สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คนไทยชวดเงิน 25,000 บาทต่อปีเพราะคอร์รัปชัน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว


ผลการจัดอันดับ ความโปร่งใสของประเทศ 180 ประเทศ โดยองค์กร Transparency International ในปี 2552 มีประเทศที่ลงท้ายด้วย "แลนด์"
ติดอยู่ในสิบอันดับแรกถึงห้าประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์ (อันดับ 1) สวิตเซอร์แลนด์ (อันดับ 5) ฟินแลนด์และเนเธอร์แลนด์ (อันดับ 6 ทั้งคู่) และไอซ์แลนด์ (อันดับ 8) ส่วนไทยแลนด์ของเราอยู่ในอันดับที่ 86
 
ผลการจัดอันดับนี้บอกอะไรเราได้บ้าง
 
ประการแรก แม้ว่า ครึ่งหนึ่งของประเทศที่ติดสิบอันดับแรก จะลงท้ายด้วย "แลนด์" เหมือนกัน แต่คงไม่มีใครด่วนสรุปเอาว่าแค่เอา "แลนด์" ไปต่อท้ายแล้วปัญหาจะหมดไป เพราะถ้าชื่อมีผลขนาดนั้นจริง แล้วทำไม "ไทยแลนด์" ถึงได้ร่วงลงไปอยู่ลำดับที่ 86 ได้
 
ครั้นจะบอกว่าเป็นเพราะตำแหน่งที่ตั้งของประเทศก็ไม่น่าจะใช่ เพราะประเทศที่ติดอันดับ ไม่ได้อยู่ในทวีปยุโรปทั้งหมด นิวซีแลนด์และสิงคโปร์ก็ติดสิบอันดับแรกกับเขาเหมือนกัน ในเมื่อใช้ความแตกต่างของตำแหน่งที่ตั้งมาอธิบายไม่ได้ ทางที่เหลืออยู่ คือ ต้องพิจารณาว่าประเทศเหล่านี้ มีอะไรบ้างที่เหมือนกัน

ความเหมือนประการแรก คือ ประเทศเหล่านี้มีสังคมที่ค่อนข้างสงบสุข ไม่ค่อยมีข่าววัยรุ่นยิงกันตาย ข่าวการก่อการร้าย ประชาชนมีทัศนคติที่เปิดกว้าง มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเสรี (สิงคโปร์อาจเป็นข้อยกเว้น) ทุนทางสังคมเหล่านี้ได้สร้างบรรยากาศทางสังคมที่ดี ส่งผลให้ประชาชนมีทัศนคติในเชิงบวก ความสงบสุขทางสังคมกลายเป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างเป็นรูปธรรม สามารถสัมผัสรับรู้ได้ มีภูมิต้านทานต่อความไม่ดีไม่งาม ที่จะมาบ่อนทำลายรากฐานทางสังคม

ความเหมือนประการต่อมา คือ ระดับการมีส่วนร่วมทางการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมืองมีความหมายมากกว่าการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ส่วนร่วมทางการเมืองนั้นมีทั้งมิติเชิงปริมาณและมิติเชิงคุณภาพ ประเทศเหล่านี้มีความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ เหมือนกับประเทศอื่นในโลก  เพียงแต่ไม่ค่อยจบลงด้วยความขัดแย้งรุนแรง 

สังคมเหล่านี้ตระหนักดีว่าการแข่งขันทางเศรษฐกิจแบบเอาเป็นเอาตายเพียง อย่างเดียว เป็นการทำลายทุนทางสังคม นโยบายของรัฐบาลจึงให้น้ำหนักกับคุณภาพการพัฒนา อย่างไรก็ตาม รัฐบาลที่มีกึ๋นพอจะทำแบบนี้ได้ต้องประกอบไปด้วย ทีมงานที่มองการณ์ไกล มีความรู้ความสามารถ และให้น้ำหนักกับผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่

สังคมที่สงบสุขใช่ว่าจะปราศจากปัญหา อาชญากรรม การโกงกิน เรื่องผิดกฎหมายทั้งหลายเกิดขึ้นได้เหมือนกับที่อื่น ความแตกต่าง คือ ระดับความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย นักการเมืองบ้านเขารับเงินนิดเดียวก็ติดคุกแล้ว เมื่อนักการเมืองยังติดคุกได้ แล้วจะมีใครอีกที่อยู่เหนือกฎหมาย ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายสั่งสมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ได้กลายเป็นเครื่องมือควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมให้อยู่กับร่องกับรอย

ประเด็นสุดท้าย คือ คุณภาพของระบบการศึกษา ประเทศเหล่านี้ขึ้นชื่อมานานแล้วว่าสามารถสร้างประชากรคุณภาพ มีระบบการศึกษาที่สอนให้คนรู้จักคิดวิเคราะห์ ไม่เน้นว่าจะต้องเพิ่มยอดคนจบปริญญาตรี เพราะพวกเขาเข้าใจดีว่า ระดับการศึกษาไม่สำคัญเท่ากับระดับความสามารถในการคิด คนที่รู้จักคิด เป็นคนที่มีคุณภาพของสังคม เมื่อสังคมเต็มไปด้วยคนคุณภาพ การแก้ปัญหาก็เป็นการแก้ปัญหาอย่างมีคุณภาพ การเมืองมีคุณภาพ นโยบายก็มีคุณภาพ 

หลายคนอาจจะแย้งว่า จะเอาประเทศเหล่านี้มาเปรียบเทียบกับประเทศไทยได้อย่างไร ในเมื่อประเทศเหล่านี้มีการพัฒนาเศรษฐกิจนำหน้าเราไปหลายขุมแล้ว

ประเด็นที่อยากจะชี้ให้เห็น คือ แม้ในช่วงแรกของการพัฒนาประเทศ การขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง พอระดับรายได้ต่อหัวของประชาชนสูงเพียงพอ ประชากรส่วนใหญ่มีความกินดีอยู่ดี การพัฒนาประเทศจะไม่หมกมุ่นอยู่กับการปั่น GDP เท่านั้น การกระจายรายได้ และการยกระดับคุณภาพชีวิตก็มีความสำคัญพอๆ กัน และตอนนี้ประเทศไทยก็ได้ก้าวมาถึงจุดนั้นแล้ว หากยังปล่อยให้ปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงเหมือนเดิม ก็น่าจะลองมาคิดกันคร่าวๆ ว่าความเสียหายที่จะตกกับประชาชนจะมีสักแค่ไหน

เปาโล เมาโร ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ประจำกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ประมาณเอาไว้ว่า หากดัชนีการคอร์รัปชันมีค่าเพิ่มขึ้น 2.38 จุด (คะแนนยิ่งสูง การคอร์รัปชันยิ่งน้อย) จะทำให้อัตราการลงทุนของประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 และเศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกร้อยละ 0.5 แสดงว่า สำหรับไทยแล้วผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้ขยายตัวน้อยลงร้อยละ 0.04

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า GDP ของไทยในปี 2549 มีมูลค่าประมาณ 4 ล้านล้านบาท จากตารางที่ได้แสดงไว้ ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้  ดัชนีการคอร์รัปชันของเราลดลงโดยเฉลี่ย 0.1 จุดต่อปี นั่นแสดงว่า การคอร์รัปชันจะทำให้ GDP ในแต่ละปีหายไปประมาณ 1,600 ล้านบาทต่อปี

ดัชนีการคอร์รัปชันของไทย 

 

ปี 

ดัชนี CPI

เปลี่ยนแปลง

2549

3.6

-0.2

2550

3.3

-0.3

2551

3.5

0.2

2552

3.4

-0.1

เฉลี่ย

3.45

-0.1

 

ที่มา:Transparency International (www.transparency.org)

 

ถ้าคิดคร่าวๆ ว่าประเทศไทยมีประชากร 65 ล้านคน และคนไทยได้รับประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 0.1 ของมูลค่าการขยายทางเศรษฐกิจที่คิดเป็นตัวเงิน แสดงว่าแต่ละปีคนไทยเสียโอกาสได้รับเงินปีละ 25,000 บาท รวมกัน 4 ปี ก็ตกเป็นเงิน 100,000 บาท นี่คือ ค่าเสียหายที่เราต้องจ่ายไปในทางอ้อม หากบวกกับความเสียหายทางตรง เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณไม่โปร่งใส ขาดประสิทธิภาพ ด้วยแล้ว ความเสียหายรวมจริงคงจะมากกว่านี้เยอะ 

แค่การที่ประเทศไทยตกอันดับพรวดๆ เกือบยี่สิบอันดับในสี่ปี ก็อายเขาจะแย่แล้ว เมื่อเอามูลค่าที่เป็นตัวเงินมาบวกเข้าไปด้วย ยิ่งเห็นชัดเข้าไปใหญ่ว่า ปัญหาคอร์รัปชันทำร้ายประเทศและคนไทยมากแค่ไหน สละเวลากันคนละนิด ช่วยกันทำตัวเป็นตัวอย่าง อบรมสั่งสอนลูกหลาน อย่างน้อยก็คิดเสียว่า พวกเขาจะได้ช่วยกันรักษาผลประโยชน์ปีละ 25,000 บาทของเขา และของพวกเราไปพร้อมกัน

Tags : คนไทย ชวดเงิน 25 000 บาทต่อปี คอร์รัปชัน

view