สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กรมที่ดินวุ่นโฉนดซ้ำ1.1แสนแปลง เร่งแก้หวั่นกระทบสิทธิคนถือครอง

จากประชาชาติธุรกิจ

กรมที่ดินมึน ตรวจพบเลขโฉนดที่ดินซ้ำซ้อนกันทั่วประเทศ 1.1 แสนแปลง วุ่นหาทางแก้หวั่นกระทบสิทธิชาวบ้าน อธิบดีกรมที่ดินสั่งทุกสำนักงานเร่งเคลียร์ปัญหาให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 1 ปี ชี้ต้นเหตุมาจากปรับเปลี่ยนพื้นที่เขตการปกครองบ่อยจนเจ้าหน้าที่สับสน คนกรุงเจอแจ็กพอตด้วย 1.3 หมื่นแปลง



นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรมที่ดินอยู่ระหว่างปรับปรุงสารบบที่ดินทั่วประเทศพร้อม ๆ กับเร่งแก้ปัญหาจากที่พบว่าเลขโฉนดที่ดินและเลขหน้าสำรวจซ้ำซ้อนกันอยู่ จำนวนมาก จากการตรวจสอบพบว่า ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีโฉนดที่ดินที่เลขหน้าสำรวจและเลขโฉนดซ้ำกัน 12,000-13,000 แปลง จากโฉนดที่ดินที่มีประมาณ 2,000,000 แปลง ส่วนต่างจังหวัดโฉนดที่ดินที่เลขหน้าสำรวจและเลขโฉนดซ้ำกันมีอยู่ประมาณ 110,000 แปลง จากทั้งหมด 32 ล้านแปลง

สำหรับปัญหาการให้เลขซ้ำซ้อน กันของเลขหน้าสำรวจและเลขโฉนด มีทั้งโฉนดที่ดินที่ข้อมูลซ้ำซ้อนกันระหว่าง กทม.กับพื้นที่ใกล้เคียงอย่างจังหวัดสมุทรปราการ, ที่ดิน 2 แปลงมีเลขโฉนดเดียวกันอยู่ในสำนักงานเดียวกัน และที่ดิน 2 แปลงมีเลขโฉนดเดียวกันแต่อยู่ต่างสำนักงาน สาเหตุหลักมาจากมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่เขตการปกครองบ่อยครั้ง อย่างเดิมมี 71 จังหวัด ปัจจุบันมี 76 จังหวัด หรือ กทม.จากเดิมมี 36 เขต ปรับเพิ่มเป็น 50 เขต อาทิ เขตห้วยขวางเดิมเป็นแขวงขึ้นอยู่กับเขตพญาไท หรือเขตดินแดงที่แยกมาจากเขตห้วยขวาง หรือเขตลาดกระบังที่ปรับเปลี่ยนมาจากเดิมชื่ออำเภอเจียระดับ เป็นต้น ทำให้เจ้าหน้าที่กรมที่ดินเขียนเลขหน้าสำรวจและเลขโฉนดที่ดินคลาดเคลื่อน

เมื่อ ตรวจสอบพบกรมที่ดินจึงเร่งแก้ไขปัญหาด้วยการแก้ไขเลขโฉนดที่ดินให้ตรงกับเขต พื้นที่การปกครอง ตามแผนจะแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยจะแก้ไขโฉนดฉบับหลวงซึ่งจัดเก็บไว้ในสารบบที่ดินที่สำนักงานที่ดินสาขา แต่ละแห่งก่อน จากนั้นจะบันทึกข้อมูลในฐานข้อมูล ส่วนโฉนดฉบับราษฎร์ที่อยู่ในความครอบครองของเจ้าของโฉนดแต่ละรายจะทยอยแก้ไข เมื่อนำโฉนดมาติดต่อทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน

นายอนุวัฒน์ยืนยัน ว่า ปัญหานี้จะไม่ส่งผลกระทบสิทธิหรือทำให้เจ้าของโฉนดที่ดินเสียหาย ทั้งยังไม่ส่งผลกระทบต่อมูลค่าหรือราคาที่ดิน เพียงแต่อาจจะก่อให้เกิดความกังวล หรือเจ้าของที่ดินอาจยุ่งยากและเสียเวลาบ้างที่ต้องนำโฉนดมาแก้ไขให้ถูกต้อง

ขณะ เดียวกันกรมที่ดินกำลังเร่งจัดทำระบบสารสนเทศภายในสำนักงานที่ดินทั่วประเทศ งบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น 12,000 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการในพื้นที่นำร่องบางส่วนแล้ว อย่างจังหวัดอุบลราชธานี หนองคาย และปีงบประมาณ 2554 จะดำเนินการในจังหวัดสงขลา และสำนักงานที่ดินสาขาใน กทม. 8 แห่ง ได้แก่ ดอนเมือง หนองแขม บางขุนเทียน มีนบุรี บางเขน บางกะปิ ห้วยขวาง แนวทางดำเนินการจะนำโฉนดที่ดินและคีย์ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติที่ดินทุกแปลง ไว้ในคอมพิวเตอร์ ในอนาคตจะสามารถให้บริการประชาชนได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น

พร้อม กับจัดทำโครงการศูนย์ข้อมูลที่ดินแห่งชาติ ตั้งอยู่ในอาคารกรมที่ดินเดิมย่านปากคลองตลาด งบประมาณดำเนินการ 3,000-4,000 ล้านบาท โดยจะบรรจุ รายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินทั่วประเทศทั้ง 32 ล้านแปลงไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ อาทิ รูปแปลงที่ดิน ราคาประเมิน การใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายผังเมือง อาคารสิ่งปลูกสร้าง ข้อมูลเกี่ยวกับการชำระภาษี ฯลฯ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับที่ดินแต่ละแปลงจะปรากฏในแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการใช้งานของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

นา ยอนุวัฒน์กล่าวว่า ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐน่าจะมีไม่น้อยกว่า 20 หน่วยงานที่สามารถนำข้อมูลที่จัดเก็บไว้ในศูนย์ข้อมูลที่ดินแห่งชาติไปใช้ ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนา การเวนคืนที่ดินสร้างถนน ทางด่วน การจัดเก็บภาษี ตลอดจนงานสืบสวนสอบสวน ฯลฯ อาทิ กทม. กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการ ฟอกเงิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ฯลฯ

หาก จัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่ดินแห่งชาติสำเร็จ อันดับแรกจะจัดเก็บข้อมูลแปลงที่ดินใน กทม.ที่มีอยู่ 2 ล้านแปลงก่อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ รัฐบาลกำลังผลักดันบังคับใช้เป็นกฎหมาย เฉพาะ กทม.น่าจะเก็บภาษีได้ปีละกว่า 2 หมื่นล้านบาท และหากจัดเก็บข้อมูลที่ดินได้ทั่วประเทศให้แล้วเสร็จใน 3 ปีตามแผนที่วางไว้ก็จะช่วยให้รัฐจัดเก็บภาษีได้ปีละไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท

แหล่ง ข่าวจากกรมที่ดินเปิดเผยเพิ่มเติมว่า การแก้ไขเลขโฉนดที่ซ้ำซ้อนเป็นเรื่องใหญ่และค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องจากเป็นปัญหาที่สะสมมานาน อีกทั้งสำนักงานที่ดินแต่ละสาขามีโฉนดที่ดินจำนวนมาก ที่สำคัญในการแก้ไขนอกจากต้องได้รับความยินยอม จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว หากที่ดินติดจำนอง หรือถูกยึด อายัด ก็จะต้องแจ้งผู้รับจำนอง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน, ผู้รับจำนองรายอื่น ๆ หรือกรณีที่ดินถูกยึดทรัพย์ก็ต้องแจ้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ถ้าถูกอายัดก็ต้องแจ้งเจ้าพนักงานที่อายัดโฉนดที่ดินแปลงนั้น ๆ ด้วย ผู้รับจำนอง รวมทั้ง ผู้จะซื้อหรือจะขายที่ดินอาจไม่มั่นใจ แม้ กรมที่ดินจะยืนยันว่าการดำเนินการทั้งหมดไม่กระทบสิทธิผู้ที่เกี่ยวข้องก็ ตาม

ตัวอย่างพื้นที่ที่มีปัญหาโฉนดที่ดิน ซ้ำซ้อน อาทิ เขตยานนาวา (เมือง) จำนวนโฉนด 9,027 แปลง โฉนดซ้ำ 43 แปลง ตลิ่งชัน (บางใหญ่) โฉนด 3,694 แปลง โฉนดซ้ำ 3,206 แปลง มีนบุรี 37,335 แปลง โฉนดซ้ำ 34,708 แปลง บางขุนเทียน (เมือง) 134 แปลง โฉนดซ้ำ 74 แปลง บางเขน (ตลาดขวัญ) จำนวนโฉนด 55,604 แปลง โฉนดซ้ำ 19,275 แปลง เป็นต้น

Tags : กรมที่ดิน โฉนดซ้ำ เร่งแก้ กระทบสิทธิคนถือครอง

view