สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หอการค้าเทศแนะภาคธุรกิจ-สังคมร่วมต้านคอรัปชั่น

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : กนกนภา เพิ่มบุญพา, ปราณี หมื่นแผงวารี


"กรุงเทพธุรกิจ" สัมภาษณ์พิเศษประธานหอการค้าต่างประเทศในไทยหารูปแบบการต่อต้านคอร์รัปชันใน ไทย
"กรุงเทพธุรกิจ" สัมภาษณ์พิเศษ นายนานเดอร์ จี ฟอน เดอร์ ลูเฮ  ประธานหอการค้าต่างประเทศในไทย (JFCCT) ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้หารูปแบบการต่อต้านคอร์รัปชันในไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนเพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและการปรองดองของประเทศ
----------------------------------------
* การทำงานคณะกรรมการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่ได้รับมอบหมายจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นอย่างไร
 - การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อหารือกันและกำหนดแนวทางว่า จะทำอย่างไรในการต่อสู้กับการคอร์รัปชัน เน้นการนำเสนอแผนเพื่อรัฐบาลไทยและประเทศไทย ในการที่จะถอนการคอร์รัปชันออกไปจากสังคม นอกจากนี้ยังเน้นว่าในส่วนภาคเอกชน จะทำอะไรได้บ้าง ทั้งในส่วนกรอบที่จะคิดช่วยทำและประเด็นบทบาททางสังคม

ทั้งนี้ คณะกรรมการมีความคิดที่จะนำเสนอต่อรัฐบาล  2 ประเด็นหลัก คือ 1.การทำสัญญาต่อต้านคอร์รัปชัน  และ 2.สิ่งใดบ้างที่ควรจะเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ได้มองหารูปแบบในที่แตกต่างและพบว่ารูปแบบองค์กรปราบคอร์รัปชันของฮ่องกง ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ที่เรียกว่า ICAC (INDEPENDENT CORRUPTION AGAINST  COMMISSION) น่าจะนำมาใช้ ซึ่งจะเสนอให้หอการค้าไทยเสนอให้รัฐบาลต่อไป โดย ICAC เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจมากเมื่อ ICAC เข้าไปที่ออฟฟิศใดทุกคนจะกลัวมาก เพราะหน่วยงานนี้จะทำหน้าที่ทั้งสืบสวนและเข้าจับกุมได้ทันที

สำหรับประเทศไทยเรื่องการปราบคอร์รัปชัน ยังต้องการกฎหมายที่เข้มงวด เครื่องมือการทำงานที่ดี และการคว่ำบาตรจากสังคมอย่างแข็งขันต่อผู้ที่มีพฤติกรรมคอร์รัปชัน

หันกลับไปดูที่ฮ่องกง ICAC จะมีอำนาจอย่างมาก ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ระดับสูง สามารถเข้าสืบสวนเรื่องต่างๆ ได้โดยตรง รวมถึงการจับกุมและกำหนดบทลงโทษ

ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. (NACC) ไม่ได้มีอำนาจมากมายขนาดนั้น ส่วนใหญ่ทำหน้าที่ในการสืบสวน จากนั้นส่งเรื่องต่อให้เจ้าพนักงาน และส่งให้ศาลพิจารณาคดี ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีหลายขั้นตอนและต้องใช้เวลานาน กว่ากรณีการทุจริตนั้นๆ จะสิ้นสุด

อย่างไรก็ตาม เป็นโอกาสที่ดีที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุม “INTERNATIONAL ANTI-CORRUPTION CONFERENCE 2010” ช่วงเดือนพ.ย. นี้  ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะใช้ในการรับเอาแนวทางการปราบคอร์รัปชันมา การแก้ปัญหาในไทยจะก้าวหน้าขึ้น

* ทำไม หอการค้าถึงเลือกให้มาทำหน้าที่นี้
“เป็น หน้าที่ที่ยากมาก” มีการมองหาคนจากหลายหน่วยงาน แต่ผมเป็นชาวต่างชาติ ก็ดูจะง่ายกว่าที่จะทำงานนี้ เพราะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการเมือง พูดได้เสรี และเคยอยู่ที่ฮ่องกง ที่เคยมีประสบการณ์ปราบคอร์รัปชัน ที่รู้อยู่ว่า ในจีนมีการคอร์รัปชันสูง ส่วนสังคมไทยพูดกันมาก เอกชนก็อยากเห็นการต้านคอร์รัปชัน แต่ก็ไม่ได้มีการทำในทางปฏิบัติ ภาครัฐต้องจริงใจที่จะแก้ปัญหา

* ทำไมเลือกฮ่องกง โมเดล
- เคยอยู่ที่นั่นและเห็นว่าเป็นหน่วยงานที่ทำงานได้ผลประสบความสำเร็จจริงๆ อย่างน้อยก็ในหมู่ภาคธุรกิจ

* ไทยจำเป็นต้องมีคณะกรรมการอิสระปราบปรามการคอร์รัปชัน เหมือนฮ่องกงหรือไม่
 ไทย จำเป็นต้องปรับหรือแก้ไขกฎหมายบางอย่าง ให้สอดรับกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศ แน่นอนว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน เราต้องพิจารณาตั้งแต่มุมมองเชิงวัฒนธรรม  การจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันให้ได้ผล ต้องเริ่มตั้งแต่การกำจัด วัฒนธรรมการจ่ายเงินใต้โต๊ะ เพื่อแลกกับการได้รับการสนับสนุนทางการค้า หรือการลงทุน

สาเหตุที่เลือกใช้แนวทางการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในไทย โดยยึดตามรูปแบบฮ่องกง ซึ่งได้เห็นประสิทธิภาพในการทำงานของไอซีเอซี ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การใช้เจ้าหน้าที่จากภายนอกเข้ามาทำงาน พร้อมกับมีอำนาจตรวจสอบหน่วยงานต่างๆ อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ตำรวจ เอกชน รวมไปถึงหน่วยงานสาธารณะต่างๆ อย่างได้ผล แม้แต่กระบวนการเลือกตั้ง ไอซีเอซีก็เข้าไปมีบทบาทไม่น้อย เพื่อเป็นกันชนไม่ให้นักการเมืองขี้โกงเข้ามามีอำนาจในการบริหารหรือออก กฎหมาย
 
ทั้งนี้  ฮ่องกงจัดตั้งหน่วยงานไอซีเอซีขึ้นมาเมื่อปี  2517 ทำให้การคอร์รัปชันของฮ่องกงค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะไม่สามารถแก้ปัญหานี้อย่างราบคาบ แต่เกาะฮ่องกงก็มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในเรื่องคอร์รัปชัน ซึ่งความสำเร็จของไอซีเอซี เกิดจากการใช้มาตรการทางกฎหมายควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่สังคม ฮ่องกง ด้วยความเชื่อที่ว่าการสร้างทัศนคติให้ประชาชนเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวิธีการแก้ปัญหา

* การแก้คอร์รัปชันในไทยต้องใช้เวลามาก น้อยแค่ไหน

- ผมคิดว่า หากเราให้การศึกษาแก่ประชาชนทุกระดับชั้น ในสังคมว่าการคอร์รัปชันเป็นสิ่งไม่ดี และควรกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวในการตรวจสอบทุกครั้งว่า เงินที่ได้มานั้นมาจากไหน สอนให้รู้ถึงความแตกต่างระหว่างเงินบริสุทธิ์ กับเงินที่ได้มาจากการคอร์รัปชัน และควรให้สังคมเป็นผู้ลงโทษบุคคลที่มีพฤติกรรมจ่ายเงินใต้โต๊ะด้วยการพร้อม ใจกันคว่ำบาตรบุคคลนั้นๆ หรือที่มาของเงินสกปรกนั้นๆ

"จริงอยู่สิ่งที่ผมกล่าวมา ไม่ใช่เครื่องมือแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ 100% และไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก  เราต้องเริ่มต้นทำเสียตั้งแต่วันนี้และการที่ผมได้รับการแต่งตั้งให้มาทำ โครงการนี้ ก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะหากได้ข้อสรุปใดๆ เกี่ยวกับแผนแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ก็จะถือเป็นเหมือนข้อเสนอโดยรวมของเอกชนต่างชาติ ที่เข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลชุดนี้ต้องให้ความสนใจแน่นอน"

ประธาน เจเอฟซีซีที  ปฏิเสธที่จะกำหนดกรอบเวลาในการดำเนินการโครงการนี้ เนื่องจากปัญหาคอร์รัปชันในไทยเป็นปัญหาที่มี ความซับซ้อน มีความยุ่งยาก และเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว  ปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่หยั่งราก ลึกในสังคมไทยมานาน ตอนนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการเก็บรวบรวมข้อมูล และให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาเรื่องนี้  จึงไม่สามารถตอบได้ว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันในไทยต้องใช้เวลานาน เท่าใด

* สถานการณ์ทางการเมืองจะเป็นอุปสรรคต่อแผนการต่อต้านคอร์รัปชันที่ทำอยู่หรือไม่
- ไม่ คิดว่าไม่อย่างยิ่ง เพราะไม่ว่ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลต่อไป ก็จะเสนอแผนเดียวกันนี้ให้ เพราะสิ่งที่จะนำเสนอไม่ได้บอกว่านายกรัฐมนตรีหรือนักการเมืองต้องทำอะไร แต่ได้นำเสนอสิ่งที่ควรต้องทำเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน

* ในส่วนของภาคเอกชนเอง มีแผนอะไรที่จะทำ เพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน
- ได้พูดคุยกันว่าจะนำเสนอให้บริษัทที่จะมาร่วมประมูลงาน ในโครงการเมกะโปรเจค ต้องลงนามว่าจะต่อต้านการคอร์รัปชัน ซึ่งการลงนามอย่างเดียวคงไม่ได้ประโยชน์อะไรแต่ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี และจะนำไปสู่การบังคับใช้โดยมีบทลงโทษ คือ การหยุดการเข้าร่วมประมูล สำหรับบริษัทที่มีพฤติกรรมใช้เงินเพื่อให้ได้งาน อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจเองต้องยกระดับการทำธุรกิจ ให้ตระหนักเรื่องธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบต่อสังคม และความมุ่งมั่นที่จะต่อต้านการคอร์รัปชันจริงๆ

คณะทำงานกำลังพิจารณาถึงบทลงโทษบริษัทเอกชนต่างชาติ ที่เข้าไปพัวพันกับการคอร์รัปชันในเมืองไทย (หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีความผิดจริง) ในรูปแบบต่างๆ และกำลังพิจารณาในหลายทางเลือก ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรบริษัทนั้นๆ ไม่ให้เข้าร่วมประมูลโครงการต่างๆ

* การคอร์รัปชันในการดำเนินธุรกิจที่ เห็นชัดมีอะไรบ้าง
- ที่เห็นได้ชัดก็เรื่องการเลี่ยงภาษี แน่นอนบริษัทต้องการประหยัดเงิน และยังมีวิธีการอื่นๆ แน่นอนการให้เงินเพื่อให้ได้งาน เมื่อใช้เงินไปแล้วก็ต้องการผลตอบแทนคืน เป็นธรรมดาของธุรกิจ มองอีกทางการคอร์รัปชันก็เป็นต้นทุนทางธุรกิจ ถ้าไม่มีต้นทุนการลดลง ทั้งนี้ การเริ่มต้นหยุดคอร์รัปชันในส่วนภาคธุรกิจ จากโครงการเมกะโปรเจค เป็นการเริ่มต้นที่ดี ที่บริษัทที่จะร่วมประมูลต้องปลอดจากการคอร์รัปชันอย่างน้อยก็ในโครงการ นี้

* ได้มองรูปแบบการต่อต้านคอร์รัปชันจากประเทศอื่นๆ หรือไม่
- มองเกาหลีใต้ แต่ยอมรับว่าส่วนตัวไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนมากนัก แม้การปราบปรามคอร์รัปชันจะมีน้อย ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มี หรือถ้าสถิติปราบปรามมีมากไม่ได้หมายความว่าคอร์รัปชันที่นั่นมีมากตามไปด้วย

* อะไรเป็นปัญหาที่สุดของสังคมไทย
- จะทำอย่างไรให้อยู่อย่างปราศจากการคอร์รัปชัน ยกตัวอย่าง รถบรรทุกทำผิดกฎหมายบนถนน ถูกตำรวจเรียกบนถนนก็มีการคอร์รัปชันกันแล้ว

* ถ้าแก้ปัญหาไม่ได้ ประเทศไทยยังจะน่าลงทุนอยู่หรือไม่
- คิดว่าต้องแก้ได้ แต่ต้องใช้เวลาและกระบวนการอื่นๆ ยาวนาน เพราะมันต้องเริ่มจากการให้การศึกษา การต่อต้านทางสังคม  อย่างในส่วนภาคเอกชน ก็มี  ความพยายามลงนามในสัญญาว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน อย่างไรก็ตาม เห็นว่า การปราบปรามต้องมีองค์กรที่มีอำนาจมากๆ เข้ามาทำงาน ที่ผ่านมา มีกรณีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นนักการเมืองคนเดียวที่ถูกจับและดำเนินคดีข้อหาคอร์รัปชัน ซึ่งมีเพียงกรณีเดียวที่ถูกดำเนินคดี แต่ผมไม่แน่ใจจริงๆ ว่า คนอื่นไม่ได้คอร์รัปชัน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้หมายความว่า บทลงโทษ การบังคับใช้กฎหมายยังน้อย ได้เคยยกประเด็นนี้หารือกับ ป.ป.ช. ก็มีความเห็นคล้ายกันและรับว่าเป็นปัญหาที่น่ากังวล

* ช่วยเปรียบเทียบเรื่องคอร์รัปชันไทยกับเพื่อนบ้าน
- เคยมีผลสำรวจเรื่อง “แบล็ค อีโคโนมิก”  ซึ่งไทยอยู่ในระดับ 7 นับจากล่าง ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ในระดับ 7 นับจากบน ก็เป็นสิ่งเปรียบเทียบได้ระดับหนึ่งว่าต้องมีการสนใจปราบปรามคอร์รัปชันอย่างจริงจัง หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ก็อยู่ในระดับที่ไม่ต่างจากไทย แต่สิ่งที่สำคัญคือไทยต้องแก้ไขปัญหาของไทยจะดีกว่า

* หลังได้ข้อสรุปจากการทำงานแล้วกระบวนการต่อไปจะทำอย่างไร
- ขณะนี้คณะกรรมการยังทำงานกันอยู่  เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วจะต้องนำเสนอ  สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (BOARD OF TRADE)เพื่อตรวจสอบและส่งให้หอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีผ่านคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน หรือ กกร. ที่จะมีเอกชนเข้าร่วมอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่าเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันนี้ ต้องปรับโครงสร้างกระบวนการสืบสวนสอบสวน รวมถึงการพิจารณาคดี ซึ่งไทยไม่มีศาลเฉพาะเพื่อพิจารณาคดีคอร์รัปชัน ทั้งหมดนี้ต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และเห็นว่าถ้าเป็นขอเสนอจากภาคเอกชนก็จะเป็นแรงสนับสนุนอีกทาง

* มองการเมืองไทยในขณะนี้เป็นอย่างไร  อยู่ในขั้นที่มีเสถียรภาพหรือไม่
- คงเป็นการกล่าวเกินเลยไปหากจะบอกว่าการเมืองไทยขณะนี้มีเสถียรภาพแล้ว  เพราะว่าในกรุงเทพฯยังมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่  เพราะหมายความว่า อาจจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันใดๆ เกิดขึ้นได้อีกตลอดเวลา  เช่น เกิดระเบิด หรือเหตุการณ์รุนแรงรูปแบบต่างๆ โดยส่วนตัวอยากให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ก็ต้องเป็นการยกเลิก ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลมั่นใจว่า ปลอดภัยแล้วจริงๆ   

* มีความเป็นไปได้หรือไม่สังคมไทยจะกลับมาปรองดองอีกครั้ง
- กระบวนการปรองดองเพิ่งจะเริ่มต้น แต่ก็ยอมรับว่ายังมีการแบ่งแยกอย่างมากในสังคม และตราบใดที่นายกรัฐมนตรีไปเชียงใหม่ไม่ได้ ฝ่ายค้านไปภาคใต้ไม่ได้ ก็ยากที่จะเกิดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม ซึ่งการทะเลาะกันเพราะความเห็นที่ต่างกันไม่ควรจะเกิดขึ้น

* เหตุระเบิดในกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจหรือไม่
- น่าจะเป็นการสร้างความวิตกกังวลบ้างบางส่วน แต่ก็ไม่ทราบว่าใครทำ จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องหาผู้ทำหรือผู้อยู่เบื้องหลังดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ในแง่เศรษฐกิจต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยค่อนข้างดีจากการส่งออกที่ขยายตัวสูง  ประกอบกับการบริโภคภายในที่กำลังฟื้นตัว  ซึ่งในส่วนของเหตุระเบิด ไม่สามารถบอกได้ว่า ธุรกิจได้รับรับความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไร

Tags : หอการค้าเทศ แนะภาคธุรกิจ สังคมร่วมต้านคอรัปชั่น

view