สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดใจ ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กว่าจะถึงเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ

จากประชาชาติธุรกิจ

นอกจากความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อส่วนรวม แล้ว ก่อนตัดสินใจลงสมัคร มีอย่างน้อย 2 คนที่เขาต้องบอกกล่าว ทำไมเสี่ยปั้นถึงคัดค้าน? กับข้อครหาว่าจะเอื้อประโยชน์ให้แบงก์กสิกรไทย เขามีคำตอบอย่างไร คลิกอ่าน...

"สาเหตุที่คิดสมัคร ก็เพราะคิดว่า การทำงานตรงไหนที่ให้ความหมายกับชีวิตดีที่สุด เราอยากทำอะไรที่มีความหมายต่อชีวิตมากขึ้น มันเป็นความตั้งใจมาตั้งแต่อดีต อยากใช้เวลาทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม"
เสียงทุ้ม นุ่ม ลึก ของ "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล" อดีตกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ที่กำลังจะได้เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 1 ตุลาคม 2553 นี้ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ว่า ทำไมถึงคิดสมัครเข้ารับการคัดสรรเป็นผู้ว่าการ ธปท.
"ถ้าย้อนหลังไปเมื่อ 10 ปี อาจจะคิดมาก เพราะเหลือเวลาทำงานอีกเยอะ คิดถึงครอบครัว คิดถึงรายได้ ลูกที่จะต้องเรียนต่อเมืองนอก แต่ตอนนี้อายุก็ 58 ปีแล้ว ก็คุยกับคนที่บ้านว่า ถ้าได้(เป็นผู้ว่าการ ธปท.)ก็ดีอย่าง ได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ แต่ถ้าไม่ได้ ก็ดีอย่าง ชีวิตสงบ รายได้สูง"
ฉะนั้น เมื่อตัดสินใจว่าจะสมัครผู้ว่าการ ธปท. บุคคลแรกที่จะต้องถามก็คือ "ภรรยา" นิศารัตน์ ไตรรัตน์วรกุล ผู้ชำนาญการพิเศษ (ด้านนโยบายกำกับดูแลสากล) ฝ่ายนโยบายความเสี่ยงธนาคารแห่งประเทศไทย
  "วันแรกที่บอกเขา เขาไม่เห็นด้วย ชีวิตเขาไม่สงบ จนข่าวแพร่ไประยะหนึ่ง ก็เป็นว่า เขาเริ่มเอาใจช่วย
นอกจากชีวิตที่ไม่สงบแล้ว "นิศารัตน์" ที่ทำงาน ธปท.มา 24 ปีแล้ว ยังเกรงว่า ความตั้งใจที่จะทำงานที่ ธปท.ให้ครบ 25 ปี เพื่อจะได้รับสิทธิรับบำนาญนั้น อาจพลิกผัน เพราะสามีดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.
  แต่เรื่องนี้ก็ตกไป ในเมื่ออย่างน้อยมีอดีตผู้ว่าการ ธปท. 2 คน คือเริงชัย มะระกานนท์ และวิจิตร สุพินิจ ที่ภรรยาทำงานใน ธปท.ระหว่างที่ทั้งสองดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.
  ส่วนลูก ปรากฏว่าเขาถูก "ตรัยวัชร์ ไตรรัตน์วรกุล"  ลูกชายคนโต วัย 18 ปี ตั้งคำถามกลับ
"ถ้ารู้ว่าจะทำอะไร ตำแหน่งนี้จะทำอะไรได้บ้าง ถ้ารู้ก็รับ"
ถัดจากครอบครัว "บัณฑูร ล่ำซำ" หรือคุณปั้น ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เป็นอีกบุคคลสำคัญที่เขาจะต้องบอก
"คุณปั้นคัดค้านไม่อยากให้ไป เขาเป็นห่วง กลัวว่าถ้าการเมืองเปลี่ยนจะถูกรังแก ตอนที่เกิดเหตุความไม่สงบขึ้น เรายังคุยกันเล่นๆ ว่าอาจจะไม่ต้องสมัครแล้ว การเมืองเปลี่ยน มันจบแล้ว" ประสารยิ้ม   แต่สุดท้ายเมื่อใกล้หมดเวลาต้องยื่นใบสมัคร "คุณปั้น" ก็ไม่ขัด
  เมื่อพูดมาถึงตรงนี้ ก็เลยยิงคำถามถึงข่าวลือการสมัครลงชิงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ครั้งนี้ เพราะมีผู้ใหญ่ในรัฐบาลยกหูมาถึง และหว่านล้อมให้เขียนใบสมัคร
  "ไม่มี" ประสารตอบทันที
"ผมไม่เคยรู้จักท่านนายกฯ (อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เป็นส่วนตัว เคยเจอกันบ้างสมัยทำงานที่แบงก์ชาติ ท่านยังเรียนหนังสืออยู่เลย ท่านมาดูงานที่ฝ่าย 2 สัปดาห์ แต่แทบไม่ได้คุยกัน นอกนั้นก็เจอกันในงานสัมมนา ขึ้นเวทีอภิปรายด้วยกัน ตอนนั้นท่านทำงานที่ ม.ธรรมศาสตร์ ส่วนคุณพ่อท่าน (นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เป็นหมอที่รักษาคุณพ่อผม แต่ก็รู้จักในฐานะหมอกับคนไข้ ไม่ได้รู้จักกันเป็นส่วนตัว"
แล้วข่าวที่ว่ามีส่วนร่วมในการเสนอและร่างแผนปรองดองแห่งชาติ 5 ข้อของนายกฯ ที่เสนอให้ม็อบเสื้อแดงเป็นร่างแรก โดยพ่วงเรื่องยุบสภาในปลายปี 2552 ด้วยล่ะ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
  "ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่เคยไปร่วมร่างอะไร จะมีก็แต่หลังจากท่านนายกฯแถลงแผนปรองดองครั้งนั้นออกมา วันรุ่งขึ้นก็มีการประชุม กกร. (คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน) ผมในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ไปเข้าร่วมประชุมอยู่ด้วย และมีแถลงการณ์เห็นด้วยกับแผนปรองดองดังกล่าว เพราะเราเห็นว่าจะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายลงได้
ขณะที่บุคคลภายนอกมองว่า "ประสาร" นอนมาในตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. แต่ตัวเขากลับไม่มั่นใจว่าจะได้รับการคัดสรร และตื่นเต้นเหมือนกำลังเข้าห้องสอบ
"ไม่แน่ใจว่าจะได้ เพราะระบบคัดสรรเป็นระบบใหม่ กรรมการ convince (โน้มน้าวใจ) ไม่ได้ สังเกตจากการสัมภาษณ์ เขาให้เขียนแต่ละข้อ แล้วซักถาม
ดูแล้วกรรมการจะดูตามเนื้อผ้า และไม่รวมตัวกันโหวต ผลออกมาจึงหลากหลาย มีการวางน้ำหนักจุดอ่อนจุดแข็งแต่ละอย่างไว้"
เพราะฉะนั้น กรรมการไม่มีฟันธง!
สรุปคือ การมาสมัครครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
  "ท่านรัฐมนตรีคลัง (กรณ์ จาติกวณิช) ระวังมาก สังเกตว่า ใครมาซักมาเถียงอย่างไร ท่านต้องอธิบายได้ ไม่ใช่การันตี แต่ต้องดีเฟนด์ (defend) ได้"
และก็มาถึงคำถามยอดฮิต กับการที่เป็นกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย มาก่อน เมื่อขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. ต้องกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ จะมีข้อครหาเรื่องเอื้อประโยชน์หรือไม่
ว่าที่ผู้ว่าการ ธปท. นิ่งไปนิดหนึ่ง ก่อนถามว่า
"ส่วนใหญ่ คิดว่าจะเอื้อประโยชน์แบงก์กสิกร หรือเอื้อแบงก์ทั้งระบบ"
เมื่อบอกว่า น่าจะคิดว่าเอื้อแบงก์กสิกรไทย
"พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับแก้ไขปี 2551 คนแก้ไขเขาคิดเรื่องนี้แล้ว เช่น เมื่อออกจากตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท.แล้ว ห้ามทำงานในสถาบันการเงินใดๆ เป็นเวลา 2 ปี ที่ต้องห้ามเพราะก่อนจะออกจากตำแหน่ง สามารถใช้อำนาจหน้าที่สร้างบุญคุณกับแบงก์ เพื่อให้แบงก์ตอบแทนด้วยตำแหน่งต่างๆ เมื่อออกจากแบงก์ชาติได้ logic เป็นอย่างนี้ แต่ขาเข้าเขาไม่ห้าม ผู้แก้กฎหมายคงไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน ไม่เช่นนั้นคงห้ามในฉบับแก้ไขปี 2551 แล้ว"
"ประสาร" บอกว่า มองในมุมกลับกัน การไม่ห้ามนายธนาคารมาเป็นผู้ว่าการธนาคารกลาง ก็เพื่อให้การคิดนโยบายเกี่ยวกับสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แล้วยกตัวอย่างที่เขาบอกว่าเป็นตัวอย่างคลาสสิคในต่างประเทศ เกี่ยวกับการแต่งตั้งคนในแวดวงวิชาชีพไปดำรงตำแหน่งในหน่วยงานกำกับตรวจสอบ วิชาชีพนั้นๆ
  เป็นเรื่องในปี ค.ศ.1931 (พ.ศ.2474) สมัยประธานาธิบดีรูสเวลท์ แห่งสหรัฐอเมริกา ตลาดหุ้นสหรัฐตอนนั้นเต็มไปด้วยเสือ สิงห์ กระทิง แรด แล้วเกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ตลาดหุ้นสหรัฐทรุด แบงก์ปิด ล้มละลาย จนต้องสังคายนาระบบกันใหม่ มีการยกร่างกฎหมายกำกับหลักทรัพย์ โดยใช้อาจารย์กฎหมายเก่งๆ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมายกร่าง และเป็นที่มาของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ของสหรัฐ (เอสอีซี) เป็นที่มาของแนวคิดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดต้องเปิดเผยข้อมูล แนวคิดแสงตะวันส่องมา
"ครั้งนั้น ประธานาธิบดีรูสเวลท์แต่งตั้งโปรเฟสเซอร์โจเซฟ เคนเนดี้ ซึ่งคนในวงการรู้ดีว่ารวยมาก รวยจากตลาดหุ้น ช่ำชองเรื่องตลาดหุ้น มาเป็นประธาน ก.ล.ต.สหรัฐคนแรก"
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ "อลัน กรีนสแปน" อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ ที่ได้รับการยกย่องในภาคธุรกิจเอกชนในสหรัฐ ไม่ใช่เพราะเขาเก่งทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นเพราะ "เท้าติดดิน" ต่างหาก เนื่องจากอลัน กรีนสแปน เคยทำงานในหน้าที่เกี่ยวกับสินค้าคงคลังที่เป็นเหล็กกล้า ทำให้เขาพบว่า ตัวเลขสินค้าคงคลังของเหล็กกล้าเป็นตัวชี้เศรษฐกิจสหรัฐได้ค่อนข้างดี
นักเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ตัวเลขสถิติคาดการณ์เศรษฐกิจ ก็ยังไม่แม่นเท่ากับที่เขาทำนายจากสต๊อคของโรงงานเหล็ก
"ฉะนั้น ถ้าจะบอกว่า ห้ามคนที่มาจากสถาบันเศรษฐกิจด้านเอกชน มาเป็นผู้ว่าการ ธปท. มันคล้ายจะปิดประตูเกินไป"
อย่างไรก็ตาม เรื่องการเอื้อประโยชน์กับใคร หรือไม่ อย่างไรนั้น
"ประสาร" บอกว่า มันเป็น good governance หรือธรรมาภิบาลอย่างหนึ่ง ที่ต้องอาศัย 3 องค์ประกอบ คือนอกจากกฎเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ และกลไกการทำงานที่ปิดช่องโหว่ต่างๆ แล้ว
สำคัญที่สุด คือ "อยู่ที่ใจเรา" !
"เช่น เวลานี้มีการพูดเรื่องการลดค่าธรรมเนียม ลดค่าบริการทางการเงิน และลดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ซึ่งโยงกันหมด คำถามอยู่ที่ว่า วัตถุประสงค์ เราต้องการอะไร เหมือนกรณีแบงก์ในยุโรปจะมีรายได้จากค่าธรรมเนียมมาก เป็นผลให้เขาสามารถปรับลดดอกเบี้ยได้เยอะ ทำให้มีส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM-Net Interest Rate) ต่ำได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ ถ้าผู้บริหารมององค์รวมของรายได้ หากด้านหนึ่งสามารถหารายได้เข้ามามาก อีกด้านหนึ่งก็ปรับลดดอกเบี้ยลงได้
เช่นเดียวกับกรณีของแบงก์ที่เกาหลี ที่นั่นชัดเจนว่า ต้องการผลักดันให้ประชาชนหันมาทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มาก รัฐบาลจึงสนับสนุนให้คนใช้บัตรเดบิตในการจับจ่ายซื้อสินค้า เพื่อลดต้นทุนการผลิตธนบัตร โดยให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีได้
  ส่วนกรณีของไทย จากการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง ท่านบอกว่ารัฐบาลมีนโยบายจะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ หากเราผลักดันให้แบงก์ลดดอกเบี้ย เมื่อถึงจุดๆ หนึ่ง การลดดอกเบี้ยมากๆ จะมีผลต่อการเข้าถึงเงินทุนของคนบางกลุ่ม เพราะปัจจุบันกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ ได้รับดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถูกมากอยู่แล้ว เนื่องจากแบงก์แข่งขันกันเพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้ เช่นเดียวกับลูกค้าสินเชื่อบ้านที่แข่งขันสูง ทำให้ดอกเบี้ยบ้านแทบจะมีส่วนต่างรายได้น้อยมาก
ที่น่าห่วงคือ กลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่อาจยังได้รับดอกเบี้ยที่สูงกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากมีต้นทุนที่สูง แต่หากเราบีบลดดอกเบี้ย อาจทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้ยิ่งมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงเงินทุนก็ได้
ดังนั้น ต้องเคลียร์กันก่อนว่า เรามีวัตถุประสงค์อะไร จึงจะกำหนดนโยบายที่ชัดเจนได้ !!   .............   ที่มา : มติชนรายวัน,มติชนออนไลน์ 29ก.ค.53

Tags : ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ

view