่อำพรางสัญญาเช่าเครื่องบิน
 
สำหรับการชี้แจงของเรือ อากาศเอกจรัสพงษ์ที่ระบุว่าโครงการนี้มีค่าใช้จ่าย 200 ล้านบาท จึงเป็นอำนาจอนุมัติของคณะกรรมการบริหาร ถือเป็นการให้ข้อมูลที่บกพร่อง และนำไปสู่การเสนอคณะกรรมการบริหาร เพราะจากการประเมินเบื้องต้น พบว่าการจัดซื้อพื้นที่ระวางมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน 230.64 ล้านบาท แต่สัญญามีระยะผูกพัน 2 ปี จึงเห็นได้ชัดเจนว่ามีค่าใช้จ่ายรวม 5,520 ล้านบาท

Tags : ผลสอบเช่าเฟรทเตอร์ มัดผู้บริหารบินไทย

view