สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปมพระวิหาร7รัฐบาลจาก2543ถึง2553

จาก โพสต์ทูเดย์

หากตัดคำพิพากษาของศาลโลกที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของ กัมพูชา เมื่อปี 2505 ปมขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา ก็น่าจะมีร่องรอยตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย...

โดย...ทีมข่าวในประเทศ

หากตัดคำพิพากษาของศาลโลกที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา เมื่อปี 2505 ปมขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา ก็น่าจะมีร่องรอยตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ที่ได้ไปลงนามตกลงกับกัมพูชาเรื่องปัญหาเขาพระวิหาร เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2543 โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รมช.ต่างประเทศ เป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนระหว่าง ไทย-กัมพูชา ปี 2543 โดยเป็นการยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสแต่ฝ่ายเดียว

ปี 2544 ตกมาถึงยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการลงนามแถลงการณ์ร่วมกับนายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2544 ขณะเดียวกัน นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.ต่างประเทศ ก็ได้เป็นผู้ลงนามบันทึกความเข้าใจรับรองแถลงการณ์ร่วมด้วย

ภาพ ประกอบข่าว

วันที่ 25 มี.ค. 2547 นายสุรเกียรติ์ ยุคปลายรัฐบาลทักษิณ 1 จัดให้มีการประชุมร่วมเพื่อพัฒนาปราสาทพระวิหารขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยมีนายสกอัน รองนายกฯ และ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เป็นประธานร่วม

ภายหลังการประชุม นายสุรเกียรติ์ สรุปว่า จะมีโครงการที่ตั้งอยู่บนความร่วมมือและอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ในการอนุรักษ์ปราสาทพระวิหารให้เป็นมรดกโลกของมนุษยชาติร่วมกับองค์การยูเนส โก

ปี 2549 รัฐบาลทักษิณ 2 ถูกยึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549

ต่อมาวันที่ 15 ต.ค. 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนต่อมา และคณะ ได้เดินทางไปเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ พล.อ.สุรยุทธ์ แจ้งว่า ได้มีการเจรจาการปักปันเขตแดนระหว่างไทย ลาว และกัมพูชา ร่วมกันพัฒนาพื้นที่บริเวณสามเหลี่ยมมรกตเพื่อเปิดช่องทางบริเวณช่องตาเฒ่า เขาพระวิหาร โดยไทยพร้อมจะร่วมพัฒนาเขาพระวิหารกับกัมพูชา และยินดีที่กัมพูชาขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก

เข้าสู่ปี 2550 วันที่ 20 มิ.ย. นายฮอร์นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชามาเยือนไทย ได้หารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย เรื่องการจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอีกครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ

ระหว่างนั้นมีคำทักท้วงจากที่ประชุมสภากลาโหม ระบุว่า กัมพูชาสร้างหลักฐานเท็จหวังฮุบเขาพระวิหาร

ปี 2551 นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ไปเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 3-4 มี.ค. 2551 ยืนยันไม่คัดค้านกัมพูชาขึ้นทะเบียนตัวปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และจะยอมเลื่อนจุดหลักเขตแดนหลบไป 3-4 กม. ถัดมาวันที่ 21-22 พ.ค. นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ไปประชุมร่วมกับยูเนสโกที่ฝรั่งเศส โดยกัมพูชาเสนอแผนที่ใหม่ แสดงขอบเขตตัวปราสาทพระวิหารให้ฝ่ายไทยและยูเนสโกพิจารณาภายในวันที่ 6 มิ.ย. 2551

จากนั้นนายนพดล ระบุว่า จะนำเสนอแผนที่ดังกล่าวให้ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ระหว่างนั้นถูกกองกำลังบูรพาแย้งว่าแผนที่ใหม่เสี่ยงที่ไทยจะเสียดินแดน แต่นายนพดลยืนยันว่าแผนที่ใหม่อยู่ในขอบเขตกัมพูชา ห่างจากตัวปราสาทประมาณ 30 เมตร

ต่อมาวันที่ 18 มิ.ย. 2551 ครม.สมัครเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ตามที่นายนพดลเสนอและถูกศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่าเป็นหนังสือสัญญาที่อาจมี บทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ ทั้งยังมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางสังคมอย่างกว้างขวาง จึงต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 190 กำหนดไว้

วันที่ 12 ก.ค. นายนพดลลาออกจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศ หลังเดินทางกลับจากฝรั่งเศส เพราะถูกกดดันอย่างหนัก วันที่ 25 ส.ค. 2551 นายเตช บุนนาค เป็น รมว.ต่างประเทศคนใหม่ และได้ไปรับประทานอาหาร กับนายฮอร์นัมฮงที่กัมพูชา ต่อมานายเตชได้มีหนังสือถึงนายฮอร์นัมฮง ระบุว่า ไทยไม่ถือว่าคำแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกับกัมพูชา ลงวันที่ 18 มิ.ย. 2551 เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นเอกสารที่สิ้นผลแล้ว

วันที่ 1 ก.ย. 2551 นายฮอร์นัมฮงมีหนังสือถึงนายเตช ความตอนหนึ่งระบุว่า ไม่ยอมรับการสิ้นผลของแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว นำไปสู่การขึ้นทะเบียนมรดกโลกสำเร็จในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 32 ที่เมืองควิเบก ประเทศแคนาดา

ปี 2551 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นนายกฯ ที่ถูกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขับไล่ออกจากตำแหน่ง ระหว่างนั้นมอบให้นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ต่างประเทศ ไปประชุมร่วมกับนายฮุนเซน แต่ไม่มีความคืบหน้า

วันที่ 18 ธ.ค. 2551 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี วันที่ 3 เม.ย. 2552 เกิดเหตุทหารไทยปะทะทหารกัมพูชา ฝ่ายกัมพูชาเสียชีวิต 3 นาย และต่อมากัมพูชาเรียกค่าเสียหาย 75 ล้านบาท ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 33 ที่ประเทศสเปน รัฐบาลอภิสิทธิ์มอบหมายให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางไปคัดค้านแผนบริหารจัดการรอบปราสาทพระวิหาร แต่ที่ประชุมให้กัมพูชาจัดทำแผนมาเสนอใหม่

การประชุมครั้งที่ 34 ที่บราซิล ซึ่งจะพิจารณากันในวันที่ 28 ก.ค. รัฐบาลอภิสิทธิ์มอบหมายให้นายสุวิทย์ไปคัดค้านแผนดังกล่าวอีกครั้งและมีแนว โน้มที่ไทยจะเสียดินแดน

Tags : ปมพระวิหาร 7รัฐบาล 2543ถึง2553

view