สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผลตอบแทนผู้บริหาร กับการใส่ใจของผู้ถือหุ้น (1)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : สฤณี อาชวานันทกุล


หลังจากที่ อเมริกันชนทั้งประเทศเฝ้ารอคอย ติดตาม หรือต่อต้านมานานหลายเดือน ในที่สุดกฎหมายปฏิรูปภาคการเงินอเมริกันที่มีชื่อยาวเป็นหางว่าวว่า...
Dodd-Frank Wall Street Reform and Consumer Protection Act (กฎหมายดอดด์-แฟรงค์) ก็ผ่านการลงนามโดยประธานาธิบดีโอบามา เป็นกฎหมายของประเทศเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
 

กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่การรื้อหรือปฏิรูปโครงสร้างของภาคการเงินอเมริกัน อย่างที่นักวิเคราะห์หลายคนคาดหวัง แต่มันก็เป็นมหกรรมแก้ไขกฎเกณฑ์การกำกับดูแลครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ของอเมริกาในรอบ 80 ปี ที่พยายาม “ยกเครื่อง” ระบบการกำกับดูแลภาคการเงินทั้งระบบให้ตามทันตลาดการเงินยุคโลกาภิวัตน์
 

นอกจากจะแก้ไขและเพิ่มเติมกฎเกณฑ์ควบคุมภาคการเงิน กฎหมายดอดด์-แฟรงค์ยังแก้ไขและเพิ่มเติมข้อกฎหมายเกี่ยวกับธรรมาภิบาล ค่าตอบแทนผู้บริหาร และกฎเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลสำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ข้อสำคัญมาตราหนึ่งกำหนดว่า บริษัทจดทะเบียนในอเมริกาทุกแห่งจะต้องได้รับสัตยาบันแพ็คเกจค่าตอบแทนผู้ บริหารจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นอย่างน้อยทุก 3 ปี คณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ไม่จำเป็นจะต้องทำตามมติของผู้ถือหุ้นในเรื่องนี้ (มติแบบนี้เรียกว่า non-binding resolution) ก็ได้ แต่บริษัทที่บอร์ดไม่ทำตามความประสงค์ของผู้ถือหุ้นย่อมทำให้คนนอกข้องใจใน ระดับธรรมาภิบาลของบริษัท กฎข้อนี้จึงน่าจะช่วยสร้างแรงกดดันให้บอร์ดฟังผู้ถือหุ้นมากขึ้น จากเดิมที่บอร์ดมักจะเอาใจซีอีโอและผู้บริหารระดับสูง จ่ายค่าตอบแทนสูงเกินไปและไม่ผูกมันเข้ากับผลประกอบการของบริษัท
 

นอกจากจะกำหนดให้บริษัทขอสัตยาบันจากผู้ถือหุ้น กฎหมายดอดด์-แฟรงค์ยังกำหนดมาตรการอื่นๆ อีกมากมาย เช่น บังคับให้ผู้จัดการกองทุนที่บริหารเงินไม่น้อยกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต้องเปิดผลการออกเสียงในประเด็นค่าตอบแทนผู้บริหารต่อสาธารณะ ข้อนี้น่าจะทำให้ผู้จัดการกองทุนรู้สึกกระอักกระอ่วนใจถ้าจะออกเสียงสนับ สนุนแพ็คเกจขนาดใหญ่อีกในอนาคต โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ถือหุ้นสถาบันรายอื่นที่ขับเคลื่อนประเด็นธรรมาภิบาล (เช่น กลุ่ม RiskMetrics) ได้ออกคำแนะนำแล้วว่าผู้ถือหุ้นควรปฏิเสธข้อเสนอของบอร์ด
 

ด้านการเปิดเผยข้อมูล กฎหมายดอดด์-แฟรงค์ประกาศิตให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของอเมริกา ไปแก้กฎเกณฑ์ใหม่ บังคับให้บริษัท “อธิบายอย่างชัดเจน” ว่าแพ็คเกจค่าตอบแทนของผู้บริหารแต่ละคนนั้นเชื่อมโยงกับผลประกอบการของ บริษัทอย่างไร นอกจากนี้ ทุกบริษัทจะต้องคำนวณอัตราส่วนค่าตอบแทนของซีอีโอต่อค่ากลางของค่าตอบแทน พนักงานทุกคน (median) และเปิดเผยว่าบริษัทยอมให้กรรมการหรือพนักงานเฮดจ์ (hedge) หลักทรัพย์ของบริษัทที่พวกเขาถือทั้งทางตรงหรือทางอ้อมหรือไม่
 

ประเด็นใหญ่อีกประเด็นหนึ่งในกฎหมายดอดด์-แฟรงค์ คือ ขยับขยายขอบเขตอำนาจการ “เรียกคืน” ค่าตอบแทน (เรียกว่า compensation clawback) โดย ก.ล.ต. ต้องออกกฎบังคับให้บริษัทจดทะเบียนทุกแห่งมีนโยบายเรียกคืนค่าตอบแทนที่ซีอี โอและผู้บริหารระดับสูงได้รับในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ในกรณีที่ “ไม่ปฏิบัติตามกฎในสาระสำคัญ” (material noncompliance) เช่น ไม่ส่งรายงานการซื้อขายหุ้นล็อตใหญ่ แปลว่ายังไม่ถึงขั้นฉ้อโกงบริษัทก็ถูกเรียกคืนค่าตอบแทนได้
 

โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายสำหรับ ก.ล.ต. คือ จะออกกฎให้บริษัทคำนวณค่าตอบแทนที่จะเรียกคืนอย่างไร เพราะหลายบริษัทไม่มีสูตรแน่นอนตายตัวเวลาจ่ายค่าตอบแทน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบอร์ดเป็นหลัก ประเด็นนี้ ก.ล.ต. ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก เพราะการกำหนดกฎการเรียกคืนค่าตอบแทนอาจ “โหด” เกินไปอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้บางคนอาจถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัวได้ เพียงเพราะเป็นกรรมการหรือผู้บริหารธนาคารท้องถิ่นเท่านั้น
 

โดยทั่วไป แพ็คเกจค่าตอบแทนผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนจะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าตอบ แทน (ในตลาดหุ้นไทยมักใช้คำว่า “คณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน”) ซึ่งตามกฎตลาดหุ้นทุกแห่งจะต้องเป็นกรรมการอิสระทุกคน แต่กรรมการอิสระจำนวนมากก็รับเงินค่าจ้างต่างหากจากบริษัทในฐานะ “ที่ปรึกษา” ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งนี้ ก่อให้เกิดข้อกังขาและซุบซิบนินทาอย่างกว้างขวางว่ากรรมการเหล่านี้เป็น อิสระจริงหรือ กฎหมายดอดด์-แฟรงค์ กำหนดให้ ก.ล.ต. ออกกฎบังคับว่าคณะกรรมการค่าตอบแทนจะต้องคำนึงถึงแหล่งที่มาของค่าตอบแทนและ ลักษณะความสัมพันธ์กับบริษัท ในการประเมินว่ากรรมการแต่ละคนเป็นอิสระจริงหรือไม่ (กฎหมายหลักทรัพย์ปัจจุบันของอเมริการะบุว่า กรรมการที่ได้ค่าจ้างในฐานะที่ปรึกษาบริษัทยังนับว่าเป็นกรรมการอิสระได้ ถ้าได้รับค่าจ้างไม่เกินปีละ 120,000 ดอลลาร์สหรัฐ)
 

ย้อนกลับมาดูตลาดหุ้นไทย ที่ผ่านมาผู้ถือหุ้นโดยรวมยังไม่ใส่ใจกับประเด็นแพ็คเกจค่าตอบแทนผู้บริหาร เท่าที่ควร ยังไม่ต้องพูดเรื่องการฉ้อโกงหรือไม่ปฏิบัติตามกฎก็ได้ แค่เรื่องพื้นๆ อย่างประเด็นที่ว่า กรรมการหรือผู้บริหารที่ไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทลูกหรือบริษัทร่วมนั้นไม่ ควรได้รับค่าตอบแทนเท่ากับคนนอก เพราะไปในหน้าที่คือบริษัทส่งไป (เรียกว่าเป็น “กรรมการตัวแทน” หรือ nominee director) บริษัทจดทะเบียนจำนวนมากก็ยังไม่ใส่ใจ ให้ค่าตอบแทนกรรมการตัวแทนเท่ากับกรรมการคนนอกติดต่อกันมานานหลายสิบปี
 

ยกตัวอย่างเช่น อานิก อัมระนันทน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เคยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ บมจ. ปตท. บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้รับรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่น ฯลฯ อยู่เนืองๆ ในบทความ “กำกับ ปตท.อย่างไร ให้ประโยชน์สูงสุด” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ เดือนมกราคม 2553 ว่า “การที่ผู้บริหารของ ปตท. ไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทลูกคนละหลายๆ แห่ง และได้รับค่าตอบแทนที่สูงมากๆ เช่น ในปี 2551 ผู้บริหารสูงสุดของ ปตท.ได้รับโบนัสและเบี้ยประชุมต่างๆ รวม 22.7 ล้านบาท...ไม่นับรวมเงินเดือนและผลประโยชน์ที่ได้รับในฐานะลูกจ้างเต็มเวลา ของบริษัทของ ปตท.คาดกันว่าประมาณ 16.5 ล้านบาท...แม้มีการอ้างถึงความเสี่ยงต่อการรับผิดตามกฎหมายของกรรมการ ก็สามารถซื้อประกันคุ้มครองความเสี่ยงนั้นได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำอยู่แล้ว ยกเว้นกรณีทุจริตหรือเกิดความละเลยอย่างมาก การที่บอร์ดอนุมัติให้ฝ่ายบริหารรับประโยชน์ที่ดูเหมือนจะสูงเกินควรเช่นนี้ ทำให้เกิดความเสี่ยงเรื่องการให้ต่างตอบแทนระหว่างผู้บริหารกับบอร์ด และซ้อนไปอีกชั้นหนึ่ง คือ ความเสี่ยงของการให้ต่างตอบแทนระหว่างเจ้ากระทรวงกับผู้บริหารโดยผ่านข้า ราชการที่ถูกเลือกมานั่งในบอร์ด”
 

อันที่จริง ประเด็นค่าตอบแทนของผู้บริหารที่บริษัทส่งไปนั่งเป็นกรรมการในบริษัทย่อยและ บริษัทร่วมนั้นไม่เชิงเป็นประเด็นธรรมาภิบาล เท่ากับเป็นประเด็นที่ว่า ทำไมผู้ถือหุ้นถึงปล่อยให้บอร์ดจ่ายเงินซ้ำซ้อน ธรรมเนียมปฏิบัติในต่างประเทศที่ผู้ถือหุ้นเอาจริงกับการตรวจสอบบริษัท มากกว่าไทยไม่เป็นแบบนี้ บริษัทปกติจะโอนเงินที่ผู้บริหารได้รับจากการเป็นกรรมการตัวแทนกลับคืนสู่ บริษัทแม่ หรือโอนเข้ามูลนิธิของบริษัทที่ทำการกุศลโดยอัตโนมัติ บริษัทไทยที่ทำแบบนี้ก็มีเหมือนกัน แต่ก็ยังเป็นส่วนน้อย
 

บางคนอาจแย้งว่า ผู้บริหารควรได้รับค่าตอบแทนสูงๆ เพราะยิ่งได้เยอะ ก็น่าจะยิ่งมีแรงจูงใจทำงานเพื่อบริษัท แต่ผลการศึกษามากมายชี้ให้เห็นว่า ค่าตอบแทนที่สูงเกินควรนั้นก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ผู้เขียนจะมาเล่าสู่เรื่องนี้ให้กันฟังในตอนต่อไป

Tags : ผลตอบแทนผู้บริหาร การใส่ใจของผู้ถือหุ้น

view