สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

กฤษฎีกาฟันธง จารุวรรณ พ้นผู้ว่าสตง. แล้ว คุณหญิงเป็ดเปิดใจ มีชัยไม่ชอบหน้า

จากประชาชาติธุรกิจ

คณะกรรมการกฤษฎีกาชี้ "จารุวรรณ"พ้นเก้าอี้ สตง.แล้ว แต่จะเชื่อความเห็นหรือไม่ก็ได้เนื่องจากไม่ผูกพันองค์กรอิสระ "คุณหญิง" เมิน บอกไม่มีผล อ้าง" ผู้ใหญ่ "ไม่ชอบ มีชัย ชี้ ถ้าเสียหายต้องรับผิดชอบ อ้างไม่รู้ไม่ได้


 กฤษฎีกาชี้"จารุ วรรณ"พ้นเก้าอี้
คุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ถึงการพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ว่าการตรวจ เงินแผ่นดิน หรือผู้ว่าการ สตง. ของคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งเรื่องให้ตีความว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) พิจารณาแล้วเห็นว่า คุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่งผู้ว่าการ สตง.ไปแล้ว เนื่องจากตามประกาศคณะกรรมการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 29 ระบุว่า ให้ผู้ว่าการ สตง.ดำรงตำแหน่งถึงวันที่ 30 กันยายน 2550 จากนั้นให้มีการสรรหาใหม่ภายใน 90 วัน โดยในระหว่างการสรรหาผู้ว่าการ สตง.คนใหม่ ให้อยู่ในตำแหน่งพลางต่อไปได้ ดังนั้นคุณหญิงจารุวรรณจึงอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้อย่างมากแค่ 90 วัน
   

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าคุณหญิงจารุวรรณพ้นจากผู้ว่าการ สตง. และต้องออกจากสำนักงาน สตง.แล้วใช่หรือไม่ คุณพรทิพย์กล่าวว่า สตง.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกามีผลผูกพันเฉพาะส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เท่านั้น ดังนั้นจะเชื่อความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่ ก็เป็นเรื่องของคุณหญิงจารุวรรณจะพิจารณาเอง อย่างไรก็ตามหากคุณหญิงจารุวรรณยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป แล้วมีผู้นำเรื่องยื่นฟ้องศาล ก็จะต้องมีการแสดงความรับผิดชอบ หากศาลเห็นด้วยกับแนวทางของคณะกรรมการกฤษฎีกา บอกถ้าเป็นผู้ว่าฯสตง.ไม่ทำแล้ว    

สำหรับคำถามข้าราชการใน สตง.จะต้องรับฟังคำสั่งใคร ระหว่างนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รักษาราชการผู้ว่าการ สตง. กับคุณหญิงจารุวรรณ คุณพรทิพย์กล่าวว่า ส่วนใหญ่เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นไปแล้ว ทุกหน่วยก็จะรับฟัง ถ้าเป็นตนก็คงไม่ทำแล้ว ส่วนหากคุณหญิงจารุวรรณยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป ข้าราชการใน สตง.มีสิทธิฟ้องร้องไล่คุณหญิงจารุวรรณได้หรือไม่นั้น คุณพรทิพย์กล่าวว่า ไม่แน่ใจ ข้าราชการ สตง.ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงหรือไม่ แต่รักษาราชการผู้ว่าการ สตง.สามารถฟ้องร้องได้ เพราะเกี่ยวพันกับปัญหาการใช้อำนาจทับซ้อนกัน


ผู้ สื่อข่าวถามคำสั่งต่างๆ ที่คุณหญิงจารุวรรณลงนามในระหว่างรักษาราชการผู้ว่าการ สตง.ถือว่าเป็นโมฆะหรือไม่ คุณหญิงพรทิพย์ตอบว่า ตาม พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งมีมาตราหนึ่งระบุว่า หากมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ สิ่งที่ลงนามปฏิบัติมาก็ถือว่ายังใช้ได้


"จารุวรรณ" เมิน-อ้าง"มีชัย"ไม่ชอบ
ขณะที่คุณหญิงจารุวรรณให้สัมภาษณ์ผ่านรายการวิทยุ "เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์" จัดรายการโดยนายดนัย เอกมหาสวัสดิ์   ถึงการตีความการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้ว่าการ สตง. ว่า  " ประกาศ คปค.ฉบับที่ 29 บอกว่า ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้น ซึ่งมีอยู่คนเดียว คือตน ปฏิบัติหน้าที่กรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และให้มีการสรรหาภายใน 90 วัน และวรรคสุดท้ายของประกาศนี้ ระบุว่า ในระหว่างที่ยังไม่มี ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินในขณะนั้น ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน ก็เป็นอันที่วินิจฉัยชี้ขาดได้ "


" มาถึงกรณีกฤษฎีกาซึ่งแปลกมากเลย ว่าเราได้ข้อยุติแล้ว ท่านไม่ต้องวินิจฉัยแล้ว แต่ทำไมท่านจะต้องวินิจฉัยให้ได้ก็ไม่รู้ เขาบอกว่าจะประชุมวันนี้ แต่มีคนมาเล่าให้ฟังว่า มีผลออกมาแล้ว โดยคนใน สตง.ก็เอามาดูกันเวียนกันแล้ว แต่ขอคัดค้านคณะกรรมการกฤษฎีกาของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธาน ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่ดิฉันเคารพนับถือ แต่บังเอิญด้วยอะไรไม่ทราบ ท่านไม่ค่อยชอบดิฉันเหลือเกิน ไม่ทราบ อาจไม่สวย อาจไม่ค่อยอ่อนน้อม ก็บอกตรงๆ ว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมือง เราเป็นเด็กที่ไม่ค่อยรู้กฎหมาย แต่เราเก่งบัญชี เราต้องนับถือท่านไว้ ก็ได้ทำเรื่องขอถอนข้อหารือ เรียกว่าไม่ติดใจแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม แต่เข้าใจว่าคณะของอาจารย์มีชัยก็เดินหน้าต่อ" คุณหญิงจารุวรรณกล่าว


 "   ถ้าวันนี้จะมีผลอย่างไร ก็จะถือว่าไม่มีผลผูกพันกับเรา เช่นเดียวกับความเห็นของที่ปรึกษากฎหมายวุฒิฯ ก็ไม่ผูกพันกับเรา เพียงแต่ความเห็นทุกความเห็นเราก็ฟังไว้พิจารณา "  คุณหญิงจารุวรรณกล่าว และว่า ไม่ทราบว่าคำตอบสุดท้ายอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง แต่ก็อยากให้ชัดเจน    "มีชัย"ชี้คำวินิจฉัยกฤษฎีกา"คุณ หญิงเป็ด"ไม่ผูกพัน แต่เวลาเกิดปัญหาต้องรับผิดชอบเอง อ้างไม่รู้ไม่ได้

ผู้ สื่อข่าว รายงานว่า วันที่ 10 สิงหาคม 2553 ในคอลัมน์ถามตอบกับมีชัย ในเว็บไซต์ www.meechaithailand.com   นายมีชัย ฤชุพันธุ์  อดีตประธานวุฒิสภา ได้ตอบคำถามของผู้ใช้นามแฝงว่า ppolitic  เรื่อง คำวินิจฉัยกฤษฎีกามีผลผูกพันแค่ไหน ?


 
ผู้ ใช้นามแฝง "ppolitic"  ถามว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณี คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน มีผลผูกพันผู้เกี่ยวข้อง มากน้อยแค่ไหน หรือว่า ต้องส่งให้ศาลรธน. ตีความอีกรอบ ถึงได้ข้อยุติ 


  
นายมีชัย ตอบว่า  "คณะ กรรมการกฤษฎีกามีฐานะเพียงเป็นที่ปรึกษากฎหมายเท่านั้น เมื่อหน่วยงานของรัฐอยากได้ความเห็นทางกฎหมาย เขาก็ให้ไป ส่วนคนได้รับจะนำไปปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็เป็นเรื่องของคนนั้น ไม่มีอะไรบังคับ แต่ถ้าเป็นส่วนราชการของฝ่ายบริหาร ดูเหมือนมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดให้ปฏิบัติตาม แต่หน่วยงานที่ไม่อยู่ภายใต้ฝ่ายบริหาร จะปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ ถ้าไม่ปฏิบัติ เวลาเกิดปัญหาหรือความเสียหายขึ้น ก็ย่อมต้องรับผิดชอบไปเอง จะอ้างว่าไม่รู้ก็คงไม่ได้"    

 

มาร์คชี้รองผู้ว่าฯ รักษาการได้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุม ครม.ได้พิจารณากรณีคุณหญิงจารุวรรณเพราะมีตัวกฎหมายค้างอยู่ ส่วนการตีความของการกฤษฎีกานั้นตีความว่าคุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่งแล้ว และระหว่างนี้รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินสามารถทำหน้าที่รักษาราชการ แต่จะเป็นการรักษาราชการและปฏิบัติหน้าที่ในเชิงของการบริหารจัดการองค์กร ไม่ใช่การทำหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นจึงเป็นข้อสังเกตที่ทำให้ ครม.ต้องเร่งกระบวนการที่จะสรรหาบุคคลใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ และมีการย้อนกลับไปดูว่าการสรรหานั้นผูกโยงกับเรื่องของตัวกฎหมายหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เข้าใจว่าสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่ายังสรรหาคนใหม่ไม่ได้เพราะ ยังมีเรื่องของกฎหมายอยู่ ขณะเดียวกันเรื่องกฎหมายก็ยังมีปัญหาเพราะเมื่อไปถึงขั้นตอนของวุฒิสภาแล้ว ปรากฏว่าเสียงเห็นชอบไม่ถึงครึ่งก็ต้องมาพิจารณากันอีกว่าสภาผู้แทนราษฎรจะ ทำอย่างไร
 
  ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ที่บกพร่องในกรณีนี้จนกลายเป็นปัญหาคือสภาและ ครม. นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ครม.ทำตามหน้าที่คือส่งกฎหมายเข้าสู่สภา แต่ปรากฏว่ากฎหมายไม่ผ่านสภาแบบที่เป็นปัญหาเล็กน้อย ซึ่งถ้าวุฒิสภาลงมติไม่เห็นชอบก็เป็นอีกเรื่อง แต่ครั้งนี้วุฒิสภาลงมติเห็นชอบ แต่เสียงไม่ถึงครึ่ง ซึ่งมันยังไม่เคยมีกรณีนี้มาก่อน ก็มีปัญหาที่ต้องไปตีความว่าวิธีการเดินหน้ากฎหมายจะเป็นอย่างไร ส่วนการสรรหาบุคลากรที่จะเข้ามาเป็นตัวผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นหน้าที่ คณะกรรมการสรรหาซึ่งประธานวุฒิสภาทำหน้าที่เป็นประธาน
ส่วนเรื่องที่ขณะนี้เกิดการลักลั่นในทางปฏิบัติว่าใคร เป็นผู้มีอำนาจ แล้วต่อไปอาจมีปัญหาฟ้องร้องตามมานั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าคนที่ส่งไปให้ตีความนั้นคือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ไม่ใช่รัฐบาล และกฤษฎีกาก็ได้ตอบความเห็นไป    

 

หารือกฤษฎีกาหาช่อง สรรหาใหม่
ทั้งนี้ ระหว่างการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ชี้แจงต่อที่ประชุม ส.ส.ถึงปัญหาผู้ว่าการ สตง.ว่า ให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หารือเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า สภาสามารถที่จะสรรหาผู้ว่าการ สตง.ได้โดยที่ไม่ต้องรอกฎหมายใหม่ได้หรือไม่ ถ้าได้ก็ต้องขอให้ประธานวิปรัฐบาลดำเนินการ แต่หากต้องการคว่ำกฎหมายนี้ รัฐบาลก็จะเสนอใหม่ เพราะกฎหมายนี้น่าจะออกมานานแล้ว
" ถ้ารอกฎหมายใหม่ก็เป็นปี เท่ากับว่าเป็นปีที่จะไม่มีผู้ว่าการ สตง. มาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราไม่ได้เดือดร้อนแต่ดูไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เท่ากับว่าการตรวจสอบในกลไกนี้หายไปเป็นเวลา 1 ปี เรามีทางเลือกอยู่ว่าเราจะยืนยันหรือรอให้ไม่ผ่านวุฒิสภา ซึ่งเห็นว่าทางวุฒิสภาเองไม่ค่อยเห็นชอบเท่าไหร่ ดังนั้น ประเด็นจึงมีอยู่ว่าจะทำอย่างไร นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า จะหารือกับฝ่ายค้านเรื่องการเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ส่วนตัวเห็นว่าฝ่ายค้านคงไม่เห็นด้วย แต่ก็เชื่อว่า กรรมาธิการจะสามารถชี้แจงได้ทุกมาตราแต่ถ้าจะหยิบยกขึ้นมายืนยันเป็นกฎหมาย คิดว่าฝ่ายค้านคงไม่เอาด้วย ดังนั้น ต้องเตรียมเสียงให้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไร    

 

ไม่กล้าลงมติกลัวโหวตก ม.ไม่ผ่าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงผลประชุมว่า ประธานวิปรัฐบาลได้หารือต่อที่ประชุม ส.ส.ว่าควรจะทำอย่างไร เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่าคุณหญิงจารุวรรณพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ดังนั้น หากหยิบเรื่องนี้มาโหวตในที่ประชุมสภา ถ้าโหวตผ่านก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไม่ผ่านก็จะเกิดปัญหาการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ สุดท้ายนายอภิสิทธิ์ได้ระบุว่าต้องหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้งว่าถ้า ผลการโหวตไม่ผ่านจะมีผลในการตั้งผู้ว่าการ สตง.อย่างไร ดังนั้น ที่ประชุม ส.ส.จึงมีมติว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 11 สิงหาคมจะรับทราบข้อหารือจากประธานสภาเท่านั้น จะไม่มีการลงมติอะไร   ก่อนหน้าการประชุมพรรค นายวิทยา แก้วภราดัย ให้สัมภาษณ์ว่า วิปรัฐบาลประชุมกันเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม และได้หารือเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว เห็นว่า หากการประชุมสภาวันที่ 11 สิงหาคม มีเวลาเพียงพอ ก็จะหยิบร่างกฎหมายฉบับนี้มาพิจารณาว่าจะยืนยันหรือไม่ ถ้ายืนยันด้วยคะแนนเสียงกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ทั้งหมด ก็ต้องส่งร่างไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 141 ก่อนจะส่งขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษาต่อไป แต่หากเสียงยืนยันไม่เกินกึ่งหนึ่ง ก็จะต้องกลับไปนับหนึ่ง โดย คตง.เสนอร่างกฎหมายเข้ามาใหม่ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้แต่ละพรรคไปพิจารณาว่าจะยืนยันหรือไม่ แต่เป็นห่วงว่าเสียงอาจไม่เพียงพอ เพราะทราบว่าฝ่ายค้านไม่เอาด้วยกับกฎหมายฉบับนี้    

 

กุนซือกม.ปธ.วุฒิฯจองเวรกฤษฎีกา   นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภา และกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา แถลงว่า กรณีที่คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นทางกฎหมายว่า คุณหญิงจารุวรรณพ้นจากผู้ว่าการ สตง.เนื่องจากอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 ส่วนตัวเห็นว่า รัฐบาลได้ยืมมือคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อทำความเห็นทางกฎหมาย เป็นการแทรกแซงการทำงานของ สตง. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้เกิดความปั่นป่วน   นายไพบูลย์กล่าวว่า กรณีนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้ให้ความเห็นทางกฎหมายว่าจะต้องมีการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจเงิน แผ่นดิน และผู้ว่าการ สตง. ภายใน 90 วัน ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ 29 แล้วทำไมนายมีชัย ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาในสมัยนั้นถึงไม่ดำเนินการสรรหา นอกจากนี้ นายมีชัยเคยแสดงความเห็นมาตั้งแต่ปี 2548 ครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์ผู้ว่าการ สตง. ว่า คุณหญิงจารุวรรณจะต้องพ้นจากตำแหน่งไป แต่ผลสุดท้ายคุณหญิงจารุวรรณก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อ ไม่ได้เป็นไปตามความเห็นทางกฎหมายของนายมีชัยแต่อย่างใด รวมถึงความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) มีการอ้างข้อกฎหมายที่ปรากฏในบันทึกฉบับเดียวกันขัดแย้งกันเองหลายประเด็น จึงขาดความน่าเชื่อถือ เพราะตอนแรกเลือกพิจารณาการขยายวาระตามประกาศ คปค.ฉบับ 29 แต่ภายหลังกลับไม่นำมาวินิจฉัยในประเด็นครบอายุ 65 ปี     ดังนั้น คณะกรรมาธิการจึงจะตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะในระเบียบข้อที่ 3 ไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นทางกฎหมายแก่องค์กรอิสระตามรัฐ ธรรมนูญ รวมถึงกรณีนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการ สตง.รักษาราชการผู้ว่าการ สตง. ได้ทำหนังสือเวียนถึงเจ้าหน้าที่ สตง. ให้ยึดความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นกฎหมาย เสมือนหนึ่งเป็นคำสั่งศาล และได้แอบอ้างลงลายมือชื่อในฐานะรักษาราชการผู้ว่าการ สตง. ถือว่าขัดกับหลักธรรมาภิบาล โดยจะเรียกเลขาธิการสำนักงานกฤษฎีกา และนายพิศิษฐ์เข้าชี้แจงในวันที่ 11 สิงหาคม    

 

พท.ยันต้าน-ชี้มี2 ทางออก
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีคำสั่งนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 11 สิงหาคม วาระที่น่าสนใจคือ เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม รับทราบคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ระหว่างคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกับวุฒิสภา ตามรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 214 กรณีร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.... ที่วุฒิสภามีมติเห็นชอบ 70 ต่อ 53 เสียง ซึ่งได้เสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ โดยศาลพิจารณาแล้วไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์ความขัดแย้งระหว่าง องค์กร   ทั้งนี้ กรณีดังกล่าว นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย (พท.) เตรียมหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นหารือในที่ประชุม โดยกล่าวว่า สถานะของกฎหมายนี้มีปัญหาเพราะ รางกฎหมายนี้เป็นการยกร่างใหม่ สังเกตจากการใช้ว่า "พ.ศ....." ไม่ใช่ "(ฉบับที่..) พ.ศ...." จึงเข้าสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 140 (2) จึงต้องได้เสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบถึงกึ่งหนึ่ง แต่ที่เกิดขึ้นมีเสียงเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่ง เหมือนร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ค้างอยู่นานแล้ว ซึ่งตอนนั้นมีเสียงไม่เห็นชอบ แต่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง หมายความว่า ไม่ตกและไม่ผ่าน ขณะนี้กำลังพิจารณาทางออก โดยดูความเป็นไปได้ในการใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 147 (3) ที่บัญญัติว่า ถ้าวุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมให้ส่งร่างมาที่สภาผู้แทนราษฎร ถ้าสภาผู้แทนฯเห็นชอบก็ผ่าน ถ้าเป็นกรณีอื่น ให้ตั้งกรรมาธิการร่วมกันของสองสภา เพราะร่างกฎหมายนี้วุฒิสภาไม่ได้แก้ไขเลยแม้แต่ตัวเดียว ซึ่งฝ่ายค้านเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะร่างเปิดอำนาจให้ สตง.มาก จึงน่าจะตั้งกรรมาธิการร่วมกันเพื่อปรับปรุงแก้ไข หรืออาจจะใช้ช่องอย่างที่ประธานสภาที่ระบุว่า ให้ ส.ส.พร้อมผู้รับรอง 20 คน หยิบยกร่างขึ้นมาว่า สภาจะมีมติยืนยันหรือไม่ยืนยันร่างเดิมที่สภาส่งไปหรือไม่

Tags : กฤษฎีกา ฟันธง จารุวรรณ ผู้ว่าสตง. คุณหญิงเป็ด เปิดใจ มีชัย ไม่ชอบหน้า

view