สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

จีนกับวิกฤตซ้ำซ้อน น้ำทะลักเมือง เงินเฟ้อพุ่ง

จาก โพสต์ทูเดย์

ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบทศวรรษ ซึ่งเกิดขึ้นทางตอนใต้และตะวันออกของจีน ได้สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวจีนอย่างมหาศาล โดยเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายไม่ต่ำกว่า 1,550 คน และส่งผลกระทบต่อที่พักอาศัยของประชาชนกว่า 100 ล้านหลังคาเรือน

เหตุอุทกภัยในครั้งนี้ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและ ทรัพย์สินของประชาชนเท่านั้น ทว่ายังได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลผลิตทางด้านอาหารและการเกษตรอย่างรุนแรงด้วย

สำนักงานควบคุมอุทกภัยและบรรเทาภัยแล้งของจีน เปิดเผยว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นเหตุให้น้ำปริมาณมหาศาลไหลบ่าเข้าท่วม และสร้างความเสียหายต่อพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่ทางการเกษตรกว่า 9 ล้านเฮกตาร์(ราว 9 หมื่นตารางกิโลเมตร) และทำลายผลผลิตทางเกษตรลงอย่างย่อยยับ

ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและสินค้าจำพวกอาหารชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าวเจ้า ข้าวสาลี ฝ้าย ข้าวโพด รวมทั้งเนื้อหมู ล้วนแล้วแต่มีผลผลิตที่ลดน้อยลง

จากการประเมินในเบื้องต้นของ เซี่ยงไฮ้เจซี อินเทลลิเจนซ์ บริษัทวิจัยสินค้าโภคภัณฑ์ของจีน คาดว่าเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวของจีนในปีนี้ลด น้อยลงประมาณ 57% และปริมาณผลผลิตฝ้ายจะลดลงประมาณ 5-10%

รายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ก็ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตร อย่างเห็นได้ชัด โดยผลิตผลทางการเกษตรจำพวกธัญพืชของจีน ซึ่งเก็บเกี่ยวได้ในช่วงฤดูร้อนของปีนี้ลดต่ำลงครั้งแรกในรอบ 7 ปี ส่งผลให้ราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ผลการสำรวจราคาสินค้าในจีนเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่าบรรดาสินค้าเกษตรทั้งข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวโพด ฝ้าย กระเทียม รวมทั้งเนื้อหมู ต่างยกขบวนขึ้นราคากันอย่างพร้อมเพรียง

ราคาฝ้ายพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบ 6 สัปดาห์ และราคาเนื้อหมูพุ่งสูงขึ้น 7.1% ในเดือน ก.ค. ซึ่งคาดการณ์ว่าจะยังพุ่งสูงต่อไปอีกจนถึงเดือน ก.ย. โดยภาพรวมสินค้าเกษตรและสินค้าจำพวกอาหารมีราคาเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 6.9-7.1% จากเมื่อปีก่อน

เมื่อใดก็ตามที่ราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจำพวกอาหารเพิ่มสูงขึ้น ก็นำไปสู่ความกังวลที่ว่าจะทำให้ราคาสินค้าประเภทอื่นๆ พุ่งขึ้นตาม และส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของจีน

ตงเต้า นักเศรษฐศาสตร์จากเครดิต สวิส คาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค หรือดัชนีชี้วัดอัตราเงินเฟ้อเมื่อสิ้นสุดปีนี้จะพุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงถึง 3.4-3.7%

สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ดูเหมือนว่าจะขัดแย้งกับความพยายามที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อไม่ให้สูงเกิน 3% ของรัฐบาลจีนอย่างสิ้นเชิง

นักวิเคราะห์หลายฝ่าย มองว่า ราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นนี้จะเป็นการสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลจีนต้อง ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ภาวะเงินเฟ้อลุกลามขยายตัว หลังจากที่ทางการจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ในระดับต่ำเพื่อรับมือกับ วิกฤตเศรษฐกิจโลกในช่วงก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการถาโถมโหมกระหน่ำของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ปริมาณผลิตผลทางการเกษตรที่ลดน้อยลงขณะที่ราคาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับความกังวลเรื่องภาวะเงินเฟ้อนั้น สำหรับจีนก็ยังพอมีเรื่องให้อุ่นใจได้อยู่เรื่องหนึ่งนั้นก็คือ ความมั่นใจที่ว่าจีนจะไม่ขาดแคลนข้าวสำหรับการบริโภคภายในประเทศ

นั่นหมายความว่า โอกาสที่จีนจะต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะทั้งจากเวียดนาม ญี่ปุ่น พม่า หรือรวมทั้งจากไทยเอง ดูจะมีอยู่ไม่มากนัก

ทั้งนี้ เนื่องจากทางการจีนได้ทำการสำรองข้าวเอาไว้ใช้ในยามขาดแคลน หรือในยุคข้าวยากหมากแพงเอาไว้อย่างเพียงพอ โดยรัฐบาลจีนได้สำรองข้าวเอาไว้มากถึง 200 ล้านตันหรือคิดเป็น 40% ของปริมาณการบริโภคข้าวตลอดปีของชาวจีนทั้งประเทศ

นับว่าเป็นเรื่องดีที่ในวิกฤตยังมีโอกาสพอจะให้จีนได้หายใจหายคอ และประคับประคองประเทศให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ไป

เวลานี้ก็ได้แต่เผ้ารอดูกันต่อไปว่า รัฐบาลจีนซึ่งก่อนหน้านี้เคยได้รับคำชมว่าสามารถดำเนินนโยบายเพื่อรับมือกับ วิกฤตเศรษฐกิจของโลก และกลับมาฟื้นตัวได้เป็นอย่างดีนั้น จะสามารถรับมือกับวิกฤตภายในประเทศที่ถาโถมโหมกระหน่ำดุจสายน้ำที่ท่วมทะลัก อย่างเลวร้ายที่สุดในรอบ 10 ปี ครั้งนี้ไปได้หรือไม่

Tags : จีน วิกฤตซ้ำซ้อน น้ำทะลักเมือง เงินเฟ้อพุ่ง

view